Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

อรรถกถาสีวลิเถรปทาน: บุรพกรรมของพระสีวลี


พระสีวลีเถระ เป็นผู้เลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศ เพราะผลแห่งกรรมที่เคยทำมา จึงอยู่ในครรภ์พระมารดา ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงประสูติ

ในพุทธุปบาทกาลนี้  ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระราชธิดาสุปปวาสา.  จำเดิมแค่เวลาที่เขาถือปฏิสนธิมา  คนทั้งหลายย่อมนำเอาบรรณาการ ๕๐๐ สิ่งมาถวายแด่พระนางสุปปวาสาทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า.  ลำดับนั้นพระนางทรงยืนใช้ให้คนเอามือแตะกระเช้าพืช   เพื่อจะทดลองบุญบารมีของเขา.   ร้อยสลากจากพืชแต่ละเมล็ด   ย่อมรวมลงในพันสลาก.   จากนาแต่ละกรีสก็เกิดข้าวมีประมาณ  ๕๐  เกวียน  ๖๐  เกวียนเมื่อพระราชธิดาเอาพระหัตถ์ไปแตะที่ประตูฉาง    แม้ในเวลาที่ฉางยังเต็มเปี่ยมเมื่อคนทั้งหลายมารับเอาไป  ก็เต็มขึ้นอีกด้วยบุญ.   แม้จากหม้อที่เต็มเปี่ยมด้วยภัตร  ชนทั้งหลายกล่าวว่า  เป็นบุญของพระราชธิดา ดังนี้แล้ว   เมื่อให้แก่ใครคนใคคนหนึ่ง   ตลอดเวลาที่ยังไม่ดึงมือออก  ภัทรก็ยังไม่พร่องไป.  ขณะที่ทารกยังอยู่ในท้องนั่นแล  ได้ล่วงไปแล้ว  ๗ ปี.            

ก็เมื่อพระครรภ์แก่เต็มที่แล้ว   พระนางได้เสวยทุกขเวทนามากตลอด ๗  วัน   พระนางทูลเชิญพระราชสวามีมาแล้วตรัสว่า  “ก่อนตาย  หม่อมฉันจักขอถวายทานขณะยังมีชีวิตอยู่”.  ดังนี้แล้วทรงส่งพระราชสวามีไปยังสำนักของพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระสวามี  ขอพระองค์จงไป  กราบทูลให้พระศาสดาทรงทราบความเป็นไปนี้แล้ว จงนิมนต์พระศาสดามา   และพระศาสดา   ตรัสพระดำรัสอันใด  พระองค์จงกำหนดพระดำรัสนั้นให้ดี   แล้วกลับมาบอกแก่หม่อมฉัน”.

พระสวามีนั้นเสด็จไปถึงแล้ว  กราบทูลข่าวสาสน์ของพระนางให้พระศาสดาทรงทราบแล้วว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   พระนางโกลิยธิดาฝากถวายบังคมมาที่พระบาทของพระศาสดา”. 

พระศาสดาทรงอาศัยความอนุเคราะห์พระนาง  ตรัสว่า  “ขอพระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา  จงเป็นผู้มีความสุข  ปราศจากโรคภัยเถิด  จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด”. 

พระสวามีนั้น   ทรงฟังพระดำรัสนั้นแล้ว  ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว   มุ่งตรงไปยังบ้านของตน.   สัตว์ผู้มาบังเกิดในครรภ์ได้คลอดออกจากท้องของพระนางสุปปวาสา   ง่ายดายดุจเทน้ำออกจากธรมกรก  ฉะนั้น    เรียบร้อยก่อนที่พระสวามีจะมาถึง  ประชาชนที่มีมานั่งแวดล้อมมีน้ำตาคลอ  เริ่มจะร้องไห้  ก็กลับเป็นหัวเราะร่าดีใจ  เมื่อพระสวามีของพระนางกลับมาแจ้งข่าวสาสน์อันน่ายินดีให้ได้ทราบ. 

พระสวามีนั้น   ทรงเห็นกิริยาท่าทางของคนเหล่านั้นแล้ว  ทรงคิดว่า  ชรอยว่าพระดำรัสที่พระทศพลตรัสแล้ว   คงจักสำเร็จผลไปในทางที่ดีเป็นแน่.  พระสวามีนั้น  พอเสด็จมาถึงแล้วก็ตรัสถึงพระดำรัสของพระศาสดาแก่พระราชธิดา.  พระราชธิดาตรัสว่า “ความภักดีในชีวิตที่พระองค์นิมนต์พระศาสดาแล้วนั้นแหละ  จักเป็นมงคล   ขอพระองค์จงไปนิมนต์พระทศพลตลอด ๗ วัน” . 

พระราชสวามีทรงกระทำตามพระดำรัสของพระนางแล้ว.  ชนทั้งหลายได้ยังมหาทานให้เป็นไปแด่ภิกษุสงฆ์    มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วันแล้ว.  ทารกนั้น เป็นผู้ทำจิตใจของหมู่ญาติที่กำลังเร่าร้อนให้ดับสนิท  คือทำให้กลายเป็นความเย็น   เพราะเหตุนั้น   หมู่ญาติจึงตั้งชื่อเขาว่า “สีวลี”.   

ตั้งแต่เวลาที่ได้เกิดมาแล้ว   ทารกนั้นได้เป็นผู้แข็งแรงอดทนได้ในการงานทั้งปวง  (มีกำลังดี)  เพราะค่าที่เขาอยู่ในครรภ์มานานถึง ๗   ปี.  พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ  ได้ทำการสนทนาปราศรัยกับเขาในวันที่ ๗.  แม้พระศาสดา  ก็ได้ตรัสพระคาถานี้ไว้ว่า.

บุคคลใดล่วงพ้นหนทางลื่น  หล่ม  สงสาร   โมหะได้  ข้ามฝั่งแล้ว  มีความเพียรเพ่งพินิจ  ไม่มีความหวั่นไหว  หมดความสงสัย  ดับแล้วเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น  เราเรียกบุคคลนั้นว่าเป็นพราหมณ์”.

ลำดับนั้น  พระเถระได้กล่าวกะเด็กนั้นอย่างนี้ว่า  “เธอได้รับความทุกข์เห็นปานนี้    การบวชจะไม่ควรหรือ”.  

เด็กคนนั้นตอบว่า  “เมื่อได้รับอนุญาตก็จะพึงบวช  ขอรับ”. 

พระนางสุปปวาสา  เห็นเด็กนั้นกำลังพูดกับพระเถระ  จึงคิดว่า  “ลูกของเรา  กำลังพูดเรื่องอะไรกับพระธรรมเสนาบดีหนอแล” จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า    “ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ   ลูกชายของดิฉัน พูดเรื่องอะไรกับพระคุณเจ้า “

พระเถระพูดว่า  “เด็กนั่น  พูดถึงความทุกข์ในการอยู่ในครรภ์ที่ตนเองได้เสวยมาแล้ว   แล้วพูดว่า  กระผมได้รับอนุญาต แล้วจักบวช”. 

พระนางตรัสว่า  “ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ   ดีละ  ขอให้พระคุณเจ้าให้เขาบวชเถิด”.   

พระเถระจึงนำเขาไปยังวิหารแล้ว    ได้ให้ตจปัญจกกัมมัฏฐานแล้ว  ก็ให้เขาบวช   พร่ำสอนว่า  “สีวลีเอ๋ย !  หน้าที่เกี่ยวกับโอวาทอย่างอื่นของเธอไม่มี  เธอจงพิจารณาถึงความทุกข์ที่เธอได้เสวยมาแล้วตลอด  ๗  ปีเถิด”. 

ท่านตอบว่า   “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ   กระผมจักได้รู้ถึงภาระของท่านเกี่ยวกับการบวชบ้าง  เพื่อผมจักได้ทำตาม”. 

ก็พระสีวลีนั้น  ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล  ในขณะที่เขาปลงมวยผมชั้นที่  ลง 

ได้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล  ในขณะที่ปลงมวยผมชั้นที่ ลง 

ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล  ในขณะที่เขาปลงมวยผมชั้นที่    ลง 

การปลงผมทั้งหมดได้อย่างเรียบร้อย  และการกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผลได้มีแล้วในเวลาไม่ก่อนไม่หลังแล.

ต่อมา  ได้มีถ้อยคำเกิดขึ้นในหมู่ภิกษุว่า  “โอ  พระเถระถึงจะมีบุญอย่างนี้  ก็ยังอยู่ในครรภ์ของมารดาถึง ๗ ปี  ๗  เดือน  แล้วยังอยู่ในครรภ์หลงอีก  ๗  วัน”.  

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอกำลังนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ”

เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว   จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   กุลบุตรผู้นี้  มิใช่กระทำกรรมไว้ในชาตินี้เท่านั้นแล้ว”  

ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลก่อนแต่พุทธุปบาทกาลนั่นแล  กุลบุตรผู้นี้    ได้บังเกิดในราชตระกูลในกรุงพาราณสี    พอพระราชบิดาสวรรคตแล้ว    ก็ได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ    ได้ปรากฏว่าสมบูรณ์ด้วยสมบัติ    ในคราวนั้นพระราชาในปัจจันตชนบทพระองค์หนึ่ง  ทรงดำริว่า  เราจักยึดเอาราชสมบัติให้ได้    แล้วจึงเสด็จมาล้อมพระนครเอาไว้  ได้ตั้งค่ายพักแรมแล้ว.  ลำดับนั้น พระราชาได้มีสมานฉันท์เป็นอันเดียวกันกับพระราชมารดา  สั่งให้ปิดประตูทั้ง ๔  ทิศ  ตั้งค่ายป้องกันตลอด ๗ วัน   ความหลงประตูได้มีแก่พวกคนที่จะเข้าไป  และคนที่จะออกมา 

ครั้งนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย  ประกาศธรรมในมิคทายวิหาร.  พระราชาได้ทรงสดับแล้ว จึงทรงมีรับสั่งให้เปิดประตูเมืองแล. แม้พระเจ้าปัจจันตราชา ก็ทรงหนีไปแล้ว.   ด้วยวิบากแห่งกรรมอันนั้น    เขาจึงได้เสวยความทุกข์ในอบายมีนรกเป็นต้น  

ในพุทธุปบาทกาลนี้  แม้จะได้บังเกิดในราชตระกูลก็ตาม  ยังได้เสวยความทุกข์เห็นปานนี้ร่วมกับพระราชมารดา.  ก็ตั้งแต่เวลาที่ท่านได้บวชแล้ว   ปัจจัย  ๔   ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์ตามปรารถนา.  เรื่องในอดีตต้นได้บังเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้”.

ในกาลต่อมา    พระศาสดาได้เสด็จไปยังพระนครสาวัตถี.   พระเถระได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า  กราบทูลว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์จักทดลองกำลังบุญของข้าพระองค์  ขอพระองค์จงประทานภิกษุให้ ๕๐๐ องค์เถิด”.   

พระศาสดาตรัสว่า  “เธอจงพาไปเถิดสีวลี”.   

พระสีวลีนั้นได้พาภิกษุ ๕๐๐ องค์ไปแล้ว  มุ่งหน้าไปยังหิมวันตประเทศ  ถึงหนทางปากดง. เทวดาที่สิง อยู่ ณ  ต้นนิโครธอันพระเถระนั้นเห็นแล้วเป็นครั้งแรก   ได้ถวายทานแล้วตลอด  ๗  วัน.  เพราะเหตุนั้น   พระเถระนั้นจึงกล่าวว่า :- ท่านจงดู

ต้นนิโครธ                   เป็นครั้งที่  ๑

ภูเขาบัณฑวะ               เป็นครั้งที่  ๒ 

แม่น้ำอจิรวดี                เป็นครั้งที่  ๓                   

แม่น้ำสาครอันประเสริฐ   เป็นครั้งที่  ๔ 

ภูเขาหิมวันต์                เป็นครั้งที่ ๕ 

ท่านเข้าถึงสระฉัททันต์   เป็นครั้งที่  ๖ 

ภูเขาคันธมาทน์            เป็นครั้งที่  ๗

และที่อยู่ของพระเรวตะ   เป็นครั้งที่  ๘

           ประชาชนทั้งหลาย   ได้ถวายทานในที่ทุกแห่งตลอด  ๗  วัน เท่านั้น.  ก็ในบรรดา  ๗  วัน  นาคทัตตเทวราช  ที่ภูเขาคันธมาทน์  ได้ถวายบิณฑบาต ชนิดน้ำนมวันหนึ่ง  ได้ถวายบิณฑบาตชนิดเนยใสวันหนึ่ง  ลำดับนั้น  ภิกษุสงฆ์จึงกล่าวกะท่านว่า  “ผู้มีอายุ  แม่โคนมที่เขารีดนมถวายแด่เทวราชนี้  มิได้ปรากฏการบีบน้ำนมส้ม   ก็มิได้ปรากฏ  แน่ะเทวราช  ผลนี้เกิดขึ้นแก่ท่านแต่กาลไร” .

เทวราชา  ตรัสว่า  “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผลนี้ เป็นผลแห่งการถวายสลากภัตรน้ำนมในกาลแห่งพระกัสสปทศพล.

 

เชิญอ่านรายละเอียดต่อได้ที่นี่นะคะ

 

อรรถกถาสีวลิเถรปทาน: ผลแห่งการถวายทานของพระสีวลี

http://gotoknow.org/blog/veeranon/316083

อรรถกถาสีวลิเถรปทาน: เอตทัคคะของพระสีวลี

http://gotoknow.org/blog/veeranon/316090

สีวลิเถราปทานที่  ๓ : บุพจริยาของพระสีวลิเถระ

http://gotoknow.org/blog/veeranon/316057

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 316088เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2009 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท