๑๓.ลิงทะโมนกับหมาบ้าบนยอดไม้


"...การทบทวนเรียนรู้และรำลึกถึงผู้คน ตลอดจนเรื่องราวต่างๆของสังคมรอบข้าง เป็นการพักผ่อนและเล่นทางความคิดให้มีความสุขของแม่ ..."

 

เวลานึกถึงแม่ในอริยาบทที่ผ่อนคลาย ผมจะนึกถึงเสียงร้องเพลงกล่อมขณะไกวเปลของแม่และการนั่งเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งในลักษณะนิทาน ตำนาน เรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ญาติพี่น้องคนเก่าแก่ เรื่องราวของวัดและชุมชน เรื่องราวของพระพุทธเจ้า ในหลวง ราชินี รวมทั้งคนเก่าแก่ต่างๆ ผมและพี่ชายได้รู้ว่าญาติพี่น้องและผู้คนที่เราพึงรำลึกถึงเป็นใครอยู่ที่ไหน ก็จากที่ฟังแม่เล่าให้ฟังอยู่เสมอตั้งแต่เด็กจนแม้กระทั่งบัดนี้

แม่เป็นคนช่างจดจำและผูกพันกับผู้คน รวมทั้งใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของคนที่แม่รู้จัก ยามใดที่ผมปวารนาขออำนวยความสะดวกให้แม่ได้ทำสิ่งต่างๆอย่างที่แม่สนใจแล้วละก็ สิ่งแรกๆที่แม่มักเลือกคือขอให้พาไปเยี่ยมคนเฒ่าคนแก่และญาติพี่น้อง ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด การทบทวนเรียนรู้และรำลึกถึงผู้คน ตลอดจนเรื่องราวต่างๆของสังคมรอบข้าง เป็นการพักผ่อนและเล่นทางความคิดให้มีความสุขของแม่ ซึ่งก็สะท้อนถึงพื้นฐานความเป็นมาของแม่เหมือนกัน เพราะญาติพี่น้องบอกว่าเมื่อตอนเรียนการศึกษาพื้นฐานนั้นแม่เป็นคนเรียนเก่งและรักการอ่านเขียน

ผมเคยเขียนจดหมายคุยกับแม่ครั้งสองครั้งเพราะอยากให้แม่ได้อ่านและเขียนหนังสือ แม่เขียนจดหมายตอบผมครั้งหนึ่งซึ่งทำให้ผมตื่นเต้นและดีใจมาก แม่เขียนด้วยดินสอบนกระดาษสมุดนักเรียนสองสามคำทำนองว่า แม่คิดถึงลูกขอให้ลูกมีความสุข แค่นี้แหละครับเต็มหน้ากระดาษ แต่ก็เป็นจดหมายที่ให้ความซาบซึ้งและทำให้ตื้นตันใจอย่างที่สุด

แม่มีเพลงกล่อมพวกลูกๆซึ่งมีพลังเหมือนมนต์สะกดเปลือกตาเด็กๆให้หลับบนเปล เพลงกล่อมเด็กของแม่จะเริ่มต้นร้องว่า  นอนสาหล้า หลับตาแม่สิกล่อม ……”  แล้วก็จะตามด้วยเสียงร้องที่อ่อนโยน บอกเล่าและกล่อมเรื่องราวต่างๆ บ้างก็บอกว่าแม่จะไปนา นอนสาอย่าดื้อ เดี๋ยวแม่กลับมา จะเอาผลหมากรากไม้จากนามาฝาก นอนสาอย่าร้อง อย่าดื้อ เดี๋ยวแมวโพงจะได้ยิน นอนสา...........

แม่ร้องและไกวเปลไปเรื่อยๆจนผมและน้องๆหลับ แม่จึงจะได้หลับหรือไปทำงาน นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีการละเล่นอย่างทั่วๆไป แต่จะให้เล่นผ่านการทำงานและทำหน้าที่ช่วยพ่อแม่และญาติพี่น้องไปเลย เช่น แม่จะใช้เวลาว่างไปกับการออกไปทำงานวัด ออกไปดูแลสระและทำลาน ร่วมขบวนเกวียนไปหาไม้ ฟืน กลอย และหน่อไม้ในป่า ซึ่งก็จะเอาผมติดไปด้วยและเป็นสิ่งที่ผมชอบในความน่าค้นหาของป่าเขา

 

                          

 

บ้านยายกับน้ามีวัวควายอยู่ ๕-๖ ตัว ซึ่งในจำนวนนี้มี ๓ ตัวที่เป็นควายเผือกทั้งแม่และลูกอีก ๒ ตัว ตัวผู้และตัวเมียเพศละตัว น้ามอบให้ผมและพี่ๆน้องๆเป็นเจ้าของครอบครัวของอีเผือก การที่แต่ละคนได้เป็นเจ้าของควายอย่างน้อยก็หนึ่งตัว จึงเหมือนกับเป็นของเล่นสำหรับเด็กๆ น้องผู้หญิงก็เล่นอยู่กับงานบ้าน เล่นขายของซึ่งทั้งผู้ใหญ่และพวกผมก็ต้องมีส่วนร่วมในการเข้าไปเป็นลูกค้าและทำท่านั่งกินอาหารโดยทำเสียงเดาะลิ้นในปากดังเจ๊าะๆๆๆ เสร็จแล้วก็จ่ายตังค์โดยใช้ใบฝรั่งเป็นสตางค์ ใบแก่สีเหลืองก็เป็นราคาสูงสุด รองลงมาก็สีเขียวแก่ และสีเขียวอ่อนราคาต่ำสุด เวลาเดินตามใต้ถุนบ้านและลานดิน หากเห็นหลุมเล็กๆมีฝุ่นเปียกน้ำหยอดเป็นหย่อมๆอยู่ก็จะไปเดินเหยียบอย่างไม่ระวังไม่ได้ เพราะไม่ใช่หลุมดินและของรกๆธรรมดา แต่เป็นร้านขายขนมครกและร้านก๊วยเตี๋ยวครับ เที่ยวไปเหยียบแล้วละก็เป็นมีโวยจากเจ้าของร้านและอาจตามด้วยร้องไห้จ้า

การเป็นเจ้าของควายและเลี้ยงควายก็จะนำไปสู่การได้เล่นตามมาอีกมากมาย เริ่มตั้งแต่การขึ้นควาย พวกเด็กๆก็สามารถเล่นให้สนุกได้โดยต้องไม่ขึ้นอย่างธรรมดากันแล้ว อีกทั้งหากใครเลี้ยงควายให้ควายแสนรู้ในเรื่องต่างๆอวดกันได้ ก็ถือเป็นเรื่องสนุก ควายเผือก ๓ ตัวของผมนั้นก็แปลก ฝึกได้ดีกว่าเพื่อนในทุกอย่างไปหมด  สามารถขึ้นทางด้านเขาหรือให้ควายก้มหัวลงและขึ้นจากด้านหน้าได้ ในขณะที่คนอื่นๆจะกลัวถูกขวิดและกลัวควายเคลื่อนไหวในขณะไต่ขึ้นแล้วหล่นลงไปบนเขา เวลาพาไปกินน้ำก่อนกลับเข้าคอก ก็สามารถว่ายน้ำลอยคอได้ อีกทั้งบางครั้งเจ้าของเล่นเพลินเกินเวลาปรกติ ควายเผือกของผมก็กลับบ้านเข้าไปในคอกเองได้อีก

หลังเลิกเรียนและถึงเวลาเลี้ยงควาย จะเป็นเวลาที่พวกเด็กๆโหยหา บางวันก็ถึงกับอยากเอาควายออกจากคอกไวๆทั้งที่แดดเปรี้ยง  เวลาไปเลี้ยงควายแต่ละคนก็จะมีกางเกงขาดๆและเหม็นสาบทั้งกลิ่นควายผสมกับกลิ่นฉี่รดที่นอน  หนังสะติ๊กและถุงลูกกระสุนดินเหนียว แล้วก็พาควายออกไปหาหญ้ากินในทุ่งที่ไกลออกจากบ้านพอตะโกนถึง พอไปถึงก็จะปล่อยให้ควายเดินกินหญ้าอยู่ด้วยกัน ส่วนพวกเด็กๆก็จะเริ่มรวมกลุ่มเล่นกันไปต่างๆนาๆ เช่น เล่นตี่จับ เล่นไม้หึ่ม เล่นโดดเชือก แบ่งข้างเอาหนังสะติ๊กยิงกัน การเล่นแต่ละอย่างมักมีการวิ่ง กระโดด ซึ่งทำให้ได้ออกกำลังและพัฒนาการเล่นเป็นกลุ่ม

ที่สนุกที่สุดก็คือการเล่นเป็นลิงทะโมนและหมาบ้าบนยอดไม้ โดยจะมีต้นส้มเสี้ยวอยู่กลางทุ่งนาอยู่ต้นหนึ่งเป็นที่เล่น ้นส้มเสี้ยว หรือ ต้นชงโค ั้น ีพุ่มใบหนาแน่น แผ่กิ่งก้านไม่สูงจนเกินไป กิ่งเหนียวและสานกันเหมือนเป็นตาข่าย เรียกว่าไปยืนอยู่ข้างบนแล้วโถมตัวลงไปก็แทบจะไม่หล่นพื้นเลย การเล่นลิงทะโมนไล่จับคนและเล่นหมาบ้าไล่แตะคน ก็จะเล่นเฉพาะอยู่บนต้นไม้ หากใครตกพื้นหรือยืนเอาขาข้างหนึ่งแตะพื้นดินไว้ก็จะไปแตะให้เขามาเป็นแทนไม่ได้ ทั้งคนที่กระโดดหนีและคนวิ่งไล่จึงต้องมีทักษะการห้อยโหน ตัดสินใจรวดเร็ว ไม่กลัวความสูงและมีความยืดหยุ่นของร่างกายดี

เล่นเลี้ยงควายและเป็นลิงทะโมนกับหมาบ้ากันอยู่อย่างนี้อยู่ระยะหนึ่ง รู้จักจิตใจและอัธยาศัยของควายที่ตนเองดูแล รู้จักสื่อสารและควบคุมให้ควายทำตามคำสั่งต่างๆจนเหมือนกับมีจิตใจเป็นหนึ่งกับควายได้พอสมควรแล้ว แม่และน้าก็เริ่มให้เล่นไถนา ผมและพี่ๆน้องๆ กับพวกเด็กๆแถวบ้าน ก็เริ่มถือหางไถและทำงานในผืนนาตั้งแต่อยู่ ป.๖ ในขณะที่มือยังยกหางไถไม่พ้นดิน.  

หมายเลขบันทึก: 293770เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สวัสดีค่ะอาจารย์

เห็นภาพวาดแล้วคิดถึงต้นชมพู่ข้างบ้านตอนเด็กๆค่ะ

เคยปีนไปเด็ดลูก เด็แล้วกินบนต้นนั้นเลย

ชอบภาพลายเส้นอาจารย์จังค่ะ

  • สวัสดีครับคุณณัฐรดา
  • ขอแสดงความยินดีในการพิมพ์หนังสือเล่มที่สองนะครับ
  • แล้วก็ขออนุโมทนาที่เจียดส่วนหนึ่งไปให้เด็กๆตามโรงเรียนที่ขาดโอกาสครับ
  • ผมเห็นว่าหมดโควต้าแล้ว แต่ถึงแม้จะยังมีเจตนารมณ์ในการแจกให้โรงเรียนอยู่ แต่ก็อยากส่งเสริมให้ได้ทำอย่างนี้นานๆโดยไม่เบียดเบียนตนเองจนเกินไป เลยขอให้เพื่อนๆน้องๆเขาขอติดต่อคุณณัฐรดาทางอีเมล์นะครับ
  • ยินดีและมีความสุขครับผม

ของพี่ตุ๊กตาชมพู่..ของครูอ้อยเล็กต้นฝรั่งขี้นกค่ะ..ลูกเล็กๆไส้สีแดงอมชมพู อู้ฮู้อร่อย..ปืนแล้วนั่งกินบนต้น..น้องผ่านมาเอาเม็ดปาหัวน้องฮาๆ น้องไม่ยอมแพ้เอาก้อนดินปาลิงผู้เป็นพี่ตอบ..

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

  • นึกถึงโยมท่านหนึ่งนาติดกันท่านเป็นคนใจดีมาก เมื่อไถนาก็ให้ลูสาวตัวเล็ก ๆ ขี่หลังไปด้วย
  • ควายก็ใจดี มีบางตัวอาจรำคาญก็ได้เพราะต้องลากไถก็หนักอยู่แล้วแถมมีคนอยู่บนหลังอีกอาจมีแว้งซ้าย แว้งขวาอาจเกิดอันตรายได้
  • ควายก็คล้ายสัตว์อื่น เช่น สุนัข เขาจำเจ้าของได้เป็นเพื่อนกันดี แต่ถ้าเป็นคนอื่นเข้าใกล้อาจมีเสียงหายใจดังฟืดฟาดใส่ และเหวี่ยงเขาไปมา

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

  • สวัสดีครับคุรูอ้อยเล็ก
  • ขอบคุณรูปดอกไม้ครับ สดใสดี
  • เดี๋ยวนี้เห็นเด็กๆแล้วนึกสงสารที่ไม่ค่อยมีที่ให้เล่นปีนป่ายนะครับ
  • แถวหมู่บ้านผมพวกผู้ใหญ่ลงทุนขุดดินแล้วก็เอาน้ำมาใส่ หาห่วงยางมาโยนลงไป แล้วก็ปล่อยให้เด็กๆเล่น พวกกองทราย แอ่งน้ำ ต้นไม้ที่ปีนได้นี่ ถูกชะตากับเด็กๆดีนะครับ

อาจารย์ครับ

มีความสุข สนุก ได้ความรู้มากมายเลยครับจากทุกบันทึกของอาจารย์

ขอบพระคุณอย่รางสูงครับ ที่มีเรื่องดี ๆ มาแบ่งปันอยู่เสมอและต่อเนื่อง

กราบมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • แถวบ้านนอก การได้ขี่ควายหรือขี่คอผู้ใหญ่เป็นเรื่องสนุกและเด็กๆชอบเล่นมาก
  • เวลาเราโตกว่า ก็จะต้องหัดเล่นเป็นควายให้น้องๆขี่เล่น
  • หากไปเจอเด็กๆ ถ้ายังแปลกหน้าและไม่วางใจกัน พอทำท่าเดินและทำเสียงควายใส่ พร้อมกับทำท่ามองและชวนมาขี่ควาย แป๊บเดียวก็เดินมาขึ้นหลังแล้ว
  • พวกเพื่อนๆที่เป็นลูกหลายของญาติที่อยู่กรุงเทพฯเวลาชวนไปขี่ควาย ปีนต้นไม้ เล่นโคลนในคลอง ก็แทบจะไม่อยากกลับกรุงเทพฯกันแล้วครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

  • สวัสดีหนานเกียรติครับ
  • ดีใจที่หนานเกียรติสะท้อนให้ทราบว่าสื่อให้ได้ความรู้สึกอย่างนี้
  • บางทีเรื่องราวจากชนบทและภายใต้สิ่งที่สังคมอยากจะทิ้ง-อยากจะหนี ไปหาสิ่งที่ไม่ใช่ความเป็นตัวของตัวเองของเรามากมายนั้น ก็มีความรื่นรมย์ในชีวิต มีสีสัน มีการเรียนรู้เพื่องอกงามและเติบโต อยู่อีกมากมาย
  • เลยอยากพาคนเดินกลับไปดูตนเองในอีกมุมหนึ่ง ในด้านที่เป็นฐานทางปัญญาและความเข้มแข็งต่อการดำเนินชีวิต ที่อยู่ในตัวคนและในชุมชน อย่างน้อยก็ได้มีความสุขและได้ความเชื่อมั่นชีวิตจากการเรียนรู้สังคมน่ะครับ
เอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

อาจารย์ครับ

ตอนเด็กผมก็เป็นลิงทโมน กระโจนอยู่บนต้นไม้แบบนี้หละครับ ภาพลายเส้นอาจารย์มีมิติดูแล้วสวยมากๆครับ

ผมมาขออนุญาตนำบันทึกใน Blog ของอาจารย์ นำไปเผยแพร่ในเวปประชากรศึกษาด้วยนะครับ ตามที่ผมอีเมลล์ไปแจ้งแล้วครับ จริงๆแล้วผมสุ่มเสี่ยงกับ Plagiarism มากเลยครับ เพราะนำไปเผยแพร่เเล้ว แต่ขออภัยด้วยครับ

ขอบคุณมากครับ


คน บุคคล ปัจเจก และพลเมือง

แง่มุมเหล่านี้ เป็นความเข้าใจต่อเรื่องพื้นฐานทางสังคมและการพัฒนาคน ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถเข้าใจกรอบการปฏิบัติทางสังคมที่สื่อความเข้าใจกันได้อย่างเป็นหมวดหมู่แล้ว น่าจะเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาคน ทั้งในเรื่องสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต...More

 

---------------------------------------

เอก- จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

www.popeduspace.com

 

สวัสดีค่ะ พี่ชาย

ที่บ้านมีต้นมะละกอ กับต้นฝรั่งค่ะ

เป็นลิงทะโมนขึ้นไปบนยอดมะละกอ หารู้ไม่ว่ามันอันตรายมากๆ

ชาวบ้านร้องวี้ดว้าย!!!กันใหญ่ เพราะกลัวยอดมะละกอหักค่ะ

นึกภึงภาพแล้วยังหวาดเสียวมาทุกวันนี้

เด็กๆสมัยนี้ขึ้นต้นไม้ไม่เป็นแล้วค่ะ เพราะไม่มีต้นไม้ให้ขึ้น มีแต่ป่าคอนกรีต

ขอบคุณค่ะ

ตอนเป็นเด็ก เห็นดอกกระถินข้างรั้วสวยและหอมด้วย เพื่อนบอกกินได้ จึงปีนรั้วขึ้นเก็บ จับกิ่งพลาดตกลงมา เข่าเสียบเข้ากับตะปูที่ตอกรั้ว เห็นมันเหลืองๆเลย ไม่กล้าร้องไห้กลัวพ่อด่า ณ.เวลานี้ร่องรอยที่เตือนความทรงจำคือแผลเป็นกว้าง 1x3 ซม. ที่ข้อพับใต้เข่าขวาค่ะ

สวัสดีครับคุณจตุพร

  • เห็นแล้วได้นั่งระลึกชาติเลยใช่ไหม เด็กต่างจังหวัดคงมีประสบการณ์คล้ายๆอย่างนี้
  • เรียนรู้ในแง่การพัฒนาคน และการพัฒนาทางสังคมด้วยก็จะเห็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับพัฒนาการจัดการทางสังคมเหมือนกัน เช่น เด็กๆในชนบท หรือในเมืองที่ขาดแคลนงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้อย่างบูรณาการนั้น ทางออกทางหนึ่งก็คือพัฒนาการเล่นและปล่อยให้เด็กๆได้เล่นด้วยกัน แล้วเด็กๆก็จะมีความสามารถคิดค้นขึ้นมากันได้เองว่าควรจะเล่นอะไร หาทางเลือกและได้ทางออกจำเพาะท้องถิ่นและบริบทของแหล่งนั้นๆได้
  • ขอบคุณคุณจตุพรที่ให้ได้มีส่วนร่วมในทางอ้อมสำหรับการเสวนาและแลกเปลี่ยนกันทางวิชาการนะครับ อนุญาตให้เอาไปเผยแพร่ได้ทุกประการเพื่อการศึกษาและพัฒนาทางวิชาการครับ เป็นความตั้งใจทำอย่างนั้นอยู่แล้ว เลยต้องขอบคุณคุณจตุพรอีกด้วยครับ
  • ข้อความบางส่วนมันขาดๆหายๆและสลับที่ไปหลายแห่งเหมือนกัน แต่สาระสำคัญก็ไม่เสียไปจากเดิมเลยไม่ต้องแก้ไขอะไรก็ได้ครับ ผมลิ๊งค์ไปให้ตรงนี้นะครับ หากใครสนใจจะได้ตามเข้าไปอ่าน เรื่อง คน บุคคล ปัจเจก และพลเมือง ครับ
  • มองในแง่การสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงที่เน้นเรื่องเดินออกมาจากจิตใจ และเดินออกมาจากการเป็นแรงบันดาลใจให้กันนั้น งานแนวนี้ก็เป็นการปฏิบัติการทางความรู้และงานจัดการความรู้ เพื่อสร้างพลังของปัจเจกที่มีจิตสาธารณะที่ดีอย่างหนึ่งครับ คุณจตุพรมีเรื่องพวกนี้เยอะมากเลย เลยอยากแลกเปลี่ยนกันครับ
  • การวิเคราะห์ประสบการณ์ชุมชนและคนชนบทในแง่ที่เป็นศักยภาพ ความรื่นรมย์ และพลังชีวิต ที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงตนเองและพึ่งตนเองในการพัฒนาได้หลายเรื่อง แล้วมาเน้นวิธีการนำเสนอที่มุ่งสร้างพลังการคิด ให้ทรรศนะเชิงบวกและสร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจเพื่อเห็นโอกาสและทางเลือกที่ดีกว่าเดิมในสิ่งเดิมๆนั้น งานในทำนองนี้จะทำให้เกิดผลดีได้ ๓ เรื่องครับ (๑) ทำให้คนที่มีพื้นฐานจากประสบการณ์ชีวิตในชนบท หรือจากชุมชนที่ไม่ค่อยมีโอกาสในเมือง เห็นด้านที่เป็นทุนทางสังคมที่มีอยู่ในประสบการณ์ชีวิต ในตัวคน และในวิถีชุมชน แล้วสามารถนำเอามาใช้เป็นฐานสร้างโอกาสและทางเลือกการพัฒนา ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะตนได้ดีกว่าเดิม (๒) ทำให้สิ่งดีๆของสังคมและคนส่วนใหญ่ แต่มีพลังในเชิงอำนาจน้อย มีวิธีการสื่อสาร ถ่ายทอด และขยายเป็นการเรียนรู้ของสังคม ทำให้สังคมมีทางเลือกที่ดีๆเพิ่มขึ้น และชุมชนชนบทก็เข้มแข็ง-มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เป็น WIN-WIN situation (๓) ทำให้ชนบทได้เพื่อนจากคนในเมืองและคนชั้นกลางที่มีพลังทางการศึกษา ความรู้ สื่อข่าวสาร และพลังทางเศรษฐกิจ เสริมพลังเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาด้วยกันที่เพียงพอมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไม่ไหลขึ้นเป็นกลุ่มที่อยู่บนยอดปิรามิดอย่างเดียว แต่ไหลไปเป็นเครือข่ายการพัฒนาภาคประชาชนและชนบทได้ดีและเหมาะสมมากยิ่งๆขึ้น  ทั้งสามเรื่องนี้ น่าจะเสริมให้ภาคเมืองกับชนบทมีความเกื้อหนุนส่งเสริมกัน และเป็นองค์ประกอบการสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง-มีความเป็นส่วนรวมที่หลากหลายแต่เสริมพลังกันได้ดี
  • แต่นี่ก็เป็นแนวคิดใหญ่ๆที่สะท้อนลงสู่การทำงานเล็กๆ แต่ให้หยั่งรากให้ลึกที่สุดน่ะครับ
  • สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์ น้องนก
  • นั่นน่ะสิ ปีนได้ยังไงเนี่ยต้นมะละกอน่ะ ทั้งเปราะ และยางของมันก็อันตราย
  • แต่อัจฉริยะมักทำอะไรที่ต่างจากคนทั่วไปนะพี่ว่า ฮ่า
  • บ้านของน้องจุฑารัตน์เต็มไปด้วยต้นไม้และร่มรื่น เด็กๆเห็นต้องอดเป็นลิงทะโมนไม่ได้แน่นอนครับ
  • พวกรอยแผลเป็นต่างๆ นี่ ก็อาจจะเป็นใบประกาศนียบัตรสำหรับเด็กบ้านนอกและเด็กชนบทอย่างหนึ่งนะครับ
  • อ่านของคุณkumfun  แล้วรู้สึกเสียบแว๊บไปด้วยเลย โหดดีเหมือนกันเนอะ
  • วันนี้เล่าให้ รศ.ดวงพร คำณูนวัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงทางวิชาการ ของเครือข่าย นสส.แพร่ฟังว่ามีสมาชิก(คุณ kumfun) ของเครือข่าย นสส.แพร่ เข้ามาคุยด้วย อาจารย์เลยออกปากชื่นชมเครือข่ายของคนแพร่มาด้วยนะครับ 

อาจารย์ครับ

นอกจากได้ความรู้โดยตรงจากบันทึกของอาจารย์แล้ว

ตามอ่านการตอบคำถามและแลกเปลี่ยนความเห็นของอาจารย์ ก็ได้ความรู้ไม่แพ้กันครับ

  • หนานเกียรติเป็นนักเรียนรู้อยู่เสมอ
  • ผมก็ได้สิ่งต่างๆจากคนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิด-ความรู้ และประสบการณ์กันมากด้วยครับ
  • เลยก็ต้องขอบคุณไปด้วยในการเป็นสภาพแวดล้อมและแหล่งประสบการณ์เพื่อให้การเรียนรู้แก่กันและกัน ด้วยความมีน้ำใจอย่างดียิ่งครับ
  • ว๊าว มีโบว์และเหรียญ Blogger of the month ของ GotoKnow ติดกลับมาบนหัวบล๊อกของผมด้วย
  • ขอคารวะทีมดูแลของ GotoKnow / กรรมการพิจารณาทั้ง ๕ ท่าน และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านด้วยครับ ที่เหมือนกับให้เสียงสะท้อนเป็นกำลังใจ
  • จะหาโอกาสถอดบทเรียนในการได้มีส่วนร่วมกิจกรรมนี้ด้วยครับ
  • ขอคารวะทุกท่านที่ถูกเสนอชื่อ กระทั่ง ๑๑ ท่าน และ ๕ ท่านในรอบสุดท้ายด้วยครับ ผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่านงานของทุกท่านแล้วต้องขอคารวะครับ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

  • ประโยคข้างล่างนี้ต้องเป็นคนร่วมสมัยหน่อยจึงจะนึกภาพออก
  • อ่านครั้งแรก แล้วก็นึกขำไปด้วยเลย

"หากไปเจอเด็กๆ ถ้ายังแปลกหน้าและไม่วางใจกัน พอทำท่าเดินและทำเสียงควายใส่ พร้อมกับทำท่ามองและชวนมาขี่ควาย แป๊บเดียวก็เดินมาขึ้นหลังแล้ว"

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ยิ่งเป็นเด็กๆที่กำลังหัดเดิน หัดปีนป่าย ก็จะชอบมากครับ
  • เราต้องสมมุติตนเองให้น้องๆหลานๆ เลือกเล่นไปตามถนัด พอเป็นควายก็ทำท่าฟึ่ดฟั่ดทำเสียงดุๆแต่ใจดีหน่อย ถ้าเป็นช้างก็ทำหลังสูงๆแล้วก็เอาผ้าขนหนูเหี่ยวๆหรือผ้าขาวม้ามาทำเป็นงวง
  • พอเด็กๆขึ้นตอนเป็นช้าง ก็ต้องทำหลังให้สูง น่ากลัวหล่น เด็กๆก็จะนั่งหัวเราะและฝึกเกาะแข่งกันไม่ให้หล่น
  • หากขี่ตอนเป็นควายก็ต้องแกล้งเกเรหน่อย ทำเป็นเดินเจอแอ่งน้ำแล้วก็แกล้งล้มทับเพราะควายอยากนอนแช่น้ำบ้าง แกล้งไปเจอควายตัวอื่นแล้วก็ขวิดกันในขณะที่เด็กๆก็ร้องกรี๊ดๆอย่างสนุกอยู่บนหลัง
  • ตอนผมเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ก็เล่นให้ขี่อย่างนี้เหมือนกัน พอเริ่มโตเราก็อยากขี่ควายจริงๆให้ได้เร็วๆ
  • การเล่นแบบเมื่อก่อนนี้ ไม่มีเครื่องเล่นมากมายเลยนะครับ ยิ่งในชนบทในยุคใช้ไต้และตะเกียงอย่างในรุ่นผม(และพระคุณเจ้า)นั้น หลังกินข้าวมื้อเย็นก็ต้องเล่นขี่ควาย เล่นฉายหนัง ๔ จอ หรือไม่ก็นั่งเล่านิทานกลางชานบ้าน โดยใช้ดวงดาวและท้องฟ้าเป็นสื่อ  สร้างจินตนาการได้ดีจริงๆครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

เรียนท่านอ.วิรัตน์

วันนี้ตั้งใจมาตามหาบันทึกเกี่ยว กับเรื่องเมาะของท่าน

แต่ยังหาไม่เจอ มาเจอลายเส้นที่ต้องเพ่งมอง

สวยมากนะคะ เด็กน้อยของครูต้อยเข้ามาเรียนรู้

และcopy เอาไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในห้องเรียน

เลยตามมาดูค่ะ ต้องขออภัยแทนเด็กน้อยด้วยนะคะ

ที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อน

เด็กๆชอบภาพลายเส้นกันมาก

ครูต้อยเองก็งูๆปลาๆ จึงเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ

ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับkrutoitingครับ

  • นอกจากด้วยความยินดีมากแล้ว กลับต้องร่วมกับเด็กๆขอบพระคุณkrutoitingอีกด้วยนะครับที่ช่างส่งเสริมให้เด็กๆได้มีกิจกรรมการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยความริเริ่มและจัดการกลุ่มตนเองด้วยกัน
  • ได้เป็นแรงหนุนเสริมกันกับkrutoitingทางอ้อมอีกด้วย เลยดีใจและมีความสุขไปด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท