แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โยคะสูตรว่าด้วย การปรุงแต่งของจิต ๕ ประการ (๓)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ"

 

 

Pic19-200

 
(๑)การปรุงแต่งของจิตในโยคะสูตร
(๒)โยคะสูตรว่าด้วย 
     การปรุงแต่งของจิต ๕ ประการ 

(๓)โยคะสูตรว่าด้วย 
    การปรุงแต่งของจิต ๕ ประการ

(๔)โยคะสูตรว่าด้วย 
    การปรุงแต่งของจิต ๕ ประการ

(๕)โยคะสูตรว่าด้วย 
     การปรุงแต่งของจิต ๕ ประการ

(๖) โยคะสูตรว่าด้วย 
     การปรุงแต่งจิต ๕ ประการ (ตอนจบ) 
     และการบรรลุถึงการดับการปรุงแต่งของจิต
-(๖.๑)- ; -(๖.๒)- -(๖.๓)-

โยคะสูตรว่าด้วย
การปรุงแต่งของจิต ๕ ประการ (๓)

วีระพงษ์ ไกรวิทย์ (ครูโต้)
และจิรวรรณ ตั้งจิตเมธี (ครูจิ)
โยคะสารัตถะ ฉ.; ม.ค.'๕๒

สำหรับเนื้อหาในฉบับนี้ขอต่อด้วยโยคะสูตรบทที่ ๑ ประโยคที่ ๖ ดังข้อความว่า "ประมาณะวิปรรยะยะวิกัลปะนิทราสมฤตยะห์" ประมาณะ คือ ความรู้ที่ถูกต้อง วิปรรยะยะ คือ ความรู้ที่ไม่ถูกต้อง วิกัลปะ คือ จินตนาการ นิทรา คือ หลับโดยไม่ฝัน สมฤตยะห์ คือ ความจำ ทั้งห้าอย่างนี้คือประเภทของการปรุงแต่งของจิตตะ3  นั่นเอง
          การปรุงแต่งของจิตตะอย่างแรกในประโยคนี้คือประมาณะซึ่งเป็นข้อมูลที่ยอมรับว่าเป็นความจริง ปกติแล้วตัวข้อมูลหรือความจริงนั้นยังไม่ใช่การปรุงแต่ง (vrtti) เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้นั้นเป็นเพียงวัตถุที่อยู่ภายนอกจิตตะ(ยังไม่ผ่านการปรุงแต่ง) ต่อเมื่อมีตัวรู้ที่ทำหน้าที่ไปรับรู้ข้อมูลเหล่านั้นแล้วสะท้อนภาพหรือข้อมูลเหล่านั้นให้มาปรากฏอยู่ในจิตตะอีกทีหนึ่ง ดังนั้นความรู้ซึ่งปรากฏอยู่ในจิตตะแล้วตั้งอยู่บนข้อมูลหรือความจริงนั้นจึงจะถือว่าเป็นการปรุงแต่งของจิตตะที่เรียกว่า ประมาณะ หรือ ความรู้ที่ถูกต้อง ฉะนั้นคำศัพท์ที่ควรนำมาใช้เรียกความรู้ประเภทนี้ให้ตรงมากยิ่งขึ้นควรใช้คำว่า "ประมาณะชญาณวฤตติ" หรือการปรุงแต่งของจิตตะในแบบความรู้ที่ถูกต้อง(ซึ่งตรงกับความเป็นจริง) ปตัญชลีได้แบ่งประมาณะออกเป็น ๓ ประเภทซึ่งจะกล่าวถึงในประโยคถัดไป
          ในประโยคที่ ๗ กล่าวไว้ว่า "ปรัตยะกษานุมานาคมาห์ ประมาณานิ" หมายความว่า การรับรู้โดยตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ การรับรู้แบบอนุมาน และการรับรู้ผ่านหลักฐานหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ (อย่างของพราหมณ์-ฮินดู ก็คือการรับรู้ผ่านคัมภีร์พระเวทหรือคุรุที่ตนเคารพนับถือ) การรับรู้ทั้ง ๓ อย่างนี้คือ ประมาณะ ซึ่งเป็นการรับรู้ข้อมูลหรือความจริงที่ตั้งอยู่บนความรู้ที่ถูกต้อง
          คำว่า "ปรัตยะกษะ" ปกติเข้าใจกันว่าเป็นการรับรู้โดยตรง แต่โดยทั่วไปแล้วคำว่า "การรับรู้โดยตรง" นี้ไม่ใช่การรับรู้โดยตรงจริงๆ เพราะเราจะต้องรับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ในความเป็นจริงแล้วคนทั่วไปนั้นไม่สามารถรับรู้ได้โดยตรง จะมีก็แต่พวกโยคีที่ฝึกฝนดีแล้วเท่านั้นที่จะสามารถรับรู้โดยตรงได้อย่างแท้จริง ซึ่งการรับรู้โดยตรงของพวกโยคีจึงใช้คำเรียกที่แตกต่างออกไปว่า "โยคีปรัตยะกษะ" หรือ "โยคะปรัตยะกษะ"

าพแสดงกระบวนการรับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัส(ทางตา) 
เริ่มต้นด้วยภาพจากภายนอกซึ่งสมมุติว่าเป็นดอกไม้ เมื่อมากระทบกับตาซึ่งเป็นเครื่องมือในการเห็นภาพ(ดอกไม้) จากนั้นภาพดอกไม้ที่เห็นด้วยตาจะไปปรากฏอยู่ในจิตนั้น ผลก็คือ คนผู้นั้นจะเห็นภาพดอกไม้โดยผ่านกระบวนการรับรู้ต่างๆ ดังกล่าว

หมายเหตุ ;
ปรัชญาสางขยะแบ่งองค์ประกอบภายในของมนุษย์เป็น ๓ อย่างคือ พุทธิ(สติปัญญา) อหังการ(ความรู้สึกในตัวตน) และมนัส(จิต) แต่สำหรับปรัชญาโยคะจะเรียกองค์ประกอบทั้ง ๓ รวมกันว่า จิต (ดูเพิ่มเติมเรื่องประกฤติ กับ บุรุษะ ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑)

          คำว่า "ปรัตยะกษะ" มาจากคำว่า "ประติ" แปลว่า ถูกนำเสนอต่อหน้า ประกอบกับคำว่า "อกษะ" แปลว่า ตา ดังนั้นตามตัวอักษรแล้วคำนี้จึงหมายถึง การนำเสนอต่อตา ซึ่งตาเป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญและมีบทบาทมากที่สุดในประสาทสัมผัสทั้ง ๕ อย่าง บ่อยครั้งเราจึงใช้ตาเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความรู้สึกโดยทั่วไปของมนุษย์ ดังนั้นในที่นี้ "ปรัตยะกษะ" จึงหมายถึง การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทางใดทางหนึ่งจากทั้ง ๕ ทาง ซึ่งเป็นประมาณะในแบบแรก
          แบบที่สอง การรับรู้แบบอนุมาน คำว่า "อนุมานะ" มาจากคำว่า "อนุ" แปลว่า ตาม และ "มานะ" แปลว่า สิ่งที่ถูกวัดหรือถูกรู้ ดังนั้น อนุมานะ จึงหมายถึง การอ้างอิงหรือการสรุปจากความรู้บางอย่างที่มีอยู่เดิม หรือ เป็นการสรุปจากเรื่องทั่วไปมาสู่เรื่องเฉพาะ (จากใหญ่มาย่อย) เช่น เรามีความรู้ว่า ที่ใดก็ตามที่มีควัน ที่นั่นย่อมมีไฟ ดังนั้นเมื่อเราเห็นว่าที่นี่มีควันปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้นเราจึงอนุมานหรือสรุปจากความรู้ที่มีอยู่ได้ว่า ที่นี่ต้องมีไฟ (ทั้งๆ ที่เราไม่เห็นไฟ แต่ก็สรุปได้ด้วยการอนุมาน)
          แบบที่สาม การรับรู้ผ่านหลักฐานหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ คำว่า "อาคมะ" หมายถึง สิ่งที่มาถึงเรา เช่น สิ่งซึ่งตกทอดมาถึงเราตามขนบประเพณี จึงเชื่อได้ว่าความรู้ที่ตกทอดมาตามประเพณีนี้เป็นของจริงเชื่อถือได้ เพราะบรรพบุรุษของเราคงจะไม่บอกในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง คำว่า อาคมะ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อาปตะ วากยะ" ซึ่งหมายถึง ประโยคหรือคำกล่าวของบรรพบุรุษ ศัพท์อีกคำที่มีความหมายเหมือนกันก็คือคำว่า "ศัพทะ" หมายถึง คำที่เชื่อถือได้
          สรุป ประมาณะทั้งสามอย่างนี้คือความรู้ที่เราได้รับมาจาก 
๑) การรับรู้วัตถุหรือปรากฏการณ์โดยตรงของตนเอง 
๒) การรับรู้โดยการอนุมานซึ่งอาศัยการสันนิษฐานของเราเทียบเคียงกับประสบการณ์ตรงของผู้อื่น กล่าวคือขั้นแรกเดิมมีบางคนไปรับรู้ปรากฏการณ์โดยตรงอย่างหนึ่งมาก่อน จากนั้นเราได้สังเกตปรากฏการณ์บางอย่างแล้วนำไปเทียบเคียงกับปรากฏการณ์ที่ผู้อื่นเคยรับรู้มาก่อนนั้น แล้วเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสรุปปรากฏการณ์ที่เราเห็นว่าเป็นไปในทำนองเดียวกันกับของผู้อื่น 
๓) การรับรู้โดยผ่านประสบการณ์ตรงของผู้อื่นซึ่งเป็นผู้รู้ที่เชื่อถือได้

3การปรุงแต่งของจิตตะ จะขออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า เวลาเรารับรู้สิ่งต่างๆ จากภายนอก เรามักจะปรุงแต่งโดยการให้นิยามความหมาย ตัดสินให้คุณค่าโดยบอกว่าอะไรถูก-อะไรผิด อะไรดี-อะไรไม่ดี อะไรที่ชอบ-อะไรที่ไม่ชอบ หรือเปรียบเทียบ แยกแยะจัดประเภท เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง : 
๑) สัตยานันทปุรี, สวามี, (๒๕๑๑). ปรัชญาฝ่ายโยคะ. พระนคร : อาศรมวัฒนธรรม ไทย-ภารต.
๒) Karambelkar, P. V., (1986). PATANJALA YOGA SUTRAS Sanskrta Sutras with Transliteration, Translation & Commentary. Lonavla : Kaivalyadhama.



ภายใต้มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

 .....

หมายเลขบันทึก: 253448เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2009 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท