ซ.ซวง
นาย นพรัตน์ รัตนพงศ์ผาสุข

บทวิเคราะห์ในมุมมองของสุนทรียสนทนา (Dialogue) ต่อกรณีความล้มเหลวของการเจรจาสันติวิธีระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง (28-29 มี.ค. 53)


เหตุที่เจรจากันไม่ได้...ก็เพราะไม่ "ไว้วางใจ" กันนั่นเอง

ตามที่ได้เคยนำเสนอ บรรยากาศและมุมมองที่มีต่อการเจรจาระหว่างรัฐบาล และแกนนำคนเสื้อแดง

เมื่อวันที่ 28-29 มี.ค. 53 ไปในบันทึกก่อนหน้านี้

(http://gotoknow.org/blog/zng/348307)

สำหรับข้อเขียนนี้ จะขออนุญาตนำเสนอบทวิเคราะห์เพิ่มเติม

ต่อกรณีความล้มเหลวของการเจรจาสันติวิธี

โดยอ้างอิงกับแนวทางการดำเนินการสานเสวนา หรือ สุนทรียสนทนา (Dialogue)

และมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยที่เอื้อ

และปัจจัยที่ต่อต้านไม่ให้กระบวนการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงด้วยดี

และในตอนท้ายก็จะพยายามนำเสนอข้อเสนอแนะ เพื่อให้เวทีการเจรจาในครั้งต่อไป

มีโอกาสประสบผลสำเร็จมากขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการสนทนาที่ดี

และลดปัจจัยที่ต่อต้านหรือทำลายบรรยากาศการสนทนาที่ดี

 

เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามทีมงาน Dialogue ของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

ซึ่งได้ทำการเดินสายให้ความรู้ ฝึกฝนทักษะ สุนทรียสนทนา (Dialogue)

และรณรงค์สร้างวัฒนธรรมของการฟังในองค์กร

โดยทีมงานเรา ได้มีการเดินสายรณรงค์อย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี

ภายใต้การให้ความรู้ ความเข้าใจ

และคำแนะนำจากท่านอาจารย์ ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร

 

ระหว่างทางที่ผ่านมานั้นทีมงานเราก็ล้มลุกคลุกคลาน มากับวงสุนทรียสนทนามาพอสมควร

แต่ทีมงานเราก็ได้เรียนรู้ บทเรียนต่างๆ มากมาย ทั้งจากวงสุนทรียสนทนาที่สำเร็จ และล้มเหลว

ซึ่งในระยะหลัง เราก็ได้ขอยืมแนวทางการประเมินผลวงสุนทรียสนทนา

ที่ทาง ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ได้นำมาเผยแพร่ไว้

โดยท่านอ้างอิงมาจาก ทฤษฎีตัว U (Theory U) ของท่าน Otto C. Scharmer

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://gotoknow.org/blog/ariyachon/162927)

ซึ่งหลักการทฤษฎีนี้สามารถบ่งบอกถึงความสำเร็จ/ล้มเหลวของวงสนทนาได้เป็นอย่างดี

ในโอกาสนี้ จึงอยากขอนำเสนอบทวิเคราะห์การเจรจาระหว่างรัฐบาล

กับกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดง (นปช.) ในสองครั้งที่ผ่านมา

โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า 4 Social Fields ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน Theory U

ซึ่งมี 4 ระดับก็คือ

  1. I in me (ฉันอยู่ในตัวฉันเอง)

  2. I in it (ฉันอยู่ในปัญหา)

  3. I in you (ฉันอยู่ในเธอ เอาใจเขามาใส่ใจเรา)

  4. I in now (ฉันอยู่กับปัจจุบันขณะ)

 

จากประสบการณ์เล็กๆ ที่พวกเราทำกันในหน่วยงานนั้นก็ได้มีการตั้งเกณฑ์คร่าวๆ ไว้ว่า

ถ้าวงสนทนาใด ที่สมาชิกส่วนใหญ่ไปถึงระดับที่ 3 หรือ I in you

เราก็จะถือว่า วงสนทนานั้นประสบความสำเร็จ

และพวกเราก็ได้ตั้งข้อสังเกตร่วมกันจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า

เหตุปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่ทำให้วงสนทนาไปถึงระดับ I in you ได้นั้น คือ

 

“ความไว้วางใจ” (Trust)

 

ซึ่งมันก็แสนจะตรงไปตรงมาว่า ตราบใดที่คนไม่มีความไว้วางใจกัน

ความเข้าอกเข้าใจระหว่างกัน จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

ซึ่งก็ตรงกับที่คุณกอร์ปศักดิ์ ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้อย่างเดียวกันในทำนองว่า

เวทีเจรจาในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายนั้น ไม่เชื่อใจกัน และไม่ไว้วางใจกัน

ซึ่งทำให้ผลการเจรจาล้มเหลวในที่สุด

 

หลังจากที่ได้เกริ่นนำกันพอสมควรถึงแนวคิดทฤษฎีที่จะใช้

ก็ขออนุญาติเข้าประเด็นการวิเคราะห์การเจรจาครั้งประวัติศาสตร์กันเลยนะครับ

 

หากเรามองไล่ไปที่ตัวผู้เข้าร่วมในการเจรจา ทั้งสองรอบในวันที่ 28 -29 มี.ค. 53

ก็น่าจะพอเห็นข้อเท็จจริงได้ดังนี้

 

  1. นายกอภิสิทธิ์ : ในวันที่ 28 มี.ค. 53 นั้น น่าจะอยู่ในระดับที่ 2 แต่ในวันที่ 29 มี.ค. 53 นั้น น่าจะตกมาอยู่ที่ระดับที่ 1 เหตุเพราะว่า ในรอบแรกของการเจรจานั้นสองฝ่ายยังคงสงวนท่าที หยั่งเชิงกัน และนายกก็มีการพยายามเสนอแนวทางเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ในรอบสองนั้น นายกถูกคุณจตุพร และ คุณหมอเหวง กล่าวโจมตี พาดพิงในหลายประเด็น จึงทำให้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการชี้แจง ตอบโต้ในประเด็นต่างๆ ที่ถูกพาดพิง จนไม่มีเวลาที่จะคิดถึงการแก้ปัญหาเท่าที่ควร

  2. คุณจตุพร: หากดูจากเนื้อหาการสนทนา และท่าที ก็น่าจะอยู่ที่ ระดับ 1 เพราะตลอดเวลาของการสนทนาทั้งสองรอบนั้น คุณจตุพรดูจะยึดมั่นในความคิดความเห็นของทางฝ่ายตนเอง เสียเป็นส่วนใหญ่ และไม่ได้แสดงทีท่าผ่อนปรน หรือพยายามแก้ปัญหา หาทางออกร่วมกันแต่อย่างใด

  3. คุณหมอเหวง: ก็มีบางช่วงที่น่าจะขึ้นถึงระดับที่ 2 แต่ส่วนใหญ่ก็จะกลับมาอยู่ที่ระดับที่ 1 เพราะแม้ท่านจะเน้นหนักไปที่เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็มิได้มีท่าทีที่จะหาทางออกต่อการแก้ปัญหาร่วมกันให้เป็นรูปธรรม แต่อย่างใด และยังคงยึดมั่นที่จะทำตามแนวทางของฝ่ายตน โดยไม่สนใจข้อจำกัดของอีกฝ่ายหนึ่ง

  4. คุณชำนิ: เนื่องจากมีบทบาทในการเจรจาค่อนข้างน้อย ก็ไม่มีโอกาสแสดงความเห็นมากนัก มีเพียงการให้ข้อมูลประกอบในช่วงสั้นๆ จึงขออนุญาตผ่าน

  5. คุณวีระ: ตลอดเวลาของการสนทนาทั้งสองรอบ คุณวีระน่าจะไปถึงระดับที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ ด้วยท่าทีที่รับฟังอย่างตั้งใจ และพยายามเข้าใจในเหตุผล ความจำเป็นของฝ่ายรัฐบาล อันจะเห็นได้จากที่ คุณวีระ ดูจะยอมรับในหลักการ แนวทางการ “แก้กติกา 9 เดือน ก่อนยุบสภา” แม้จะไม่เห็นด้วยในเรื่องเงื่อนเวลาที่เสนอ แต่ก็มีทีท่าของการพยายามตกลงหาทางออกร่วมกัน

  6. คุณกอร์ปศักดิ์: ในวันแรกนั้น คุณกอร์ปศักดิ์ มีโอกาสพูดน้อย แต่ก็ได้มีความพยายามที่จะนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา (เสนอให้ยุบสภา แล้วเลือกตั้งไปพร้อมๆ กับขอประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 2 แต่ในวันที่สองนั้น น่าจะขึ้นถึงระดับที่ 3 เพราะคำพูดของคุณกอร์ปศักดิ์ ได้แสดงให้เห็นว่า เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิด ของฝ่ายเสื้อแดง เป็นอย่างดี มองเห็นปัญหา และเห็นว่า อะไรคืออุปสรรคใหญ่ของการเจรจา (ความไม่ไว้วางใจกันของทั้งสองฝ่าย) พร้อมทั้งยังได้มีความพยายามนำเสนอทางออกที่ดี และเป็นรูปธรรม

 

 

ทำไมจึงเจรจาไม่ได้ ก็เพราะไม่มีความ “ไว้วางใจ” (Trust) กันนั่นเอง

ก็อย่างที่ได้เกริ่นนำไว้ข้างต้นนะครับว่า

เหตุปัจจัยหลักอย่างนึงที่ทำให้บรรยากาศของวงสนทนาโดยรวมไปถึงขั้นที่ 3 (I in you)

ได้นั้น สมาชิกในวงสนทนา หรือเวทีเจรจาจะต้องมีความ “ไว้วางใจ” เป็นพื้นฐานสำคัญ

เลยจะขอลองจับคู่การเจรจา เพื่อวิเคราะห์ดูว่า

ความไว้วางใจในเวทีเจรจาครั้งนี้ มีมากขนาดไหน

 1. นายกอภิสิทธิ์ VS คุณจตุพร/หมอเหวง

ตลอดการสนทนาทั้งสองรอบ กล่าวได้เต็มปากว่า คู่สนทนาข้างต้นนั้นไม่มีความไว้วางใจกัน “อย่างแรง” ซึ่งก็พอเข้าใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของท่านนายก กับคุณจตุพรนั้น เคยกล่าวโจมตี พาดพิงกันมาตลอด และยังมีคดีความกันอยู่ในศาลอีกด้วย และในระหว่างการเจรจา ก็ยังมีการโจมตี และตอบโต้ กันไปมาอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุด ทั้งท่านนายก และทางคุณจตุพรนั้น ต่างเป็นผู้มีบทบาทหลักในการชี้นำความเป็นไปในการจะรับหรือไม่รับข้อเสนอระหว่างกัน ซึ่งหากสภาพความขัดแย้งยังคงไม่ได้รับการแก้ไข การเจรจาในรอบต่อๆ ไปก็มีวี่แววว่าไม่มีทางสำเร็จลุล่วงด้วยดี

2. คุณกอร์ปศักดิ์ VS คุณวีระ

เป็นคู่สนทนาคู่เดียวที่ให้ความรู้สึกว่า คนสองคนนี้ไว้วางใจกัน เห็นได้จากคำพูดของคุณกอร์ปศักดิ์ ที่ได้พูดถึงความสัมพันธ์อันดี และการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันระหว่างท่านทั้งสอง ซึ่งใครที่ติดตามฟังก็สามารถสังเกตได้ว่า สองท่านนี้แทบจะไม่มีคำกล่าวใดๆ อันแสดงออกถึงการไม่เคารพ และให้เกียรติคู่สนทนาเลย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า สองท่านนี้ มิได้มีบทบาทหลักในการตัดสินใจ เพื่อหาทางออก ในกรณีของคุณกอร์ปศักดิ์ นั้น เชื่อว่า คงสามารถเป็นที่ปรึกษา ให้นายกได้ และท่านก็น่าจะรับฟัง เพราะได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างสูงอยู่แล้ว แต่กรณีของคุณวีระกับทางกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น แม้ภาพของเวทีเจรจาที่เราเห็นจะถูกวางตัวให้เป็นผู้มีบทบาทหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้เจรจาที่มีบทบาทหลักในการตัดสินใจน่าจะเป็นคุณจตุพร และหลายๆ ครั้ง เราก็ได้เห็นคุณจตุพรแสดงความคิดเห็น และตัดสินใจสวนทางกันกับคุณวีระโดยสิ้นเชิง

  

ข้อเสนอแนะสำหรับการเจรจาในครั้งต่อๆ ไป (ถ้ามี)

  1. ทั้งสองฝ่ายควรเปิดโอกาสให้มี คณะคนกลางที่เข้าใจในแนวทางการสานเสวนา หรือสันติวิธี หรือผู้หลักผู้ใหญ่ อันเป็นที่ยอมรับนับถือ และเป็นที่ไว้วางใจ จากทั้งสองฝ่าย เข้ามาช่วยประคับประคองเวทีการเจรจา หรือ เพื่อระงับเหตุ โดยเฉพาะในกรณีที่ประเมินกันแล้วว่า กำลังกล่าวโจมตี และโต้ตอบกัน รวมทั้งอาจช่วยในการสรุปประเด็น ข้อเสนอ ทางออกจากการพูดคุยของทั้งสองฝ่าย

  2. สำหรับคู่กรณีหลัก คือท่านนายกอภิสิทธิ์ คุณจตุพร และคุณหมอเหวงนั้น ทั้งสองฝ่ายควรงดเว้นคำพูดที่กล่าวโจมตี และโต้ตอบกัน โดยเฉพาะในเรื่องความคิด ความเชื่อที่ไปกันคนละทาง ควรพูดกันถึงแต่ปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ตลอดจนจะต้องเคารพ ให้เกียรติคู่สนทนาให้มากกว่านี้

  3. เพื่อเป็นการลดความ “ไม่ไว้วางใจ” ระหว่างนายกกับคุณจตุพร อาจต้องมีการลดเงื่อนไขความขัดแย้ง เช่นนายกอาจจะพิจารณาการ “ถอนฟ้อง” คุณจตุพรสำหรับกรณีพิพาทในศาล แต่ในขณะเดียวกัน ทางคุณจตุพร ก็ต้องรับปากว่าจะไม่กล่าวโจมตี ให้ร้ายในเรื่องที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัด ซึ่งอาจจะช่วยลดความไม่ไว้วางใจระหว่างกันลงได้บ้าง และน่าจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศการเจรจาที่ดีขึ้น

  4. เพิ่มบทบาทของการสนทนา ให้กับคุณวีระ และคุณกอร์ปศักดิ์ หรือให้ทั้งสองท่าน คุยกันนอกรอบ เพื่อหาทางออก และให้ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันก่อนที่จะนำประเด็นทางออกเข้าสู่เวทีเจรจาวงใหญ่ เพื่อตัดสินใจร่วมกันในภายหลัง

 

สำหรับข้อเสนอแนะข้างต้น ก็พอทราบนะครับว่า ในสถานการณ์จริงนั้น

มีข้อจำกัด และปัจจัยแวดล้อมอีกมาก ที่ทำให้ยากต่อการปฏิบัติได้จริง

แต่ทั้งนี้ ทุกฝ่ายคงต้องพยายามช่วยกันประคับประคอง

เพื่อให้เราสามารถหาทางออกร่วมกัน

และคลี่คลายไปจากวิกฤติการณ์ใหญ่ในครั้งนี้ได้

เชื่อว่าที่ผ่านมาหลายๆ ฝ่ายก็ได้แสดงความตั้งใจที่จะหาทางออก

ด้วยการเจรจาสันติวิธี โดยเฉพาะคู่กรณีที่กำลังขัดแย้งกันอยู่

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย ให้ใช้สติปัญญา

และอดทดอดกลั้นให้มากขึ้น

แล้วทุกอย่างน่าจะจบลงด้วยดีในที่สุดครับ

หมายเลขบันทึก: 348445เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2010 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับ

          ผมติดตามทั้งสองวัน สองครั้ง

     *  ผมชอบคุณวีระครับ ดูเป็นผู้หลัก ผู้ใหญ่   เข้าอกเข้าใจ แบบ I  in you

     *  คุณกอร์ปศักดิ์  ก็โอเคครับ   ดูจะไปทาง I   in  you  ได้

     *  หมอเหวง กับ คุณ จตุพร  ถ้าลด I in me ลงมาบ้าง  ก็น่าจะดีขึ้นครับ  อย่างน้อย I  in it ก็พอคุยกันได้บ้างครับ

     *   ผมคิดว่าการสนทนาทั้งสองครั้ง  No   trust    no talk   ครับ  คือ  คุย เหมือน ไม่ได้คุย

                บันทึกนี้ มีคุณค่ามากครับ  ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆครับ

สวัสดีครับ

วิเคราะห์ได้ละเอียดและน่าสนใจมาก ๆ ครับ

ผมได้นั่งดูและฟังด้วยก็เห็นตรงตามที่คุณซวงกล่าว

ไม่ว่าจะเกิดผลหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่าคนไทยที่ติดตามด้วยใจเป็นกลางต่างได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น

รู้ว่าใครเป็นอย่างไร คิดอย่างไร รู้ว่าวุฒิภาวะของใครอยู่ระดับใด

การเจรจาคราวนี้เป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งของสังคมไทยครับ

บทเรียนที่คนไทยพึงได้รับและเรียนรู้คือ

คนมีปัญหาประกาศตัวเป็นคู่ตรงข้ามก็สามารถมาคุยกันได้ เจรจากันได้ และเป็นได้ได้ที่จะเข้าใจกัน (กรณีคุณวีระและคุณกอรปศักดิ์)

ในทัศนะผม การคุยทั้งสองคร้ังทีี่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นครับ

ตามหลักการของการเจรจา ขั้นแรกจะเป็นการเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจของแต่ละคนออกมา ว่าคิดอะไร อย่างไร

ขั้นแรกนี้อาจจะใช้เวลานานกว่าสองคร้ังก็เป็นไปได้

ผมคาดหวังว่าจะมีการเจรจาพูดคุยกันอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ครับ

ได้คิดตาม ดูตาม น่าสนใจครับ ผมก็พยายามฟังทั้งสองฝ่ายอย่างมีสติ ฟังให้เห็นความคิด ความเชื่อในตัวเขา คิดว่าการคุยกันดีกว่าการไม่คุยกัน การเปิดถ่ายทอดสด ผมเห็นด้วยเพราะคนส่วนใหญ่ได้ฟังด้วย ไม่ใช่เฉพาะสองฝ่ายที่เป็นคู่กรณีกันคุยกันเอง แต่ครั้งต่อก็ตามความเหมาะสม..

สวัสดีค่ะพี่ซวง

สงสัยอยู่เหมือนกัน เวลามีมวยยังมีกรรมกร เอ้ยกรรมการ

แต่สองวันที่ผ่าน ไม่มีใครเป็นกรรมการเลย

สมมุติว่ากอนั่งเป็นกรรมการอยุ่

กอจะบอกว่า ทั้งหมดยืนขึ้น ทำความเคารพซึ่งกันและกัน

ฝ่ายหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะ ท่านให้เกียรติหรือไม่

ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นำของชนชาวไทยที่มาเรียกร้องสิทธิของเค้า ท่านให้เกียรติซึ่งกันหรือไม่

เมื่อท่านทั้งสองฝ่ายให้เกียรติกันแล้ว การเจรจาเกิดขึ้นแล้ว

เราทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศชาติ ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

การเจรจาเกิดขึ้นเพราะ เราต้องการทางเลือก ท่านทั้งสองฝ่ายมีทางเลือกที่ขัดแย้งกัน

ฝ่ายหนึ่งต้องการบริหารประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้ยุบสภา

เราเจรจากันเพื่อหาทางเลือกจริง ๆ

เมื่อเจรจากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฝ่ายรัฐบาลเสนอขอยุบสภาภายใน 9 เดือน

ฝ่ายนปช.ต้องการยุบสภาภายใน 15 วัน

ในฐานะที่ผมเป็นคนกลางและเป็นตัวแทนของประชาชน ผู้ที่ต้องการให้ผมมีความเป็นธรรมให้ทั้งสองฝ่ายนั้น

ผมขอยื่นเสนอให้พบกันครึ่งทาง

ฝ่ายรัฐบาลไม่ถึง 9 เดือน พอจะไหวมั้ย ฝ่ายเสื้อแดง 15 วัน มันเร่งเร้าและการทำงานหยุดชะงักไปหลายอย่าง อย่างที่ท่านนายกบอกไว้จริง ๆ

ผมจึงขอยื่นขอเสนอให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อถึงเดือนสิงหาคม 2553 นับจากนี้ไปก็เป็นระยะเวลา 5 เดือน

ท่านทั้งสองฝ่ายจะยอมรับได้หรือไม่ครับ เพราะในสถานการณ์ขณะนี้ เป็นที่น่ารุ้กันว่า

ชาวไทยใช่จะใส่เสื้อแดงทั้งหมด จึงจะพอใจในการกระทำของเสื้อแดงที่จะทำให้รัฐบาลยุบสภาได้ภายใน 15 วันและยิ้มแย้มมีความสุข

และเป็นที่รู้กันว่า มีชาวไทยอีกจำนวนมาก ที่ทั้งรักและให้กำลังใจการทำงานของรัฐบาลอยู่เช่นกัน

นี่ไงครับ ผมถึงบอกว่าเมืองไทยต้องการทางเลือกที่แน่นอน จึงจะลดความบาดหมางในใจลงได้บ้างไม่มากก็น้อย

ขอให้ท่านทั้งสองฝ่าย ช่วยเหลือเมืองไทยอย่างจริงใจ ด้วยการมาเจรจาครั้งนี้เพื่อหาทางออกกันจริง ๆ เถอะ

5555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555

กินข้าวอิ่ม ๆ เลยฝันมาพิมพ์เม้นพี่ซวงค่ะ

สวัสดีครับ ท่านรอง smallman P

ขอบคุณความเห็นจากท่านรองครับ

เห็นด้วยกับท่านรองว่าถ้าไม่มี Trust ก็ไม่มี Talk จริงๆ

ครั้งหน้าถ้าสองฝ่ายโดยเฉพาะแกนนำตัวจริง

หากไม่พก Trust มา ก็เสียเวลาที่จะติดตาม

การเจรจาก็จะคว้าน้ำเหลวเหมือนเดิม

สวัสดีครับ คุณหนานเกียรติ P

ขอบคุณครับ สำหรับสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนกัน

เมื่อวานนี้พึ่งได้อ่านบทวิเคราะห์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ครับ

แล้วก็พบว่า ข้อวิเคราะห์ในบันทึกนี้

ช่างดูห่างไกลเหลือเกินจากบริบทความเป็นจริง

ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับถึงกับกล่าวว่าการเจรจาครั้งนี้

เป็นการ "จัดฉาก" หรือ แสดงละครไปเลย

คิดๆ ดูก็น่าจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง

เพราะอย่างที่ทราบกันล่ะครับว่า

ยังมี "ผู้กำกับการแสดง" ที่อยู่เบื้องหลัง

และเป็นผู้กำหนดอนาคตความเป็นไปของชาติไว้อย่างแท้จริง

การเจรจาจะสำเร็จไหม ก็คงต้องถามใจบรรดา ผู้กำกับของแต่ละฝ่ายว่า

ละครเรื่องนี้ จะให้มี "ฉากจบ" แบบใด

จะให้พระเอกตายตอนจบ

จะให้ Happy Ending

หรือจะจบแบบเลือดท่วมจอ ไม่มีใครชนะ

อ่านใจผู้กำกับดูก็รู้

ผ่านการแสดงออก

ผ่านคำพูด

ซึ่งน่าจะรับรู้ได้ไม่ยากครับ

สวัสดีครับ คุณเอกราช แก้วเขียว P

ประเด็นเรื่องถ่ายทอด / ไม่ถ่ายทอด

ก็เห็นด้วยครับว่า แต่ละฝ่ายคงต้องรับไปพิจารณาดู

รวมไปถึงคณะคนกลาง อย่างสถาบันพระปกเกล้าด้วย

ผมเคยได้ยินคำกล่าวบางคำกล่าวที่บอกว่า

80 % ของความสำเร็จในเวทีเจรจานั้น เกิดนอกเวทีเจรจา

สวัสดีครับ น้องสุดสายป่าน ณ ก้านกอโก๊ะ P

ไม่ได้คุยกันนานเลยนะครับ

ว่าจะถามว่ายังสบายดีอยู่มั๊ย แต่คงไม่ต้องถามแล้วล่ะ

เพราะถ้าน้องยังฝันได้ดี ขนาดนี้ เป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้

อย่างนี้พี่ก็ต้องขอกลับไปฝันต่อจากภาพน้องกอว่า

เวทีมวย เอ้ย!!! การเจรจาครั้งหน้า จะมีกรรมการที่หน้าคล้าย "น้องกอ"

อยู่ตรงกลางคอยทำหน้าที่ ตักเตือน หรือตัดแต้ม

ไปเลยหากมีใครต่อยใต้เข็มขัด

และก็ฝันต่อว่า

ในท้ายที่สุดตอนระฆังหมดยก

กรรมการที่น่ารักจะชูมือให้ทั้งสองฝ่าย "เสมอกัน"

และกองเชียร์ข้างสนามของทั้งสองฝ่าย

ก็ดีใจกันถ้วนหน้า (รวมทั้งโคช และเจ้าของค่ายมวย)

 

เฮ้อ...บางทีความสุขก็หาได้ง่ายๆ นะ แค่ได้ฝันดีๆ ซักเรื่อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท