สิ่งที่พ่อ-แม่ทุกคนต้องการจากลูก


ไม่ทราบว่าใครเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อใดแต่บอกถึงสิ่งที่พ่อ  -  แม่  ต้องการจากลูกได้ดีมาก  โดยเขียนไว้ว่า  
“เมื่อแก่เฒ่าหวังให้เจ้าเฝ้ารับใช้  เมื่อป่วยไข้หวังให้เจ้าเฝ้ารักษา  เมื่อยามลับดับชีวา  หวังให้เจ้าปิดตาเมื่อสิ้นใจ”
สามข้อแค่นี้เองที่พ่อ  -  แม่  โดยทั่วไปต้องการจากลูกๆทุกคน  แต่จากพื้นฐานวิถีชีวิตตามระบบเศรษฐกิจและสังคมของทุกวันนี้  ลูกๆโดยทั่วไปยากนักที่จะปฏิบัติตามความต้องการของพ่อ  -  แม่  ทั้งสามข้อนี้ได้  

จริงอยู่ที่วิถีชีวิตของคนย่อมแก่เฒ่า  ย่อมเจ็บป่วย  และสุดท้ายต้องถึงแก่ความตายในที่สุด  พ่อ  -  แม่บางรายทั้งที่ยากจน  ปานกลาง  และที่ร่ำรวยอาจจะลืมนึกถึงความจริงในข้อนี้  ไม่ได้ออกแบบหรือเตรียมการณ์ไว้รองรับสถานการณ์อันจำเป็น  พอชีวิตเคลื่อนไปถึงจุดของมัน  ก็จะเกิดความขาดแคลน  ความอ้างว้าง  ว้าเหว่  ทุกข์ทรมาน  หลายอย่าง  เป็นที่น่าสมเพชเวทนาเป็นอย่างยิ่ง

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้  ถ้าสืบย้อนไปในสังคมเกษตรกรรมก่อนปี  พ.ศ.  ๒๔๘๔  คือประมาณ  ๕๐  -  ๖๐  ปีมาแล้ว  สังคมไทยยังมีสภาพเป็นครอบครัวขยาย  คือลูกๆแม้จะแต่งงานมีเหย้าเรือนเป็นของตนเองไปแล้ว  แต่ก็ยังอยู่ใกล้ๆพ่อแม่  สถานการณ์ก็ไม่สู้ร้ายแรงเดือดร้อนอะไร  ลูกๆสามารถดูแลพ่อ  -  แม่ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ครบถ้วน  แต่ในสมัยปัจจุบันและในอนาคตต่อไปนี้  ความเป็นครอบครัวขยายหมดสิ้นไป  ลูกๆต้องระหกระเหินไปทำมาหากินตามวิชาการที่ได้เล่าเรียนมาบ้าง  ตามแหล่งจ้างงานต่างๆบ้าง  สภาพการณ์ที่เรียกว่า  “วงเวียนชีวิต”  ของพ่อ  -  แม่  ก็เกิดขึ้น  และมันเกิดกับวิถีชีวิตของคนในทุกระดับ  “แม้กระทั่งคนร่ำรวยมีอันจะกิน”

พ่อ  -  แม่ไทยคิดแก้ปัญหานี้อย่างไร?  ทุกคนดิ้นรนแก้ปัญหานี้อย่างรุนแรง  เต็มตามกำลังปัญญาความสามารถ  ด้วยการย้ายจากภูมิลำเนาเดิมไปอยู่กับลูกบ้าง  แบบนี้ถ้าความสัมพันธ์ของพ่อ  -  แม่กับลูกและคนในครอบครัวของลูกเป็นไปด้วยดี  ก็โชคดีไป  แต่ร้อยละของกลุ่มนี้ที่โชคดีก็มีไม่มากนัก  แบบที่สองในครอบครัวที่พ่อ  -  แม่  มีลูกหลายคนก็เตรียมลูกคนใดคนหนึ่งให้อยู่กับบ้านเดิม  กรณีนี้ตามธรรมเนียมจีนมักจะให้ลูกชายคนโตรับภาระนี้  แต่ในครอบครัวไทยมักจะเป็นภาระของลูกคนเล็ก  แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นพ่อ  -  แม่  ต้องมีที่ดิน  หรือกิจการ  หรือทรัพย์สินไว้ให้ลูกที่อยู่ด้วยทำมาหากินสืบต่อไปด้วย  จึงยากที่พ่อ  -  แม่ทั่วไปที่มีฐานะยากจนจะทำได้  และถึงแม้พ่อ  -  แม่จะพอมีฐานะจะเอื้ออำนวยได้  ก็ไม่แน่ว่าลูกๆเขาจะเห็นด้วย  เท่าที่เห็น  ร้อยละของครอบครัวที่ได้รับความสำเร็จค่อนข้างน้อยเหมือนกัน  แบบที่สามเป็นแบบผสมคือพ่อ  -  แม่  ไม่หวังพึ่งลูกๆร้อยเปอร์เซ็น  โดยพึ่งบ้าง  แต่เตรียมทุน  และสภาพต่างๆไว้รองรับความจำเป็นของตัวเอง  ได้แก่พึ่งกลุ่ม  กองทุน  ชมรม  องค์กรกุศลต่างๆ  ฯลฯ  คนไทยที่อยู่ในเมืองมักจะใช้วิธีนี้  แต่ก็เป็นวิธีที่แห้งแล้ง  เพราะลูกๆมักจะทอดธุระ  อ้างโน่อ้างนี่  ไม่ดูแลเอาใจใส่เท่านี้ควรทำ  ส่วนกลุ่ม  ชมรมองค์กรต่างๆก็ทำได้แค่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจ  ไม่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาใดๆ  ทางราชการกระทรวงสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  หรือวัด  กิจการทางศาสนา  น่าจะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ให้ใกล้ชิดและเพิ่มความสำคัญให้มากขึ้น

“เมื่อแก่เฒ่าหวังให้เจ้าเฝ้ารับใช้”  คงต้องหาพนักงานมาทำหน้าที่แทนลูกกันแล้ว  เงินที่จะจ้างพนักงานดังกล่าว  พ่อ  -  แม่  ต้องเตรียมการสะสมมาเสียแต่เนิ่นๆ  พ่อ  -  แม่ในครอบครัวใดสะสมไม่ได้และลูกๆไม่ช่วยเหลือ  ไม่ดูแลองค์กร  ชมรมการกุศลควรเป็นหน่วยประสานงานและช่วยแก้ปัญหา

“เมื่อป่วยไข้หวังให้เจ้าเฝ้ารักษา”  องค์กร  ท้องถิ่น  ชมรมการกุศล  และโรงพยาบาล  ควรมีกิจการเฝ้าระวังดูแลในเรื่องนี้ใกล้ชิดเป็นพิเศษ  อย่างไรก็ตาม  ลูกๆจะทอดทิ้งหน้าที่ของตนในข้อนี้ไม่ได้  รัฐควรใช้มาตรการทางภาษีแทรกแชงการไม่ทำหน้าที่ของลูกในข้อนี้

“เมื่อยามลับดับชีวาหวังให้เจ้าปิดตาเมื่อสิ้นใจ”  ข้อนี้มีความหมายหลายนัย  ข้อแรกพ่อ  -  แม่ คงตายตาหลับเมื่อรู้ว่าลูกๆเป็นคนดี  มีฐานะที่จะช่วยตัวเองและครอบครัวได้  ไม่คับแค้นยากจนจนเกินไป  มีอาชีพสุจริตมั่นคง  นี่ประการหนึ่ง  ข้อที่สองเมื่อพ่อ  -  แม่  สิ้นชีวิตลงลูกๆจะทำศพให้ตามสมควรแก่ฐานะ  และลูกจะเป็นคนรู้บุญคุณทำบุญทำกุศลให้ตามโอกาส  เป็นข้อที่สาม  ในข้อสุดท้ายนี้แม้พ่อ  -  แม่  จะไม่หวังมากนักแต่ก็เป็นหน้าที่สำคัญของลูกที่เป็นพุทธศาสนิกชน  ลูกๆจึงต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
หมายเลขบันทึก: 102658เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2007 06:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สมพงศ์ ตันติวงศ์ไพศาล

สวัสดีครับ คุณวรรธนชัย ครับ... บันทึกคุณเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวดีครับ หลากหลายรสชาต....ที่กล่าวมา เรื่องของพ่อแม่-ลูก นี้คงต้องคุยกันอีกยาวถ้าไม่มีหลักคิด ครับ......ผมขอแสดงความคิดเห็นว่า พุทธศาสนา กล่าวถึง ทิศ๖ ครับ คือหน้าที่ของเราต่อบิดามารดากระทำใน ๕ อย่าง (กตัญญูกตเวทีครับ )มี ๓ เรื่องที่คุณวรรธนชัยกล่าวดัวย เพิ่มคือ ดูแลกิจการของท่านไม่ตกต่ำ และ ทำบุญอุทิศให้เมื่อล่วงลับไปแล้วครับ

และหน้าที่ต่อกุลบุตรกุลธิดา เลี้ยงดูเขาด้วยเมตตา ให้เจริญว้ย ให้การศึกษา ให้สืบทอดกิจการ ให้คำแนะนำเรื่องคู่ครอง และมอบหน้าที่ของวงศ์ตระกูลให้ทำต่อครับ......(อาจจะไม่สำคัญ หรือไม่เกี่ยวกับบันทึกก็ได้)

แต่โดยความเห็นส่วนตัวของผม แล้ว ถ้ากุลบุตรกุลธิดา สำนึกในบุญคุณ ควรจะกระทำตามคำกลอนที่คุณวรรธนชัยกล่าวมาเป็นอย่างน้อย อย่างมากคือ รักษาวงศ์ตระกูล(ไม่ทำตัวเหลวไหล) ให้การดูแลหมั่นมาเยี่ยมถามหา  เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ให้รำลึกถึงทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ครับ

แต่ถ้าไม่ทำ ก็จะขาดธรรมะ เรื่องกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นเครื่องหมายของคนดีครับ.......

ถ้าคิดจะหวังพึ่งลูกหลาน หรือคิดแค่เพราะว่า กลัวมีลูกไม่ทันใช้ นั้น เสี่ยงมาก

- ลูกตาย

- ลูกพิการ ลูกป่วย พ่อแม่ต้องมาเลี้ยงลูกจนตาย

- ลูกเป็นบ้า

- ลูกยากจน ไม่มีปัญญาเลี้ยง

- ลูกติดคุก

- ลูกบวชไม่สึก

ฯลฯ

"รัฐควรใช้มาตรการทางภาษีแทรกแชงการไม่ทำหน้าที่ของลูกในข้อนี้" รู้สึกว่าสิงค์โปรมีกฎหมายเอาผิด ลูกไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ แต่นั้น ก็อาจยิ่งทำให้อัตราการเกิดที่รัฐบาลอยากให้เพิ่ม ยิ่งลดลงนะ เพราะคงต้องเลี้ยงดูพ่อแม่จนตัวเองไม่มีปัญญามีลูก

ส่วนเมืองจีน ที่บอกว่าลูกคนเดี๋ยวกลายเป็นจักรพรรดิน้อย เพราะมีพอ่แม่ปู่ย่าตายายเอาใจนั้น อีกหน่อยอาจตรงกันข้าม คือลูกคนเดียวอาจต้องเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท