เศรษฐกิจพอเพียง


พอเพียง สันโดษ
  • หลายคนคงคุ้นหูแล้วกับคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" มีการบอกเล่าต่อๆกันว่า นี่เป็นพระราชดำริเป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเตือนสติให้คนไทยรู้จักใช้ชีวิตอยู่อย่างรู้จักพอ รู้จักใช้ รู้จักหาให้พอดี อย่าทำอะไรด้วยความละโมภ โลภมาก จนเกิดผลเสียหายแก่ตนเอง และส่วนรวม ตัวอย่างเช่นคนชอบกิน กินแบบไม่บันยะบันยัง กินแบบไม่เหลือให้สุนัข กินจุบกินจิบ กินตลอดเวลา เป็นการกินแบบไม่พอเพียง กินโดยไม่รู้จักพอ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ พุงโต ท้องมาร และโรคอ้วน
  • เนื่องจากพระเจ้าอยู่เป็นพุทธมามกะ ทรงนับถือพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาของบรรพชน และศาสนาของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นพระราชดำรัสที่ทรงนำมาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาและเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับความสันโดษ
  • สันโดษมี 3 อย่าง คือ               
  1. ยถาลาภสันโดษ คือยินดีตามที่ได้ ยินดีตามที่พึงได้ คือตนได้สิ่งใดมาหรือเพียรหาสิ่งใดมาได้เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหนก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้มา ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้ หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้องชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของสิ่งที่คนอื่นได้ จนเกิดความริษยา
  2. ยถาพลสันโดษ คือยินดีตามกำลัง ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลังตนมี หรือหากได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกาย หรือสุขภาพ ก็ไม่ควรหวงแหนเก็บรักษาไว้ให้เสียประโยชน์ ควรสละให้ผู้อื่นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ก็นับเป็นการดีทำให้ความตระหนี่ที่มีในตนลดลง มีความสันโดษเพิ่มขึ้น การรู้จักเป็นผู้ให้ย่อมนำความสุขและอิ่มเอิบใจมาสู่ตน                
  3. ยถาสารุปปสันโดษ คือยินดีตามสมควร ยินดีตามที่เหมาะสมกับตนอันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน                
  • จะเห็นว่าความสันโดษเป็นการสร้างสุขให้แก่ชีวิตการรับและการได้มาหากไม่มีสติก็อาจลุ่มหลงไปตามอำนาจของโลภะอย่างไม่มีขอบเขต
  • ความรู้จักพอก่อสุขทุกสถาน" จึงเป็นคำเตือนสติให้ตนรู้จักความสุขที่แท้จริง ดังคำพูดที่ว่า คนที่รวยที่สุดคือ คนรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี และ คนที่จนที่สุดคือ คนที่ไม่รู้จักพอ แม้จะยกภูเขาที่เป็นทองทั้งลูกให้ เขายังปรารถนาภูเขาทองลูกอื่นต่อไปอีก เพราะไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ มหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ คนโลภย่อมไม่อิ่มด้วยอามิสฉันใดคนไม่ถือสันโดษย่อมเป็นเช่นนั้น และคนจนย่อมจนเพราะไม่พอมากกว่าจนเพราะไม่มี ดังนั้นการมีชีวิตอยู่จึงควรอยู่อย่างมีความสุขโดยการใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาคือการขยันหมั่นเพียรหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่สุจริตไม่เป็นภัยต่อตนเองหรือสังคม เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้วต้องรู้จักเก็บออมระมัดระวังในการใช้จ่ายไม่ก่อให้เกิดหนี้จนล้นพ้นตัวและถือสันโดษพอใจตามมีตามได้ตามกำลังและความจำเป็นของตน
หมายเลขบันทึก: 107760เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท