การคิด


การคิดวิเคราะห์เป็นเรื่องสำคัญ
นโยบายการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน

เชาวฤทธิ์ จงเกษกรณ์

[email protected].[email protected].

…………………………….

สภาพของสังคมไทยยุคปัจจุบัน มีความจำเป็นที่จะฝึกฝนให้ผู้เรียนทุกระดับมีทักษะพื้นฐานในการคิค และวิเคราะห์ เนื่องจากมีข้อมูลมากมายในการแก้ไขปัญหาและใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง อีกทั้งปัญหาผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. พบว่ามีโรงเรียนเพียงร้อยละ 18  เท่านั้นที่ผ่านระดับพอใช้  ในมาตรฐานที่ 4 คือ คุณภาพผู้เรียนด้านคิดวิเคราะห์ รวมทั้งผลการประเมินรอบสองยังยืนยันว่า คุณภาพดีขึ้นเล็กน้อย  แต่ยังไม่ลึกซึ้ง เนื่องจากผู้สอนไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเสนอเป็นความรู้ด้านความสัมพันธ์เชิงระบบและเป็นองค์รวมได้ และที่สำคัญเรื่อง การประเมินคุณภาพที่จัดทำโดย OECD รายงานว่า ประเทศไทยมีผลการประเมินในระดับต่ำเทียบกับ 40 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ PISA 2003 แล้ว ความสามารถด้านการอ่านประเทศไทยอยู่ในระดับที่ 35 คณิตศาสตร์อยู่ในระดับที่ 36 วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับที่ 36  และการแก้ปัญหาอยู่ในระดับที่ 33 ซึ่งการประเมินนี้เน้นเรื่องการคิดเป็นสำคัญ และผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในปีการศึกษา 2549 มีผลอยู่ระดับต่ำเกือบทุกรายวิชาในระดับประเทศ  จากการวิเคราะห์ประมวลผลในปัญหาหลักด้านคุณภาพผู้เรียนยังไม่ผ่านเกณฑ์และมีคุณภาพต่ำ เช่นนี้ สาเหตุเกิดจาก กระบวนการเรียนของการสอนของครูที่เน้นให้ผู้เรียน มีความสามารถในระดับเพียงแค่บอกได้ ตอบคำถามได้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ วิธีการต่างๆ แต่ในการลงมือปฏิบัติจริงยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ครูผู้สอนยังนิยมสอนให้นักเรียนพูดได้ บอกได้ตรงคำถามของครูได้เท่านั้น ไม่เลยไปถึงการอธิบายยาวๆ หรือการนำเสนอให้เห็นความรู้อย่างกว้างขวางแตกฉานเป็นองค์รวมด้วยชิ้นงานได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สพฐ.) มีนโยบายที่เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดของผู้เรียนสู่ห้องเรียน ให้เกิดทักษะกระบวนการคิดแบบต่างๆ  และให้ผู้เรียนนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ในการจัดระบบข้อมูล และนำเสนอออกมาเป็นความรู้ในระดับต่างๆ รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และการจัดการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษา เป็นผลทำให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ในที่สุด  

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการคิด ซี่งเป็นพื้นฐานหลักสำคัญในการเรียนรู้ จึงดำเนินการให้มีการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดสู่ห้องเรียนอย่างจริงจังในทุกระดับ และอาจกล่าวได้ว่า ปีแห่งการพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ ก็อาจจะเป็นได้  โดยเริ่มต้นจากการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทุกระดับ จะรวมพลังทำให้โรงเรียนประกอบด้วยห้องเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้คิดดี มีความสุขในการเรียนรู้ มีความรู้กว้างลึกและสร้างวิถีชีวิตแบบพอเพียงอย่างยั่งยืนด้วยการเรียนแบบร่วมกันสร้างความรู้ โดยมีพันธกิจร่วมกันที่จะให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการสร้างแบบรายงานคุณภาพผู้เรียนและระดับคุณภาพรวมทั้งวิธีการใหม่ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาทักษะกระบวน   การคิด  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ดำเนินการนำแผนการสอน ผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงเสนอใน Web site หรือส่งศึกษานิเทศก์/นักวิชาการไปร่วมพัฒนาการคิดในโรงเรียน ส่วนโรงเรียนให้ดำเนินการกำหนดคำอธิบายคุณภาพเป็นระดับที่ดูจากผลงานจริง และรายงานผลการพัฒนา    การคิดตามระดับคุณภาพ  รวมทั้งให้ครูลงมือสอนด้วยกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการคิด บันทึกระหว่างสอน รวบรวมผลความรู้ของผู้เรียนในรูป คำอธิบาย แผนภาพและชิ้นงาน มีการายงานคุณภาพผู้เรียนด้วยงานจริงตามระดับคุณภาพตามมิติต่างๆ พร้อมทั้งยกตัวอย่างผลการเรียนตามระดับคุณภาพ เป็นต้น

                ขั้นตอนการดำเนินงานตามนโยบายการคิดสู่ห้องเรียน

                1. กำหนดแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการรายงานผลตามระดับคุณภาพร่วมกันระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน

                2.จัดการอบรมนักวิชาการและศึกษานิเทศก์ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะและมีความสามารถที่จะเข้าไปร่วมพัฒนากระบวนการคิดกับโรงเรียน ด้วยการวิเคราะห์ผลงานของผู้เรียน ค้นหากิจกรรมที่นำไปสู่ผลที่เกิดขึ้นได้จริง โดยการร่วมพัฒนาด้วยมาตรการเชิงบวกและการรายงานผลผู้เรียนตามคุณภาพที่แท้จริงด้วย

                3.ศึกษานิเทศก์และนักวิชาการร่วมกันพัฒนาโรงเรียนด้วยการพาคิดพาทำ โดยเริ่มจาก    การกำหนดคุณภาพผู้เรียนเป็นระดับคุณภาพ การค้นหานวัตกรรม การลงมือสอนจริงและร่วมกันประเมินผล จนเกิดผลตามคุณภาพที่นำเสนอ เป็นรายงานการจัดเข้าสู่ระบบการจัดการความรู้

                4.ร่วมกันประเมินและสร้างความภาคภูมิใจด้วยการนำเสนอผลงานของผู้เรียนที่เกิดคุณภาพจริง พร้อมทั้งให้ขวัญกำลังใจ โดยการมอบรางวัลตามผลงานที่เกิดขึ้น

                5.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพิ่มเติมระบบการพัฒนาวิชาชีพครู โดยจัดตัวย่างผลงานและระบบการจัดการความรู้เป็นองค์กรวิชาชีพครูแบบองค์กรแห่งการเรียนรู้

                การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดการอบรมสัมมนาให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบหลักการและนโยบายการขับเคลื่อนดังกล่าวทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างชัดเจนในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพียงพอที่จะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยมีศึกษานิเทศก์และโรงเรียนร่วมพาคิดพาทำนำให้เกิดผล แล้วนำผลที่ดี ( Best Practice )ได้มานำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันต่อไป

                ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจในนโยบายการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียนครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าชื่นชม กล่าวคือ แต่ละฝ่ายล้วนมีความตั้งใจและสมัครใจ ในการที่จะร่วมมือกันทำงานโครงการนี้ไม่ว่าจะเป็นศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียนและครู มีความพร้อมที่จะร่วมใจกันพัฒนาทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้กับผู้เรียน ให้เกิดผลกับผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยการวิเคราะห์ปัญหาผู้เรียนร่วมกัน พัฒนาตามความถนัดและศักยภาพของผู้เรียน มีการตรวจสอบผล  การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน สรุปปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับโรงเรียน การดำเนินงานครั้งนี้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ค่อนข้างจะมีความพร้อม ทั้งในเรื่องการฝึกอบรม เนื้อหาสาระที่ให้กับศึกษานิเทศก์ ตลอดจนงบประมาณ จึงกล่าวได้ว่า เมื่อคนพร้อม วัสดุอุปกรณ์พร้อม งบประมาณพร้อมและการบริหารจัดการที่เป็นระบบที่มีความพร้อมเช่นนี้แล้ว มีความคาดหวังว่าปัญหาด้านกระบวนการคิดวิเคราะห์คงจะเกิดการพัฒนาเพิ่มขึ้นรวมทั้งปัญหาดังกล่าวคงจะเบาบางลงในอนาคตอย่างแน่นอน        

     
คำสำคัญ (Tags): #การคิด
หมายเลขบันทึก: 108372เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท