คนไทยกับนิสัยรักการอ่าน


การอ่านหนังสือนั้นไม่ว่าจะเป็น 7 บรรทัด หรือ 12 บรรทัด ไม่สำคัญเท่าว่า "เขาอ่านอะไรอยู่" อ่านไปเพื่ออะไร หรืออ่านไปใช้ในการปรับทัศนคติ สร้างฐานความคิดที่ใกล้เคียงกัน ในบรรยากาศของความใฝ่รู้ และเข้างรายละเอียดข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวางเสมอกัน คิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ให้เกิดขึ้นให้ได้

คนไทยไม่รักการอ่าน


สถิติคนไทยอ่านหนังสือ 7-8 หน้า/คน/ปี
กระทรวงศึกษาธิการเพิ่งจัดงาน"มหกรรมนักอ่าน" ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ไปเมื่อกลางเดือนนี้ที่เมืองทองธานี ตามนโยบายปฏิรูปการศึกษา
ตั้งเป้าให้คนไทยอ่านหนังสือ 12 บรรทัด/ปี
ทำไมการอ่านจึงเป็นเสมือนยาขมสำหรับไทย สถิติจึงต่ำติดดินขนาดนี้
จึงต้องโหมประชาสัมพันธ์ กระตุ้น สร้างกระแสกันมากมายขนาดนี้
ฟินแลนด์ ตามสถิติว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนนักอ่านสูงสุดในโลก คนอินเดียอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันวันละ 150 ล้านคน (จากประชากร 1,100 ล้านคน)

ทำไมการอ่านจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย หรือเป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดสืบต่อกันมาอย่างน่าภาคภูมิใจ
หรือวันนี้ช่องทางการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ของคนไทยเรา สามารถรับรู้ได้หลากหลาย ช่องทางมากขึ้นจึงทำให้การอ่านลดลง หรือสำคัญน้อยลง
 วันนี้การรับฟังการวิเคราะห์ข่าวสาร หรือการอ่านจากหนังสือพิมพ์ เราได้เห็นได้ยินจากสื่อต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป จนถึงเช้าก่อนเข้าทำงาน ทำให้เกิดความสะดวก สบายไม่ต้องอ่านเอง วิเคราะห์ข่าวเอง มีคนทำให้เบ็ดเสร็จ ก็น่าเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้คนทำงานอ่านน้อยลง

ในโรงเรียนเองที่จะเป็นแหล่งเพาะบ่มนิสัยรักการอ่านห้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในปัจจุบัน  สังเกตว่าการส่งเสริมนิสัย หรือ กิจกรรมรักการอ่านน้อยลง แม้หน่วยงานต้นสังกัดจะมีการส่งเสริมผ่านกระบวนการประกวดการจัดกิจกรรมรักการอ่าน ประกวดยอดนักอ่านทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียนก็ตาม
ที่ผ่านมาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นปัญหาที่กำลังพูดถึงกันอยู่ทั่วเมือง ก็ย่อมสะท้อนถึงคุณภาพของการอ่านเพื่อจำ เพื่อสอบ และการนำไปสังเคราะห์ใช้ของนักเรียนและโรงเรียนได้อย่างดี
นี่มีข่าวว่าปีหน้าการสอบ O-NET ของนักเรียนจะสอบ 8 กลุ่มสาระวิชา จากเดิม 5 วิชา ก็น่าตามติดและติดตามว่าผลจะออกมาใครที่นั่งจะร้อนลุ่มมากกว่ากันหว่าง นักเรียน ครู ผู้บริหารทุกส่วน และผู้ปกครอง

เมื่อยามที่นึกถึงการอ่านแล้ว ระลึกถึง "คุณตา" เสมอมา
ยอมรับว่าตนเองมีความรู้สึกที่ดีต่อการอ่าน ไม่ถึงว่าจะเป็นยาขมเท่าที่ควร จะว่ารักหรือเปล่า ไม่กล้าบอกได้เพราะคุณตาปลูกฝังมา ตั้งแต่เล็กอย่างไม่รู้ตัว

บ้านของเราเป็นบ้านหลังแฝด 2 หลัง ชายคาติดกัน
คุณตาอยู่คนเดียว 1 หลัง
ผมกับน้องอีก 2 คนอยู่อีกหลัง(พ่อแม่ไปทำสวนอยู่บันนังสตา จ.ยะลา เดือนกลับมา 2-3 ครั้ง)
จำได้ว่าทุกวันตอนตี 5 คุณตาจะมาออกกำลังกาย แล้วจะเดินมาเรียกและปลุกให้ทุกคนตื่นขึ้นมาอ่านหนังสือ (ทำการบ้านตอนหัวค่ำ) เป็นอย่างนี้ทุก ๆ วัน
บางวันง่วงนอนก็ลุกมาเปิดไฟ ให้คุณตาเห็นว่าตื่นแล้ว ก็นอนต่อ ตามประสาเด็ก เมื่อไหร่ได้ยินเสียงคุณตาเดินมาใกล้ห้องก็แกล้งเปิดหนังสือดัง ๆ บางครั้งคุณตา แอบเข้ามาในบ้าน แจกขนมให้คนละแปะสองแปะ
แต่ก็ไม่ได้หลบนอนทุกวันทุกครั้ง
เราก็อ่านหนังสือกัน
ภาพของคุณตาที่คุ้นตาข้าพเจ้า คือ ภาพของยอดนักอ่านที่ยิ่งใหญ่ เพราะท่านจะอ่านหนังสือให้พวกเราเห็นเป็นประจำ เมื่อยามว่างจากการงาน
เป็นแบบอย่างที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก
แต่บางครั้ง เราก็มักจะได้ยินคนแก่ ๆ แถวบ้านพูดให้กลัวว่าคนที่อ่านหนังสือมากจะเป็นบ้า หรือ เป็นโรคประสาท ก็ตาม
คุณตามักย้ำเสมอว่า อ่านหนังสือตอน "หัวรุ่ง" (คนใต้ หมายถึง ใกล้สว่าง) สมองจะโปร่งและจดจำได้ดี
ซึ่งมันก็เป็นความทรงจำที่ฝังลึกมาจนผมโต ในเรื่องของการอ่านหนังสือเพื่อสอบหรือเพื่อเตรียมการในการทำงานในสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้กับมันในสิ่งใหม ๆ เสมอมา

ผมมักจำภาพตอนเดินไปโรงเรียนตอนสมัยประถมได้ดี บ้านกับโรงเรียนห่างประมาณ 2 กิโล เว้นแต่จะเดินลัดไปตามบ้านคน แต่ก็เสี่ยงกับการถูกยามเฝ้าบ้านไล่กัด แต่ก็มันดี(สมัยเด็ก)
ผมเคยถูกสุนัขกัด โดนฉีดยาสมัยนั้น สะดือพลุนเลย
ระหว่างทางเดินไปโรงเรียนตามถนน ผมมักจะถึงโรงเรียนช้ากว่าคนอื่นเสมอ เพราะ 2 ปัจจัย
1. เดินตามเขาไม่ทัน เพราะตัวเล็กกว่าใครเขา
2. เก็บกระดาษเศษหนังสือพิมพ์ หนังสืออื่นๆ ตามข้างทางอ่านไปด้วย

เป็นอย่างนั้นจริง ยามเด็ก
การอ่านสำหรับผมแล้ว จึงไม่ใช่ยาขมนัก
โดยเฉพาะชีวิตในช่วงของรั้วมหาวิทยาลัย ..
จบได้เพราะการอ่าน
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยเข้าห้องเรียนเท่าไหร่ จนบางครั้งอาจารย์ กับเพื่อนบ่นคิดถึง
ใช้ชีวิตกับการทำกิจกรรมเพื่ออะไร ? ก็ไม่รู้
เป็นนักกิจกรรมมากกว่านักศึกษา
อาศัยเพื่อนรำคาญ  และสมเพศ ยอมให้เอาเอกสารสรุปไปถ่ายเอกสารมาอ่านสอบทุกครั้ง !!!
อาศัยอ่านเอง ทำความเข้าใจเอง พอเอาตัวรอดมาได้
กระทั่งมาทำงานก็ยังต้องอาศัยการอ่าน เพื่อพัฒนาตนเองและงานอยู่อย่างต่อเนื่อง

ย้อนกลับมาปัจจุบัน ทำไมเด็กจึงไม่รักการอ่าน
และผู้บริหาร ครู รักการอ่านกันหรือไม่
เด็กเคยเห็นภาพของครูอ่านหนังสือ ให้เขาเห็นกันบ้างหรือเปล่า
จริงอยู่เวลาครูสอน ครูก็ต้องสอน จะมานั่งอ่านหนังสือให้เด็กดู เด็กเห็น คงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้มากเท่าที่ควร
ผมเคยฝันว่า
วันหนึ่งผมเข้าไปห้องสมุดโรงเรียน เห็นผู้บริหาร ครู นักเรียน นั่งอ่านหนังสือกันอยู่อย่างมีความสุข ใบหน้าของทุกคนดูแสดงถึงความยิ้มแย้ม แจ่มใส ที่ได้นั่งอ่านหนังสือที่อยู่ตรงหน้าของตนเอง
สงสัยวันนั้น ผมคงเผลอทานมื้อเย็นไปมากเกินไปแน่เลย!!!!
แต่
จะเป็นไปได้ใหม
ที่โรงเรียนจะมีนโยบายที่จัดสรรช่วงเวลาในหนึ่งสัปดาห์ หรือเดือน สำหรับการอ่านของทุกคนในโรงเรียน
1 ชั่วโมงหรือ 30 นาที /วัน/สัปดาห์/เดือน
ในระยะแรกอาจนำหนังสือที่ตนเองชอบ สนใจ มาอ่าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือหนังสือเรียนสำหรับเด็ก เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีต่อการอ่านก่อน
หลังจากนั้นก็ขยับขยาย
สิ้นปีมีการจัดเป็นวันนัดพบของนักอ่าน หรือ ชุมชนนักอ่านของโรงเรียนก็ว่าได้
นำหนังสือเล่มโปรดที่ตนเองสนใจ ชอบ มาแลกเปลี่ยนกันอ่าน รวมไปถึงการบริจาคเข้าห้องสมุด หากทำได้ไปถึงผู้ปกครองด้วยยิ่งประเสริฐใหญ่เลย
ดังนั้นที่ผมพูดมาทั้งหมดเรื่องของนิสัยรักการอ่าน คิดว่า
ต้องเริ่มสร้างกันตั้งแต่ที่บ้าน
มาเสริมมาต่อกันที่โรงเรียน
ทำให้เป็นวัฒนธรรมแห่งชีวิต สำหรับทุกคน
เมื่อนั้นอย่าว่าแต่ 12 บรรทัดต่อปีเลย

แต่อย่างไรก็ตามจำนวนยอดของการอ่านหนังสือนั้นไม่ว่าจะเป็น 7 บรรทัด หรือ 12 บรรทัด ไม่สำคัญเท่าว่า "เขาอ่านอะไรอยู่" อ่านไปเพื่ออะไร หรืออ่านไปใช้ในการปรับทัศนคติ สร้างฐานความคิดที่ใกล้เคียงกัน ในบรรยากาศของความใฝ่รู้ และเข้างรายละเอียดข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวางเสมอกัน คิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ให้เกิดขึ้นให้ได้
????

 

หมายเลขบันทึก: 108394เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบแหล่งอ้างอิงสถิติที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 7บรรทัด มาจากที่ไหนคะ อยากทราบข้อมูลจริงๆค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท