ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (10): เรื่องของลูกๆ


ความจริงตอนนี้น่าจะเอาไปไว้ที่บล็อก อันเนื่องมาจากลูกๆ เพราะเป็นเรื่องของหนุ่มๆน้อย แต่คิดว่าจะได้ลิงค์อยู่ที่เดียวกัน และไม่วิชาการจนเกินไปนัก ก็เลยวางไว้ตรงนี้ดีกว่าค่ะ


เรื่องของลูกๆ

น้องฟุงอายุเต็ม 2 ขวบไม่กี่วันก่อนจะถึง Perth และเป็นเด็กพูดช้าเหมือนพี่ๆ คือจนป่านนั้นแล้วก็ยังส่งภาษาอือๆอาๆ ไม่เป็นคำเลย ทั้งๆที่ฟังรู้เรื่องทุกอย่าง เรากะการกันว่าคุณพ่อจะเลี้ยงน้องฟุงอยู่บ้าน ระหว่างที่คุณแม่ไปเรียนหนังสือ แต่เผอิญเพื่อนชาวเนปาลชื่ออูม่า ซึ่งมีลูกอายุใกล้ๆกับน้องฟุง ไม่มีสามีมาด้วย เขาชวนพวกเราไปดูสถานรับเลี้ยงเด็กของมหาวิทยาลัย ซึ่งเราจะมีสิทธิ์พิเศษในการสมัคร (เพราะคิวยาว) น้องฟุงจึงได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์ใน UniCare หนึ่งวันเป็นเพื่อนกับลูกของอูมา ปรากฎว่าลูกอูมาร้องจะกลับบ้านไม่อยากอยู่ในตอนแรก ส่วนน้องฟุงร้องไม่ยอมกลับ จะเล่นอยู่ที่นั่น พวกเราก็เลยเปลี่ยนใจให้ลูกได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตในที่ๆมีเด็กหลากหลายดู นับเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดเลย เพราะนอกจากน้องฟุงจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับเด็กอื่นแล้ว ดูเหมือนการอยู่กับเด็กหลายชาติหลายภาษา จะมีส่วนทำให้น้องฟุงรักภาษาไทย แม้จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในชีวิตประจำวันนอกบ้าน แต่พออยู่ในบ้าน น้องฟุงเองเป็นคนขอให้พวกเราพูดไทย เป็นความคิดของเขาเองที่เราพ่อแม่ก็ยังทึ่งและพยายามช่วยตอบสนอง เนื่องจากพี่ๆทั้งสองเรียนชั้นติดกัน (Year 3 และ 4 – เทียบเท่ากับ ป.3 และ 4 ของเราเหมือนกัน) ในช่วงหลังๆที่เริ่มมีเพื่อนมากขึ้น เวลาคุยกันที่โรงเรียนเป็นภาษาไทยจะโดนเพื่อนถามบ่อยๆ จึงคุยกันเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า และทำให้ติดมาที่บ้าน น้องฟุงจะคอยเตือนว่าให้พูดภาษาไทยในบ้าน ดังนั้นน้องฟุงจะเรียนรู้การพูดภาษาไทยจากที่บ้านเท่านั้น พวกเราไม่ค่อยรู้สึกว่าเราใช้ภาษาไทยกันแปลกหรือไม่ แต่พอมีโอกาสพบปะกับน้องๆคนไทยบ่อยขึ้น ทำให้ทราบว่าเราเองอาจจะใช้ภาษาไทยไม่ถูกเท่าไหร่ ช่วงแรกๆน้องๆจะถามว่า น้องฟุงพูดภาษาอะไรกันแน่ เพราะเขาฟังไม่ค่อยเข้าใจ ทั้งๆที่ฟุงพูดไทยด้วย น้องฟุงจะแปลอังกฤษเป็นไทยบ่อยมาก ดังนั้นทำให้ประโยคที่ออกมาจะประหลาด เช่น กำลังคุยโทรศัพท์ – on the phone น้องฟุงจะบอกว่า อยู่บนโทรศัพท์  

ลูกๆทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากกว่านักเรียนโสดคนอื่นๆ

ต้องเรียกว่าเป็นโชคดีที่เราไปแบบมีครอบครัว เพราะทำให้พวกเรามีประสบการณ์กว้างขวางขึ้นเกี่ยวกับระบบการศึกษา ตั้งแต่ระดับเด็กเล็กไปจนถึง หลังปริญญาเลยทีเดียว จะเอามาเล่าในตอนหน้านะคะพร้อมกับเรื่องการบริการในโรงพยาบาลทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเราได้มีโอกาสไปใช้บริการด้วย


รู้สึกว่า เรื่องที่เอามาลงในบล็อกเกือบจะตามทันกับในวารสารสายใยพยา-ธิของเราแล้วล่ะค่ะ

หมายเลขบันทึก: 109221เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2007 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท