สำนักอำนวยการ
สำนักอำนวยการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

มาทำงานจากหัว (และ) ใจกันเถอะ


การรู้รับผิดชอบ

         คุณเคย รู้สึก  "เบื่องาน" บ้างมั๊ย ?

           นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย  การที่เราต้องกระทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ กันอยู่เสมอ นานวันเข้าก็ต้องเบื่อ เป็นเรื่องปกติ แต่อย่าให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะมันจะกัดกินหัว (และ) ใจเรา เสมือนดังน้ำเซาะตลิ่งที่รอวันพังทลายลงไป หลายหน่วยงานรู้ปัญหาเหล่านี้ พยายามผุดโครงการมากมายเพื่อเป็นการจูงใจให้บุคลากรของตนรู้สึกผ่อนคลาย และตั้งใจทำงานมากขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหามิได้อยู่ที่ภายนอก แต่อยู่ภายในหัว (และ) ใจมากกว่า ถ้าเราทำงานเพื่อค่าตอบแทน ก็ได้แต่ค่าตอบแทน (คุ้มหรือไม่คุ้มก็สุดแล้วแต่) แต่ถ้าเราทำงานเพื่องานที่เรารัก และรักที่จะทำงานล่ะ เรื่องน่าเบื่อ หรือปัญหา ที่จะเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว จะเป็นหนทางที่จะทำให้เราเกิดปัญญา ผลสำเร็จของงานเป็นความภาคภูมิใจ เป็นสิ่งที่หอมหวาน น่าจดจำ แล้วการที่จะทำงานจากหัว (และ) ใจ ทำไงกัน ต้องติดตามกันต่อไป

เมื่อเดือนก่อนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (KM) ณ กรมราชทัณฑ์ ขอชมเชยว่า KM ของกรมราชทัณฑ์ทำได้ดีมาก ในวันนั้นได้รับเอกสารเผยแพร่ความรู้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้อ่านทั้งหมดแล้ว  ชอบอยู่หลายเรื่อง แต่มีอยู่เรื่องนึงที่เห็นว่า ไม่มีความซับซ้อนของกลยุทธ์ใด ๆ แต่ใช้ใจล้วน ๆ ก็คือ เอกสารเชิญชวนให้ทำงานจากหัวใจ ใช้ภาษาอังกฤษว่า Personal Mastery เป็นเรื่องที่ ดร.เกศรา รักชาติ เป็นผู้เล่า (เอกสารมิได้ระบุว่า ดร.เกศรา รักชาติ ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้) เรื่องมีอยู่ว่า
          ดร.เกศรา รักชาติ ได้มีโอกาสรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานของหัวหน้าหน่วยบริการการประชุม ในมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง เพื่อนร่วมงานท่านนั้นรู้จักกันดีในนามของ "คุณป้าพัชรินทร์" จากเรื่องราวที่ได้รับฟังทราบว่า คุณป้าพัชรินทร์เป็นผู้ที่ทำงานด้วยหัวใจ เป็นสุดยอดของบุคลากรทางด้านการบริการ คุณป้ามีคำที่ติดปากเสมอ "เดี๋ยวพัชรินทร์จัดให้" คุณป้าพัชรินทร์รับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแลคนเข้าประชุม ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีการประชุมจะมีคนเข้าประชุมเป็นจำนวนมาก แต่คุณป้าสามารถจำได้ว่าท่านใดรับเครื่องดื่มประเภทใด โดยไม่ต้องรบกวนการประชุมเลย นอกจากนี้ หากคุณป้ามีโอกาสไปพบเห็นการจัดดอกไม้ การจัดผ้าปูโต๊ะในห้องประชุมจากที่อื่น ก็จะจดจำแล้วนำมาปรับใช้กับห้องประชุมของคณะได้อย่างสวยงาม เป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่จำเจ 
          เทคนิคง่าย ๆ ที่คุณป้าบอกไว้ และได้นำมาใช้ก็คือ เราต้องเต็มใจที่จะรู้จักงานของเราอย่างเปิดกว้าง รู้จักพิจารณาอย่างซื่อสัตย์ รู้ว่าสิ่งใดที่ตนเองยังไม่ดีก็พร้อมและยินดีที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะทำให้ชีวิตมีค่ามากขึ้น เพราะเราได้ทุ่มเทต่อการทำงานอย่างแท้จริง และพัฒนาทักษะต่อการทำงานโดยไม่ยึดติด
          นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาสิ่งที่มีค่าอย่างแท้จริงในตนเองและทำให้เกิดความสุข ความพอใจ ชีวิตการทำงานมีคุณค่า มีความหมายในทุกขณะทั้งต่อตนเองและต่อเพื่อนร่วมงาน เพราะคุณป้าได้ทำงานจากหัวใจ ดังนั้น เรามาทำงานจากหัวใจแบบคุณป้าพัชรินทร์กันเถอะ มาใช้ชีวิตทุกวันให้เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ และเชื่อว่าประสบการณ์ที่เราได้สัมผัสจะนำความสุขใจและเพิ่มคุณค่าให้แก่ชีวิตการทำงานของเรา  ช่วงชีวิตของคนเรานั้น 60 - 70 % เราใช้เวลาอยู่กับงาน
อย่ามองว่างานเป็นเพียงเครื่องมือในการทำมาหากินเท่านั้น ให้มองว่างานเป็นวิธีที่จะทำให้เราได้ดื่มด่ำและเพิ่มคุณค่า คุณภาพและความหมายให้แก่ประสบการณ์ชีวิต และใช้ทุกแง่มุมของงานในการเรียนรู้และเติบโต

 แนวทางการทำงานที่มีความสุขของคุณป้าพัชรินทร์ ไม่มีความสลับซับซ้อนอันใดเลย ดร.เกศรา รักชาติ กล่าวว่าเป็นการทำงานจากหัวใจ แต่หากเราได้พิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นได้ว่า การทำงานให้มีความสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืนนั้น จะต้องใช้ทั้งหัว และใจ กล่าวคือ ใช้ทั้งสติปัญญา ที่จะคอยคิดหนทางป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการทำงาน และใช้สมาธิ คือจิตใจที่แน่วแน่ มุ่งมั่นว่าจะต้องทำงานนั้นให้สำเร็จลงด้วยดีในทุกด้าน สร้างความพึงพอใจให้กับตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพียงเท่านี้เราก็จะมีความสุขกับการทำงานเช่นเดียวกับคุณป้าพัชรินทร์ ไม่มีเรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป,,,,,ขอให้ทุกท่านโชคดี

 

  
    

หมายเลขบันทึก: 109464เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

          แวะมาเยี่ยมเป็นกำลังใจ  พยายามต่อไปนะครับ  เพื่อพลังแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          รวมบล็อกเรื่องธรรมาภิบาลของกลุ่มงานใน สป. นอกเหนือจากที่สถาบันฯ สร้างให้ครับ

http://gotoknow.org/blog/rattaket/112527

ผมได้สร้าง แพลนเน็ต เพื่อรวบรวมบันทึกธรรมาภิบาลของทุกสำนัก/กลุ่มงาน มาไว้ในที่เดียวกัน  เมื่อเปิดเข้าไป จะเห็นทุกบันทึกรวมอยู่ด้วยกัน สามารถเลือกอ่านและแสดงความคิดเห็นได้เลย  โดยบันทึกล่าสุดไม่ว่าจะเป็นของสำนัก/กลุ่มงานใดก็ตาม  จะอยู่ด้านบนสุด และใล่ลงไปด้านล่าง ตามวัน/เวลา (ฉนั้น ต้องการให้ปรากฎบันทึกของท่านอยู่ด้านบนเสมอ ต้องขยันบันทึกครับ)

เข้าไปดูได้ตาม Link นี้เลยนะครับ

http://gotoknow.org/planet/rattaket2

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท