Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล
Hospital OS Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล ianalysis คลังข้อมูล Hospital OS (โปรแกรม โรงพยาบาล)

Episode I : จุดกำเนิดของ Hospital OS


“ผมไม่รู้ครับ”

Episode I:จุดกำเนิดของ Hospital OS


หมอก้อง

 

    ปี  2550 นี้ครบรอบ 5 ปีของ โครงการ Hospital OS ที่อนุมัติเมื่อ มค.  2545 ตามการอนุมัติโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. กับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ แต่จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดมาก่อนหน้านั้น ผมมาทบทวนตัวเองว่าคิดเรื่องนี้ อยากทำโครงการนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ คงต้องย้อนไปไกลมากพอดู

                จุดเริ่มการทำโครงการนี้เกิดจากการที่ผมเป็น "แพทย์" อันแรกต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่คนเก่ง ความฉลาดนี้มีน้อยมาก เชื่อได้ว่าที่เป็นตัวเป็นตนได้มาถึงปัจจุบันนี้ก็มาจากการทำงานหนักกว่าคนอื่นเท่านั้น แปลเป็นไทยได้ว่า เอาแรงเข้าสู้  ตอนเป็นนักเรียนมัธยม ชอบฟิสิกส์กับแคลคูลัสมาก ฝันว่าจะได้เป็นนักฟิสิกส์ แข่งกับ Albert Einstein ได้แต่โชคชะตาผกผัน เพราะไปตรวจกับแพทย์ท่านหนึ่งที่กองแพทย์ในที่ทำงานของคุณพ่อ จำได้ว่าไปด้วยเรื่องปวดท้อง พอได้เข้าพบแพทย์

เขาถามว่า  เป็นอะไรมา

 ผมตอบไปว่า  ปวดท้องครับ

3 วินาทีถัดมา ผมได้ใบสั่งยาที่อ่านไม่ออก และขอให้ออกไปจากห้อง

                จากการปวดท้อง ก็กลับมาปวดหัวแทน ด้วยความงงว่า อะไรกันวะ ไม่ถามอะไร ไม่ตรวจอะไร จ่ายยามาแล้ว ผมก็เลยคิดแบบเด็กๆที่อาฆาตว่า ชาตินี้จะไม่ไปหาหมออีกต่อไป 

แต่อีกใจก็คิดว่า ตายละ แล้วไม่สบายจะทำอย่างไร

นั่งคิดอยู่พักก็ได้คำตอบมาว่า

ก็เป็นหมอซะเองซิ

จึงเป็นเหตุให้เลือกหมอ 6 อันดับ และสอบติดที่คณะแพทย์ ม. สงขลานครินทร์ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นและสร้างความปั่นป่วนไปทั่วก็เกิดจากการไปหาหมอคนนั้นหละครับ

    ช่วงเวลาที่เป็นนักศึกษาแพทย์ 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่สนุกและเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ผมย้ำว่าผมเป็นนักเรียน "เกรดนิยม" คือสองกว่าๆ เอาตัวรอด อาจารย์ถามอะไร ส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ เพราะเป็นคนท่องหนังสือไม่จำ ท่องไม่เป็น หากจะตอบเรื่องอะไรให้ได้ก็ต้องไปนั่งทำความเข้าใจจน อ๋อ แล้วถึงจำได้ แต่ก็สนุกกับการดูคนไข้มาก โดยเฉพาะเมื่อให้ยาแล้วดูว่ามันออกฤทธิ์กับคนไข้อย่างไร

    จำได้ว่าตอนขึ้นปี 4 แรกๆ อาจารย์ให้เก็บอุจาระคนไข้มาตรวจ นั่งดูเป็นชั่วโมงเพราะจำไม่ได้ว่ามันตัวอะไรกันบ้าง ดูตอนเช้าไม่เสร็จก็มาดูตอนเย็นต่อ ก็พบสิ่งสวยงามคือพยาธิกำลังออกจากไข่ ดูผักที่ย่อยเป็นสายใย ดูไปมีความสุขไป แต่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังกลัวเขาหาว่าบ้า
    เรียนไปจนปีหก ไปฝึกงานที่รพ. มหาราช นครศรีธรรมราช ได้ประสบการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ตอนนั้นคิดว่าเราจะได้เป็นหมอแล้ว เราต้องไม่ปล่อยให้คนไข้ตาย ก็ทำงานอย่างสนุกในการดูคนไข้ ผ่าตัด ทำคลอด ปั้มหัวใจ ใครไม่ว่าง ใครไม่ทำบอก ไปจัดการให้ ตอนนั้นมีความคิดว่า หากเราทำให้เพื่อนๆ น้องๆเห็นว่า "การดูคนไข้เป็นสิ่งสนุก" ไม่น่าเบื่อ น่าจะทำให้เขามีความสุขกับการทำงาน และเราตัวคนเดียวคงช่วยคนไม่ได้มาก แต่หากมีหมอหลายๆคนสนุกอย่างเรา คนไข้คงจะมีคนช่วยเขามากขึ้น ก็คิดว่าแหมหากได้เป็นอาจารย์แพทย์น่าจะดี เราจะได้บอกน้องๆเราว่า
เฮ้ย ดูคนไข้สนุกหวะ

                แต่ด้วยความที่เป็น โค คือไม่ค่อยเก่ง คะแนนไม่ดี การเป็นอาจารย์คงจะลำบากเพราะใครเขาจะรับเข้าเรียนต่อ แต่ไม่รู้อะไรดลใจให้ภาควิชาอายรุศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ รับเข้าเป็นแพทย์ใช้ทุน ก็เลยมีโอกาส แต่เข้าใจว่าคงเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ทำความลำบากใจให้อาจารย์พอควร เพราะอาจารย์คงกลัวว่าจะสอบวุฒิบัตรไม่ได้เป็นคนแรก เพราะถามอะไรไม่ค่อยรู้เลย แต่สุดท้ายก็สอบผ่านมาได้ และเป็นอาจารย์อยู่ 6 เดือน ก็พบว่า หลายอย่างไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด ตั้งใจ เลยตัดสินใจท่องยุทธจักร ค้นหาตัวเอง

                ชักจะยาวไปไหมเนี่ย

                รวบรัดเลยก็แล้วกัน ด้วยความคิดเดิมว่า เราเป็นแพทย์คนเดียวดูคนไข้วันนึงได้ไม่กี่คน หากเราเป็นอาจารย์ เราสอนให้นักเรียนดูคนไข้ได้หลายคนมากขึ้น แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ ออกมาทำงานเป็นแพทย์ช่วงนั้นรักษาคนไข้โรคเอดส์หลายคน เพราะไม่ค่อยมีหมอรักษาและต้องอ่านหนังสือมากเพื่อจะเข้าใจโรคและนำมารักษาคนไข้ ก็เรียนรู้ว่าคนไข้ต้องการข้อมูลความรู้อย่างมาก เพราะการรักษาด้วยยาแพงมากเดือนหลายหมื่น น้อยคนที่จะเข้าถึงยาได้ หากเขาไม่มีเงินรักษาแต่รู้จักดูแลตัวเองน่าจะทำให้เขามีชีวิติที่ดีได้ ก็เลยตัดสินใจทำเวป www.thaimedscape.com (ปิดไปแล้วครับตอนนี้) เพราะพอมีความรู้ด้านคอมอยู่บ้าง ทำไปได้ผล มีคนมาอ่านมาถามเยอะมาก เลยได้เห็นว่า เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เราดูคนไข้พร้อมๆกันหลายๆคนได้  ก็เลยหาทีมมาทำเลยไปชวนเพื่อนร่วมงานเก่าชื่อ โสทร มาช่วยกันโดยใช้เงินเดือนที่ได้จากเป็นแพทย์นี่หละ ทำกันไปสักพัก  ก็มีแรงบัดดาลใจที่สองเข้ามา

                ช่วงปี 2001 โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่เขาจะเปลี่ยนซอฟต์แวร์ที่ใช้งานไปเป็นซอฟต์แวร์ของต่างประเทศตัวหนึ่ง ผู้บริหารเขาก็มอบหมายให้ผมเขาไปดำเนินโครงการติดตั้งเพราะเห็นว่าพอรู้เรื่องคอมฯ ตอนแรกก็เข้าไปศึกษา พอศึกษาไปก็ชักไม่เห็นด้วย เพราะรู้มากไป และตอบคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมต้องใช้ของราคาแพงขนาดนี้ อาการกบฏก็เริ่มเกิด ก็ขอลาไม่รับเงินเดือน 6 เดือน หายไปจากรพ.

ในที่สุดผู้บังคับและบัญชาก็ตามกลับมาทำโดยให้ข้อคิดว่าไหนๆก็เสียเงินซื้อแล้ว มาช่วยใช้ให้เป็นประโยชน์ดีกว่า ก็กลับมาช่วยทำให้ทำไปก็ ขัดใจ ไปว่า คนไทยทำเองบ้าง ทำไม่ได้เหรอ คิดซ้ำๆอยู่อย่างนี้หลายเดือน จนมาถึงวันหนึ่ง

                ในแต่ละเดือนจะมีวันเสาร์หนึ่งวันที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเขาจัดประชุม ผู้รู้ หรือ Think Tank กันผมจำไม่ได้ว่าทำไมผมไป แต่น่าจะเป็นเพราะอาจารย์ผม ศ.นพ. ธาดา ยิบอินซอย ท่านชวนไป ก็ไปนั่งแถวหลังเขาพูดกันเรื่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค บอกตรงๆว่าไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แต่ได้บรรยากาศว่า ผู้รู้ทั้งหลายเป็นห่วงรพ. ขนาดเล็กว่า จะไปไหวไหมสำหรับดครงการนี้ นพ. สมศักดิ์ ชุนหรัศมิ์ ท่านเป็นเลขามูลนิธิฯ ก็บอกผมว่าสนใจไหมมีสัมมนาเรื่องนี้ ผมก็ตอบไปว่าน่าสนใจขอไปฟัง พอไปฟังก็ได้เข้าใจขึ้นมาก และกังวลอยู่ในใจว่า
เอ รพ. เล็กๆเขาจะทำอย่างไรนะ ที่จะบริหารงานภายใต้งบรายหัวที่จำกัดแบบนี้
และแล้ว ศ. ดร. อัมมาร สยามวาลา ท่านก็เฉลยคำตอบให้ผมทราบ

โอกาสของโรงพยาบาลชุมชนจะอยู่รอดได้มี 3 ทางคือ IT, IT ,IT”

และแล้วปฐมบทของ Hospital OS ก็กำเนิดขึ้น

 

กำเนิด Hospital OS

            อาจารย์ครับ ผมจะทำซอฟต์แวร์ให้กับรพ. ชุมชนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของโรงพยาบาลในยุค 30 บาทรักษาทุกโรค ผมบอกกับอาจารย์ผมที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ คำถามก็ตามมาเป็นชุด เช่น มีอยู่แล้วเหรอ จะทำอย่างไร ใครจะทำ ฯลฯ คำตอบมีคำตอบเดียวครับ ผมยังไม่รู้ครับ

                ต้องบอกกันตรงๆว่า ไม่รู้อะไรเลยตอนนั้น รู้แต่เพียงว่าอยากทำ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็อยากทำ จำได้ว่าช่วงนั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2544 กลับมาก็มาหารือกับทีมงานซึ่งมีกันสองคนคือผมกับโสทร บอกเขาไป เขาก็มองหน้าผม แต่ก็บอกว่าเอาไงเอากัน การเดินทางของ Hospital OS ก็เริ่มต้นขึ้น

                ช่วงนั้นจำได้ว่าทำหลายอย่างตั้งแต่เริ่มรับสมัครทีมงานประกาศไปทางเวปที่ม. สงขลานครินทร์ ผมเองก็เริ่มอ่านหนังสือ เข้า web ตอนนั้นก็คิดหาทางลัด ไปดูว่ามีเวปอะไรที่เป็นโปรแกรมทางการแพทย์อยู่บ้าง เผื่อจะเอามาใช้ พบว่ามีหลายโครงการที่เปิดให้เอามาใช้ฟรีหรือ open source (เริ่มรู้จัก Open source ) ก็ตรงนี้ แต่เชื่อไหมครับ ไม่มีโครงการไหนทำจนเสร็จ เป็นแค่แนวคิดจนถึงซอฟต์แวร์ครึ่งๆกลางๆ และบางอันทำเสร็จจนใช้แล้วก็ไม่เข้ากับงานของประเทศเราเลย ชัดเครียด ก็ตัดสินใจว่าสงสัยต้องเขียนโปรแกรมเอง

                พอมาถึงเรื่องเขียนโปรแกรม เกิดประเด็นว่า จะเขียนด้วยภาษาอะไรดี ผมเองเขียน dBase III+ และ Fox ได้ เขียน web ได้ เกือบตัดสินใจเริ่มไปแล้ว ไม่รู้คิดอะไร จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าหากทำโปรแกรมให้ดี น่าจะเสถียร ยืดหยุนและแก้ไขปรับปรุงได้ง่าย ก็ตั้งหน้าตั้งตาค้นหาข้อมูลจนพบว่า Object Oriented Programming น่าจะเป็นคำตอบได้ หมอฉลาดน้อยคนหนึ่งก็เริ่มอ่านหนังสือ Object Oriented Programming ลองนึกดูก็แล้วกันว่าจะเมามันสักแค่ไหน และก็พบว่า ภาษาที่ใช้ชื่อว่าภาษา Java ที่ตอบสนองความต้องการเราได้ และก็ไปอ่านต่อเกี่ยวกับเรื่อง Software Engineering Process ที่เพื่อนชื่อ สุรณรงค์แนะว่าหมอต้องอ่าน!!!

            ตอนนั้นหลังจากประกาศรับสมัครงานไปก็มีหนุ่มน้อยนายหนึ่งผิวเข้มมากมาสมัครงาน ท่าทางมั่นใจมากครับ คุยกันอยู่พักนึงก็รับเขาเข้าทำงาน ใจก็สงสารเขาเพราะเขาคงงงว่าที่นี่ทำอะไรแน่ เป็นบ้านสามชั้นชั้นล่างเป็นคลินิกชั้นสองเป็นห้องโล่งๆมีคอมพิวเตอร์ ชั้นสามเป็นห้องนอน ไม่เป็นบริษัท เขาชื่อสุรชัยครับ ก็ต้องขอบคุณเขาที่กล้าสมัครมากร่วมเส้นทางกันจนถึงวันนี้ และได้ part time มาอีกคนชื่อเจษ รวมกันเป็น 4 คน

                เนื่องจากผมทำงานตอนกลางวันก็จะมีโอกาสเจอทีมงานตอนเย็น เพื่อคุยงานจึงเป็นเหมือนวัฒนธรรมว่า ทำงานเลิกดึกบางครั้งถึงเที่ยงคืนและทำวันเสาร์ หลังจากเป็นทีมกันแล้วผมก็บอกกับทุกคนว่า เราจะทำโปรแกรมใช้ในโรงพยาบาลเพื่อบริการคนไข้ ทุกคนเงียบไม่มีคำถามเพราะไม่รู้ว่าจะถามอะไรมั้ง ผมจึงว่าต่อ ผมจะใช้ Object programming language และ Java ใครเขียนเป็นบ้าง

                เงียบ

เราจะทำอย่างไรดีเพื่อให้เขียนเป็น ผมถามในกลุ่ม สุรชัยก็บอกว่ามีอาจารย์ที่คณะวิศวะ ฯสอน Lab เรื่องนี้ ผมบอกว่าเชิญอาจารย์มาเลย ผมจัดการค่าใช้จ่ายให้ สุรชัยติดต่อไป อาจารย์เขาบอกว่าไม่สะดวก ซี่งแปลว่า ไม่มา

สิ่งที่เราแก้ปัญหาตอนนั้นก็ทำโดย สั่งหนังสือจาก Amazon มาอ่านกันจำได้ว่าค่าส่งแพงกว่าหนังสือ สั่งมาหมดทั้ง software engineering process, UML Software architecture ,object oriented programming, design GUI, Relational Database Management ใช่ครับเป็นภาษาอังกฤษ ทีมงานผมก็ภาษาไม่แข็งแรง ก็เลยต้องใช้การช่วยกันอ่าน ผมก็อ่านด้วย เป้าหมายตอนนั้นคือทำโปรแกรมขึ้นมาตัวหนึ่งเพื่อ Proof Concept ว่าโปรแกรมสามารถทำงานได้เชื่อมต่อกับ database ได้ เราใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็ได้โปรแกรมตัวแรกออกมา ตอนนั้นดีใจกันใหญ่ แต่ก็ดีใจได้ไม่นานเพราะ ใช้ภาษาไทยไม่ได้

ผมจำได้ว่า Java ตอนนั้นเป็น JDK 1.3 ที่ไม่สามารถแสดง Unicode หรือภาษาไทยได้ ต้องรอ 1.4 ที่จะออกในปีถัดไป ซึ่งท่าทางจะช้าไปและเราอาจจะอดตายกันก่อน ผมก็ไปค้นหาต่อพบว่า JDK 1.2 ที่ทำโดย IBM สามารถแสดงภาษาไทยได้ ผมก็ดีใจมากเพราะเพื่อนที่หลังจากนั้นมาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทด้วยกันคือ คุณปิยะนุช หงษ์หยก เคยทำงานที่ IBM เธอก็แนะนำให้ผมไปพบคนใหญ่ๆใน IBM ผมก็ไปหิ้วกระเป๋าพร้อมงานไปนำเสนอ ท่าทางคนฟังก็สนใจครับ แต่ไม่มีคำตอบหลังจากนั้นว่าจะให้หรือไม่
ผมและทีมก็ต้องกลับมาทนใช้แบบเดิมไปพลางๆ เราพัฒนาโปรแกรมออกมาอีกสองสาม
version จนพอดูได้ และสามารถ present ได้

ผมเริ่มนำเสนอให้กับกรรมการมูลนิธิ กรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  และกรรมการชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์(ปัจจุบันเป็นสมาคมเวชสารสนเทศ) แน่นอนครับกรรมการหลายท่านก็กังขา เขาคงนึกไม่ออกว่ามันจะทำอะไรของมันวะ บางท่านก็บอกว่า กระทรวงฯ เขาลงเงินไปตั้งเยอะเขายังทำไม่ได้เลย แล้วคุณจะทำอย่างไรถึงจะทำได้
ผมก็ตอบเหมือนเดิมว่า

    ผมไม่รู้ครับ

    "แต่ผมเชื่อว่าสามารถทำไปแก้ปัญหาไปได้ และน่าจะสำเร็จ"

    ด้วยคำตอบที่ดูจะโง่ๆแต่จริงใจเกินไปของผม เกือบจะทำให้โครงการนี้ไม่เกิด เพราะคงไม่ใครอยากให้การสนับสนุนแบบลอยๆไร้หลักการ อีกทั้งสกว. ก็ให้ทุนแต่เฉพาะเมธีวิจัยอาวุโส หรือคนเคยมีผลงาน แต่ผมเป็นใครก็ไม่รู้ จะทำให้สำเร็จอย่างไรก็ไม่รู้ ความหวังกำลังจะหมดอาจารย์สมศักดิ์ เลขามูลนิธิฯ ท่านก็สรุปว่า

ผมเห็นด้วยว่างานชิ้นนี้คงไม่สามารถจะรู้ไปได้ทั้งหมดว่าจะทำอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าก้องเกียรติ ทำได้

 

ซวยหละซิ อาจารย์เอาชื่อเสียงมาเสี่ยงกับผมซะแล้ว

 

ผมเสนอโครงการฯทีมงาน 5 คนไประยะเวลา 17 เดือนจะต้องติดตั้งให้ได้ 10 แห่งทั่งประเทศ ได้เงินมา 2.7 ล้านบาทที่ประชุมรับหลักการ พอเลิกประชุมกรรมการท่านหนึ่งเดินมาตบไหล่ผมเบาๆ

หมอครับ ผมทำซอฟต์แวร์รพ.เหมือนกันครับ ผมใช้คน 20กว่าคน เวลา 2 ปีเพื่อให้ได้ซอฟต์แวร์ตัวแรกออกมา ขอให้หมอโชคดีนะครับ

ครับ โชคเข้าข้างเสมอ แต่เข้าข้างๆ ไม่เคยเข้าตรงๆสักที

    ผมจำเป็นต้องหาแนวร่วมครับ เพื่อให้แหล่งทุนมั่นใจว่าทำแล้วจะมีคนใช้ ในเดือน ธันวาคม ผมจึงขอช่วงเวลาในการประชุมวิชาการของสมาคมเวชสารสนเทศในการนำเสนอโครงการนี้ต่อสาธารณซึ่งคนที่เข้าร่วมประชุมเป็นคนไอทีสาธารณสุขทั้งนั้น ผมมีเวลา 1 ชม. ในการนำเสนอ มีรศ. นพ. ราเมศร์ วัชรศิลป เป็นผู้ดำเนินรายการ (ท่านให้กำลังใจตลอด คงกลัวผมกลั้นใจตายบนเวที) ผมนำเสนอโปรแกรม Hospital OS เวอร์ชั่นที่ทำงานได้แล้ว แต่แสดงภาษาไทยไม่ได้ บนเวทีที่มีคนกว่า 400 คนนั่งฟัง เมื่อบรรยายจบมีเสียงตบมือพอประมาณ และตามด้วยเสียงสวรรค์

ผมว่าหมอกลับไปตรวจคนไข้ ดูจะใช้เวลาเป็นประโยชน์กว่านะ

หมอคิดว่าหมอเป็นใคร กระทรวงฯเขาทำยังไม่สำเร็จ

ผมชื่นชมนะ แต่.....

และอีกมากมาย

ท่านผู้ดำเนินรายการเห็นผมอาการไม่ดีจึงตัดบทว่า ไหนขอดูหน่อยว่าหากทำมาแล้วใครจะใช้บ้าง มียกมือหรอมแหนมนับได้สักร้อยกว่ามังครับ เท่านี้ผมก็ดีใจแล้วอย่างน้อยก็มากกว่า 10 แห่ง

ในที่สุด มค. 2545 สกว. ก็อนุมัติโครงการให้ดำเนินงานได้ อย่างน้อยก็มีคนเชื่อว่าเราจะต้องทำได้


 ติดตาม Episode 2: Hospital OS ver. 1.0 @ ทุ่งหัวช้าง เร็วๆนี้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 111583เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2007 00:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
ยินดีในความสำเร็จของคุณหมอครับ

ยินดีต้อนรับค่ะอาจารย์หมอก้องเกียรติ :) ทางเราสนับสนุนคนไทยทำ Open-source software เต็มที่ค่ะ

เดี๋ยวกำลังจะ PR เรื่องรับสมัครคนให้นะค่ะ

ยินดีครับ ยินดีที่อาจารย์เข้ามาเล่าประสบการณ์การผลักดันโปรแกรมบริหารงานโรงพยาบาลดีๆ ให้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้รับรู้สิ่งดีๆ มีประโยชน์ต่อประเทศชาติครับ ผมก็เป็นแนวร่วมหนึ่งกับโปรแกรม HospitalOS นี้ครับ (ตอนนี้ผมใช้ HospitalOS Version 3.06 อยู่ครับ) อีกไม่นานก็ว่าจะ Up เป็น Version 3.7 ครับผม

ขอบคุณครับ สำหรับความเห็นและกำลังใจ

เรื่องราวของ Hospital OS จะทะยอยนำลง blog นี้ในวาระครบรอบ 5 ปีของโครงการฯครับ ผมและทีมงานจะร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ บทเรียน และความทรงจำ เพื่อเป็นความรู้ที่แบ่งปันกันต่อไปครับ 

สวัสดีค่ะ คุณหมอก้อง ปัทตามบันทึกนี้มาจากใน Learners.in.th ค่ะ  ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมกับความตั้งใจของคุณหมอมากๆ เลยนะคะ  ถ้าหากวันนั้นคุณหมอเลิกล้มความตั้งใจหรือความพยายามไป
คงไม่มีทีมงาน Hospital OS ในวันนี้เนอะคะ
ยังไงก็ร่วมสนับสนุนโปรแกรมopensource ดีๆ แบบนี้ค่ะ

อ่านแล้วนึกถึงความหลัง ครั้งเก่าก่อนครับ

อยากอ่านตอนต่อไปแล้วครับ

อยากให้ทุกๆคนได้อ่านเรื่องราวดีๆ แบบนี้ครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณหมอและทีมงานที่จะพัฒนาโปรแกรมต่อไปนะครับเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน สังคมไทยเราเดี๋ยวนี้มีคนที่เสียสละ ทุ่มเท เพื่องานสาธารณ น้อยลง ผมเชื่อว่าคนที่กระทำความดีต้องมีคนสรรเสริญไม่วันนี้หรือวันพรุ่งนี้

ยิ่งอ่านยิ่งสนุกครับ
   ได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอแล้ว   ประทับใจในความมุ่งมั่นในการฝ่าฟันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในสิ่งที่มีความเชื่อและศรัทธามากค่ะ    พี่ทำงานให้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเหมือนกัน   แต่ดูเหมือนว่างานที่พี่ทำที่คิดว่ายากเย็นแล้วยังไม่เท่าของคุณหมอ   ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้คุณหมอทำงานดีๆแบบนี้ไปตลอดค่ะ   หวังว่าเราอาจมีโอกาสได้ร่วมงานกันในวันหนึ่งนะคะ

อยากสอบถามว่า โปรแกรม Hos OS สามารถ copy ประวัติเดิม จาก visit ก่อนมาใส่ในประวัติรอบนี้ได้รึไม่ อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท