การทำวิจัยเชิงสำรวจ


ไม่มีขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเป็นอิสระจากกัน ไม่มีใครเป็นพระเอก หรือเป็นเอกเทศจากการวิจัย

บันทึกครั้งที่แล้ว ได้พูดถึงประเภทการวิจัยอย่างกว้างๆ คือการวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยเชิงปริมาณ พร้อมทั้งคุณลักษณะและข้อดี ข้อด้อยของแนวทางการวิจัยในแต่ละแบบ

ครั้งนี้จะมาพูดลงลึกถึงแนวทางการทำวิธีวิจัยเชิงปริมาณ

กระบวนการทำวิจัยเชิงปริมาณ (หรือการทำวิจัยเชิงสำรวจก็เรียก) เราอาจจะรับทราบตามที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในชื่อเรียกง่ายๆว่า "ทำโพลล์"

 ซึ่งเป้าหมายของการทำวิจัยในลักษณะนี้คือ : เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์และสถิติ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรเป้าหมาย โดยข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ จะมีอยู่ 4 มิติด้วยกันคือ

  1. ข้อมูลที่อยู่ในใจของคน ได้แก่ ทัศนคติ, ความเห็น, ความคาดหวัง, ความพึงพอใจ
  2. ข้อมูลที่เป็นสิ่งซึ่งปรากฎออกมา หรือพฤติกรรม
  3. ข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จับได้, นับได้ (ตัวอย่างเช่น จำนวนรถยนต์, จำนวนบ้าน เป็นต้น)
  4. ข้อมูลที่เป็นคุณลักษณะของผู้ถูกศึกษา ได้แก่อาชีพ, รายได้, อายุ, เพศ เป็นต้น

แผนภาพข้างล่างต่อไปนี้จะแสดงลำดับความสัมพันธ์ของขั้นตอนที่ใช้ในการทำวิจัยเชิงสำรวจ ระเบียบวิธีวิจัย สำหรับขั้นตอนแรกเริ่ม จะเป็นขั้นตอนในการสำรวจองค์ความรู้ ในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่เราสร้างกรอบความคิด (conceptual framework) สำหรับการวิจัย ในขั้นตอนนี้จะทำให้เราได้ภาพร่างของ "องค์ประกอบที่เราสนใจ" และ "ความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยง" ขององค์ประกอบต่างๆ

กรอบความคิดของแต่ละผู้วิจัยขึ้นอยู่กับ ภูมิหลังความรู้ซึ่งจะทำให้สร้างองค์ประกอบและความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆกันไป เช่นกรณีใช้องค์ความรู้ด้านการตลาดก็จะมองปัจจัยของ การซื้อสินค้าอาจขึ้นอยู่กับ 4 P (Product, Price, Place, Promotion) เขียนเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ได้ว่า

 4 P (Product, Price, Place, Promotion) ==> ความพึงพอใจสินค้า ==> พฤติกรรมการซื้อสินค้า

 

สำหรับภูมิหลังความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นๆ ก็จะมีแนวคิดที่ต่างกันออกไป (เช่น รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ฯลฯ)


ขั้นตอนถัดไปคือการกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย เมื่อกำหนดประเด็นและเนื้อหาได้แล้ว ก็จะนำไปรวบรวมเป็น คำถามในการวิจัย (หมายถึงประเด็นคำถามที่งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งจะตอบคำถาม) และสมมติฐานการวิจัย (หมายถึงข้อสรุปต่อคำถามการวิจัย ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ , เพราะถ้าพิสูจน์แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องทำการวิจัยอีก)

ตัวอย่างคำถามการวิจัย และสมมติฐานการวิจัย

คำถามการวิจัย : ความพึงพอใจมีความสัมพันธ์หรือไม่ในการซื้อสินค้า
สมมติฐานการวิจัย : ความพึงพอใจสินค้ามีความสัมพันธ์ในการซื้อสินค้า

โดยคำถามการวิจัย จะไม่ถูกนำไปถามในแบบสอบถามโดยตรง เพราะแทนที่จะได้คำตอบแต่กลับกลายเป็นความรู้สึกของคนตอบแทน เราต้องสร้างแบบสอบถามที่สามารถประเมิน/จับคู่ความสัมพันธ์ แล้วนำไปแยกส่วนเพื่อนำไปวิเคราะห์ให้ได้คำตอบต่อการวิจัย

 


 ขั้นตอนที่สามจะแยกออกเป็นสองส่วนคือ การพัฒนาเครื่องมือวัด และการพัฒนาระเบียบวิจัยทางสถิติ สองขั้นตอนนี้จะมีการเชื่อมโยงต่อกันด้วย

การพัฒนาเครื่องมือวัด ในที่นี้ก็หมายถึงการสร้างชุดคำถามต่างๆ ในแบบสอบถาม โดยเราจะต้องคำนึงถึงด้วยว่า

(1) ใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย, ใครเป็นผู้ตอบ เพราะต้องคำนึงถึงเนื้อหา (content) เช่นการใช้ภาษาถ้อยคำให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย (คนต่างชาติอาจต้องใช้ภาษาที่คนชาตินั้นๆเข้าใจ) และรูปแบบ (format) เช่นถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอาจต้องมีรูปภาพประกอบ

(2) จะต้องคำนึงถึงวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลด้วย เช่นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดย วิธีสัมภาษณ์ ใช้เวลา 1 - 2 ชั่วโมง, จดหมาย ต้องเขียนคำถามที่ง่ายกว่าปกติ เพราะไม่มีพนักงานคอยชี้แจงและทำความเข้าใจ, อินเทอร์เน็ต (เว็บ/อีเมลล์), โทรศัพท์ ไม่ควรเกิน 10 - 20 นาที เป็นต้น

 แบบสอบถามที่ดี จะต้องมีการวิเคราะห์ชุดคำถามในแบบสอบถาม และทำการทดสอบแบบสอบถาม (pre-test) นั้นเสียก่อน ว่าใช้งานได้ดีมากน้อยเพียงไร ต้องมีความเที่ยงตรง (validity) และความสอดคล้องกัน (reliability) รวมทั้งคุณสมบัติอื่นๆเช่นคำถามสั้น เข้าใจง่ายกระชับ มีเพียงประเด็นเดียว และตัวเลือกเข้าใจง่าย ไม่สร้างภาระให้ผู้ตอบ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ควบคู่กันกับการพัฒนาเครื่องมือวัด ก็คือขั้นตอนการพัฒนาระเบียบวิธีทางสถิติ ได้แก่กลุ่มประชากรเป้าหมายที่ต้องการศึกษา โดยต้องมีฐานข้อมูลรองรับที่ชัดเจน ซึ่งมักจะมาจาก บัญชีรายชื่อ, ทะเบียนประวัติ, ทะเบียนราษฎร์ เป็นต้น หากไม่มีฐานข้อมูลรองรับ ก็ไม่สามารถทำการวิจัยได้ เพราะไม่ทราบถึงขอบเขตของประชากร กับไม่สามารถสร้างระเบียบวิธีการสุ่มตัวอย่างที่จะใช้เป็นตัวแทนของประชากรนั้นได้

 การสุ่มตัวอย่างจะใช้การสุ่มตัวอย่างที่ใช้หลักความน่าจะเป็นทางสถิติเท่านั้น เพื่อให้ได้ความเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรเป้าหมาย, และเพื่อรับประกันความคลาดเคลื่อนในการวิจัยได้ตามหลักสถิติ

ตัวอย่างของการสุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้หลักความน่าจะเป็นทางสถิติ : สุ่มตัวอย่างแบบสะดวก, โควต้า, สุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง

ตัวอย่างของการสุ่มตัวอย่างโดยใช้หลักความน่าจะเป็นทางสถิติ : simple random sampling (SRS) คือการสุ่มอย่างง่่าย เช่น จับฉลาก หรือใช้ตารางเลขสุ่ม (หรือ function random), stratified sampling คือสุ่มแบบเป็นชั้น, cluster sampling คือสุ่มเป็นเป็นกลุ่ม, multi-stage sampling คือสุ่มแบบหลายชั้น เป็นต้น

 จำนวนขนาดตัวอย่างที่ใช้ในการสุ่มนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบการสุ่มตัวอย่าง หากเป็นการสุ่มตัวอย่าง อย่างง่ายก็สามารถใช้ ตารางสูตรสำเร็จของทาโร ยามาเน (ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%)ได้ แต่หากมีวิธีการสุ่มตัวอย่างที่แตกต่างออกไป จะต้องใช้การคำนวนเอาเองโดยควรจะต้องเผื่ออัตราการตอบแบบสอบถาม (response rate) เอาไว้ด้วย

สูตรการคำนวณขนาดตัวอย่าง

n (opt) = n (srs) x deff / response rate

deff = design effect (ต้องคำนวณต่างหาก) 

การกำหนดขนาดตัวอย่าง, การสุ่มตัวอย่างมีความสำคัญต่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลที่ได้อย่างยิ่ง หากงานวิจัยที่อาจจะใช้ขนาดตัวอย่างที่มากกว่ามากเช่นหลายหมื่นตัวอย่างแต่มีการสุ่มตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องตามหลักสถิติก็ให้ผลที่คลาดเคลื่อนได้มาก (สำหรับการใช้ขนาดตัวอย่างที่พอเหมาะกับบางโครงการอาจใช้เพียง 1,200 - 1,500 ตัวอย่างก็พอ)

 การวัดผลความถูกต้องของงานวิจัยอย่างหนึ่ง สามารถวัดได้จากผลของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต่างๆ ซึ่งงานวิจัยที่จัดทำขึ้นถูกต้องตามหลักสถิติจะสามารถบริหารจัดการได้ประหยัดงบประมาณและถูกต้องแม่นยำกว่ามาก

--- (เพิ่มเติม) ---
แบบสำรวจ (โพล) ที่นิยมใช้ เช่นที่สวนดุสิตโพลจะใช้ 400 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ 95% ความคลาดเคลื่อน +/-5% (ขนาดประชากร 100,000 ขึ้นไป) ใช้วิธีแบบ snow ball (วิธีนี้เหมือนกับ online poll แต่ online poll มีความเบี่ยงเบนไปกับกลุ่มประชากรที่มีฐานอายุน้อยมากกว่า และอาจถูกปั่นโพลได้) ในขณะที่เอแบคโพลจะใช้ ฐานข้อมูลประชากรที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ (มักผูกกับหมายเลขโทรศัพท์บ้าน) 

โพลการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาคลาดเคลื่อนเพราะ (1) ต้องการอำพรางทัศนะทางการเมือง และ (2) ผลการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจอย่างมีนัยยะสำคัญ และในเวลาอันสั้น (7 วัน) ในขณะที่ต่างจังหวัดมีความคงเส้นคงวามากกว่า นอกจากนี้จำนวนฐานคะแนนสวิงโหวตมีมากถึง 20% ของกลุ่มประชากรทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 112112เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สหายสิกขา...........

เข้ามาเยี่ยม....

อ่านจบแล้ว วิจารณ์เฉพาะบันทึกนี้หน่อย....

  • เป็นวิชาการเกินไป
  • ยาวเกินไป
  • มีกรอบความคิดมากเกินไป

ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจเรื่องทำนองนี้ดีแล้วก็คงจะไม่อ่าน ผู้ที่อ่านแล้วรู้สึกเครียดหรือไม่รู้เรื่องก็คงจะไม่อ่าน ผู้ที่อยากจะรู้เรื่องนี้ก็อาจไปค้นหาเนื้อหาที่สามารถทำความเข้าใจง่ายกว่านี้...

ความเห็นส่วนตัว น่าจะเน้น มุมมองบางแง่ (ไม่เน้นวิชาการ) ไม่ยาวนัก (ยาวเกินไปขี้เกียจอ่าน) มีน้อยกรอบความคิด (ซับซ้อนทำให้เข้าใจยาก)....

คงไม่ว่านะ ที่เข้ามาบ่น....

เจริญพร

เป็นเนื้อหาที่ดีมากค่ะ  เพราะต้องการทราบเรื่องนี้พอดีเลยขอบคุณมากนะคะสำหรับข้อมูล

ขอบคุณมากค่ะสำหรับแนวคิดกำลังจะทำการวิจัย หาแนวทางการต้ังคำถามการวิจัยอยู่พอดีค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

เยี่ยมค่ะ จะติดตามอ่านต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท