เวทีรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะ...ร่างพรบ.กองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน...


.....ทรัพยากรบนโลกใบนี้ มีพอสำหรับคนทุกคน หากแต่มีไม่พอ สำหรับ “คนโลภ”.... แม้เพียงคนเดียว.....

เนื่องจากติดภารกิจ

ในการเข้าร่วมประชุม

การนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงที่เชียงใหม่ เราจึงไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ.....ครั้งที่ 1/2550 ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา เราได้แต่โทรศัพท์จากเชียงใหม่ถึงกรรมการท่านที่เราเคารพนับถือ เพื่อสอบถามข่าวคราวและข้อมูลของการประชุมครั้งนั้นโดยมั่นใจว่าข้อมูลที่เราได้รับเป็น ความจริง ที่ไม่เจือปนด้วย อคติ 4 ประการ คือ การลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว และเพราะโง่  

หลังจากนั้น เราได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติฯ นี้อีกหลายท่าน ข้อมูลจาก กัลยาณมิตร ทุกท่านนั้น ทำให้เรานึกถึงคำว่า การจัดการความรู้ ขึ้นมาในใจ สิ่งที่แต่ละท่านถ่ายทอดให้เราฟัง ได้สะท้อนให้เรารับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการทำ วงเรียนรู้ ของผู้คนที่มาจากหลากหลายภาคส่วน ซึ่งแม้จะทำงานภายใต้ วาทกรรม เดียวกัน คือ เกษตรกรรมยั่งยืน หากแต่มี ฐานคิด และ วิธีการในการขับเคลื่อนงานที่แตกต่างกัน 

 คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ....มีจำนวนด้วยกันทั้งสิ้น 38 คน ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 23/2550 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2550 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยกรรมการส่วนหนึ่งเป็นผู้แทนของภาค ราชการ ส่วนหนึ่งเป็นผู้แทน สมัชชาคนจน ส่วนหนึ่งเป็น อาจารย์ จากสถาบันการศึกษา ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็น นักวิชาการอิสระ และ นักพัฒนาอิสระ 

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติฯ ที่เราได้รับ ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ ในหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีมติให้ดำเนินการจัด เวที เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะ โดยมีประเด็นหลัก ๆ เพื่อพิจารณาอยู่ 4 ประเด็นด้วยกันคือ (1) ตัวหลักการเหตุผลและวัตถุประสงค์ (2) โครงสร้างกลไกที่มา (3) เงินทุนที่มา และ (4) กลไกการจัดการ ซึ่งคณะทำงานการจัดเวทีจะได้นำข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้รับจากเวทีรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะนี้ เสนอให้คณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติฯ พิจารณา จากนั้นจะได้ดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายใน 60 วัน 

เครือข่ายคนทำงานด้านการเกษตรและชุมชนจึงไม่ควร พลาด ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ประวัติศาสตร์ การขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย โดย เวทีรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะเพื่อการยกร่างพระราชบัญญัติฯนี้ จะมีขึ้นในวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2550 ตลอดทั้งวัน คือตั้งแต่เวลา 9 16 น. ณ ห้องประชุม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 

"วิกฤติชีวิต ของพี่น้องเกษตรกรไทย จากปัญหาความยากจนเชิง โครงสร้าง ภายใต้ทฤษฎีการพัฒนาที่ว่าด้วย การพัฒนาบนความด้อยพัฒนา ซึ่งก่อให้เกิดขบวนการสะสมและล่มสลาย (accumulation and elimination process) ที่เป็น ปรากฏการณ์ ต่อเนื่องมายาวนานในสังคมไทยจะได้รับการแก้ไขและคลี่คลายหรือไม่ อย่างไร  

คำถามที่เรามีในใจสำหรับเวทีในวันพรุ่งนี้ก็คือ...ทำอย่างไรภาคีทุกภาคส่วนจึงจะสามารถ ปักธง ร่วมกัน ทำอย่างไรจะมองเห็น เป้าหมาย เดียวกัน ทำอย่างไรจะสามารถสร้างความ ศรัทธา และความ ไว้ใจ ซึ่งกันและกัน  องค์ความรู้ชุดที่พวกเรามีอยู่ เพียงพอ หรือไม่ ที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้ ปัญญา ในการพัฒนาประเทศ เป็นสังคมที่ใช้ ความรู้ ในการตัดสินใจมากกว่าที่จะใช้ ความรู้สึก หรือ อารมณ์ เหมือนที่ผ่านมา 

ท่านคานธีได้สอนให้เราเรียนรู้ถึง กระบวนทัศน์ ของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนหรือการพัฒนาใด ๆ ด้วยถ้อยคำง่าย ๆ สั้น ๆ ที่มีใจความว่า

.....ทรัพยากรบนโลกใบนี้ มีพอสำหรับคนทุกคน    

     หากแต่มีไม่พอ สำหรับ คนโลภ.... แม้เพียงคนเดียว..... 

หมายเลขบันทึก: 112231เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2007 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พยายามติดตามเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ  น่าเสียดายที่ติดภาระกิจคุมสอบที่ท่าพระจันทร์  สงสัยว่าต้องรออ่านจากบล็อกของอาจารย์นะคะ

วาทะคานธีเป็นข้อเตือนใจที่ดีค่ะ   คนโลภคนเดียวก็แย่แล้ว  แต่ตอนนี้สังคมมีคน "แข่งกันโลภ"  ยิ่งแย่ใหญ่

ขอบคุณอาจารย์ สำหรับข่าวสารและข้อคิดดีๆค่ะ

พรุ่งนี้ก็ไปม.เกษตรอีก แต่คงไม่มีโอกาสไปรับฟังค่ะเพราะต้องทำงานทั้งวัน วันนี้ก็ไปถ่ายทำบริเวณภาควิชาพืชสวน เรือนองุ่นปวิน ปุณศรี และสวนกล้วยไม้ระพี สาคริก พรุ่งนี้เริ่มที่คหกรรม แล้วต่อด้วยภาควิชาอื่นๆ ในบริเวณตึกคณะเกษตร 

เอาภาพกล้วยไม้สวยๆ จากสวนกล้วยไม้ระพี สาคริกมาฝากค่ะ http://gotoknow.org/blog/littlecorner/112358

P  สวัสดีค่ะอาจารย์ปัท

เสียดายที่อาจารย์ปัทไม่ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนั้น บรรยากาศเป็นอย่างที่พี่ตั้งคำถามไว้...สังคมไทยใช้ "ความรู้" และ "ปัญญา" ในการพัฒนาประเทศแค่ไหน และอย่างไร

เท่าที่สังเกต ประเด็นหลายประเด็นเป็นเรื่องราวของ "ผลประโยชน์" ของกลุ่มคนบางกลุ่มมากกว่า"คุณประโยชน์" ที่จะมีกับสังคมโดยรวมและประเทศชาติ

พี่ยังไม่มีเวลาเขียนเล่ารายละเอียดของการพูดคุยเวทีสาธารณะร่างพรบ.กองทุนส่งเสริมฯ ลงใน blog เลยค่ะ ไม่แน่ใจว่าจะมีใครช่วยถ่ายทอดและสื่อสารลง web ที่ไหนหรือไม่

มีโอกาสเจออาจารย์ปัทเมื่อใดแล้วจะเล่าให้ฟัง...น่าจะดีกว่าเขียนนะ

วาทะของท่านคานธี "ร่วมสมัย" ในทุกยุคเสมอ เพราะมนุษย์เราล้วนมี "กิเลส" ที่ไม่เคยเสื่อมคลาย

เปลี่ยนแปลงใครคงจะไม่ได้...มีแต่ "ตัวเรา" เท่านั้นที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ...

P คุณ Little Jazz คะ

น่าจะแวะไปเวทีหน่อยนะคะ จะได้ไปเรียนรู้ว่า "วงการเกษตร" มีเรื่องราวของผลประโยชน์อย่างไรบ้าง

สังคมไทยมี "โจทย์" ที่น่าสงสัยและน่าหาคำตอบอีกมากมายค่ะ สำหรับการพัฒนาการเกษตรที่ผ่านมา มุ่งทำให้ "สินค้า" รอด มากกว่าที่จะทำให้ "คน" รอด นักวิชาการและนักพัฒนากลุ่มหนึ่งมอง "คน" เป็นเพียง "ปัจจัยการผลิต" ไม่ได้เห็นความสำคัญและเห็น "คุณค่า" ของความเป็นมนุษย์เท่าไหร่นัก... 

ฝากคุณ Little Jazz สอบถามคนรู้จักหรือผู้เกี่ยวข้องกับวงการเกษตร โดยเฉพาะภาคธุรกิจนะคะ ซึ่งคุณ Little Jazz อาจจะได้มีโอกาสพูดคุย... ทำอย่างไรจึงจะ "ร่วมกัน"ทำงานได้ในลักษณะที่ win-win ...

ความรู้...อำนาจ...ผลประโยชน์...???

สังคมสวัสดิการทั้งด้านวัตถุและจิตวิญญาณจะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้เมื่อใดหนอ...

ขอบคุณสำหรับภาพกล้วยไม้สวย ๆ.ค่ะ..ช่วยสร้างความสุขเล็ก ๆ ในชีวิตได้ดีทีเดียวค่ะ  

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท