บันทึกการจัดการความรู้ กับนายจารุพงศ์ พลเดช


บันทึกการจัดการความรู้

การจัดการความรู้

นายจารุพงศ์ พลเดช

รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

ในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2550 กรมการพัฒนาชุมชนได้อนุมัติให้สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชน ให้จัดทำการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาระบบการจัดการความรู้ และสร้างทีมสนับสนุนการจัดการความรู้ ตามโครงการจัดการความรู้ ณ โรงแรมแกรนด์ เดอะวิลล์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนักวิชาการพัฒนาชุมชนจากศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน เขต ๆ ละ 2 คน รวม 24 คน เจ้าหน้าที่ส่วนกลางจำนวน 6 คน รวม 30 คน เข้ารับการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและพัฒนาระบบการจัดการความรู้ระหว่างกรม กับศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขต รวมทั้งเพื่อให้เกิดการระดมความคิดเห็น เพื่อกำหนดแนวทางกิจกรรมที่กระทรวงมหาดไทย ได้คัดเลือกให้เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระชนม์พรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ในการนี้ทางสำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชน ได้ขอเชิญผมไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และบรรยายพิเศษ เรื่องทิศทางการจัดการความรู้ตามประเด็นยุทธศาสตร์ด้วย

ไม่ได้เปิดจนได้

ตามเวลาที่นัดหมายก็คือ ระหว่างเวลา 09.30-10.30 น. ผมก็ออกเดินทางจากกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อไปยังโรงแรมแกรนด์ เดอะวิลล์ เมื่อเวลา 09.00 น. เนื่องจากเป็นเวลาเร่งด่วน รถยนต์ติดจอดเป็นแพ บนถนนเกือบทุกสายในกรุงเทพมหานคร เป็นช่วงที่มีการจราจรคับคั่งมาก เลยต้องวางแผนให้ดี หากวางแผนไม่ดี อาจไม่สามารถเดินทางได้ ตามกำหนดเวลาเพราะฉะนั้น การนัดหมายเวลาในกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนี้ ต้องบวกเวลาล่วงหน้าไว้ ไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ถึงจะไปตามกำหนดนัดหมายได้ เส้นทางการเดินทางก็เช่นกัน ครั้งนี้นายจุน คนขับรถผมได้ใช้วิธีการขี่ม้ารอบค่ายแทนที่จะตัดตรงไปยังวังบูรพาโดยตรงเลย ก็ออกจากกระทรวงมหาดไทย อ้อมผ่านไปทางเสาชิงช้า ผ่านไปสถานีตำรวจภูธรพลับพลาไชย ตรงไปสี่แยกแม้นศรีแล้วเลี้ยวขวา ไปทางสี่แยกวรจักร แล้วตรงไปผ่านกองปราบปราม ถึงสี่แยกพาหุรัด เลี้ยวขวา ข้ามสะพานไปยังวังบูรพา ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หากใช้ทางตรง อาจต้องใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว เพราะการจราจรคับคั่งมาก โดยเฉพาะทางข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
เมื่อเดินทางถึงโรงแรมแกรนด์ เดอะวิลล์ ตามกำหนดเวลานัดหมาย ก็ได้พบกับท่านผู้อำนวยสำนักพิสันต์ ประทานชวโน รอต้อนรับอยู่ที่ล๊อปปี้ของโรงแรมแล้วบอกว่า

“ท่านไม่ต้องเปิดแล้วน่ะครับ ปฐมนิเทศแล้ว ประชุมกันเลย”
“ดีเหมือนกัน เอาแก่นดีกว่ากระพี้น่ะ” ผมว่า

“ครับ” ผอ.พิสันต์ รับคำด้วยความยินดี
พิธีกรรมก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง โดยมุ่งให้ผู้เข้ารับการประชุมได้รับทราบพิธีการว่าเริ่มประชุมแล้ว เหมือนการออกโรงของลิเกนั้นแหละครับ มีพิธีกรรมก่อน แต่หากมีเวลา

น้อย ต้องการให้มีเนื้อหาสาระให้มาก พิธีกรรมก็ลดลงไปได้ เข้าสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการเลยดีกว่า

ถึงที่บรรยาย

พอผมและคณะขึ้นไปถึงชั้นที่ 11 ของโรงแรม พอประตูลิฟฟ์เปิดผมก็จะเลี้ยวซ้ายตามปกติ ขณะที่ ผอ.พิสันต์ บอกว่า

“ท่านครับเลี้ยวขวาครับ คราวนี้” ว่าแล้วยิ้มๆ

“เหรอ ผมนึกว่าเลี้ยวซ้ายเหมือนเดิม” ผมว่า

“ห้องนั้นของคนอื่นเขาครับ วันนี้มีหลายคณะครับ”
“มิน่าล่ะ ผมจึงเห็นหน้าแปลกๆ ไม่คล้ายคนกรมการพัฒนาชุมชนเลย”

พอไปถึงห้องทางขวา ก็พบกับผู้เข้ารับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ หน้าตาคุ้นจากเขตทั้งสิบสองเขต ก็มีการโอกาสปราศรัยกันนิดหน่อย ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักก็ได้บอกเล่าให้ทราบถึง วัตถุประสงค์ และการดำเนินการประชุม ตลอดจนเป้าหมายให้ฟัง ฟังแล้วก็ทำให้เข้าใจดีว่า ทำไมต้องมาประชุมเชิงปฏิบัติการกัน เพราะต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการเฉลิมพระเกียรติในหลวงในวโรกาสครบรอบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 หลังจากนั้นก็เชิญผมบรรยายพิเศษ เจ้าหน้าที่มาถามว่า

“ท่านค่ะ ท่านจะเคาะเองหรือให้หนูเคาะค่ะ”
“เคาะเอง คุณเคาะผมจะเจ็บ เคาะไม่ถูกที่นะ” ผมว่า

“ท่านเคาะเอง ดีแล้วครับ เพราะท่านเป็น CKO และ CIO นี่ครับ” ผอ.พิสันต์ว่า ( CKO = chief knowledge officer, CIO = chief of Information officer )

“ตกลง” ผมว่า
ในกรมการพัฒนาชุมชน ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารเฉพาะด้านถึงสามด้านด้วยกัน คือ เป็นผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ผู้บริหารจัดการองค์ความรู้ระดับสูง (CKO) และเป็นผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (CCO) บางครั้งก็ทำให้ผมงงตัวเองเหมือนกัน ว่าทำไมต้องเป็นหลายตำแหน่งแท้ นอกจากการเป็นรองอธิบดีแล้ว พอถึงเวลาคุณเธอก็เชิญให้ผมได้บรรยายตามหัวข้อที่กำหนด

กล่าวหน้าพากย์

ก่อนอื่นผมได้กล่าวชื่นชมผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการว่าเป็นตัวแทนของเขต และเป็นตัวแทนของส่วนกลางนี้ จะได้นำเอาองค์ความรู้ไปเผยแพร่ ถ่ายทอด และปฏิบัติการจริงน่ะ เพราะการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ใช่การประชุมเชิงปฏิบัติการตามปกติ จะต้องมีการนำไปปฏิบัติจริงจังอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนตั้งอกตั้งใจ ฟังให้ดีแล้ว นำไปนึกคิด ทบทวน กับองค์ความรู้ที่มีอยู่ แล้วนำไปปฏิบัติจัดทำให้เกิดผลดีแก่การทำงาน ของกรมการพัฒนาชุมชน ผมได้นำเสนอว่า การจะศึกษาอะไรนั้น ก็ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนั้นคืออะไร ดังนั้นวันนี้ผมมีเรื่องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับที่ประชุม 6 ประเด็น ด้วยกัน คือ

ประเด็นที่หนึ่ง องค์ความรู้ (KM) คืออะไร
ประเด็นที่สอง องค์ความรู้ (KM) มีความสำคัญอย่างไร ประเด็นที่สาม องค์ความรู้

(KM) สามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์ของกรมได้อย่างไร
ประเด็นที่สี่ องค์ความรู้ (KM) มีเป้าหมายอย่างไร ประเด็นที่ห้า องค์ความรู้

(KM) มีแนวทางการพัฒนาอย่างไร ประเด็นที่หก องค์ความรู้ (KM) มีตัวชี้วัดอย่างไร
เมื่อแจกประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ผมก็เริ่มบรรเลงไปตามบทที่กำหนดให้ทันที โดยกล่าวว่า องค์ความรู้ (KM) นั้นคืออะไร KM คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในส่วนราชการ ซึ่งการจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์การ มีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด และยังได้แถมความหมายในความคิดของนายแพทย์วิจารณ์ พาณิช ที่ได้ให้ความหมาย KM ไว้ว่า การจัดการองค์ความรู้ เป็นกระบวนการที่ดำเนินการร่วมกัน โดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือหน่วยงานน้อยขององค์กร เพื่อสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายพัฒนางานและพัฒนาคน พร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นจริงในทางปฏิบัติ

ความสำคัญ

จากการกล่าวนำให้รู้ความหมายของ KM แล้ว ก็ได้มาขยายความต่อว่า KM นั้น มีความสำคัญอย่างไร โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญประการแรกที่ว่า ที่มีความสำคัญเพราะได้กำหนดเป็นอำนาจหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 11 ที่ว่า กำหนดให้ ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมต่อสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และมีการเรียนรู้ร่วมกัน ความสำคัญประการที่สอง คือ ได้มีกำหนดไว้ในมาตรา 45 ของ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วย การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เช่นกันว่า จะต้องมีการประเมินผล ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการตาม KPI 10.2 และ KPI 12 สำหรับ KPI 10.2 นั้นเน้นความสำเร็จของการดำเนินการตามข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงด้านขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติงาน หมายถึง ความสามารถในการนำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติ โดยมีการปรับปรุง ประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงาน ตามข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม และบรรลุเป้าประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์

สำหรับ KPI 12 นั้น เน้นระดับความสำเร็จของการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ โดยพิจารณาระดับคุณภาพในการพัฒนาระบบการจัดการ ความรู้ที่สามารถ สนับสนุน การดำเนินงาน ตามประเด็นยุทธศาสตร์ของกรมให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละระดับขั้นตอนของความสำเร็จ โดยมีรูปแบบการดำเนินงาน ที่ชัดเจนและเป็นระบบ มีกระบวนการบริหารจัดการและการรวบรวมฐานความรู้ขององค์กร เพื่อพัฒนาเป็น “องค์ความรู้” ที่มีระบบการถ่ายทอด แบ่งปัน และสามารถทำให้ทุกคนในองค์กรได้เข้าถึงความรู้ รวมทั้งพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและส่งผลให้ส่วนราชการ สามารถเข้าสู่รูปแบบการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนในที่สุด
ความสำคัญประการที่สาม นั้นได้แก่ คุณค่าของความรู้ที่ว่า ความรู้นั้นเป็นสินทรัพย์ที่ประมาณค่ามิได้ ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ความรู้ทำให้องค์กรเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ความสำคัญประการที่สี่นั้น ความรู้ไปสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล (ประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด) และประการสุดท้าย ความรู้ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ

สนับสนุนยุทธศาสตร์กรม

การจัดการองค์ความรู้ สนับสนุนยุทธศาสตร์ของกรมการพัฒนาชุมชนตามมิติทั้งสี่ด้าน ดังนี้

ด้านประสิทธิผล นั้นส่งผลและสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จ ตามยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการทำให้คนในชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข โดยมี KPI ข้อ 1.5 ที่ว่าร้อยละของหมู่บ้าน เป้าหมายได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็นเป็นสุข” ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่อง การทำให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกันทางสังคม โดยมี KPI ข้อ 3.1 ที่ว่าจำนวนผู้นำชุมชน ที่ได้รับการพัฒนา และผ่านเกณฑ์ตามระบบ มชช. ให้ประสบผลสำเร็จ และการส่งเสริมการจัดการความรู้/ภูมิปัญญาโดยชุมชน

ด้านคุณภาพการให้บริการ นั้นสร้างความสัมพันธ์กับหลักนิติกรรม คุณธรรม ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ ตลอดจนมีส่วนสนับสนุนการมีส่วนร่วม และความคุ้มค่าอีกด้วย

ด้านประสิทธิภาพ การจัดการองค์ความรู้เป็นการพัฒนาระบบของการจัดการองค์ความรู้ ตาม KPI ข้อ 10.2 ที่ว่า ระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ย ถ่วงน้ำหนักในการดำเนินการ ตามข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงด้านขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงาน

ด้านพัฒนาองค์กร เน้นการสงเคราะห์ให้เป็นการปฏิบัติจัดทำที่ดีอันเป็นตัวอย่างได้ (Best Practice) โดยเฉพาะการทำงานของเจ้าหน้าที่ความสำเร็จของชุมชน และการสร้างชีวิตเรียนรู้ในองค์กร

เป้าหมาย

การจัดการองค์ความรู้หรือ KM นั้น มีเป้าหมายสำคัญก็คือ การพัฒนาคนและองค์กรให้เก่งขึ้น มีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงขึ้นตามลำดับ โดยเน้นที่การพัฒนาคน ให้คิดเป็น ทำเป็น สร้างตนเองขึ้นมา เพื่อให้มีความสามารถในการทำงาน อย่างมีประสิทธิผล
5

โดยที่ทำให้งานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ด้วย

แนวทางการพัฒนา

การพัฒนาโดยการจัดการความรู้นั้น ได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับ ดังนี้ ในพ.ศ. 2548 ได้มีการพัฒนาให้ส่วนราชการได้เริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ ต่อมาใน พ.ศ. 2549 ก็ได้เน้นให้ส่วนราชการได้เรียนรู้ และเริ่มต้นการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบมากขึ้น พ.ศ. 2550 จะส่งเสริมและพัฒนาการจัดการความรู้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์ที่สำคัญตามประเด็นยุทธศาสตร์ และในปี 2551 จะพัฒนาระบบการจัดการความรู้ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ต่อไป

ตัวชี้วัดความสำเร็จ

ในการทำงานยุคใหม่นี้ ทุกอย่างต้องมีตัวชี้วัด เพื่อวัดความสำเร็จและความล้มเหลวของงาน โดยเน้นการจัดทำแผนการจัดการความรู้ เพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยกิจกรรมตามกระบวนการจัดการความรู้ 7 ประการ คือ การค้นหาความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ การจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ การประมวลและกลั่นกรองความรู้ การเข้าถึงความรู้ การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ และการพัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาต่อไป ตัวชี้วัดสำคัญอีกตัวหนึ่ง ก็คือ การบรรลุตามเป้าหมายของ KPI ที่ 15 ที่ว่าร้อยละของหมู่บ้านเป้าหมายได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้าน เศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็นเป็นสุข” ร้อยละ 6 ของหมู่บ้านทั้งหมด (4,467 หมู่บ้าน) มีจำนวนผู้นำชุมชนที่ได้รับการพัฒนาและผ่านเกณฑ์ตามระบบ มชช. ให้ประสบความสำเร็จ จำนวน 4,400 คน และมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันที่เป็นรูปธรรม

สรุป

การจัดการองค์ความรู้นั้น ต้องเริ่มต้นจากข้าราชการต้องสามารถพึ่งตนเอง โดยมี องค์ความรู้ที่จำเป็นในการทำงาน เพื่อสามารถทำงานด้วยความพอเพียง คือ ทำงานได้ครอบคลุมในขอบเขตของงาน และด้วยความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยต้องนำองค์ความรู้จากการจัดการความรู้มาใช้ในกระบวนงานการปฏิบัติราชการที่วางตัวไว้ได้อย่างพอดี คือให้พิจารณาถึงการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้กับกระบวนงาน ที่มีความเหมาะสม และมีความจำเป็น เป็นหลัก อันจะส่งผลให้เกิด ผลสัมฤทธิ์ ของการปฏิบัติราชการ คือ การให้บริการได้เป็นที่ความพอใจ คือข้าราชการมีความพอใจในผลงานจากการใช้องค์ความรู้ มาช่วยเสริมและผลักดันให้ปฏิบัติราชการอย่างมืออาชีพ รวมถึงประชาชนผู้รับบริการก็พอใจต่อผลงานของข้าราชการ และประสิทธิภาพของรัฐให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น
บันทึกความทรงจำ

19 มิถุนายน 2550

หมายเลขบันทึก: 113703เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 07:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท