SMART-I คืออะไร


SMART-I หรือข้อสอบสอบตรงเข้าปริญญาตรี บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือะไร เป็นเรื่องที่ควรรุ้สำหรับ คุณครูมัธยม คุณครูแนะแนว ผู้ปกครอง และน้องๆที่เรียนอยู่มัธยมปลาย และอยากศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

      ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่มีน้องๆหลายคนถาม และอยากให้คุณครู ผู้ปกครอง และน้องที่เรียนมัธยมได้รู้ เพื่อจะได้มีโอกาสในการแข่งขันที่ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกัน โดยไม่เสียเปรียบกันมากนัก เพราะปีหนึ่งมีการสอบประมาณ 4 ครั้ง แต่ละครั้งมีผู้เข้าสอบร่วมหมื่นกว่าคน แต่รับไม่กี่ร้อยคนเอง

SMART-I (Scholastic Management Aptitude Requirement Test – I) หรือ SMART for Undergraduate Level คือ…
      ชุดข้อสอบที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดย ศูนย์ทดสอบทักษะด้านการจัดการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้เครื่องมือในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อประเมินความพร้อมและความเหมาะสมของบุคคลในการเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีทางการบัญชีและบริหารธุรกิจ

SMART-I  หรือ SMART for Undergraduate Level ใช้กับใคร
      ผู้เข้าทดสอบ SMART for Undergraduate Level โดยส่วนใหญ่ คือ ผู้ประสงค์เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีทางการบัญชีและบริหารธุรกิจทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ (BBA) ผ่านโครงการรับตรง (Direct Entrance) ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะฯได้มอบหมายภารกิจในการจัดสอบให้แก่ศูนย์ทดสอบทักษะด้านการจัดการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พัฒนาแบบทดสอบชุดนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีทางการบัญชีและบริหารธุรกิจของคณะฯ

SMART-I  หรือ SMART for Undergraduate Level วัดอะไร
      การทดสอบข้อเขียนโดยใช้ข้อสอบ SMART for Undergraduate Level นั้นจุดมุ่งหมายประการสำคัญ คือ การวัดระดับความสามารถทางวิชาการที่จำเป็นและเหมาะสมในการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางการบัญชีและบริหารธุรกิจของนักศึกษา โดยผลการทดสอบนั้นจะสะท้อนความสำเร็จของการเรียนในระดับปริญญาตรี ข้อสอบ SMART for Undergraduate Level เป็นมาตรวัดที่มีทั้งความเที่ยง(Reliability) และความตรง (Validity) ของกระบวนการคัดเลือกเข้าศึกษาโดยผู้สมัครจะเข้าทดสอบด้วยแบบทดสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ผลสอบที่ออกมาสามารถนำไปเปรียบเทียบระหว่างผู้สมัครได้อย่างเป็นรูปธรรม
   

SMART-I  หรือ SMART for Undergraduate Level มีองค์ประกอบอะไรบ้าง
      ข้อสอบ SMART for Undergraduate Level เป็นข้อสอบแบบปรนัย(ภาษาไทย) ทั้งหมด 120 ข้อ ให้เวลาทำข้อสอบประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที   ข้อสอบแบ่งเป็น 4 ส่วนแจกข้อสอบทุกส่วนพร้อมกัน และกำหนดให้ทำแต่ละส่วนตามช่วงเวลาที่กำหนด โดยมีรายละเอียดแต่ละส่วนดังนี้

  •  ข้อสอบส่วนที่ 1  วัดความสามารถด้านคณิตศาสตร์ 30 ข้อ (60 นาที 5 ตัวเลือก)
    เป็นข้อสอบซึ่งวัดความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางการบัญชีและบริหารธุรกิจ โดยเน้นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ บัญญัติไตรยางศ์ ร้อยละ กำไรขาดทุน อัตราส่วน ของผสม การเพิ่มการลด การทำงานแรงงาน  การเดินทางเคลื่อนที่  เรขาคณิต  พีชคณิต เซต จำนวนจริง สมการ อสมการ ความสัมพันธ์  ฟังก์ชัน เรขาคณิตวิเคราะห์ ลำดับและอนุกรม วิธีเรียงสับเปลี่ยน   การ
    จัดหมู่  ความน่าจะเป็น  และสถิติ   
  • ข้อสอบส่วนที่ 2  วัดความสามารถด้านการอ่าน 30 ข้อ (60 นาที 5 ตัวเลือก)
    เป็นข้อสอบซึ่งวัดความสามารถในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และสรุปประเด็นของบทความ ประกอบ ด้วย  บทความสั้นประมาณ 10 ข้อ และบทความยาวประมาณ 40-50 บรรทัดหรือ 1-2 หน้ากระดาษ A4 จำนวน 2-3 บทความ ประมาณ 20 ข้อ
  • ข้อสอบส่วนที่ 3  วัดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ 40 ข้อ (60 นาที 4 ตัวเลือก)
    เป็นข้อสอบซึ่งวัดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ โดยเน้นทักษะด้านการอ่านบทความ คำศัพท์ และไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย
    - Reading Comprehension  3 เรื่อง                   20 ข้อ
    - Sentence Completion (เติมคำ, เติมประโยค)  10 ข้อ
    - Vocabulary                                                         5 ข้อ 
    - Error                                                                    5 ข้อ
  • ข้อสอบส่วนที่ 4  วัดความรู้รอบตัว 20 ข้อ (15 นาที 5 ตัวเลือก)
    เป็นข้อสอบซึ่งวัดความรอบรู้ในด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี รวมถึงข่าวสารและความรอบรู้ในด้านต่างๆในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญซึ่งบ่งบอกถึงความเหมาะสมในการศึกษาด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ

เกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนน SMART for Undergraduate Level
      คะแนนรวมเมื่อแปลงเป็นคะแนนสำหรับโครงการรับตรงฯ ตามค่าน้ำหนักที่กำหนดแล้วไม่น้อยกว่า 47.5 คะแนนจาก 95 คะแนน และคะแนนแต่ละส่วนของ SMART-I ไม่น้อยกว่า 30 คะแนน

สำหรับรายละเอียดลองเข้าไปดูได้โดยตรงที่เวบของ Smart-I นะครับถ้าไม่รู้ลองค้นจาก google ก็ได้เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงบางประการ


คำแนะนำสำหรับการเตรียมตัว

1. ระดับความยากของโจทย์คณิตศาสตร์ใกล้เคียงกับข้อสอบคณิตศาสตร์ของ GMAT หรือ CU-BEST แต่มีความซับซ้อนน้อยกว่า

2. การอ่านส่วนใหญ่เป็นการทดสอบเพื่ออ่านจับใจความหรือลักษณะเด่นบทความที่นำมาให้อ่านเนื้อหาค่อนข้างเกี่ยวกับเชิงธุรกิจ หรือ เศรษฐกิจ ต้องอ่านให้เร็วและจับประเด็นหลักให้ได้ ควรฝึกทดสอบอ่านข้อสอบภาษาไทยปีเก่าๆ ที่มีบทความยาวๆ หรือ ข้อสอบภาค ก. ของ ก.พ. ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน

3. ข้อสอบภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ดัดแปลงจากข้อสอบ TU-GET ของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้นรูปแบบของข้อสอบจึงคล้ายข้อสอบ TU-GET  ควรระวังเพราะส่วนใหญ่มักไม่ผ่านภาษาอังกฤษ

4. ข้อสอบความรู้รอบตัว ส่วนใหญ่จะเน้นความรู้รอบตัวเกี่ยวกับข้อมูลที่สำคัญของประเทศไทย  ความรู้ทางบริหารธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม การเงิน การคลัง การเมือง สถานการณ์โลก  องค์กรหรือหน่วยงานที่สำคัญทั้งใน และนอกประเทศ ชื่อบุคคลสำคัญ  เหตุการณ์บ้านเมืองหรือเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในช่วงใกล้สอบ ดังนั้นควรติดตามข่าวสารต่างๆตลอดเวลา  รวมทั้งควรอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจบ้าง

      ถ้ามีน้องๆสนใจตัวอย่างข้อสอบลองเมล์มาละกัน ถ้าพอรู้ก็จะบอกให้นะ แต่คงต้องขยันมากๆ ละกัน จะว่าไปแล้วยิ่งเปลี่ยนระบบการเรียนการสอบ เด็กๆยิ่งต้องปรับตัวขยันกันยกใหญ่ จากเดิมที่สอบวัดผลครั้งเดียวตอนเอนทรานซ์ เพียงไม่กี่วิชา ตอนนี้เห็นบอกจะสอบ 8 กลุ่มสาระ แถมมีคะแนนเฉลี่ย แล้วมีการสอบอะไรอีกมากมาย แถมการสอบตรงแต่ละที่ก็มีแนวไม่เหมือนกัน ถ้าอยากสอบได้ต้องเตรียมตัวกันเหนื่อยมาก น่าสงสารจังชีวิตวัยเรียนที่สนุกต้องมาเคร่งเครียดกับการสอบแข่งขัน ไม่รู้ว่ามีผู้ใหญ่ท่านไหนที่เกี่ยวข้องเคยมองเห็นปัญหาไหม จะมองในแง่ที่อยากคัดเลือกคนเก่งเพียงอย่างเดียว แล้วคนดีหรือคนทั่วไปที่ไม่เก่งมากละจะไปเรียนอะไรกัน ปัญหาเหล่านี้มองได้หลายมิติถ้าจะว่ากันไปแล้วคงเรื่องยาว เอาเป็นว่าตอนนี้ขอแค่นำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลไว้เท่านั้นก่อนแล้วกัน ถ้ามีโอกาสคงได้มาเปิดประเด็นใหม่อีกที

      แต่อยากฝากข้อคิดสักนิดสำหรับน้องๆ ก็คืออย่าเครียดมาก ปัญหาทุกปัญหามีทางแก้ และการสอบได้ไม่ได้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อนาคตเราไม่ได้อยู่ที่การสอบแข่งขันอย่างเดียว เราควรมองถึงการเรียนในสาขาที่เราสนใจ เราชอบ  ควรสนุกกับการเรียนมากกว่าที่จะมานั่งทนเรียนที่ไม่ชอบ  ถึงแม้ว่าอาจประกอบอาชีพได้และไม่รวย แต่ถ้าอยู่ได้แบบพอเพียงก็น่าจะพอจริงไหม การเป็นคนรวยมากๆแต่ขาดคุณธรรม บางทีก็นอนหลับไม่สนิท ชีวิตมีแต่ความสุขทางกาย แต่ต้องทนทุกข์ทรมานทางใจก็มีตัวอย่างให้เห็นเยอะไป ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็อยู่ทีน้องๆแต่ละคนจะเป็นคนเลือกเอง...จริงไหม ???

ฝากคณิตศาสตร์ของ SMART-I ไว้คิดเล่นๆสักข้อก่อนจากนะครับ เป็นข้อที่เพิ่งออกสอบไปไม่นานนี้(กลางปี 50) ลองดูนะครับ

(500-1)(500-2)(500-3)(500-4) . . . (500-998)(500-999)(500-1000) มีผลลัพธ์เท่ากับเท่าไร

ใครคิดไม่ออกลองค่อยๆมองดีๆนะครับ โจทย์ข้อนี้ใช้ไหวพริบอ่านจบแล้วน่าจะตอบได้เลย   ; )

หมายเลขบันทึก: 114265เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมอยากรู้คำตอบครับพี่ [email protected]

ANSWER

(500-1)(500-2)...(500-500)...(500-999)(500-1000) = 0

ไม่ยากเลย..จริงไหมครับ !!!

คำตอบคือ 0 ป่าวคับ

เพราะจำนวนจะไล่ไปเรื่อยจนถึง 500-500 (=0)

อะไร*0 ก็ได้ 0

คำตอบที่ได้ เท่ากับ 0 คับ เพราะว่าจำนวนนั้นลดลงเรือยๆจนถึงลบตัวของมันเองคับคือ (500-500)นั่นเอง พอได้ 0 คูณกับตัวอะไรต่อให้เยอะแค่ไหนก็ได้ 0 เท่าเดิมคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท