อยากรู้มั๊ย.. เราคุยอะไรในวงจัดการความรู้ท้องถิ่น (๑)


“ความรู้ทำให้คนมีความสุข” แต่ความรู้นั้นต้องเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจากตัวของเขาเอง เอ? แล้วทำไมความรู้ที่เราเรียนๆ กันอยู่ตามห้องเรียนทั่วไป จึงทำให้ “คนเรียนไม่มีความสุข”

            จากการประชุมภาคีการจัดการความรู้ภาคประชาชน ประชาสังคม ครั้งที่ ๒๔  วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐ จัดโดย สคส. ซึ่งจะมีภาคีที่เข้าร่วมสลับ ผลัดเปลี่ยนกันไปตามเหตุปัจจัยที่เอื้ออำนวย  แต่ทุกครั้งจะขาดเสียไม่ได้เลย คือ ทีมงาน สรส. ....... และครั้งนี้ คุณสมโภชน์ นาคกล่อม (พี่ปาน) จาก สรส. ที่ดิฉันถือเป็นคุณลิขิตมือดีคนหนึ่ง พี่ปานได้ส่งบันทึกเรื่องเล่าการประชุมครั้งนี้มาให้ พี่อ้อม อุรพิณ และ ดิฉัน เผื่อว่าจะนำบันทึกนี้ไปทำอะไรต่อได้บ้าง..... ดิฉันจึงขอนำบันทึกนี้มาถ่ายทอดมายังท่านผู้อ่านอีกต่อหนึ่งนะค่ะ


สิ่งที่ติดอยู่ในใจ...
เราคุยอะไรในวงภาคีจัดการความรู้ท้องถิ่น
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐
โดย สมโภชน์ นาคกล่อม

              ผมเคยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการความรู้ท้องถิ่น ของภาคีภาคประชาสังคม ซึ่งมีสมาชิกแวะเวียนกันเข้ามาพูดคุย รวมทั้งมีแขกรับเชิญต่างๆ ที่มีเรื่องดีๆ มาเล่าให้เราฟังเป็นระยะๆ  ดูเหมือนว่าสรส. (สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) จะเป็น “เจ้าประจำ” เพราะครั้งไหนก็ไปทุกที แต่บางภาคี เช่น มูลนิธิข้าวขวัญ เครือข่ายนครสวรรค์ฟอรัม มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร แม้จะหายหน้าไปบางครั้ง แต่ก็ยังถือเป็นเป็น “สมาชิกที่เหนี่ยวแน่น” ของภาคี


              เราคุยกันครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒๔ แล้ว ผมได้มีโอกาสมาสัมผัสกับวงนี้ ประมาณ ๕-๖ ครั้ง ประมาณ ๑ ปี เราได้อะไร เกิดอะไรในการพูดคุยบ้าง  มันคล้ายๆ กับว่าครั้งแรกๆ เป็นการเรียนรู้ของผมเอง ที่พยายามทำความเข้าใจ “งานของคนอื่น” แต่หลังๆ เหมือนกับว่าการต่อโยงกันมันเริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อเครือข่ายนครสวรรค์ฟอรัมได้เชื้อเชิญให้ สรส.ไปพูดคุย เปิดหัว เปิดมือ เปิดใจ กับ อบต.นครสวรรค์ทั้งหมด โดยมี อบจ.นครสวรรค์ เป็นเจ้าภาพ และนำมาสู่การเชื่อมงานกัน โดย สรส.เป็นพี่เลี้ยง เสริมศักยภาพในการทำงานของ อบต.ที่สนใจร่วมกระบวนการเรียนรู้ประมาณ ๔-๕ แห่ง โดยงานจะเริ่มต้นปีงบประมาณถัดไป (หลังตุลาคมนี้)


             ช่วงหลังๆ มีข้อสังเกตที่ผมเริ่มเห็นชัดขึ้น นอกเหนือจากการเชื่อมงานกันดังที่กล่าวมาแล้ว คือ “การเติมเต็มกันและกันในประเด็นแลกเปลี่ยน” ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะวงคุยใน ๒-๓ ครั้งที่ผ่านมา...เราลองไปดูการเชื่อมโยงจุดประกายความคิด เติมเต็มกัน เหมือนเซลล์สมองที่มันเกิดการทำงานส่งผ่านกันวูบวาบ ของภาคีที่เข้าร่วมวงคุยในครั้งที่ ๒๔ นี้ดูนะครับ

มหกรรมจัดการความรู้ผู้ป่วยเบาหวาน “อยู่กับเบาหวานอย่างมีความสุขและพอเพียง”
             แม้ว่าวาระแรกๆ จะเป็นเพื่อทราบ เหมือนการประชุมทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากวาระเพื่อทราบของการประชุมที่ผมเคยเข้าร่วมมาคือ “ไม่ใช่ทราบกันเฉยๆ แต่เป็นวาระเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง คิด และตีความ” เราได้รู้ว่ามหกรรมเบาหวานนี้ เป็นผลมาจากการจัดมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ  ครั้งที่ ๓ ที่จุดประกายเครือข่ายติด ตอนนี้ปิดรับสมัครคนเข้าร่วมงานมหกรรมแล้ว มีคนสนใจเกินเป้าหมาย  วันแรกให้ได้รู้จักเครื่องมือ KM (มีคนสมัครแล้ว ๓๐๐ คน)  อีก ๒ วันเป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องเบาหวานเลย (๕๐๐ คน)


             ท่านอาจารย์วิจารณ์ ได้เติมความน่าสนใจให้เราซึ่งไม่ได้สัมผัสกับเรื่องนี้โดยตรงว่า “เป็นเรื่องมหัศจรรย์” เพราะเครือข่ายเบาหวานไม่มีตัวตน เกิดขึ้นเพราะการอยากให้การดูแลคนไข้เบาหวานดีขึ้น จึงตั้งมูลนิธิที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ มีเจ้าหน้าที่ช่วยคนสองคน  เดินเรื่องด้วยบล็อก และเดินเรื่องด้วยการฝึกอบรมของ คุณหมอวัลลา ตันติโยทัย ทำให้สามารถจัดการเครือข่าย จัดงานครั้งนี้ขึ้นได้ มีคนสนใจมาก สาเหตุเพราะ คุณหมอวัลลา เป็นคนทำจริง ทำให้เกิดเครือข่ายจริง มีความรู้จริงจาก คุณหมอเทพ พอได้ KM มาเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้มีพลัง  เบาหวานอยู่ได้ด้วยคนไข้เอง ไม่ใช่เพราะหมอ   โชคดีอีกอย่างหนึ่งคือ ได้บริษัทยาเอาเงินมาช่วยคุณหมอวัลลา เพราะบริษัทยาได้รับผลประโยชน์จากผู้ป่วยเบาหวานเยอะแล้ว


            อืม ผมฟังแล้ว เป็นตัวอย่างของเครือข่ายที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ เป็นการมารวม มาเจอกันโดยไม่ต้องจัดการอะไรมากของคนที่มี “ทุกข์ร่วม” อนาคตของเราอาจจะได้เข้าไปเป็น “คุณกิจ” (คนป่วย) เรื่องเบาหวานก็ได้ ใกล้ตัวมากๆ

มหกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน
            อีกเรื่องหนึ่ง มีการนำเสนอสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ๑ ปีที่ผ่านมา เป็นเวทีแลกเปลี่ยนของคนแวดวงการศึกษาที่ใช้ KM ในการทำงาน มี ๑๘ เขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วม หมุนเวียนไปแต่ละภาค วันที่ ๔-๕ สิงหาคม จัดที่ภาคใต้

รับรองรายงานครั้งที่ผ่านมา
            อ้อมสรุปรายงาน พอพูดถึงเรื่อง IDRC อ.วิจารณ์ เลยเล่าให้ฟังว่าเมื่อวานที่ศศินทร์ จุฬาฯ คุยกันเรื่องความสุขกับไอซีที อ.วิจารณ์ ได้ฉายภาพบล็อกโรงเรียนชาวนา ที่ชาวบ้านมีความสุขจากการคว้าความรู้จากภายนอก มาลองทำเอง ทำให้มีความสุขเกิดขึ้นจากการภาคภูมิใจในตัวเอง


           ผมฟังแล้วก็สรุปได้ว่า “ความรู้ทำให้คนมีความสุข” แต่ความรู้นั้นต้องเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจากตัวของเขาเอง เอ? แล้วทำไมความรู้ที่เราเรียนๆ กันอยู่ตามห้องเรียนทั่วไป จึงทำให้ “คนเรียนไม่มีความสุข” เราชักจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่า การจัดการความรู้ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ฝังลึกในตัวคน ทำให้คนมีคุณค่า และทำให้เราเห็นคุณค่าของคนผ่านความรู้ฝังลึกที่เราให้ความสำคัญนั้น

 

(ติดตามตอนต่อไปโปรดคลิก => ที่นี่)

หมายเลขบันทึก: 115748เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท