Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล
Hospital OS Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล ianalysis คลังข้อมูล Hospital OS (โปรแกรม โรงพยาบาล)

Episode V: การเดินทางหมื่นลี้


เกิดเป็นชุมชนแห่งการแบ่งปันและเรียนรู้ "เมื่อคนหนึ่งรู้ หลายคนรู้"

โดย หมอก้อง



    หลังจากกลับมาจากรพ. ทุ่งหัวช้าง ผมและทีมงานก็มาทบทวนกันอย่างเร่งรีบเพราะมีหลายอย่างที่ผิดคาดไปเยอะ และเมื่อเราสื่อสารไปกับกลุ่มสมาชิก ก็เริ่มมีสมาชิกสนใจและอาสาเป็นโรงพยาบาลทดลองผู้ดูแลระบบอาสาของแต่ละโรงพยาบาล ติดต่อเข้ามา ปัญหาของเราก็คือ เราจะทำอย่างไรดี เพราะ 21 วันเพื่อขึ้นระบบที่รพ. ทุ่งหัวช้าง เป็นจำนวนวันที่เราไม่สามารถดำเนินงานได้หากต้องการให้เมื่อสิ้นสุดโครงการ เพราะเรามีเวลาเหลือเพียง 6-7 เดือน และงบประมาณที่จำกัด เราต้องใช้งบประมาณที่สวก. ให้มาให้คุ้มค่าที่สุด

    ในช่วงเดือนธันวาคม เราได้ไปนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ ประจำปีของชมรมเวชสารสนเทศ หรือ TMI ตอนนั้นก็คิดกันว่า หากเราสามารถแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก และสามารถนำไปทำเองได้ก็จะช่วยให้งานของเราง่ายขึ้น เราเลยจัด work shop เล็กๆขึ้นเพื่อแนะนำสมาชิกให้รู้จักโปรแกรมและเรียนรู้การติดคั้ง Linux ก่อนวันประชุม ปรากฏว่ามีผู้สนใจมากกว่า 20 ราย บางท่านก็นำเครื่อง นำ Notebook มาติดตั้งกันสดๆเลย นับว่าเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของทีมงาน

ผมได้มีโอกาสบรรยายใน ห้องประชุมถึงตัวโปรแกรม และการติดตั้งที่รพ. ทุ่งหัวช้าง มีผู้สนใจมากพอดูครับ และก็ได้ทั้งความเห็น กำลังใจ และข้อเสนอแนะต่างๆที่เป็นประโยชน์กับเรามาก

ในการประชุมครั้งนั้นก็ได้มีโอกาสพบกับทีมงานของศูนย์จักษุรักษา กองแพทย์หลวง สวนจิตรลดา ได้มาสอบถามและให้ข้อมูลว่า กำลังจะเปิดศูนย์ในวันที่ 5 ธค. ต้องการซอฟต์แวร์ไปใช้งาน ผมได้ฟังแนวคิดของทีมงาน โดยมี นพ. ยุทธนา สุคนทรัพย์ เป็นจักษุแพทย์หลวง ท่านต้องการระบบที่ใช้งานทำประวัติบันทึกข้อมูลการตรวจตา ภาพถ่ายจอประสาทตา และที่สำคัญท่านต้องการเอาข้อมูลนี้ติดไปกับท่านเวลาไปตามเสด็จด้วยเพื่อจะติดตามผลการรักษาคนไข้ เป็นโจทย์ที่น่าสนใจสำหรับทีมงาน ก็มอบหมายให้พงศ์ธรเป็นแม่งาน และำโปรแกรมออกมาใช้งานจนถึงทุกวันนี้ซึ่งจะเห็นว่าเป็นแห่งเดียวที่ยังใช้ Version 1 อยู่
   
    เมื่อเสร็จงาน พวกเราเห็นว่าความต้องการใช้งานโปรแกรมมีมากแล้วเราจะทำอย่างไรทีมงานก็มีเท่านี้ ในที่สุดพวกเราก็ได้ข้อสรุปเป็นสูตร "เข้าตี 5 วัน เดินทาง 2 วัน" หมายถึง ทีมงานประมาณ 5 คนแต่ละคนจะมีหน้าที่ซึ่งประกอบด้วย

1. ผู้จัดการserver and network คนนี้จะมีหน้าที่ ติดตั้ง linux server, database และตรวจสอบระบบเครือข่าย ซึ่งรวมถึงเครื่องคอมฯและเครื่องพิมพ์ในรพ. ที่จะใช้งานโปรแกรมนี้ โดยจะเริ่มงานตั้งแต่วันแรก และเสร็จในวันที่ 2 เครื่องต้องพร้อมให้ทดสอบการใช้งานโดยจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ดูแลระบบ และต้องสอนให้เขาดูและระบบแทนเราด้วย

2. Data setup คนนี้จะมีหน้าที่เตรียมข้อมูลตั้งแต่ข้อมูลสถานพยาบาล จุดบริการ ข้อมูลจากระบบเก่าที่จะนำเข้าระบบ Hospital OS ข้อมูลสิทธิผู้ใช้ระบบ ข้อมูลการสั่ง การรักษา ได้แก่ ยา เวชภัณฑ์ โดยต้องทำงานร่วมกับแผนกต่างๆที่เกี่ยวข้องและใช้เวลา 2-3 วันเพื่อเตรียมข้อมูลให้พร้อมกรอกเข้าฐานข้อมูล

3. Work flow trainer เป็นผู้สอนการใช้งานของโปรแกรม โดยทีมนี้มักมี 2 คน  จะ ทำการเล่าขั้นตอนการทำงานของโปรแกรมให้ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นระดับหัวหน้าหรือตัวแทนแผนกต่างๆทราบ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะรอยต่อของบริการเรามักพบว่าไม่มีใครรับผิดชอบ กิจกรรมนี้จึงเป็น "การทบทวนขั้นตอนการทำงานของโรงพยาบาล" และหลายครั้งเราได้สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการยุบ เลิกขั้นตอนที่มีปัญหา ทั้งไม่มีประสิทธิภาพ หรือ ซ้ำซ้อนให้หมดไป แต่บางครังโชคก็ไม่เข้าข้าง เราก็ต้องนั่งตัวลีบอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการขัดแย้งและไม่ยอมกัน อันนี้ก็ต้องเห็นใจทีมงานเพราะเราเด็กมากและส่วนใหญ่ก็เพิ่งจบหมาดๆ บางครั้งก็ไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่จะทะเลาะกันไปทำไม เพราะเราต่างก็ตั้งใจทำงานให้กับรพ. แต่ด้วยเพราะ "ตัวกู ของกู" คือยึดอัตตา ตนเองเป็นหลักเรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ บางครั้ง Hospital OS ถูกจับเป็นตัวประกันเช่น ถ้าไม่ยอมแบบนี้ จะไม่ใช้โปรแกรมนี้
แต่ก็นับว่า "ดีกว่าถูกจับไปเรียกค่าไถ่"

    เมื่อตกลง work flow กันแล้ว เราก็เริ่มสอนลงรายละเอียดกันรายแผนก ต้องยอมรับว่าแพทย์ พยาบาล พนักงานในบางโรง มีความตั้งใจสูงมาก หลายคนรู้ว่านี่เป็นของใหม่สำหรับเขา หลายคนจับเม้าส์ไม่เป็นคลิ๊กไม่เป็น แต่ก็มีความเพียรสูง ค่ำมืด ดึกดื่น ก็ยังมาเรียนกัน ทางทีมงานเราก็จัดให้ เพราะส่วนมากพวกเรานอนดึกอยู่แล้ว เมื่อสอนจนได้ทราบการทำงานแล้ว เรามีการทำสถานะการณจำลอง Simmulation ที่มีการสมมุติคนไข้และเข้าสู่จุดบริการต่างๆจนเสร็จสิ้นกระบวนการ สร้างความตื่นเต้น สนุกสนานให้กับ นักเรียน(ศึกษาผู้ใหญ่)ทั้งหลาย เมื่อ simmulation แล้วก็มีการ เตรียมขึ้นระบบ ในช่วงที่สอนไม่ได้ ทีมงานก็จะทำเรื่องการพิมพ์ต่างๆ การจัดหน้า และวางรายละเอียด เช่น OPD card ใบสั่งยา สติ๊กเกอร์ยา เป็นการนำโรงพยาบาลไปสู่ ระบบ Automation คือลดการเขียน และคัดลอกซ้ำๆซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

    ด้วยวิธีการแบบนี้ ทำให้เราใช้ทีมงานทั้ง 5 คนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง 5 คนต่างแยกกันทำงานในภาระกิจของตน และในวันพฤหัสเราจะเตรียมการขึ้นระบบ 00.01 ของวันศุกร์เป็นวันขึ้นระบบของเรา กระบวนการต่างๆจะถูกทำเกือบทั้งคืน เพื่อให้ระบบพร้อมรับคนไข้ในตอนเช้า และเราจะรอดูผลในวันศุกร์ และสรุปงานให้กับผู้บริหารโรงพยาบาลในบ่ายวันศุกร์นั้น นับว่าเป็นอันเสร็จสิ้นภาระกิจ ทีมงานก็เตรียมพร้อมในการเดินทางไปรพ.ถัดไปในช่วงเสาร์อาทิตย์

ในปัจจุบันกระบวนการดังกล่าวมีการพัฒนาไปบ้างเพื่อให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือความเมตตาของเจ้าหน้าที่ในรพ. ที่ดูแลทีมงานเหมือน น้อง ลูก หลาน เราได้พักในโรงพยาบาล กินข้าวโรงครััวของรพ. เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันกับพี่ๆทั้งหลาย ผมต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ดูแลทีมงานเป็นอย่างดี นับเป็นความกรุณาอย่างยิ่งและต้องขออภัยที่ไม่สามารถไปขอบคุณได้ด้วยตนเอง  

    ช่วงต้นปี 2546 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เราเดินทางกันมากผมได้มีโอกาสไป
ร่วมไม่กี่แห่ง เช่นที่ รพ. ป่าแดด จังหวัดเชียงราย ได้ไปช่วงหน้าหนาวจำได้ว่าหนาวมากครับตอนกลางคืนปิดประตูหน้าต่างหมดแล้วก็ยังหนาว ได้มีโอกาสพบคุณรัตนา ที่เป็น Admin ผู้หญิงเก่งคนหนึ่งผมได้มีโอกาสนำเสนอให้กับทีมงานบริหารของโรงพยาบาล และทีม admin ได้พัฒนาการดึงรายงานเพื่อเอาข้อมูลออกมาใช้งานได้เองด้วยเป็นการจุดประกายให้เราทราบถึงความสำคัญของรายงาน หลังจากนั้นผมแทบไม่มีโอกาสไปติดตั้งระบบที่ไหนเลยเพราะงานประจำหนักขึ้นเรื่อยๆ

    เมื่อเดือนมีนาคม เราได้รับสมาชิกใหม่เพิ่มเพราะสมาชิกบางคนต้องโยกย้าย ถ่ายเทไป น้องใหม่ที่รับเข้ามาก็มี โต้ง พี แอ้ม ซึ่งครั้งหน้าผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ เขาเหล่านี้    

    ในปี 2546 โครงการฯนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโครงการฯดีเด่น 1 ใน 15 โครงการวิจัย ประจำปีของสกว. นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจครับ สำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ ที่ทำวิจัยแบบ "ไม่รู้" อย่างผมและทีมงาน แต่ความสำเร็จนี้ต้องยกให้เป็นของชุมชนครับที่ทำให้เราได้พบว่า จริงๆแล้วโครงการนี้ทำการพัฒนา 3 เรื่องคือ

    - พัฒนาบุคลากร
    - พัฒนาซอฟต์แวร์
    - พัฒนา ชุมชน

    เกิดเป็นชุมชนแห่งการแบ่งปันและเรียนรู้ "เมื่อคนหนึ่งรู้ หลายคนรู้"    
    

    ผมได้ยิน และรับทราบเรื่องราวดีๆของ "การแบ่งปัน และเรียนรู้" มาโดยตลอด ไม่ว่าจะได้ยินว่า admin รุ่นพี่บางท่าน ขับรถข้ามจังหวัด ข้ามอำเภอ ไปช่วยเหลือโรงพยาบาลน้องใหม่ขึ้นระบบ หรือการให้รพ. เพื่อนๆมาดูงาน

เรื่องราวดีๆ ที่สวยงามมักชโลมจิตใจให้เราสุขใจเมื่อนึกถึง แต่โครงการฯนี้ ไม่ได้มี เรื่องดีๆเท่านั้น เพราะชีวิตจริงมีสองด้านเสมอ เมื่อระยะเวลา 17 เดือนใกล้จบลง แม้ว่าเราจะทำได้มากกว่าที่โครงการฯกำหนดคือเราทำได้ถึง 14 แห่ง จากข้อตกลง 10 แห่ง

คำถามเกิดขึ้นมากมาย

"สกว. จะต่อโครงการไหม"

"มันไม่ใช่ภาระกิจหลักของสกว.นะ เรื่องทำซอฟต์แวร์มาแจกฟรี"

"โครงการซอฟต์แวร์ 5,000 ล้านของกระทรวงฯ จะออกมาแล้ว Hospital OS จะต้อง เลิกใช้ไหม"

"Open Source จริงเหรอ ไม่เห็นประกาศ GPL เลย"

"สงสัยหมดทุนแล้ว ก็ขายหาเงินแน่"
ฯลฯ


ติดตาม Episode VI: Hospital OS ภายใต้ความสับสน
หมายเลขบันทึก: 115945เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2007 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ต้องขออภัยที่มา update ช้าครับ เพราะอาทิตย์ที่ผ่านมาเดินทางหมื่นลี้จริงๆครับ เพราะเดินทางไปจ. ตาก ได้ไปเยี่ยมรพ. บ้านตาก รพ. แม่ระมาด กับทีมสสจ. จังหวัดตาก นำทีมโดยพี่เจี๊ยบ

ได้มีโอกาสไปเยียมคลินิก ที่อ. แม่สอดที่ให้การรักษาชาวพม่า ที่ข้ามชายแดนมา

หลังจากนั้นผมต้องไปพม่า เมื่อย่างกุ้งในงานของรพ. เดินทางไปที่ต่างๆ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มี push mail นั่งรถหกล้อ(นั่งกะบะ) ขึ้นเขาสูงกว่า 1000 เมตร ไปไหว้พระธาตุ อินท์แขวน

การที่ได้หยุด และหลุดจากโลกเทคโนโลยี ทำให้ได้เห็นชีวิตในมุมมองใหม่ๆ

ผมชอบนั่งมองเด็กๆ บางครั้งก็แอบถ่ายรูปเขามา

เคยฟังเพลงนี้ไหมครับ

"เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม 

เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม"

คำถามเกิดในใจมากมาย แต่ยังไม่มีคำตอบในวันนี้ 

หมอก้อง 

 

ชื่อเพลง กล้วยไข่
ศิลปิน วงเฉลียง


เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม
เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม

กล้วยน้ำว้าเวลาสุกงอม ยิ่งกล้วยหอมกินแล้วชื่นใจ
ฉันชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก

กลัวยหักมุกเผาสุกกินดี กล้วยบวชชีไม่รู้อยู่ไหน
ฉันชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก

ลั๊นลันลา เด็กน้อยสารภี ลั๊นลันลา ไม่ยอมฟังครู
ลั๊นลันลา ครูถือไม้ตี ลั๊นลาลา สารภีตีตอบ
เอาปืนยิงแล้วโยนระเบิดซ้ำ ตีจนคะมำแล้วชวนมาใหม่

กลับมาบรรเลง ร้องเพลงกล้วยไข่
จับมือร่วมร้องเข้าไว้ ไม่มีกระดูก

แปลกใจจริงแขกชอบอะไร ลูกหยี เม็ดก๋วยจี๊ แตงไทย
แขกชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก

แปลกใจจริงฝรั่งชอบอะไร ฮอทดอก แซนวิทก็ไม่ใช่
ฝรั่งชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก

ลั๊นลันลา เด็กน้อยสารภี ลั๊นลันลา ไม่ยอมฟังครู
ลั๊นลันลา ครูถือไม้ตี ลั๊นลาลา สารภีตีตอบ
เอาปืนยิงแล้วโยนระเบิดซ้ำ ตีจนคะมำแล้วชวนมาใหม่

กลับมาบรรเลง ร้องเพลงกล้วยไข่
จับมือร่วมร้องเข้าไว้ ไม่มีกระดูก

เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม
เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม

"ต้นไม้สูงใหญ่...เกิดจากเพียงต้นกล้า

หอสูงเสียดเมฆ... เริ่มจากแค่กองดิน

เดินทางหมื่นลี้...ต้องเริ่มจากก้าวแรก

ความสำเร็จทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลา..."

 

ก่อนอื่นต้องขอบคุณ "หมอก้อง" และทีมงานทุกคนอย่างมากครับ ที่ทำให้ภาระกิจของศูนย์จักษุฯสำเร็จได้ตามเป้าหมายทันเวลา ทีมงานนี้ใจเต็มร้อยครับ ผมจำได้ว่าวันแรกที่นัดกัน ทีมงาน น้องผู้หญิงคนหนึ่งผ่านประตูหน้าเข้ามาไม่ได้ เพราะตามกฎระเบียบไม่อนุญาตให้ผู้หญิงนุ่งกางเกง(ต้องสวมกระโปรง)เข้ามาในสวนจิตรฯซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน เธอก็เลยไปซื้อกระโปรง ( รู้สึกจะหลงทางด้วย) แล้วเข้ามาใหม่ (ไม่รู้เบิกค่ากระโปรงจากกองทุนฯได้หรือเปล่า) จนผ่านมาสี่ห้าปีก็ยังช่วยเหลือแก้ปัญหาให้อย่างดี โดยเฉพาะพงศ์ธรที่ผมทำให้เขาปวดหัวบ่อยๆ

ตอนนั้นน้องๆมาช่วยกันรุมทำงานกันอยู่หลายวัน ตั้งแต่เช้ายันดึก จนได้ระบบ HIS ภาษาไทยที่ใช้งานได้อย่างครบถ้วน เกินกว่าที่คิดไว้ด้วยซ้ำ (เพราะที่นี่เป็นคลีนิกตรวจพิเศษ มีห้องตรวจ 4 ห้อง ห้องผ่าตัด 2 ห้อง ไม่มีผู้ป่วยใน จึงใช้คอมพิวเตอร์เพียง 11 จุด) ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะเป็น"ผู้ใช้"คนที่สองถัดจาก รพ.ทุ่งหัวช้าง และต้องเรียกว่าเกือบห้าปีที่ผานมา Hospital OS เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยโรคตาของศูนย์จักษุฯราบรื่นตามวัตถุประสงค์ เป็นเครื่องมือเชื่อมการทำงานของเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล และเครื่องมือตรวจตาเข้าด้วยกัน ทำให้การรักษาคนไข้คนหนึ่งๆที่มีประสิทธิภาพมาก (จนแพทย์เหนื่อย! เพราะ Flow ของคนไข้คล่องจนรับคนไข้เข้ามาตรวจมาก)

ย้อนไปเมื่อปลายปี 2545 ภาระกิจนี้เกือบไม่สำเร็จ เพราะพยายามเสาะหาทั้งของนอกของไทย ก็ยังไม่สามารถหาโปรแกรมที่เหมาะสมได้ แต่แล้วฟ้าก็ปราณี เมื่อผมบังเอิญสดุดตากับหัวข้อที่หมอก้องเกียรติจะขึ้นไปพูดในงานสัมมนาเรื่องอะไรก็จำไม่ได้แล้วในโบรชัวของงานนั้นที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (เป็นจุดนัดพบที่พอเหมาะพอดีมากสำหรับศุนย์จักษุรักษาสวนจิตรลดา) แต่ก็เกิดเหตุขลุกขลักที่ทำให้ผมไปที่งานไม่ทันจนได้ หมอก็กลับไปแล้ว ปฏิบัติการสืบหาว่าใครคือ นพ.ก้องเกียรติจึงได้เริ่มขึ้น จนกระทั่งได้มาร่วมกันสร้างระบบบันทึกข้อมูลการตรวจเฉพาะโรคตาที่เป็นภาษาไทยขึ้น (ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรก แต่ถ้ามีใครเคยทำไว้แล้วก็ต้องขออภัยครับ) แล้วก็เป็นกัลยาณมิตรกันมาจนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันสร้างผลงานที่มีประโยชน์กับประเทศชาติแบบนี้ขึ้นมาครับ

 

แล้วถ้าจะใช้ต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างค่ะอยากได้รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งาน  ต้องซื้อรึเปล่า   และทำอะไรได้บ้างค่ะ  รู้สึกน่าสนใจมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท