ครูสุจิรา
นาง สุจิรา ครูนาฏศิลป์ ขวัญเมือง

รูปแบบการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง


รูปแบบการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
รูปแบบการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  :  โมเดลซิปปา  (CIPPA  Model)  หรือรูปแบบการประสานห้าแนวคิด  โดย  ทิศนา    แขมมณี                              ก.  ทฤษฎี / หลักการ / แนวคิดของรูปแบบ             ทิศนา    แขมมณี  (2543 :  17)  รองศาสตราจารย์  ประจำคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้พัฒนารูปแบบนี้ขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้ใช้แนวคิดทางการศึกษาต่าง ๆ ในการสอนมาเป็นเวลาประมาณ  30  ปี และพบว่าแนวคิดจำนวนหนึ่งสามารถใช้ได้ผลดีตลอดมา  ผู้เขียนจึงได้นำแนวคิดเหล่านั้นมาประสานกัน  ทำให้เกิดเป็นแบบแผนขึ้น  แนวคิดดังกล่าวได้แก่  (1)  แนวคิดการสร้างความรู้ (2)  แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มและการเรียนรู้แบบร่วมมือ (3)  แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้  (4)  แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ และ  (5)  แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้             ทิศนา   แขมมณี  (2543 :  17 20 )  ได้ใช้แนวคิดเหล่านี้ในการจัดการเรียนการสอนโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะที่ให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง  (construction  of  knowledge ) ซึ่งนอกจากผู้เรียนจะต้องเรียนด้วยตนเองและพึ่งตนเองแล้ว  ยังต้องพึ่งการปฏิสัมพันธ์ (interaction)  กับเพื่อน บุคคลอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย  รวมทั้งต้องอาศัยทักษะกระบวนการ (process  skills)   ต่าง ๆ จำนวนมากเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้  นอกจากนั้นการเรียนรู้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องได้ดี  หากผู้เรียนอยู่ในสภาพที่มีความพร้อมในการรับรู้  และเรียนรู้  มีประสาทการรับรู้ที่ตื่นตัว  ไม่เฉื่อยชา  ซึ่งสิ่งที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนอยู่ในสภาพดังกล่าวได้ก็คือ  การให้มีการเคลื่อนไหวทางกาย ( physical  participation)  อย่างเหมาะสม  กิจกรรมที่มีลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี  เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตนเอง  และความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้น  จะมีความลึกซึ้งและอยู่คงทนมากขึ้น  มากผู้เรียนมีโอกาสนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ (application)  ในสถานการณ์ที่หลากหลาย  ด้วยแนวคิดดังกล่าว  จึงเกิดแบบแผน  “CIPPA”  ขึ้น  ซึ่งผู้สอนสามารถนำแนวคิดทั้ง  5  ดังกล่าวไปใช้เป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้มีคุณภาพได้ ข.     วัตถุประสงค์ของรูปแบบ             รูปแบบนี้มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องที่เรียนอย่างแท้จริง  โดยการให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยความร่วมมือจากกลุ่ม  นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ จำนวนมาก  อาทิ  กระบวนการคิด  กระบวนการกลุ่ม  กระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  และกระบวนการแสวงหาความรู้  เป็นต้น  ค.     กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ             ซิปปา (CIPPA)  เป็นหลักการซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน  การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลัก “CIPPA”   นี้สามารถใช้วิธีการและกระบวนการที่หลากหลาย  ซึ่งอาจจัดเป็นแบบแผนได้หลายรูปแบบรูปแบบหนึ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้และได้มีการนำไปทดลองใช้แล้วได้ผลดี  ประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินการ  7  ขั้นตอนดังนี้            ขั้นที่  1  การทบทวนความรู้เดิม            ขั้นนี้เป็นการดึงความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องที่จะเรียน  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน  ซึ่งผู้สอนอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย             ขั้นที่  2  การแสวงหาความรู้ใหม่             ขั้นนี้เป็นการแสวงหาข้อมูลความรู้ใหม่ของผู้เรียนจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ ซึ่งครูอาจจัดเตรียมมาให้ผู้เรียนหรือคำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาก็ได้             ขั้นที่  3  การศึกษาความเข้าใจข้อมูลใหม่ / ความรู้ใหม่  และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม              ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูล / ความรู้ที่หามาได้  ผู้เรียนจะต้องสร้างความหมายของข้อมูล / ประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ ด้วยตนเอง  เช่น  ใช้กระบวนการคิด   และกระบวนการกลุ่มในการอภิปรายและสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิม             ขั้นที่  4  การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม             ขั้นนี้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตน  รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจของตนแก้ผู้อื่น  และได้รับประโยชน์จากความรู้  ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน             ขั้นที่  5  การสรุปและจัดระเบียบความรู้             ขั้นนี้เป็นขั้นของการสรุปที่ได้รับทั้งหมด  ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่  และจัดสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบเพื่อช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย             ขั้นที่  6  การปฏิบัติ  และ / หรือการแสดงผลงาน             หาก้อความรู้ที่ได้เรียนรู้มาไม่มีการปฏิบัติ  ขั้นนี้จะเป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนให้ผู้อื่นรับรู้  เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ตอกย้ำหรือตรวจสอบความเข้าใจของตนและช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์แต่หากต้องมีการปฏิบัติตามข้อความรู้ที่ได้  ขั้นนี้จะเป็นขั้นปฏิบัติ  และมีการแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วย            ขั้นที่  7  การประยุกต์ใช้ความรู้              ขั้นนี้เป็นขั้นของการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความชำนาญ  ความเข้าใจ  ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำในเรื่องนั้น ๆ             หลังจากการประยุกต์ใช้ความรู้  อาจมีการนำเสนอผลงานจากการประยุกต์อีกครั้งก็ได้  หรืออาจไม่มีการนำเสนอผลงานในขั้นที่  6  แต่นำมารวมแสดงในตอนท้ายหลังขั้นการประยุกต์ใช้ก็ได้เช่นกัน             ขั้นตอนตั้งแต่ ขั้นที่  1 6  เป็นกระบวนการของการสร้างความรู้ (construction of  knowledge)  ซึ่งครูสามารถจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน (interaction)  และฝึกฝนทักษะกระบวนการต่าง ๆ (process  learning )  อย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากขั้นตอนแต่ละขั้นตอนช่วยให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมหลากหลายที่มีลักษณะให้ผู้เรียนได้มีการเคลื่อนไหวทางกาย  ทางสติปัญญา  ทางอารมณ์  และทางสังคม  อย่างเหมาะสมอันช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัว (active) สามารถรับรู้และเรียนรู้ได้อย่างดี  จึงกล่าวได้ว่าขั้นตอนทั้ง  6  มีคุณสมบัติตามหลักการ  CIPP ส่วนขั้นตอนที่ 7 เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ (application) จึงทำให้รูปแบบนี้มีคุณสมบัติครบตามหลัก  CIPPA             
หมายเลขบันทึก: 119092เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2007 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท