อีกมุมมองหนึ่งของวิกฤตค่าเงิน....จากเพื่อนอาจารย์


         วันนี้ได้อ่านบทความของเพื่อนอาจารย์ชื่อ อ.สิขรินทร์ คงสง ซึ่งลงในหนังสือพิมพ์มติชน  เกี่ยวกับวิกฤตค่าเงินบาท เป็นมุมมองที่น่าสนใจ จึงขอทะยอยลงแบบไม่ตัดทอนใดๆทั้งสิ้นดังนี้ค่ะ

          ภายใต้สถานการณ์ เงินบาทอ่อนค่า ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงทั้งขึ้นทั้งล่อง เพียงแต่ฝ่ายไหน (ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก) จะเป็นผู้ประสบปัญหาเพราะพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากเกินไป    (ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด) ทำให้ไม่สามารถยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ 

 

 พอเกิดปัญหาจาก

1.             ความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก  เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ที่ประเทศไทยถือครองอยู่  เพื่อเป็นทุนสำรอง หรือใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

 

2.             การเคลื่อนย้ายเงินทุน (ไหลเข้าหรือไหลออก) ทั้งโดยทางตรงหรือการเก็งกำไร

     

        3.             การโจมตีค่าเงิน 

 

       ต้องออกอาการทุรนทุราย เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจไทย  อ่อนไหวง่ายหรือยังไร้เสถียรภาพ

 

         ดังนั้น จึงมีคำถามตามมาว่าจะมีวิธีการใดจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ยิ่งผัดวันประกันพรุ่ง  ยิ่งไล่ตามคู่แข่งไม่ทัน  แถมยังโดนคู่แข่งที่ตามมาทีหลังแซงขึ้นหน้า

           

          สมควรแก่กาลเวลาแล้วหรือยัง กับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจแบบไม้หลักปักขี้เลน ที่ยังอยู่ยงคงกระพันมาจนถึงทุกวันนี้  ได้แก่... 

1. พึ่งพาการส่งออก (หากินอยู่แต่ตลาดล่างที่มีการแข่งขันสูง) นับเป็นจุดเปราะบาง และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง   โดยเฉพาะภาคเกษตรที่มุ่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ  ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง  แทบจะไม่ใช่ธุรกิจของคนไทย

2. พึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุน  รวมทั้งวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อนำไปผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออก (ผลิตมากเท่าไหร่ ก็นำเข้าสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว)  

3.การสร้างมูลค่าเพิ่มในขั้นตอนสุดท้ายซึ่งได้กำไรเพียงแค่หยิบมือ  จากการส่งออกเป็นสินค้าสำเร็จรูป

  

4. รับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ชื่อดังของโลก

 

5. การประกาศเชิญชวนประเทศที่เจริญแล้ว(นักลงทุน) เข้ามาลงทุนในประเทศ(ทั้งการตั้งฐานการผลิต และการเคลื่อนย้ายเงินทุน)

        

       บทความนี้จะค่อยๆทะยอยลงค่ะ 

อ้างอิงจาก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 ส.ค. 50  ปีที่ 30 ฉบับที่ 10755

 
หมายเลขบันทึก: 121373เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2007 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • หนทางแห่งความอยู่รอด (ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับอารยประเทศ) มีเพียงสถานเดียว คือการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นแบบฉบับของตน ประกอบด้วย

  •   1. คลังแห่งภูมิปัญญา  (ตำราเรียน   งานวิจัยขั้นพื้นฐานและประยุกต์ ใช้สำหรับต่อยอด  ที่ก่อให้เกิดพัฒนาการแปลกแหวกแนว) 
  •  2. ข้อมูล(ย้อนหลัง ทันต่อเหตุการณ์ และแนวโน้มของตลาดในอนาคต)  ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเปิดกิจการใหม่หรือขยายกิจการ  เพื่อให้แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเนหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร 

     

  • 3.  เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ 

     

  • ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวมา จะใช้เป็นรากฐาน(เสาเข็มค้ำจุน โครงสร้าง) ในการพัฒนา 

     

  • รัฐบาลจะต้องเป็นทั้งผู้ริเริ่ม และผู้ผลักดัน (ทุ่มเทงบประมาณอย่างคงเส้นคงวา) ให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าทุน(ผลงานร่วมกันของภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย)  ที่สามารถนำวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปภายในประเทศ(ทั้งที่มีอยู่แล้ว หรือสร้างขึ้นมา)  ซึ่งมีราคาถูกกว่านำเข้า  มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันตามกำหนดเวลา  ผนวกเข้ากับการสร้างแบรนด์(เพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า) และสร้างบรรษัทข้ามชาติ   ( ทำเลที่ตั้งควรอยู่ในจุดยุทธศาสตร์และแหล่งวัตถุดิบ) ให้มีชื่อเสียงในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนก่อน  แล้วค่อยๆ ขยายตลาดออกไปสู่ระดับโลก 
  •  (ถ้ามีความพร้อมในทุกด้านก็ก้าวข้ามได้เลย) 
  • เจตนารมณ์ข้างต้นจะสำเร็จตั้งปณิธานที่วางไว้  ต้องรู้จักการทำงานเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความเฉลียวฉลาด  รู้เท่าทันปัญหาเตรียมความพร้อมทั้งแผนการรุกและตั้งรับ  หรือพลิกแพลงได้ตามสถานการณ์  เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน   โดยให้ภาคอุตสาหกรรม(ยึดหลักการพึ่งตนเอง) ขึ้นมามีบทบาทแทนที่ภาคเกษตร(ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่สร้างงานใหม่ให้แก่เกษตรกร)  ที่มีบริษัทลูกหลายๆ บริษัท เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆป้อนบริษัทแม่  การประกอบธุรกิจแบบครบวงจรนี้จะสร้างผลกำไรให้กับกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในสายงาน(เครือข่าย) เดียวกันอย่างถ้วนหน้า

  •  

  • พร้อมกับการถือกำเนิดภาคบริการ  จากการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมขั้นสูง ก่อให้เกิดอาชีพและการจ้างงานใหม่ในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ(ใช้เทคโนโลยีทันสมัย)  อีกมากมาย  เช่น  ผู้ประกอบการ  พนักงานประจำโรงงานและบริษัทตัวแทนจำหน่าย  ธุรกิจ  การเงิน  การประกันภัย การสื่อสาร  และการขนส่ง ฯลฯ   ซึ่งค่าจ้างแรงงานใน 2  ภาคนี้ (จ้างงานตลอดทั้งปี)  สูงกว่าภาคเกษตร (มีการว่างงานตามฤดูกาล) 

  • นั่นหมายถึง  การสูงขึ้นของรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวอย่างแท้จริง( ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน) 

  • และนี่คือ  การยกระดับฐานะจากประเทศกำลังพัฒนาประเทศกำลังพัฒนา(ประเทศเกษตรกรรม) มาเป็นประเทศที่เจริญแล้ว (ประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ)  แต่ต้องไม่ละทิ้งภาคเกษตร 
  • เหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น  นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าประเทศไทยมีประสบการณ์ในเรื่องวิกฤตค่าเงินน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่เจริญแล้ว  ผลลัพธ์ที่ตามมา  ก็คือพอเงินบาทอ่อนค่าก็ร้องจ๊าก  เต้นผางขึ้นมาทันที  เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องขึ้นราคาสินค้า  ทั้งภายในประเทศ(เกิดภาวะเงินเฟ้อ) และส่งออก 

     

  • ในทางตรงกันข้ามพอเงินบาทแข็งค่าก็ร้องโอ๊ย  สะดุ้งโหยงขึ้นมาทันใด    เพราะทำใหสินค้าไทย(ราคาแพงขึ้น)  แข่งขันในตลาดโลกได้ยากลำบากกว่าเดิม 

     

  • ซึ่งปัญหาทั้ง 2 ประเด็นนี้เป็นแค่น้ำจิ้มสำหรับช่วยเสริมรสชาติเท่านั้น   แต่ความเอร็ดอร่อยอย่างแท้จริง  อยู่ที่ฝีมือในการประกอบอาหาร  ซึ่งเรื่องทั้งหมดเกิดจากประเทศคู่แข่งกำลังไล่ถล่มตลาดล่างด้วยสินค้าราคาถูก 
  •  ถ้าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจริง  ปัญหาวิกฤตค่าเงิน(หรือปัญหาอื่นๆ) เป็นแค่เรื่องกระจิบกระจอก  อย่างดีที่สุดก็ทำอันตรายได้แค่แผลถลอกไม่ใช่บาดลึกถึงขั้วหัวใจขนาดนี้

 อาจารย์ลูกหว้าค่ะ

  พอดีไปเจอบล็อก ความคิด ธุรกิจ กับชีวิตรอบตัว  ของคุณวชิระชัย คูนำวัฒนา ซึ่งท่านเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ ก็เลยอยากมาแนะนำให้อาจารย์ลูกหว้าลองเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูคะ

   บันทึกล่าสุดในบล็อก เศรษฐศาสตร์และการเงินข้างเสา – ตอนที่ 3 ตุ่มก้นรั่ว

   ลองอ่านดูนะคะ

P
สวัสดีค่ะ อาจารย์
ประเทศเราคงไม่กระทบมากนักค่ะ แต่คงตกใจกันหน่อย
ถ้า พวกเรา มีชีวิตเรียบง่ายหน่อย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็อยู่ได้ค่ะ
อย่ากู้อะไร โดยไม่จำเป็น อย่าสุรุ่ยสุร่าย
เรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ คงต้องค่อยเป็นค่อยไปค่ะ เพราะเป็นเรื่องใช้เงินมากค่ะ แต่ตอนนี้ ก็ดีขึ้นบ้างแล้ว
  • P ขอบคุณค่ะ  น้องสาวคนสวย...
  • พอดีพี่ไปมาก่อนแล้วค่ะ  ถูกใจมากเลย..
  • แบบว่านานๆจะมีบันทึกแนวนี้บ้าง
  • นำเข้าแพลนเน็ตเรียบร้อยแล้วค่ะ
  •  พี่ sasinanda คะ
  • เรื่องนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงค่ะพี่
  • โครงสร้างเศรษฐกิจของเรากำลังมีปัญหาค่ะ
  • ตอนนี้เราต้องหันมาพึ่งพาตนเองให้มากขึ้นค่ะ
  • การที่ประชาชนชาวไทยน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ก็เป็นการช่วยประเทศไทยอย่างหนึ่งค่ะ
  • คุยกับคุณพ่อ ท่านก็ถามว่า แล้วทำไมประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวถึงไม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนไทยหล่ะ???
  • ก็เพราะประเทศไทยเปิดประเทศมากเกินไป  ประชาชนใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย  พึ่งพาต่างประเทศมาก  ส่วนประเทศลาวมีการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกว่าเรา  ไม่พึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป....จริงมั้ยคะพี่

ฝากไว้ให้คิดครับ

คิดอย่างคนจน "วันนี้เราจะหาอะไรกิน"

คิดอย่างเศรษฐี  "วันนี้เราจะกินอะไรดี"

พวกเราล่ะคิดอย่างไหน รู้จักคิด รู้จักสร้าง รู้จักทำ ไม่กระเหย่งก้าวกระโดด แต่เลือกที่จะเดินแบบธรรมดา เราจะอยู่ได้และไปเป็น อย่างไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทุกท่านคิดอย่างไรครับ ส่วนผมคิดอย่างนี้

  • P  คุณ chainung
  • ที่ผ่านมาคนไทยเราเริ่มทำธุรกิจแบบก้าวกระโดด
  • รับอารยธรรมจากตะวันตกมามาก
  • เริ่มใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย
  • พึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป  แล้วเป็นอย่างไรพอต่างประเทศประสบปัญหาก็ลามมาถึงประเทศไทยอย่างรวดเร็ว
  • ถ้าเรารู้จักพึ่งตนเอง  ค่อยเป็นค่อยไป  สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเรา  น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ  ไม่ใช่เพียงแค่ตามกระแสนะคะ   ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบเราก็คงไม่เดือดร้อนอย่างนี้หรอกค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท