ฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศ - OPAC [Online Public Access Catalog]


OPAC....เป็นอีกทางเลือกที่คุณจำเป็นต้องใช้ในการค้นหาทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย

          ปัจจุบันนี้สถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรรูปแบบใหม่ของห้องสมุดที่มีความทันสมัย และสะดวกในการเข้าถึง สามารถเข้าใช้ได้โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา

          ทรัพยากรที่กล่าวถึงในที่นี้ คือ ทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทยและวิทยานิพนธ์ต่างประเทศออนไลน์ ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ และฐานข้อมูลสำเร็จรูปต่างๆ ที่ห้องสมุดได้เข้ามามีบทความและให้ความสำคัญในการจัดหาทรัพยากรเหล่านี้เข้าห้องสมุด สำหรับให้บริการและอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้
         
          แหล่งสารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ในปัจจุบันมีทั้งที่เป็นฐานข้อมูลชี้แหล่งให้ข้อมูลรายการบรรณานุกรม ฐานข้อมูลที่ให้เฉพาะบทคัดย่อ และฐานข้อมูลที่ให้เอกสารฉบับเต็ม ดังนั้น ผู้ใช้จำเป็นต้องเลือกใช้ฐานต่างๆ เหล่านี้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองด้วย แหล่งสารสนเทศแรกที่จะแนะนำในวันนี้ คือ
          1. เครื่องมือค้นหาที่เรียกว่า OPAC หรือ Web OPAC (Online Public Access Catalog-OPAC) เป็นฐานข้อมูลที่ให้รายการบรรณานุกรม ซึ่งหน่วยงาน สถาบันหรือแหล่งบริการสารสนเทศต่างๆ ได้จัดให้บริการ เพื่อเป็นเครื่องช่วยค้นหาและชี้แหล่งทรัพยากรให้กับผู้ใช้ ในการค้นหาหนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บทความวารสาร โสตทัศนวัสดุ ฯลฯ ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว และค้นหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้ระบบออนไลน์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
           ซึ่งเมื่อค้นและได้รายการสิ่งพิมพ์ที่ต้องการแล้ว ก็สามารถไปหยิบตัวเล่มได้ที่ห้องสมุดหรือแหล่งบริการที่สิ่งพิมพ์ฉบับนั้นจัดเก็บอยู่
           ส่วนการค้นหานั้น ไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อน สามารถทำได้อย่างง่ายๆ เช่น ค้นหาจากชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง หัวเรื่อง คำสำคัญ หรือเลขเรียกหนังสือ ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการค้นหาด้วยบัตรรายการ เพียงแต่ในปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น [ดูวิธีการค้นหา]   [เริ่มการค้นหา OPAC ที่ http://kkulib.kku.ac.th]

           ขัอจำกัดของ OPAC
     
       1.  OPAC ให้ข้อมูลเฉพาะรายการบรรณานุกรมเท่านั้น ไม่ได้ให้เอกสารฉบับเต็ม
            2.  สามารถค้นหาได้ตลอด 24 ชั่วโมงจริง แต่การใช้งานก็ต้องเสียเวลาเข้าห้องสมุด เพื่อไปหยิบตัวเล่ม เพื่ออ่าน ยืมออกหรือถ่ายเอกสาร
            3.  การใช้ทรัพยากรยังขึ้นอยู่กับเวลาเปิดให้บริการของห้องสมุด 
            4.  การแสดงผลข้อมูลให้เพียงรายการบรรณานุกรม แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดของหน้าสารบัญ ทำให้ผู้ใช้ไม่ทราบรายละเอียดอย่างย่อของสิ่งพิมพ์ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้างและตรงกับที่ต้องการหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาหยิบตัวเล่ม จะได้ไม่เสียเวลา
            5. การค้นหาข้อมูลจากหัวเรื่อง หรือคำค้น (Keyword) นั้น เป็นการค้นหาจากคำที่กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้แทนเนื้อหาของสิ่งพิมพ์อย่างกว้างๆ หรือคำค้นที่ใช้นั้นครอบคลุมการค้นหาคำ ภายในเขตข้อมูลชื่อเรื่อง ซึ่งนับว่าไม่ครอบคลุมเท่าใดนัก แต่หากมีหน้าสารบัญและสามารถค้นหาข้อมูลได้จากหน้าสารบัญจะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
            6. OPAC เป็นฐานข้อมูลที่ครอบคลุมการค้นหาเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่มีในแต่ละสถาบันเท่านั้น ไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลของห้องสมุด หรือสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกัน เช่น ฐานข้อมูล OPAC ของมข. สามารถค้นหารายการทรัพยากรที่มีในห้องสมุดของมข. เท่านั้น
             แต่อย่างไรก็ตาม หากท่านต้องการค้นหาข้อมูลจาก OPAC ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ภายในประเทศพร้อมกัน ท่านสามารถใช้ฐานข้อมูลที่เรียกว่า Thailand Union Catalog ได้ ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป 
            7. เมื่อหนังสือถูกหยิบออกจากชั้นไปใช้งานภายในห้องสมุด แต่ไม่ได้ถูกยืมออก ในฐานข้อมูลของ OPAC สถานภาพจะแจ้งว่า หนังสือฉบับนั้นยังอยู่ที่ชั้น ทำให้ผู้ใช้สับสนและหาหนังสือไม่พบ ซึ่งหากหนังสือฉบับนั้นมีอยู่เล่มเดียว ก็ทำให้เสียเวลาเดินทางมาห้องสมุด และท้ายที่สุดก็ไม่ได้หนังสือกลับออกไป เพราะหนังสือไม่ได้อยู่ที่ชั้น


           อย่างไรก็ตามถ้าท่านอยู่ในแวดวงของบรรณารักษ์ ก็จะพบว่าปัจจุบันนี้ห้องสมุดต่างๆ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ และได้พยายามคิด พัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง
          ห้องสมุดหลายแห่งเริ่มปรับเปลี่ยนหน้า OPAC ให้ดูทันสมัย มีหน้าปกแสดงให้เห็น และเริ่มมีการทำหน้าสารบัญบ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมสิ่งพิมพ์ทั้งหมดในห้องสมุด ตลอดจนได้ทำลิงค์เอกสารฉบับเต็มของสิ่งพิมพ์ที่ผลิตโดยบุคลากร นักศึกษาในสถาบันตนเองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น บทความวารสาร งานวิจัย วิทยานิพนธ์และการศึกษาอิสระ เป็นต้น
          อนึ่ง การปรับปรุงหรือพัฒนางานบางส่วนอาจมีความล่าช้า เพราะต้องให้บริษัทผู้ผลิตช่วยพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลร่วมกันกับห้องสมุด ทั้งนี้เนื่องจากโปรแกรมดังกล่าว ห้องสมุดไม่ได้พัฒนาขึ้นมาใช้เอง 
          อย่างไรก็ตาม OPAC ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ห้องสมุดได้จัดให้บริการ แม้ไม่สมบูรณ์แบบ และตรงใจผู้ใช้นักก็ตามที แต่โดยสภาพปัจจุบันไม่ว่าฐานข้อมูลใดก็มีปัญหาเหมือนหรือแตกต่างกันไป และถึงแม้จะเปลี่ยนหนังสือให้อยู่ในรูปของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเล่าให้ท่านฟังต่อไป

          การให้บริการ OPAC ของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
          สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับให้ผู้มาใช้บริการ ใช้ค้นหาทรัพยากรของห้องสมุด โดยได้จัดเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับให้บริการ OPAC ประจำอยู่ตามห้องและชั้นต่างๆ ภายในห้องสมุด
          นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการ ยังสามารถค้นหาทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุดผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือค้นภายนอกเครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ 
          ฐานข้อมูล OPAC นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหารายการทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดแล้ว ผู้ใช้บริการที่เป็นสมาชิกห้องสมุด ยังสามารถตรวจสอบรายการทรัพยากร, ยืมต่อผ่านระบบออนไลน์ และจองทรัพยากรห้องสมุดผ่าน Web OPAC ได้ด้วย
         

           แนะนำห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศที่ให้บริการ OPAC
          
ห้องสมุดและหน่วยงานที่ให้บริการสารสนเทศในประเทศไทยมีหลายแห่ง และหากท่านมีพื้นฐานความรู้การใช้ OPAC ของมข. แล้ว ท่านสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้หรือค้นหาข้อมูลของแหล่งสารสนเทศอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากหลักการใช้งานไม่แตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันที่หน้าตา สีสันและการออกแบบหน้าจอ เมนู  เท่านั้นเอง ลองเข้าไปค้นหา และศึกษาดูนะคะ

  URL

 ชื่อหน่วยงาน/สถาบัน

http://library.sut.ac.th/clrem/index.php ศูนย์บรรณสารและสื่อสารศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
http://www.mfu.ac.th/center/lib/ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
http://clm.wu.ac.th/ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
http://www.car.chula.ac.th/ สถาบันวิทยบริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://library.kku.ac.th สำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยขอนแก่น
http://202.28.32.124/AREC05/?127984419 สำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
http://www.lib.ubu.ac.th/ สำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
http://www.lib.ku.ac.th/ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
http://www.lib.cmu.ac.th/ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://library.tu.ac.th/newlib2/index.asp สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://www.lib.nu.ac.th/ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร
http://www.lib.buu.ac.th/webnew/index.html สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา
http://lib.payap.ac.th/ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยพายัพ
http://library.spu.ac.th/ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยศรีประทุม
http://www.lib.ru.ac.th/ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
http://www.library.mju.ac.th ห้องสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้
http://www.thapra.lib.su.ac.th/ สำนักหอสมุดกลาง วังท่าพระมหาวิทยาลัยศิลปากร
http://www.li.mahidol.ac.th/ หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยมหิดล
http://kaekae.pn.psu.ac.th/tanee/ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
http://www.clib.psu.ac.th/ หอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ยังมีอีกนะคะ ยังไม่หมดเท่านี้ โปรดติดตามต่อไปค่ะ

         
คำสำคัญ (Tags): #opac#online public access catalog
หมายเลขบันทึก: 122601เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท