ผู้ชนะ


การจัดการความขัดแย้ง

สอนคุณธรรมอย่างไรให้มีความพอเพียง

อันดับที่ 14/8 การจัดการความขัดแย้ง

วัตถุประสงค์ เพื่อรู้รัก และฝึกฝนจนเคยชิน

นิทานคติ ผู้ชนะ


ในเมืองใหญ่แห่งหนึ่งที่กำลังเติบโตจากการค้าและอุตสาหกรรม ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ที่นี่จากทุกสารทิศ เพื่อหางานทำตามบริษัท ห้างร้านและโรงงานต่างๆ บนถนนเต็มไปด้วยรถราแน่นขนัด หากแต่แม่น้ำสายเล็กๆ ที่ผ่านตัวเมืองทางด้านตะวันออกที่แต่ก่อนเป็นเส้นทางหลัก วันนี้กลับเงียบเหงา มีเพียงห้องแถวเก่าๆ เรียงรายอยู่ คนที่อาศัยอยู่เป็นคนจีนที่ค้าขายริมน้ำมาแต่เดิม บนถนนเส้นหลักของเมือง มีคฤหาสน์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เยื้องกับศาลากลางของจังหวัด เจ้าของบ้านเป็นเจ้าสัวใหญ่ มีกิจการหลายแห่งในเมืองนี้ เจ้าสัวมีลูกชายสามคน ซึ่งเจ้าสัวปลูกฝังให้เติบใหญ่ เพื่อจะได้สืบทอดกิจการของตระกูล

ลูกชายคนโต ชื่อ “จิน” ตอนนี้กำลังเรียนวิศวะ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แน่นอนว่ากิจการด้านก่อสร้างทั้งหมดต้องเป็นของลูกชายคนโตคนนี้ ลูกคนรอง ชื่อ “หยก” เพิ่งเข้าเรียนปีหนึ่งในสาขาบริหารธุรกิจ ในมหาวิทยาลัยมีชื่ออีกแห่งหนึ่ง ส่วนลูกคนเล็ก ชื่อ “ตี้” กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปีที่ 6 ลูกคนนี้ยังไม่ตัดสินใจที่จะเลือกเรียนสาขาใด เจ้าสัวจึงมักจะพาลูกชายคนนี้ไปดูกิจการต่างๆ บอกเล่าถึงอนาคตของกิจการต่างๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลทางเลือกแก่ลูกชายคนนี้

ตี้เติบโตมาอย่างสุขสบาย เจ้าสัวให้เงินใช้จ่ายอย่างเต็มที่ แต่ตี้กลับชอบทำตัวติดดิน ต่างกับจินและหยก ซึ่งถือตัวว่าเป็นลูกเจ้าสัว และคบแต่กับลูกคนรวยๆ ในจังหวัดเท่านั้น ตี้มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ “เอก” เอกเป็นลูกชายคนเดียวของร้านขายเครื่องมือตกปลาเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำนั่นเอง ทั้งสองเรียนห้องเดียวกันมาตั้งแต่มัธยมต้น เอกมักจะมาหาตี้ที่บ้านเพื่อทำรายงาน และมาเล่นเกมส์ตามประสาวัยรุ่น

จินกับหยกไม่ค่อยชอบหน้าเอก เพราะว่าเอกมาจากครอบครัวจีนเก่า แต่ว่าจนกว่า เจ้าสัวเป็นจีนใหม่ที่ร่ำรวย ดังนั้นจึงเขม่นอยู่ในที เอกชอบมาที่บ้านของตี้ ชอบที่จะดูของเก่าที่เก็บอยู่ในตู้โชว์ เอกศึกษาเรื่องของเก่ามามากเพราะว่าชอบเป็นนิสัย เจ้าสัวจึงชอบที่จะคุยกับเอก และมักจะเลยคุยไปถึงทำอย่างไรจึงได้ของเก่าชิ้นนั้นๆ มา และก็มักจะเกี่ยวข้องกับกิจการของเจ้าสัว บางครั้งเจ้าสัวก็จะสอนวิธีทำงาน ให้กับเอกด้วย เอกอยากรวยอย่างตี้ บ้านเอกเคยรวยมาก่อน แต่เอกเกิดมาตอนที่ๆ บ้านไม่รวยแล้ว ดังนั้นเอกจึงอยากที่จะรวย แต่เอกเคยแอบอิจฉาตี้ ที่อีกฝ่ายเกิดมาสบาย แต่ว่าเมื่อคบกันนานๆ ก็พบว่าตี้มีความเป็นธรรมชาติและไม่เห็นแก่ตัว ในทางกลับกัน ตี้กลับชอบไปบ้านของเอก ตี้ชอบคุยกับไท่ฝู ซึ่งเป็นปู่ของเอก

ไท่ฝูเคยเป็นเจ๊สัวใหญ่มาก่อน ทำกิจการค้าขายร่ำรวย ตึกแถวริมน้ำทั้งหมดก็เคยเป็นของไท่ฝู แต่เพราะว่าไท่ฝูใจกว้าง มองทุกคนในแง่ดี จึงถูกเพื่อนหลอก ทำให้ขาดทุนในการค้าหลายครั้ง จนต้องขายสมบัติไปมาก ไท่ฝูจึงเหลือแต่ห้องแถวห้องที่อาศัยอยู่นี้เท่านั้น ไท่ฝูมักสอนตี้ว่า “ความคิดระแวงคนไม่พึงมี ความคิดระวังคนเป็นสิ่งที่ควรมี” และยังสอนในศึกษาธรรมชาติ ความเป็นไปของสิ่งมีชีวิต สิ่งที่ตี้ชอบมากที่สุดก็คือการไปนั่งที่ระเบียงริมน้ำ มองสายน้ำไหลเอื่อยๆ นานๆ ครั้งจะมีเรือแล่นผ่านมา นกน้ำเกาะอยู่บนกอสวะที่ไหลตามน้ำ จากนั้นโผบินลงน้ำเพื่อจับปลามากิน แล้วก็บินกลับรังของมัน

เจ้าสัวไม่ชอบที่ตี้ไปยังบ้านของไท่ฝูนัก ดังนั้นจึงมักให้ตี้เดินทางเข้ากรุงเทพมาหาพี่ชายทั้งสอง และให้เงินเพื่อไปเดินตามย่านการค้าต่างๆ ซึ่งตี้ไม่ชอบนัก ตี้ไม่ชอบควันรถ ไม่ชอบรถติด ไม่ชอบคนเยอะๆ ตี้จึงมักหลบไปนั่งเล่นที่วัดจีนย่านเยาวราชแทนเสมอ ในชั้นเรียนเอกเป็นนักกิจกรรมตัวยง มีเพื่อนต่างห้องหลายคน ส่วนตี้กลับมีเพื่อนไม่มาก ตี้มีโลกส่วนตัวอยู่ในหนังสือที่เขาอ่าน แต่ก็จะละจากหนังสือเมื่อเอกมาชวนไปทำกิจกรรมต่างๆ บ้างเช่นกัน

ช่วงเทอมปลาย ซึ่งต้องเลือกที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เอกกับตี้ปรึกษากันว่าจะเลือกเรียนอะไรดี เอกเสนอว่า “บ้านนายทำธุรกิจ นายเรียนธุรกิจไม่ดีหรือ จะได้ทำกิจการของที่บ้านนายไง” ตี้ได้ฟังก็ส่ายหน้าช้าๆ แล้วก็พูดว่า “นายจะว่าอย่างนั้นก็ไม่ถูก บ้านเราทำธุรกิจ ก็ไม่ใช่ว่าเราต้องทำธุรกิจ นายก็รู้ว่าเราไม่ชอบ อีกอย่างพี่จินกับพี่หยกก็คงดูแลกิจการที่บ้านได้ เราขี้เกียจไปแย่งกับเขา” เอกมองตี่แล้วก็ปลง หากแต่ก็ยังบอกตี้ว่า “รักในสิ่งที่ทำ กับทำในสิ่งที่รัก มันยากพอๆ กันนะ นายต้องเลือกให้ดีๆ ละ” เจ้าสัวฝากเอกให้ช่วยเกลี้ยกล่อมตี้ให้เลือกเรียนธุรกิจ เพราะว่าจะได้รับสืบทอดกิจการได้ แต่เจ้าสัวก็รู้ดีว่าตี้ไม่ชอบธุรกิจเลย เจ้าสัวไม่อยากให้ตี้ไปเรียนวิชาที่ไม่มีประโยชน์กับตระกูลนั่นเอง


ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยออกมา เอกได้เรียนบริหารธุรกิจคณะเดียวกันกับหยกนั่นเอง ส่วนตี้กลับเลือกเรียนมัณฑนศิลป์ ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง เจ้าสัวโกรธตี้มาก ถึงกลับไม่พูดกับตี้เป็นเดือนทีเดียว แต่ตี้ก็ยังคงยึดมั่นที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตนชอบ

ตี้รู้ว่าเจ้าสัวหวังในตัวเขามาก และรู้ว่าเจ้าสัวอยากให้เขาทำอะไร แต่สำหรับตัวตี้เอง การทำตามที่เจ้าสัวต้องการ ก็จะทำให้เขาสูญเสียตัวตนของตนเองไป ดังนั้นตี้ยอมที่จะให้เจ้าสัวโกรธ เพื่อเลือกตอบโจทย์ในใจของตนเอง ตี้หวังว่าสักวันเจ้าสัวก็จะเข้าใจในตัวเขา เวลาจะเป็นเครื่องบรรเทาความขัดแย้งในครั้งนี้ได้

ผ่านไปห้าปี เอกยังคงคบกับตี้อย่างต่อเนื่อง แต่ว่าตอนนี้เอกสนิทกับหยกมากเพราะว่าเรียนคณะเดียวกัน เมื่อจบแล้วก็มาทำงานที่บริษัทของเจ้าสัวในตำแหน่งผู้จัดการบริษัท เอกขวนขวายเรียนรู้ ขยัน ทำงานเก่ง เจ้าสัวจึงให้ความไว้วางใจเอกเหมือนกับลูกคนหนึ่ง เอกได้รับการยอมรับจากแวดวงธุรกิจ ออกงานสังคมเป็นประจำ ไปไหนมาได้มีผู้คนเคารพนบไหว้ ลูกน้องทุกคนล้วนนับถือและฟังเขา ยิ่งนานวันเอกยิ่งทำงานหนักขึ้นๆ

ส่วนตี้ก็เลือกทำในสิ่งที่เขาชอบ ใช้เงินซื้อตึกแถวริมน้ำแถบหนึ่ง แล้วตกแต่งใหม่ เปิดเป็นร้านขายภาพวาด ของตกแต่งบ้านและสวน ลูกค้าชอบมานั่งที่ระเบียงริมน้ำ พูดคุยกับตี้ในเรื่องต่างๆ หรือไม่ก็นั่งฟังเพลงเบาๆ ที่ตี้มักจะเปิดในร้านเพื่อสร้างบรรยากาศ แต่ถ้าไม่เจอตี้ที่ร้าน ลูกค้าทุกคนจะรู้ว่าถ้าจะหาเจ้าของร้านก็ให้ไปที่ร้านขายอุปกรณ์ตกปลา ตี้ชอบอยู่ที่นั่น ตอนนี้ไท่ฝูชราลงมากแล้ว ตี้จึงมักไปคุยกับไท่ฝูทุกวัน แต่จะมาดูแลลูกค้าที่มาที่ร้านบ้างช่วงเย็น แล้วก็จะมากินข้าวเย็นกับไท่ฝู ในขณะที่เอกต้องทำงานล่วงเวลา มักจะกลับบ้านค่ำ พ่อของเอกเองยังไม่ค่อยจะได้เห็นหน้าเอกเลย

จินและหยกรับสืบทอดกิจการของเจ้าสัวแล้วพัฒนากิจการขยายใหญ่ขึ้นมาก เจ้าสัวจึงว่างงาน ผ่านมาหลายปี เจ้าสัวเริ่มปลงได้ เขามีลูกชายรับสืบทอดดิจการแล้ว แล้วเขาจะตั้งแง่กับตี้ไปทำไม ทุกสิ่งที่หวังก็เพราะว่าเขารักลูกมาก กลัวลูกลำบาก เมื่อลูกไม่ทำตาม เขาไม่พอใจ แต่ไม่ได้เกลียดลูก เขายังรักลูกเหมือนเดิม แต่จะทำเฉยก็ไม่ได้ ดังนั้นเจ้าสัวจึงเมินเฉยกับลูกชายคนเล็กหลายปี ตอนนี้เวลาเปลี่ยน อะไรก็เปลี่ยนไป ดังนั้นการไปนั่งเล่นที่ร้านของตี้กลับเป็นงานหลักของเจ้าสัวไป บรรยากาศริมน้ำทำให้เจ้าสัวนึกถึงวันเก่าๆ ของตนเอง วันที่ยังทำงานหนัก เก็บหอมรอมริบสร้างฐานะเช่นทุกวันนี้

เอกเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงปรึกษากับพ่อและไท่ฝูเพื่อขอซื้อบ้านหลังใหม่ เอกอยากให้พ่อและไท่ฝูไปอยู่บ้านใหม่ด้วยกัน บ้านหลังใหญ่ใกล้ตัวตลาดแห่งใหม่ของจังหวัด ไท่ฝูปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ที่นี่บ้านอั๊ว อั๊วอยู่มาแต่หนุ่มจนแก่ รวยก็อยู่ที่นี่ จนก็อยู่ที่นี่ ถ้าอั๊วจะตายก็ขอตายที่นี่”

ส่วนพ่อของเอกก็ให้เหตุผลว่า “พ่อไปอยู่บ้านเอก พ่อก็ไม่รู้จะทำอะไร อยู่นี่ขายของไปวันๆ ก็สนุกดี ได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงคนรู้จักกัน ไม่เบื่อดี” เอกไม่อาจเปลี่ยนใจพ่อกับไท่ฝูได้ แต่ก็ยังคงซื้อบ้านหลังใหม่และย้ายไปอยู่ในอีกไม่นาน

สองปีต่อมา เศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก ค่าเงินตก น้ำมันแพง กิจการค้าขายมากมายล้มละลาย กิจการของจินและหยกก็เซตามเศรษฐกิจ เพราะว่าได้กู้เงินจำนวนมากมาขยายกิจการ ทำให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้นมากมาย พี่ชายทั้งสองของตี้ รวมถึงเอกจึงต้องทำงานอย่างหนัก วิ่งเต้นหาเงินทั้งในระบบ นอกระบบเข้ามาช่วยในกิจการ บางวันยุ่งจนต้องนอนค้างที่ทำงานทีเดียว บางครั้งเขาขอพบคนที่เคยติดต่อกันเพื่อขอความช่วยเหลือ กลับได้รับการบอกปัดเหมือนไม่รู้จักกันมาก่อน เพื่อนฝูงหลายคนหายหน้าไป หลายคนก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขา

ยิ่งนานวันเศรษฐกิจยิ่งตกลงไปอีก จินและหยกจึงตัดสินใจขายกิจการบางส่วนออกไปในราคาถูก เพื่อรักษากิจการหลักของตระกูลไว้ อย่างไรก็ยังคงมีหนี้สินท่วมตัวอยู่ เอกเองหน้าดำคร่ำเครียดกับงาน จนกระทั่งล้มป่วย ต้องเข้าพักในโรงพยาบาลหลายวัน เมื่อหายดีจึงได้ไปพักฟื้นที่บ้านริมน้ำ ได้พูดคุยกับตี้ซึ่งเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้น้อยที่สุด ตี้ยังมีความสุขกับงาน

ตอนนี้เจ้าสัวเองก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ร้านของตี้ ได้พูดคุยกับลูกค้าทุกวัน ไม่น่าเบื่อสำหรับคนแก่ ตี้บอกกับเอกว่า “นายนะเหนื่อยนะ พักเสียก่อนแล้วค่อยเดินใหม่ จำได้ไหมครั้งหนึ่งนายบอกเราว่า รักในสิ่งที่ทำ กับทำในสิ่งที่รัก มันยากพอๆ กันนะ ตอนนั้นเราเลือกที่จะทำในสิ่งที่เราชอบ เพราะว่าถ้ามันเกิดอะไรขึ้น เราก็จะไม่เสียใจเพราะได้ทำมันแล้ว อีกอย่างนะเอก ไท่ฝูมักสอนเราว่า ความคิดระแวงคนไม่พึงมี ความคิดระวังคนเป็นสิ่งที่ควรมี เราไม่ได้เอามาใช้เพื่อให้ระแวงคน แต่เราใช้มันมองโลกใบนี้ เราไม่เคยระแวงโลก แต่เราคิดระวังโลก บ้านเราเมืองเราเจริญเร็วเกินไป สักวันก็ต้องล้ม เราระวังว่าจะเป็นอย่างวันนี้ ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะทำสิ่งที่ไม่ได้รับผลจากสถานการณ์นี้ และมันก็เป็นความสุขของเรา เราชอบมัน นายเองก็ชอบของเหล่านี้ นายชอบของเก่า แล้วทำไมตอนนี้นายอยู่กับแต่กระดาษ เงิน และก็งานละ ลองคิดนะ อะไรกันแน่ที่ทำให้นายมีความสุขจริงๆ ละ”

เอกได้ฟังแล้วก็นิ่งคิด ตอนนี้เอกกำลังคิดว่า “ระหว่างเขากับตี้ ใครพบความสุขที่แท้จริงในชีวิตกันแน่”


ช่วยกันขยายความ

1)ช่วยหาคติพจน์ สุภาษิตที่ส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักที่จะจัดการความขัดแย้งของตนเองได้

2)ให้ช่วยหาคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่ส่งเสริมการจัดการความขัดแย้ง

ในทั้งสองกรณี ให้มีอาสาสมัคร รวบรวมบันทึกไว้ เพื่อทำเอกสารแจก ให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกโดยลงวันที่ไว้ด้วย

ฝึกความประพฤติให้เป็นคุณธรรม

ฝึกให้รู้รอบ : เรื่องผู้ชนะ เหมาะสำหรับสอนเรื่องการจัดการความขัดแย้งในจิตใจ หรือไม่เพียงใด

ฝึกให้เข้มแข็ง : เราจะช่วยแนะนำคนอื่นอย่างไรให้ใช้คุณธรรมแห่งการจัดการความ ขัดแย้งในการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างไร

ฝึกให้พอเพียง : การจัดการความขัดแย้งในจิตใจอย่างไรจึงเรียกว่าพอเพียง

- การจัดการความขัดแย้งในจิตใจอย่างไรที่เรียกว่าเกินพอเพียง ?

- การจัดการความขัดแย้งในจิตใจอย่างไรที่เรียกว่าขาด ?

ฝึกให้ยุติธรรม : ยกตัวอย่างและเหตุผลของการจัดการความขัดแย้งที่ไม่ยุติธรรมในสังคม


กิจกรรมสันทนาการ

ให้อาสาสมัครออกมาล้อมเป็นวงกลม แล้วให้แต่ละคนผลัดกันเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เหตุการณ์ที่มีการถกเถียง หรือทะเลาะกัน และวิธีที่เขาใช้จัดการ หรือปฏิบัติออกไป รวมถึงผลที่ได้รับ จากนั้นให้คนอื่นเสนอทางเลือกในการจัดการกับความขัดแย้งนั้นๆ


เอกสารคุณธรรมและจริยธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2549-51 ปรับจากหนังสือ Discovering the real me, Universal Peace Federation Edition

โดย นายเอนก สุวรรณบัณฑิต

หมายเลขบันทึก: 128288เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2016 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำให้ค้นพบสิ่งที่เราทำแล้วเรามีความสุขแต่ผิดกับสิ่งที่เราไม่ชอบแล้วเราทำมันอาจทำให้เราเป็นทุกข์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท