สร้างเขื่อน แย่งน้ำ


ความร่วมมือร่วมใจ

สอนคุณธรรม อย่างไรให้มีความพอเพียง

อันดับที่ 15/8 คุณธรรมแห่งความร่วมมือร่วมใจ

วัตถุประสงค์ เพื่อรู้รัก และฝึกฝนจนเคยชิน

นิทานคติ สร้างเขื่อน แย่งน้ำ



เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งสงบสุข ร่มเย็นต่อเนื่องกันมากว่าร้อยปี เมืองน้อยนี้ได้น้ำสำหรับกิน ใช้ จากแม่น้ำสายเล็กๆ ที่ไหลมาจากภูเขาหลังเมือง ชาวนาชาวไร่ต่างดึงน้ำขึ้นมาใช้โดยระหัดวิดน้ำที่ทำกันเอง วันหนึ่งขุนนางหนุ่มผู้ที่ไปศึกษาจากอาณาจักรใหญ่ทางตอนใต้ เมื่อกลับมาพระราชาแต่งตั้งให้กินตำแหน่งขุนนางผู้ดูแลการเกษตร ขุนนางหนุ่มอยากก้าวหน้าในหน้าที่ จึงคิดตรองว่าควรเสนอนโยบายบริหารที่ดี หากพระราชาทำตาม ตนก็จะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งไปด้วย

ขุนนางหนุ่มเห็นว่าเมืองนี้เป็นเมืองเล็ก ประชากรน้อย ทำการเกษตรก็ได้แค่ปีละครั้ง ถ้ายังทำอย่างนี้ต่อไปจะเป็นเมืองใหญ่นั้นหาเป็นไปได้ไม่ เมื่อดำริได้ดังนี้ขุนนางผู้นี้ก็ไปปรึกษาหารือเรื่องนี้กับเพื่อนขุนนางซึ่งจบการศึกษาจากเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลาย เหล่าขุนนางหนุ่มต่างเห็นพ้องต้องกัน และร่วมกันคิดหาวิธีทำให้เมืองใหญ่ขึ้น ขุนนางหนุ่มมีความรู้ด้านการก่อสร้าง มองว่าถ้าสร้างเขื่อนเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี ก็สามารถทำการเกษตรได้ปีละหลายครั้ง ประชาชนจากเมืองอื่นๆ ก็จะโยกย้ายกันมา เมื่อมีคนมาก ก็จะปลูกข้าว ปลูกพืชผัก ได้มาก เมืองก็จะใหญ่และเจริญขึ้น ยิ่งหากสามารถส่งออกอาหารได้มากด้วยแล้วเมืองก็จะมั่งคั่งขึ้นไปอีก เมื่อคิดได้ร่วมกันก็ร่างนโยบายนำเสนอต่อพระราชา พระราชานำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมขุนนาง กลุ่มขุนนางอาวุโสล้วนคัดค้าน หากแต่เหล่าขุนนางหนุ่มช่วยกันพูดจาหว่านล้อม และว่าขุนนางอาวุโสล้วนจมอยู่กับอดีต คิดอ่านล่าช้า ไม่ทันสมัย ไม่อาจช่วยราชกิจได้ พระราชาคล้อยตาม เหล่าขุนนางอาวุโสเห็นว่าเมื่อค้านไม่ได้ก็นิ่งเฉยกันไป เหล่าขุนนางหนุ่มจึงเอาเรื่องนี้คอยเยาะเย้ยถากถางเหล่าขุนนางอาวุโสอีกหลายครั้ง

เมื่อได้เริ่มการสร้างเขื่อน เหล่าขุนนางหนุ่มก็บอกประกาศไปถึงชาวเมืองให้เห็นว่าเขื่อนจะทำให้เมืองดีขึ้น ทำนา ทำไร่ได้ปีละหลายครั้ง ชาวเมืองจะอยู่ดีกินดีขึ้น เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จตามกำหนดเวลา ช่วง2-3ปีแรก น้ำเต็มเขื่อน ชาวเมืองต่างสามารถทำนา ทำไร่ได้ปีละ 2-3 ครั้ง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์

พอเวลาผ่านไป ฝนกลับไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำเริ่มน้อย แต่ชาวนาก็อยากทำนาปีละ 2 ครั้งเหมือนก่อน ชาวไร่ก็อยากได้น้ำไปเลี้ยงต้นไม้ของตนจำนวนมากเช่นกัน เกิดการทะเลาะ แย่งน้ำกัน มีการทำร้ายกัน พ่อค้าหัวใสก็ลักลอบขโมยน้ำไปขาย เกิดเป็นความวุ่นวาย ตำรวจต้องเข้าไปจับกุม นักโทษมีเต็มห้องขัง เหล่าขุนนางหนุ่มหาทางแก้ไขปัญหาหลายอย่าง ออกกฎหมายบังคับหลายข้อ ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้

เหล่าขุนนางอาวุโสต่างนิ่งเงียบรอเวลา ในที่ประชุมเหล่าขุนนาง พระราชาซึ่งทุกข์ร้อนจากปัญหา และนิ่งเงียบ ติดตามการจัดการของเหล่าขุนนางมาพักหนึ่ง ตรัสตำหนิขุนนางหนุ่มและเหล่าขุนนางที่สนับสนุนในครั้งนั้น เหล่าขุนนางหนุ่มต่างโทษกันไปมาว่าความวุ่นวายนี้เป็นของขุนนางท่านนั้นท่านนี้ พระราชารู้สึกไม่พอพระทัยยิ่ง จึงทรงคิดที่จะลงโทษเหล่าขุนนางหนุ่ม

นนางอาวุโสท่านหนึ่งได้ลุกขึ้นและเสนอในที่ประชุมว่า

ข้าแต่พระราชา อันบ้านใดเมืองใด มีความปกติสุขอยู่แล้วนั้น การคิดอ่านสิ่งใดที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ดี แต่เมื่อบ้านใดเมืองใดเกิดความว้าวุ่นขึ้น การถือผิดเอาโทษผู้ใดว่าเป็นสาเหตุกระนั้น ก็หามีผลดีอันใดไม่ บ้านเมืองที่เจริญทั้งหลายล้วนเกิดจากความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ เห็นแก่ประโยชน์แห่งบ้านแห่งเมืองตนเป็นหลัก วิกฤติวุ่นวายก็สามารถคลี่คลายได้ทั้งสิ้น เกล้ากระหม่อม เชื่อว่าหากให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันคิดอ่านหาทางแก้ไข ภาวะแย่งน้ำนี้ก็จะหายไปได้ พระเจ้าค่ะ

พระราชาได้ฟังดังนั้นก็คิดได้ จึงได้ทรงอภัยโทษเหล่าขุนนางหนุ่ม และได้มอบหมายให้หาทางแก้ไขปัญหา เหล่าขุนนางหนุ่มต่างสำนึกในความเมตตาของเหล่าขุนนางอาวุโสจึงเข้าไปกราบขอโทษที่ครั้งก่อนเคยล่วงเกินไว้ เหล่าขุนนางอาวุโสต่างไม่ถือโกรธ ต่างสอนเหล่าขุนนางหนุ่มว่า

การบริหารบ้านเมืองนั้น เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องทำงานร่วมกัน ใช้ความรู้ความสามารถช่วยกันคิด ช่วยกันทำเพื่อประโยชน์ของประชารัฐ พึงมองร่วมกันที่ความสุขสงบของบ้านเมือง ไม่แก่งแย่งแข่งขันกัน รับฟังซึ่งกันและกัน และร่วมมือร่วมใจเพื่อบ้านเพื่อเมือง จึงเป็นที่สุดของการบริหารบ้านเมืองทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

เหล่าขุนนางหนุ่มน้อมรับข้อคิด จากนั้นทั้งหมดร่วมกันปรึกษาหารือ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแย่งน้ำ ขุนนางอาวุโสเสนอให้ลดการทำนา ทำไร่ลง ขุนนางหนุ่มเสนอการแบ่งปันน้ำอย่างเท่าเทียม

ขุนนางอาวุโสเสนอให้อภัยโทษเหล่าชาวเมืองที่ต้องโทษจากการแย่งน้ำ ขุนนางหนุ่มเสนอการชลประทาน ทั้งหมดเห็นชอบร่วมกัน และนำวิธีการทั้งหมดไปใช้ ทำให้เกิดการแบ่งสรรปันน้ำอย่างเหมาะสม ชาวเมืองต่างเข้าใจปัญหา และยอมทำตามเหล่าขุนนาง หลังจากนั้นไม่นานปัญหาการแย่งน้ำก็หายไป

เหล่าขุนนางทั้งฝ่ายอาวุโสและขุนนางหนุ่มได้เรียนรู้จากเรื่องราวครั้งนี้ หลังจากนั้นต่างร่วมกันคิด ร่วมกันฟัง และช่วยกันอย่างจริงจังทำให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่แบ่งแยก และคิดถึงแต่ตนอย่างเดียวอีกต่อไป




ช่วยกันขยายความ

1)ช่วยหาคติพจน์ สุภาษิตที่ส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจ

2)ให้ช่วยหาคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่ส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจ

ในทั้งสองกรณี ให้มีอาสาสมัคร รวบรวมบันทึกไว้ เพื่อทำเอกสารแจก ให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกโดยลงวันที่ไว้ด้วย


ฝึกให้รู้รอบ : เรื่องสร้างเขื่อน แย่งน้ำ เหมาะสำหรับสอนเรื่องความร่วมมือร่วมใจหรือไม่ เพียงใด

ฝึกให้เข้มแข็ง : เราจะช่วยแนะนำคนอื่นอย่างไรให้ใช้ความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินชีวิต และการทำงานอย่างไร

ฝึกให้พอเพียง : ความร่วมมือร่วมใจอย่างไรจึงเรียกว่าพอเพียง

- ความร่วมมือร่วมใจอย่างไรที่เรียกว่าเกินพอเพียง ?

- ความร่วมมือร่วมใจอย่างไรที่เรียกว่าขาด ?

ฝึกให้ยุติธรรม : ยกตัวอย่างและเหตุผลของความร่วมมือร่วมใจที่ไม่ยุติธรรมในสังคม


กิจกรรมสันทนาการ หาอาสาสมัครแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ละ 5 คน และหากระดาษหนังสือพิมพ์ขนาด 2 หน้ามา 1 แผ่น และเล่นดังต่อไปนี้

1.เปิดดนตรีให้เล่นไป เมื่อดนตรีจบลง ให้อาสาสมัครทั้ง 5 เข้าไปยืนในกระดาษหนังสือพิมพ์นั้น โดยไม่ให้มีส่วนใดของเท้าออกมานอกกระดาษได้

2.พับกระดาษหนังสือพิมพ์ลงครึ่งหนึ่ง แล้วเปิดเพลงอีกครั้ง เมื่อเพลงจบ อาสาสมัครทั้ง 5 ต้องยืนอยู่ในกระดาษที่เหลือนั้นให้ได้ โดยต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของเท้าออกมานอกกระดาษ

3.พับกระดาษหนังสือพิมพ์ลงอีกครึ่งหนึ่ง แล้วเปิดเพลงอีกครั้ง เมื่อเพลงจบ อาสาสมัครทั้ง 5 ต้องยืนอยู่ในกระดาษที่เหลือนั้นให้ได้ โดยต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของเท้าออกมานอกกระดาษ

4.พับกระดาษหนังสือพิมพ์ลงอีกเรื่อยๆ ทีละครึ่งหนึ่ง แล้วเปิดเพลง เมื่อเพลงจบ อาสาสมัครทั้ง 5 นั้นทำอย่างไรก็ได้ให้ยืนอยู่ในกระดาษที่เหลือนั้นให้ได้ โดยต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของเท้าออกมานอกกระดาษ หรือ อาสาสมัครคนหนึ่งคนใดหลุดออกจากกลุ่ม หากกลุ่มใดยื่นเท้าออกนอกกระดาษหรือเมื่อคนหลุดจากกลุ่ม ให้ถือว่าแพ้ไป


กิจกรรมสันทนาการ 2 แบ่งอาสาสมัครออกเป็นกลุ่มๆ ละ 3 คน และหาขวดน้ำพลาสติกมาเจาะรูที่ข้างขวดสูงจากพื้น 1 นิ้ว , 2 นิ้ว และที่ 3 นิ้ว ตำแหน่งละรู โดยห้ามเป็นด้านเดียวกัน จัดหาน้ำใส่ในถังน้ำขนาดใหญ่ วางไว้ห่างไป 3 เมตร ให้อาสาสมัครนำน้ำมาเติมให้เต็มขวด โดยใช้กรวยกระดาษ ให้ทีมละ 3 กรวย ทีมไหนเอาน้ำเติมได้เต็มขวดก่อนเป็นผู้ชนะ


เอกสารคุณธรรมและจริยธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2549-51 ปรับจากหนังสือ Discovering the real me, Universal Peace Federation Edition

โดย นายเอนก สุวรรณบัณฑิต

หมายเลขบันทึก: 128292เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2016 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท