มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดเสวนา “เยาวชนผลประโยชน์เพื่อใคร”


สำรวจชีวิตเด็กไทยปี 50 รับวันเยาวชนแห่งชาติ พบยังวิกฤติ ตายเพราะอุบัติเหตุวันละ 12 คน โจ๋ 11-19 กั๊งเหล้า 1 ล้าน 2 แสนคน จ่ายค่าเกมส์-มือถือ-อาหารขยะ เดือนละเกือบ 4 พัน เครือข่ายเด็ก เยาวชน ครอบครัว ฟันธง รัฐบาลสอบผ่านด้านแนวคิดแก้ปัญหาเยาวชน แต่ “ติด “ร” วิชาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน”
 

ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดเสวนา “เยาวชนผลประโยชน์เพื่อใคร” เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 ก.ย. นี้  โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผจก.แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว ปี พ.ศ.2549 ยังน่าห่วง อุบัติเหตุเป็นสาเหตุสำคัญคร่าชีวิตเด็กไทยปีละ 4,000 คน หรือ 12 คนต่อวัน 40% ของอุบัติเหตุมาจากการดื่มเหล้า ซึ่งเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ก็เริ่มดื่มเหล้า มีเด็กชายอายุ 11-19 ปี ดื่มเหล้าถึง 1 ล้านคน เด็กหญิงอายุ 15-19 ดื่มราว 2 แสนคน เหล้ายังสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย หากวัยรุ่นหญิงอายุน้อยกว่า 19 ปี 1 พันคน มีเพศสัมพันธ์ 90 คนจะตั้งครรภ์และคลอดลูก บางส่วนอาจทำแท้ง หรือไม่ตั้งครรภ์ วัยรุ่นจึงติดโรคทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า ส่วนเด็กที่ติดเกมส์ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเล่มเกมส์หรือซื้อเกมส์ถึง 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน เสียค่ามือถือเฉลี่ย 500 บาทต่อคนต่อเดือน ค่าขนมและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ต่ำกว่า 800 บาทต่อคนต่อเดือน อีกทั้งข้อมูล ปปส. ในปี 2550 ระบุว่าวัยรุ่นเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดมากขึ้น ขณะที่ครอบครัวอ่อนแอ มีครอบครัวเดี่ยวที่หย่าร้างสูงขึ้น 10%  พ่อแม่มีเวลาพูดคุยกับลูกเพียง 38.5 นาทีต่อสัปดาห์ ชุมชนขาดความเข้มแข็ง  ผู้ที่ดูแลเด็กขาดทักษะและขาดคุณภาพ รัฐบาลจึงประกาศวาระเด็ก และ เยาวชน ปี พ.ศ. 2550 ใน 5 วาระ คือ  1.สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว  2.กิจกรรมสร้างสรรค์  3.พัฒนาบุคลากรสถานรับเลี้ยงเด็ก  และระบบอนุบาล  4.จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก  และ 5.กฎหมายครอบครัว

นพ.สุริยเดว กล่าวด้วยว่า ผลงานเด่นของรัฐบาลนี้ คือ  เรื่องสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว  ที่ผลักดันสถานีโทรทัศน์สาธารณะ จัดระเบียบความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์  ควบคุมโฆษณาขนมเด็ก  และสถานีวิทยุต้นแบบ เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว แม้กองทุนสื่อและหลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อยังไม่ได้คลอด พรบ.ส่งเสริมครอบครัวที่กำลังจะคลอด โดยเครือข่ายครอบครัว ต้องการให้เกิด พรบ.ที่สมบูรณ์ ทั้งเนื้อหาและกลไกในการขับเคลื่อนส่วน กิจกรรมสร้างสรรค์  เริ่มเกิดโครงการเยาวชน 1000 ทาง การพัฒนาบุคลากรสถานเด็กเล็ก แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หรือจังหวัดน่าอยู่ที่ทำไปได้หลายจังหวัด แต่อาจมีปัญหาเรื่องความยั่งยืน ซึ่งจังหวัดควรมีแผนงานมารองรับ

“ภาคเครือข่ายและเยาวชน เห็นตรงกันว่ารัฐบาลสอบผ่านด้านแนวคิด หลักการ รวมทั้งการก่อให้เกิดโครงสร้างระบบ คือคณะกรรมการประสานงานด้านเด็กและเยาวชน 5 กระทรวง  แต่ติด “ร” ด้านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รัฐบาลชุดนี้และพรรคการเมือง จึงควรผลักดันให้เกิดระบบการทำงานของคณะประสานงานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่ยั่งยืนและสร้างความร่วมมือของท้องถิ่น รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนด และการบริหารจัดการวาระเด็ก เยาวชนและครอบครัวทุกปี รวมถึงมีพื้นที่การเรียนรู้และฝึกทักษะสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัวและชุมชน อย่างกว้างขวาง”นพ.สุริยเดว กล่าว

นางสาวรสนา อารีฟ ผู้แทนเครือข่ายเยาวชน 1000 ทาง กล่าวว่า “ด้านการส่งเสริมกิจกรรมในปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้ามากโดยเฉพาะกลไกสนับสนุนนอกสถานศึกษา เช่น การริเริ่มโครงการเยาวชน 1000 ทาง และกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มทำการสำรวจโครงการและกลไกเดิมที่มีอยู่เพื่อเตรียมก้าวต่อไป แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดต่อคือ ความยั่งยืนของการดำเนินงานและการพัฒนากลไกในสถานศึกษา เพราะเราเชื่อว่ากิจกรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กและเยาวชนในระยะยาว  รวมทั้งอีก 4 วาระ ที่จะพูดถึง  ในเวทีครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก สื่อสร้างสรรค์ การปฐมวัย หรือกฎหมายครอบครัว ที่ยังจะต้องมีการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง  โดยไม่ขึ้นกับผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงเท่านั้น

//////////////////////////////////////////////////////////

ที่มา : http://www.stopdrink.com/?content=ViewNews&id=746&type=1


หมายเลขบันทึก: 128718เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2007 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท