การเขียนวิทยานิพนธ์ : การแก้ไขหลังสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์


การแก้ไข

การแก้ไขหลังการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis)

        เมื่อดำเนินการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis) ปกติแล้วนิสิต นักศึกษาควรเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาทันที เพื่อปรึกษาเรื่องการแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ซึ่งบางคนอาจมีการแก้ไขน้อย  บางคนอาจแก้ไขมาก  ซึ่งขึ้นอยู่กับการชี้แนะของคณะกรรมการสอบ หรืออาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์  และขึ้นอยู่กับว่า  นิสิต  นักศึกษาทำการศึกษาค้นคว้า  และเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ออกมาได้ถูกต้องชัดเจน  เหมาะสมเพียงใด ยิ่งถ้านิสิต  นักศึกษา ได้ทำรูปแบบควบคุมวิทยานิพนธ์ก่อนขึ้นสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ข้อบกพร่องยิ่งมีน้อย และข้อบกพร่องที่พบส่วนมากเป็นเรื่องของการพิมพ์ผิด ความมุ่งหมายของการวิจัย  สมมติฐานของการวิจัย(ถ้ามี) ความเหมาะสมของประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  สถิติที่ใช้  การใช้ภาษา  เขียนไม่ครบ การอธิบายไม่ชัดเจน  เขียนเกินความเป็นจริง  เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการสอบอาจจะมีให้เพิ่มเติมส่วนที่ไม่ชัดเจนหรือตัดออก หรือเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ตามความเหมาะสม แต่ส่วนใหญ่นิสิต  นักศึกษามักจะไม่ค่อยปฏิบัติตาม กล่าวคือ  หลังจากดำเนินการสอบเสร็จแล้วมักจะทิ้งเค้าโครงวิทยานิพนธ์  ไม่รีบดำเนินการแก้ไข หรือแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์ไม่เป็นระบบ เหล่านี้เป็นต้น ส่งผลให้การดำเนินการในขั้นต่อไปล่าช้า เสียเวลาและกินเวลาในขั้นต่อไปด้วย  ซึ่งนิสิต นักศึกษา บางคนไม่ดำเนินการต่อก็มี ทั้งนี้อ้างว่าไม่มีเวลาซึ่งแท้จริงแล้วเกิดจากตัวนิสิตเองที่ไม่การวางแผนการแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์หรือบางครั้งอาจจะเกิดความเบื่อหน่าย  ในการทำวิทยานิพนธ์ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว  หลังการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis)  ผู้เขียนมีหลักปฏิบัติในการแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์ให้ถูกต้อง คือการทำตารางแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์
           การทำตารางแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์จะช่วยให้นิสิต  นักศึกษาเข้าใจและแก้ไขได้ถูกต้องตามคำชี้แนะของคณะกรรมการสอบ  อีกทั้งช่วยตรวจสอบเค้าโครงไปในตัวด้วยและที่สำคัญนิสิต  นักศึกษา  จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์ทันทีและส่งเค้าโครงวิทยานิพนธ์ให้อาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ ชี้แนะ  ปรับปรุงให้ถูกต้องและเพื่ออนุญาตให้ดำเนินการขั้นต่อไป  เช่น การสร้างเครื่องมือ  การตรวจสอบเครื่องมือ การทดลองใช้  ถ้าเกิดปล่อยให้การแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์ล่าช้า  ก็จะกระทบแผนปฏิบัติงานวิทยานิพนธ์ในขั้นตอนอื่นตามมาด้วยเช่นเดียวกัน  ทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ 
         หลังจากการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์เสร็จ  นิสิต  นักศึกษา ควรมาพบอาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์เป็นประจำ  เพื่อรายงานความคืบหน้าการทำวิทยานิพนธ์ว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดบ้างแล้ว จากประสบการณ์ผู้เขียนมักจะพบข้อบกพร่องนิสิต  นักศึกษาหลายประการ ประการแรกคือ  นิสิต  นักศึกษาไม่มาปรึกษาหรือพบอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์เลย  โดยดำเนินการเองทุกอย่าง  มาพบอีกครั้งคือทำเป็นเล่มวิทยานิพนธ์สมบูรณ์แล้วและต้องการขึ้นสอบปากเปล่า  แท้จริงแล้วถือว่าผิดหลักการทำวิทยานิพนธ์ นิสิต  นักศึกษา ควรมาปรึกษาหรือมาพบอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์  ว่ากระทำถึงขั้นตอนใดบ้าง รวมทั้งเป็นการตรวจสอบคุณภาพวิทยานิพนธ์ในขั้นตอนการทำไปด้วย ช่วยเสริมความรัดกุม ถูกต้องการเขียน ทำวิทยานิพนธ์ด้วย  ประการที่สอง  นิสิต  นักศึกไม่ติดต่อ  ไม่มาพบอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์  จนกระทั่งหมดเวลาหรือจะครบกำหนดพ้นสภาพความเป็นนิสิต  ค่อยมาพบอาจารย์และมาเร่งดำเนินการในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ส่งผลให้วิทยานิพนธ์ออกมาไม่มีคุณภาพและไม่รู้ว่าทำจริงหรือเปล่าประการที่สาม  มาพบครั้งคราวและดำเนินการเอง ซึ่งบางขั้นตอนอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ยังไม่อนุญาต แต่นิสิต  นักศึกษา ดำเนินการไปก่อนแล้ว  เช่น  การทดลองใช้เครื่องมือ ทั้งที่เครื่องมือยังไม่ผ่านผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือ  นิสิต  นักศึกษา ก็แอบดำเนินไปทดลองใช้แล้ว เหล่านี้เป็นต้น  ซึ่งถ้านิสิต  นักศึกษา ไม่มีจรรยาบรรณในการวิจัยหรือการทำวิทยานิพนธ์ แล้ว วิทยานิพนธ์ที่ออกมาก็ด้อยคุณภาพ ดังนั้นอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ก็ต้องควบคุมให้ดี เพื่อจะได้วิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพและนำไปใช้ประโยชน์ได้   เพื่อลดปัญหาและข้อบกพร่องที่กล่าวมาอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ต้องให้นิสิตทำตาราง นัดหมาย การทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งตัวอย่างตารางนั้นตรงช่องระบุวัน เวลา นั้น  ทุกครั้งที่นิสิต  นักศึกษา เข้าพบอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์  หลังจากให้คำปรึกษาเสร็จสิ้นอาจารย์จะเป็นคนนัดหมายวัน เวลา ล่วงหน้าเอง  และทุกครั้งที่นิสิต  นักศึกษามาพบ ควรนำหลักฐานที่พบมาครั้งก่อนมาพร้อมด้วย เพื่อให้อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ตรวจสอบว่าได้แก้ไขตาม คำชี้แนะหรือไม่  และกรณีที่นิสิต  นักศึกษา ไม่สามารถมาได้ในช่วงที่นัดหมายไว้  ควรมีการแจ้งกับอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ล่วงหน้า  อาจจะเป็นทางโทรศัพท์หรือมาบอกกล่าวด้วยตัวนิสิต นักศึกษาเอง  จงอย่าผิดนัดกับอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์หรือให้คอยนาน  จงนึกเสมอว่าทุกคนมีภารกิจต้องทำตลอดเวลา  ซึ่งการทำตารางนี้จะช่วยให้นิสิต  นักศึกษามีวินัย ตรงต่อเวลาในการทำวิทยานิพนธ์และไม่ปล่อยเวลาให้เสียโดยใช่เหตุ  รวมทั้งสร้างความรัดกุมของขั้นตอนของการทำวิทยานิพนธ์และตรวจสอบคุณภาพไปในตัวด้วยและที่สำคัญสร้างความเป็นกันเองระหว่างอาจารย์กับนิสิต นักศึกษาหรือนิสิต  นักศึกษากับอาจารย์ไปด้วย

 

ทองสง่า ผ่องแผ้ว 17/09/2550

หมายเลขบันทึก: 128914เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2007 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท