หลักสูตรปริญญาเอกด้านนโยบายและการบริหารสังคม


       วันนี้ (20 ม.ค. 49) ผมได้ไปร่วมประชาพิจารณ์หลักสูตร “นโยบายและการบริหารสังคม” (Social Policy and Administration) ซึ่งมูลนิธิเพื่อการบริหารสังคมร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจะเปิดทำการเรียนการสอนในระดับดุษฎีบัณฑิตศึกษาในอนาคตอันใกล้นี้ โดยจะให้ปริญญาชื่อว่า รัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (นโยบายและการบริหารสังคม) หรือ Doctor of Public Administration (Social Policy and Administration) 
       เรื่อง “การบริหารสังคม” นี้ ผมได้เคยใช้เป็นหัวข้อในการแสดง “ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ประจำปี 2546 เมื่อ 7 มีนาคม 2546 จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อเต็มๆคือ “การบริหารสังคม : ศาสตร์แห่งศตวรรษเพื่อสังคมไทยและสังคมโลก” ซึ่งผมได้เขียนเป็นบทความยาว และทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ประกอบการแสดงปาฐกถา ต่อมาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ในชุด “หนังสือส่งเสริมความรู้ด้านการพัฒนา” (ชุดที่ 7) เมื่อเดือน มีนาคม 2546 (พิมพ์ครั้งแรก) และเดือน กรกฎาคม 2546 (พิมพ์ครั้งที่ 2) 
       ในการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตร “นโยบายและการบริหารสังคม” ผมได้ให้ความเห็นสรุปได้ดังนี้
       1.“การบริหารสังคม” ประกอบด้วย “การบริหาร” กับ “สังคม” ในส่วนของ “การบริหาร” สามารถนำหลักคิดจากเรื่อง “การบริหารองค์กร” (Organization Management) หลักคิดเรื่อง “องค์กรเรียนรู้” (Learning Organization) และหลักคิดเรื่อง “การจัดการความรู้” (Knowledge Management) มาประยุกต์ใช้ได้
       สำหรับส่วนที่เป็น “สังคม” นั้นควรใช้หลักคิด “สังคมทั้งสังคม” (Total Society) หรือ “ความเป็นสังคมองค์รวม” (Holistic Societal Being) พร้อมๆกับการมองเรื่องของสังคมในฐานะเป็นมิติต่างๆหรือด้านต่างๆ ของสังคม (Social Dimensions หรือ Social Aspects) 
       2.ดังนั้นหัวข้อวิชา “สัมมนานโยบายและการบริหารสังคม” จึงอาจปรับเป็น “นโยบายและการบริหารสังคมองค์รวม” (Holistic Societal Policy and Management) 
       3.ในหลักสูตรนี้น่าจะมีความพยายามพิเศษในการผลิตบัณฑิตปริญญาเอกผู้ดีเด่นด้วยคุณธรรมจริยธรรมนอกเหนือจากความรู้ความสามารถทางวิชาการ เพื่อการนี้ควรต้องมีความพยายามในการจัดการภาวะแวดล้อมต่างๆตลอดจนระบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมสนับสนุนและเอื้อต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และอาจมีหัวข้อวิชาหนึ่งว่าด้วยเรื่องการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในสังคม ซึ่งสามารถมีได้ทั้งในส่วนที่เป็นภาควิชาการและส่วนที่เป็นภาคประสบการณ์ (Experiential Learning) โดยอาจนำ “กระบวนการจัดการความรู้” (Knowledge Management Process) มาประยุกต์ใช้ด้วยก็ได้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12898เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2006 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท