22 กันยายน 2550 "วันบูชาครูเพลงของผม" ป้าอ้น จันทร์สว่าง


เมื่อไฟฟ้าที่ส่องสว่างบนเวทีการแสดงดับลง คงเหลือแต่ความทรงจำ

 

บูชาครูเพลงของผม

ป้าอ้น  จันทร์สว่าง

ด้วยเพลงอีแซว ในงานทำบุญ 100 วัน

ที่บ้านหนองแขม

22  กันยายน  2550 

                             

          ป้าอ้น  จันทร์สว่าง เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2550 ทำการฌาปนกิจเมื่อวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2550 ตรงกับวันที่ผมพานักแสดงไปนำเสนอผลงานบนเวทีลานวัฒนธรรม ตลาดเก่า 100 ปี สามชุก  ผมได้ทราบข่าวการจากไปของป้า (ครูเพลงของผม) หลังจากวันฌาปนกิจผ่านไป 3-4 วัน จึงเดินทางไปที่บ้านเก่าของป้า และมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับลูกชายคนสุดท้องของป้า เป็นเงินทำบุญ และในวันนั้นเจ้าภาพบอกกับผมว่า อีก 100 วัน จะมีงานทำบุญให้แม่ โดยลูก ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมดจะมาช่วยกันจัดงาน และตั้งใจที่จะหาวงเพลงอีแซวให้แม่ด้วย เพราะแม่เคยเป็นแม่เพลง เล่นเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านมาก็นาน เมื่อถึงวันล่วงลับไปก็อยากจะให้แม่ได้ดูสิ่งท่านชอบ              

           ผมบอกกับลูกชายคนสุดท้องของป้าอ้น ผู้ล่วงลับว่า  ถ้าจะมีเพลงอีแซวให้ป้า ในวันทำบุญ 100 วัน ครูขอเป็นเจ้าภาพจัดหามาให้โดยครูขอเป็นผู้จัดการด้านการแสดง จะมีทั้งนักแสดงวัยรุ่นและเยาวชนซึ่งเป็นทายาททางเพลง ในฐานะที่ผมเป็นศิษย์ของ ป้าอ้น  จันทร์สว่าง และผมก็มีเด็ก ๆ ที่ฝึกหัดเพลงอยู่กับผมจำนวนหนึ่ง 20-22 คน จะนำมาแสดงในอีก 100 วันข้างหน้า     

         วันนี้วันที่ 22 กันยายน 2550 เวลา 16.00 น. แล้ว อีกสักครู่ผมคงจะต้องเดินทางไปรับเด็ก ๆจำนวน 20 คน เพื่อไปในงานทำบุญ 100 วันของป้าอ้น  จันทร์สว่าง ที่บ้านหนองแขม อำเภอดอนเจดีย์  จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งก็อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางสระกระโจม ประมาณ 16 กิโลเมตร  ถ้านับจากบ้านผมไปก็ไม่เกิน 20 กิโลเมตร  วันนี้ผมได้เชิญศิลปินคนดัง ผู้ที่เคยร่วมงานกับผมไปช่วยด้วย 2 ท่าน คือ พี่สุจินต์  ศรีประจันต์ (ศิลปินดีเด่นจังหวัดสุพรรณบุรี) และ คุณจินตนา  ทับมี แม่เพลงคนเก่งระดับหัวหน้าวง ก็นับถือกันเหมือนน้องสาวคนหนึ่ง  ยังไม่แน่ใจว่าทั้ง 2 คน จะติดขัดอะไรหรือไม่  ผมคงต้องค้างบทความเอาไว้ก่อน กลับจากงานแสดงแล้วค่อยมาเล่าต่อ (ขอเวลาไปรับนักเรียนก่อน)    

          ขอเล่าต่อเลยนะครับ ผมกลับมาถึงบ้าน เวลาประมาณ 02.30 น. หลังจากที่ส่งนักเรียนคนสุดท้ายถึงบ้านโดยรถส่วนตัว (ปิคอัพสเปชแค็บ)  ผมจอดรถยนต์เข้าที่วางอุปกรณ์ที่นำติดตัวไปใช้งานบนเวทีเรียบร้อยเวลาผ่านไปเกือบตี 3 แล้ว จะเข้านอนก็คงนอนไม่หลับจึงมานั่งเล่าเรื่องที่ผมเพิ่งจะได้ไปปฏิบัติหน้าที่ทดแทนบุญคุณครูเพลง ผู้ที่ฝึกหัดให้ผมมา  เมื่อตอนบ่าย ผมต้องวิ่งรถ 2 เที่ยวเพื่อนำคณะนักแสดงไปส่งที่บ้านงาน ลืมเล่าไปนิดหนึ่ง งานนี้ผมได้ติดต่อเวทีแสดงเป็นเวทีแบบ 2 ชั้น กว้าง 7.50 เมตรและลึกเข้าไปถึงด้านหลังประมาณ 5.5 เมตร เป็นของคุณลำไย  เขาก็คิดราคาแบบเป็นกันเอง  เมื่อนำนักแสดงเที่ยวแรกไปส่ง เวทีเขาตั้งเอาไว้เสร็จแล้ว ผมบอกเด็ก ๆ ชุดแรกให้ช่วยกันจัดสถานที่ ติดตั้งอุปกรณ์ ขึงฉากทุกผืนให้ตึง และแน่นหนา ส่วนผมเดินทางกลับไปรับนักแสดงอีกชุดหนึ่งที่เหลือมายังบ้านงาน  

         

          เมื่อนักแสดงมาถึงครบทั้งวงแล้ว เจ้าภาพออกมาต้อนรับและนำคณะนักเพลงไปรับประทานอาหาร เด็ก ๆทุกคนดูจะตื่นเต้น เพราะมีนักแสดงหน้าใหม่ไปด้วย  6 คน (เคยออกงานมาไม่กี่ครั้ง)  ในช่วงเวลาที่นั่งรับประทานอาหารกันอยู่ สุจินต์ ศรีประจันต์ และจินตนา ทับมีก็เดินทางมาถึงบ้านงานพอดี เรารับประทานอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน และได้ใช้โอกาสนั้นปรึกษาหารือเรื่องการแสดง กำหนดคิวเอาไว้ด้วยเลย  

          เวลาประมาณ 20.00 น. หลังจากที่พระสงฆ์สวดมนต์เย็นจบและกลับวัดไป  การแสดงก็เริ่มต้นขึ้นโดย มีลำดับขั้นตอน  ดังนี้ 

          เวลา 20.00 น. ผู้แสดงทุกคนออกไปนั่งหน้าเวที ผมกล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการมาแสดงบูชาครูในคืนวันนี้  

          เวลา 20.05 น. เริ่มร้องไหว้ครู โดย อิมขับเสภา ท็อปร้องไหว้ครู ยุ้ย ร้องแหล่บูชาครู 

         

          เวลา 20.20 น. อิมกับยุ้ย พูดทักทายกับท่านผู้ชมซึ่งมากันเป็นจำนวนมากน่าจะเกิน 300 คน 

          เวลา 20.30 น. เป็นการแสดงเพลงออกตัวของเด็ก ๆรุ่นใหม่ น้อง ๆ ม.ต้น (ม.1-2)

          เวลา 21.00 น. เป็นเพลงโต้คารม ชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง 4ชุด จนถึงชุดสุดท้ายชื่อ เป่ามนต์โดนคาถา จบลงตรงที่ร้องว่า จึงขอร้อง  เพื่อนชาย ว่าฉันเป็นโรค  หัวใจอ่อน (เอิ้ง เงอ เอ๊ย) หัวใจอ่อน ต้องอธิบาย ฉันก่อน เรื่องวิธีซ้อน มอเตอร์ไซด์ (เอิ้งเหง่อเอ้อเอ๊ย) มอเตอร์ไซด์ 

            

           เวลา 21.45 น. ผมออกไปแสดงจับตอนต่อจากที่เด็กเขาร้องลงเอาไว้ ผมกล่าวทักทายท่านผู้ชมเรียกเสียงหัวเราะ และเรียนให้ท่านผู้ชมทราบถึงความผูกพันของผมกับป้าอ้น จันทร์สว่าง ผู้ล่วงลับ แล้วเล่นบทสนุกโดยการแสดงขี่มอเตอร์ไซด์กันทั้งคณะ แบ่งออกเป็น 2 ชุด ทำเสียงรถ และลีลาการขับขี่ ได้เสียงหัวเราะและเสียงปรบมือจากท่านผู้ชมหน้าเวที ผมแนะนำเด็ก ๆ ที่เป็นผู้ร้องนำในวงเพื่อเป็นการฝากชื่อเสียงเอาไว้ก่อน  ต่อจากนั้นผมร้องเพลงบอกเรื่องราวความเป็นครุเป็นศิษย์ระหว่างผม กับป้าอ้น และร้องบอกถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายช่วงหลายตอนที่ผมมีความประทับใจในตัวของป้า  รวมทั้งหยุดร้องเล่าเรื่องขำ ๆ ที่ป้าเคยเล่าให้ผมฟังหน้าเวที เรียกเสียง ฮา ๆ ๆ ได้เป็นช่วง ๆ พอสิ้นเสียงฮา ผมร้องเพลงอีแซวด้นสดต่อ โดยกล่าวถึงลูกๆ ของป้าที่ยังมีชีวิตอยู่ 9คน ในจำนวนทั้งหมด 11 คน ได้แก่  

          1. นางสำเนียง   วงษ์สุวรรณ  

          2. นายไฉน      จันทร์สว่าง  

          3. นางอำนวย    โพธิ์กลิ่น   

          4. นายพะนอ      จันทร์สว่าง 

          5. นายมานิตย์   จันทร์สว่าง  

          6. นางน้อย  ปิ่นทอง  

          7. นายมานัส      จันทร์สว่าง  

          8. นางมานะ    อู่ใหญ่   

          9. นายวินัย  จันทร์สว่าง

          โดยเฉพาะคนสุดท้าย ชื่อวินัย  จันทร์สว่าง เป็นลูกศิษย์ที่ผมสอนวิชาศิลปะมาเมื่อปี 25424-2525 และเป็นเจ้าภาพใหญ่ในงานนี้ด้วย ผมด้นกลอนสดบอกชื่อลูกและการรวมพลังกันเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับแม่ผู้ล่วงลับจนถึงตอนสุดท้าย เป็นการร้องอาลัยและส่งข่าวถึงป้าอ้น จันทร์สว่างบอกให้รู้ว่าลูกศิษย์คนนี้ ได้นำทายาททางเพลง 20 คนมากราบบูชาป้าแล้ว (ตลอดเวลาที่ด้นกลอนสดเพลงอีแซว  ผมได้รับรางวัลจากท่านผู้ชมหลายท่านรวมทั้งลูก ๆ ของป้าด้วย) และต่อด้วยการร้องเชิญศิลปิน  2 ท่านขึ้นบนเวที 

           

             เวลา 22.15 น. สุจินต์ ศรีประจันต์ และ จินตนา  ทับมี แสดงเพลงประคารม 2 ชุด เป็นเพลงอีแซว 1 ชุด และเพลงฉ่อย 1 ชุด เรียกเสียงหัวเราะ สนุกสนาน เฮฮา ได้ตลอดบทกลอน และมีผู้นำรางวัลมาให้ เมื่อถึงตอนลงเพลงเจ็บ ๆ มัน ๆ (เรียกว่าท่านผู้ชมไม่มีถอยเลย ครับ) 

             เวลา 23.20 น. เด็ก ๆ ออกมาโต้คารมด้วยเพลงปะทะ  2 ชุดสั้น ๆ คือ ชุดด่ากระทบ และ ชุดขนมไทยไส้ถั่วเขียว (โดยเด็กชุดเล็ก เริ่มหัดใหม่)            เวลา 23.40 น. สุจินต์ ศรีประจันต์ และผม ร้องเพลงแหล่อวยพรให้เจ้าภาพ โดยสลับกันร้องด้นกลอนสดตลอดเพลง 

              

             เวลา 24.00 น. เด็ก ๆ ร้องเพลงลา ทำนองโศก  ทำนองเพลงอีแซว และนำนองระบำฮาวาย จบแล้วพูดฝากใจไว้กับผู้ชมเป็นการอำลา  เด็ก ๆ เดินเข้ามาขอขมาครูเพลง และรุ่นพี่ เสียงปรบมือจากด้าน หน้าเวทียังดังได้ยิน  เป็นเวลาประมาณ  0.15 น.  รวมเวลาทำการแสดง 4 ชั่วโมง 15 นาที ครับ 

                      

            การแสดงจบลง นักแสดงเปลี่ยนชุดแสดงและจัดเก็บอุปกรณ์ ได้แก่ ฉากผืนใหญ่ ฉากผืนเล็กหน้าเวที ป้ายคณะ 2 ผืนที่ใช้บังผู้ให้จังหวะ  4 คน เครื่องทำจังหวะ 4 ชิ้น เมื่อเก็บสิ่งของขึ้นรถ 2 คันหมดแล้ว  ผมไปลารูปป้าที่เครื่องตั้ง  ลาเจ้าภาพทุกคน  ตอนนั้นมีลูกของป้าท่านหนึ่ง บอกกับผมว่า ครู พอเสียง เพลงดังขึ้นมา ฉันรีบเดินไปบอกแม่ว่า ฟังเพลงอีแซวนะแม่ ลูกหามาให้แม่ดูแล้ว ท่านพูดพร้อมกับน้ำตาที่ไหลออกมานองหน้า ชีวิตของครูเพลงที่สอนผมมา ได้ปิดฉากจบลงด้วยวัยอันสมควร  ผมได้ไปทำหน้าที่ลูกศิษย์ซึ่งได้เคยเรียนรู้เพลงอีแซวมาจากท่านมา   ลูก ๆ ได้ทำหน้าที่รวมพลังสามัคคีกันทำบุญแผ่กุศลให้แม่ ผู้ที่ล่วงลับ  ภาพเบื้องหลังเมื่อไฟฟ้าที่ส่องสว่างบนเวทีแสดงดับลง  คงเหลือแต่ความทรงจำว่า  ณ ที่ตรงนี้ (บ้านหนองแขม) เคยมีแม่เพลงเสียงใส หน้าหวาน ร้องเล่น เต้นเก่งที่ชื่อ แม่อ้น จันทร์สว่าง เมื่อ 80 กว่าปีก่อนโน้น  (เวลาใกล้จะถึงตี 4 แล้ว วันพรุ่งนี้ผมจึงจัดส่งข้อมูลขึ้นเว็บ  ขอไปเข้านอนก่อนนะครับ)

 ชำเลือง  มณีวงษ์ : ผู้มีผลงานดีเด่นศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านราชมงคลสรรเสริญ 2547

 

หมายเลขบันทึก: 131016เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2007 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ศิษย์ทุกคนต้องมีครู และศิษ์ที่ไม่ลืมคุณ ของครู
  • คือผู้ที่จะรุ่งเรือง เช่นครูชำเลืองค่ะ

 

  • ครูสอนนักเรียน หรือครูที่สอนคนก็คือกัน
  • สอนลูกศิษย์จบออกไปมีความรู้ มีความก้าวหน้ามากมาย
  • มีลูกศิษย์สักกี่คน ที่กลับมาหาครู
  • เช่นเดียวกันกับ พ่อ-แม่ ที่เลี้ยงดูลูกมาหลายคน
  • ลูกคนไหนห่วงท่าน กลับไปแทนคุณท่านได้ บุคคลผู้นั้นคือ คนที่ไม่ลืมคุณคน
  • ขอบคุณท่าน หน.ลำดวน ไกรคุณาศัยมาก ครับ
  • ขอให้ท่านมีความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นตลอดไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท