เฝ้าระวังความคลาดเคลื่อนทางยา…แล้วทำอะไรต่อ


           กลับจากการรับฟังการนำเสนอผลงานของโรงพยาบาลต่างๆ ที่จัดโดย HACC ภาคใต้  ได้พบกับคุณจรรยา ทวีทอง หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ที่กำลังจะมาร่วมประชุมเรื่อง QA การพยาบาลที่กรุงเทพ  คุณจรรยาได้ตั้งคำถามกับผมว่า ที่โรงพยาบาลเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยามาหลายปี  ตัวเลขก็ขึ้นๆ ลงๆ เมื่อพบปัญหาก็ลงไปวิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขกันไป  ตอนนี้ทีมชักจะเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มีคุณค่าน้อยลงไป อยากรู้ว่าควรจะทำอะไรเพิ่มเติมอีก

          ผมจึงได้มีโอกาสทบทวนไปด้วยว่าน่าจะทำอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่  สิ่งที่อยู่ในใจก็คือการเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยามีความจำเป็นที่จะทำให้เราทราบข้อมูลที่ใกล้ความจริงว่าระบบของเรามีปัญหาอย่างไร  แต่ก็เป็นเพียงบางส่วนของปัญหา ยังไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการเชื่อมโยงไปสู่ผลที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย

          สิ่งที่ผมคุยกับคุณจรรยา รวมทั้งการกลับมาทบทวนเพิ่มเติม คงสรุปได้ดังนี้

          1. ในการเฝ้าระวังความคลาดเคลื่อนทางยา ควรสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น และควรเชื่อมโยงกับระดับความรุนแรงของผลไม่พึงประสงค์จากยา (ADE) ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย  การเพิ่มความน่าเชื่อถืออาจจะต้องหาวิธีการศึกษาหรือเก็บข้อมูลจากหลายๆ แหล่งมาประกอบ เช่น การประเมินด้วยความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงาน ไปจนถึงการตรวจสอบข้อมูลที่บันทึกไว้อย่างละเอียด ไปจนถึงการออกแบบศึกษาวิจัยที่รัดกุมและสุ่มตัวอย่าง

          2. พิจารณาโอกาสเกิดผลไม่พึงประสงค์จากยาที่เกิดขึ้นในบริการต่างๆ ที่ไม่อาจพบได้จากการเฝ้าระวังความคลาดเคลื่อนทางยา เช่น การใช้ยา aminoglycoside ในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยศัลยกรรม ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้หากไม่มีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วย ร่วมกันวางระบบที่จะเฝ้าระวังการใช้ยาเหล่านี้ หรือหาระบบที่จะตรวจพบปัญหาที่มีความไว

          3. ศึกษาให้เข้าใจความสัมพันธ์ของคนกับโลกรอบตัวเพื่อนำไปสู่การออกแบบระบบงานที่มีเอื้อต่อการทำงานที่มีปลอดภัย มีคุณภาพและประสิทธิภาพ  ศาสตร์นี้เริ่มจากความรู้ทางด้านวิศวกรรม เรียกว่า Human Facor Engineering เป็นการออกแบบทางวิศวกรรมที่ตอบสนองข้อจำกัดของมนุษย์ในด้านกายภาพ การรับรู้ ความทรงจำ ไปจนถึงการตัดสินใจต่างๆ   เครื่องมือง่ายๆ อันหนึ่งเรียกว่า cognitive walkthrough คือการที่ให้ผู้ทำงานในระบบเรื่องอะไรก็ได้ คิดและบ่นออกมาดังๆ ในระหว่างที่ทำงานนั้น พร้อมกับการบันทึกไว้อย่างละเอียด เช่น ตั้งใจจะทำอะไร อยากจะได้อะไร จะไปเอาจากที่ไหน ต้องตรวจสอบด้วยการดูอะไรบ้าง สิ่งที่ได้นั้นตรงความต้องการหรือไม่ มีอะไรที่คับข้องใจระหว่างการทำงาน ฯลฯ  ข้อมูลที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์มากในการออกแบบเครื่องมือ แบบฟอร์ม การจัดวาง การเขียนฉลาก ขั้นตอนการทำงาน  จะช่วยให้เราติดดินในการวิเคราะห์สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบ และช่วยให้ผู้ปฏิบัติงาน ไม่ถูกกล่าวหา กล่าวโทษ หรือเป็นเป้าของการปรับปรุง

          4. วางระบบ drug reconciliation ขึ้นในการดูแลผู้ป่วย  reconcile แปลว่าการเจรจาต่อรอง แต่ในที่นี้เป็นการระบุบัญชีรายการยาที่ถูกต้องที่สุดที่ผู้ป่วยกำลังได้รับ (ระบุชื่อยา ขนาดยา ความถี่ วิธีให้ยา) และใช้บัญชีนี้เพื่อให้ยาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยในทุกจุด โดยจะต้องมีการตรวจสอบกับคำสั่งแพทย์เมื่อแรกรับ จำหน่าย หรือย้ายหอผู้ป่วย  ขั้นตอนสำคัญประกอบด้วยการเก็บข้อมูลประวัติการใช้ยา (verify), การทำความกระจ่างเกี่ยวกับยา ขนาดยา และความถี่ (clarify), และการบันทึกเหตุผลที่ไม่มีการสั่งยาหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งใช้ยา (reconcile)  เหตุผลที่มาตรการนี้มีความสำคัญก็เพราะความคลาดเคลื่อนทางยาครึ่งหนึ่ง และผลไม่พึงประสงค์จากยาหนึ่งในห้า เกิดจากการสื่อสารที่ไม่ดีในช่วงเปลี่ยน setting การดูแลผู้ป่วย

          5. ใช้แบบประเมินตนเองเรื่องระบบยาที่ปลอดภัย ซึ่งจัดทำขึ้นโดย Institute of Safe Medication Practice (ผมเคยแปลไว้ในเอกสารประกอบการประชุม HA National Forum ครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2546 และทางสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลแห่งประเทศไทยได้นำมาทบทวนเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีรายการตรวจสอบระบบของตนเองอยู่เกือบสองร้อยข้อ) และพิจารณาเลือกมาตรการที่เป็นไปได้ในการปฏิบัติมาดำเนินการ

ดูบทความและสรุปเนื้อหาสำคัญของแบบประเมินตนเองที่นี่
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13231เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
จริงด้วยค่ะ มีอะไรทำมากกว่าการเก็บข้อมูลตั้งเยอะ
         "ศึกษาให้เข้าใจความสัมพันธ์ของคนกับโลกรอบตัวเพื่อนำไปสู่การออกแบบระบบงานที่มีเอื้อต่อการทำงานที่มีปลอดภัย มีคุณภาพและประสิทธิภาพ" เป็นหลักการที่มีประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ได้กับทุกสถานการณ์เลยค่ะ 

ความคลาดเคลื่อนทางยาเป็นเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันได้ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหรือนำไปสูการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ในขณะที่ยานั้นอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ ผู้ป่วย หรือผู้บริโภค เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเกี่ยวกับการปฎิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และระบบ อันได้แก่ การสั่งใช้ การสื่อสารคำสั่ง การเขียนฉลาก/บรรจุ/ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ การผสม การจ่าย การกระจาย การให้ยา(หรือบริหารยา) การให้ข้อมูล การติดตาม และการใช้ )

การร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่รับยา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับยาที่ถูกต้องเหมาะสม และได้รับการแก้ไขทันทีที่เกิดปัญหาในการรักษา เป็นการเสริมสร้างกำลังใจผู้ป่วยให้พร้อมที่จะรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด

ว่างๆมาเล่นเกมส์หรือดูทีวีออนไลน์กันได้

ถ้าจะทำงานวิจัยควรหยิบหรือนำประเด็นไหนใน med error มาทำวิจัยดีครับจึงจะนำมาใช้ประโยชน์ไ้ด้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท