มาถึงอเมริกาแล้วค่ะ.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่หนึ่งนะคะ กันยายน 2550


(ผู้ที่เข้ามาอ่านท่านใดอยากรู้ที่มาที่ไปหรือว่าครูใหญ่และครูน้อยเป็นใคร ต้องไปอ่านบันทึกก่อนหน้านี้เลยนะคะ)

มาถึงอเมริกาแล้วค่ะ.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่หนึ่งนะคะ  กันยายน 2550   

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่ขา ครูน้อยมารายงานตัวแล้วนะคะ  ส่งงานเขียนบันทึกตามกำหนดค่ะ   หากเนื้อหาผิดพลาดไปจากความคาดหมายประการใด  ตำหนิออกอากาศได้เลยค่ะ... 

ครบหนึ่งเดือนพอดีค่ะที่เริ่มเรียนหลักสูตรปริญญาเอกที่ MSU มา  กึ่งเบื่อกึ่งสุขค่ะ   เดี๋ยวค่อยขยายความตอนท้ายบันทึกนะคะว่าตรงไหนเบื่อ  แล้วตรงไหนสุข ขอเริ่มแบบเป็นหมวดหมู่เลยนะคะ  เดือนนี้ ขอแบ่งบันทึกเป็น 4 หมวดค่ะ

  1. หลักสูตรเนื้อหาการเรียน
  2. ความแตกต่างที่ไม่เคยคาดฝัน และการปรับตัวในเดือนแรก
  3. เริ่มเข้าสู่โลกของ KM (นิดเดียวเองค่ะ)
  4. ตบท้ายคลายทุกข์

 ว่ากันตาม agenda ของเราเลยค่ะ 

1. หลักสูตรเนื้อหาการเรียน          พูดนิดหน่อยละกันนะคะ  เผื่อท่านที่เข้ามาอ่านด้วยอาจจะยังไม่ทราบระบบการเรียนป.เอก ในสาขาด้าน Management ของประเทศสหรัฐอเมริกา   เริ่มด้วย coursework เพื่อปูพื้นฐานสองปีแรกค่ะ  ซึ่งเราจะต้องเรียนในห้องเรียนและมีสอบของแต่ละวิชาในแต่ละเทอม  และในแต่ละปีก็จะมีการสอบรวมเนื้อหาพร้อมกันหลายๆ วิชา   บางมหาวิทยาลัยอาจจะสอบรวมบ่อยหน่อย  บางที่ก็ไปสอบรวมสิ้นปีที่สองครั้งเดียว   จากนั้น ก็จะเข้าสู่การทำวิจัยค่ะ    อย่างไรก็ดี  นักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเริ่มมองๆ หางานวิจัยร่วมกับอาจารย์ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน   เพื่อสร้างผลงานตีพิมพ์โดยเร็วที่สุดค่ะ สำหรับครูน้อย  เทอมนี้เรียนสามวิชาค่ะ  บังคับสอง เลือกเองหนึ่ง ตามนี้เลยค่ะ

ü      Seminar in Organizational Theory 

ü      Seminar in Organizational Research Method

ü      Seminar in Marketing Strategy  (ตัวนี้เลือกเองค่ะ  เห็นมีเนื้อหาเกี่ยวกับ knowledge-based view ก็เลยลงเรียนด้วยซะเลย) 

ü                  Organizational Theory  เรียนเกี่ยวกับพื้นฐานทางด้าน Organization ทั้งหมด อาจารย์ให้ซื้อหนังสือสิบเล่ม  ตอนแรกนึกว่าพูดเล่นค่ะ  ประมาณว่า recommended list มั้ง  คงไม่เอาจริง  ที่ไหนได้.... เอาจริงค่ะ  เป็น required list ทั้งหมด  ต้องอ่านอาทิตย์ละเล่มค่ะ  แล้วไปถก (หรือ discuss นั่นเอง แต่ใช้คำว่า ถก เนี่ยได้ความรู้สึกร่วมดีค่ะ) ในห้องเรียน   

ü                  Organizational Research Method  เป็นลูกผสมค่ะ  ระหว่างสถิติและการประยุกต์สถิติเพื่อนำไปใช้กับงานวิจัยทางสาขา social science หรือ organizational behavior   มีเรียนทั้งคำนวณและอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้สถิติในการทำวิจัย  การสอนเน้นไปทางประยุกต์ใช้โดยนักศึกษาต้องไปหาอ่านและทำความเข้าใจทางสถิติพื้นฐานประกอบเองด้วย 

ü                  Marketing Strategy  วิชานี้ปูพื้นฐานครอบคลุมทฤษฎีทางด้านกลยุทธ์เกือบทั้งหมด  แต่เน้นกลยุทธ์ที่นำไปใช้ในด้านการตลาด (แปลว่าที่ทำให้ขายของได้นั่นเอง)  ครูน้อยได้ไปคุยกับอาจารย์ผู้สอนแล้วเกิดความประทับใจก็เลยเลือกเรียนวิชานี้   ไม่มีเพื่อนคนอื่นๆ จากภาควิชาเดียวกันมาเรียนด้วยเลยค่ะ  และได้ลองถามดูในภาควิชา  ปรากฎว่าไม่เคยมีนักศึกษาคนใดจากภาควิชา Management ไปลงเรียนวิชานี้เลย    แต่เนื้อหาดีมากนะคะ  ไว้เล่ากันต่อไปค่ะ 

2. ความแตกต่างที่ไม่เคยคาดฝัน และการปรับตัวในเดือนแรก

ü                  เรียนหนักเป็นเรื่องธรรมชาติ: การเรียนหนักเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้วของเด็ก ป.เอก ตามที่เคยได้ยินมา   แต่ครูน้อยก็ยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า  จริงๆ แล้วชีวิตการเรียน ป.เอกนั้นเป็นอย่างไร  อย่างที่เล่าไปตอนต้น  การซื้อหนังสือสิบเล่มต่อหนึ่งวิชาและต้องอ่านจบหนึ่งเล่มก่อนเข้าเรียน  หรือการอ่านบทความหนาๆ สิบกว่าฉบับต่อหนึ่งครั้งที่เข้าเรียน (ซึ่งนับดูแล้ว อาจจะหนากว่าหนังสือหนึ่งเล่มด้วยซ้ำ)  ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้    ยิ่งในชั้นเรียนมีอยู่กันแค่ไม่กี่คน  คือไม่ถึงสิบ  (นี่ขนาดปีหนึ่งนะ  ถ้าปีถัดไปจะน้อยลงเรื่อยๆ อีกเพราะแยกเรียนตามภาควิชา  ตอนนี้ยังเรียนรวมกันในบางวิชาพิ้นฐานอยู่)  ทำให้การหลบสายตาอาจารย์ทำได้ยาก  ประกอบกับการกำหนด participation requirement ในสัดส่วนคะแนนที่สูงจนต้องหนาว   วิธีเอาตัวรอดคือต้องอ่านให้ทันเท่านั้นค่ะ   แต่พอผ่านไปวีคสองวีค  ครูน้อยก็เริ่มมีเทคนิคค่ะ  (สภาพแวดล้อมกดดันให้หาทางพัฒนาเพื่อความอยู่รอด  ว่าตามหลัก ecology เชียว)     

ü                  เทคนิคการเอาตัวรอด (1):  หาข้อมูลเพิ่มค่ะ  บางท่านอาจจะบอกว่า อ่านหมดก็ไม่ทันแล้วยังจะอ่านเพิ่มอีกเหรอ...  ไม่ใช่อย่างน้านค่า...  เราก็หาข้อมูลเพิ่มเพื่อสร้างความเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น  หรือบทความนั้น  หรือทฤษฎีที่เราจะต้องเรียน  เมื่อได้ภาพใหญ่แล้ว  การอ่านจะทำได้อย่างเร็วขึ้นมาก  เหมือนเราตระหนักได้ว่าส่วนใดคือหัวใจของบทความนั้น   นอกจากนี้  การหาข้อมูลเพิ่มเติม  บางครั้งอาจจะมาจากบทความอื่นที่วิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือเล่มที่เราถูกกำหนดให้อ่าน  หรือวิเคราะห์ทฤษฎีซึ่งก็อาจจะมีพูดถึงข้อดีข้อเสีย  ทำให้เรามีข้อมูลซึ่งแปลกแตกต่างออกไปจากเดิมที่จะได้จากการอ่านเฉพาะเนื้อหาที่ถูกกำหนดเพียงอย่างเดียว   อันนี้จะช่วยได้เยอะในเวลาที่จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการวิเคราะห์ในชั้นเรียนด้วยนะคะ 

ü                  ปัญหากับศัพท์เฉพาะทาง:  อันนี้ไม่อยากจะเชื่อ  ไม่เจอกับตัวเองไม่มีทางรู้ค่ะ   ตอนแรกที่อ่านหนังสือตามที่กำหนดในวิชา Organizational Theory  พบว่าแปลไม่ออกเลยทั้งเล่มค่ะ  แปลคำศัพท์ง่ายๆ ไม่ออกเลย  เช่นคำว่า  program, technology, system (มันน่าจะเป็นวิชาทางด้าน IT มากกว่าหรือเปล่านี่)  แล้วก็อ่านไม่รู้เรื่องไปทั้งเล่ม   อันนี้ไม่มีวิธีสำเร็จรูปในการเอาตัวรอดเลยค่ะ   มาพบว่าเพิ่งจะเริ่มพอเข้าใจตอนอ่านไปสักสามสี่เล่มเข้าแล้วนี่ล่ะค่ะ  เลยพอจะไปถึงบางอ้อกัน   อันนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก  ขอเรียนให้จบเนื้อหาในเทอมนี้ก่อน  จะนำมาสรุปคุยกันอีกทีนะคะ  เผื่อใครเคยเจอปัญหาแบบเดียวกัน ก็มาคุยกันได้เลยค่ะ 

3. เริ่มเข้าสู่โลกของ KM (นิดเดียวเองค่ะ)

ü                  เริ่มไปคุยงานวิจัยนิดหน่อยแล้ว:  พอดีครูน้อยต้องทำโครงงานเขียนวิเคราะห์เปรียบเทียบทฤษฎี  ของวิชา Organizational Theory ค่ะ  เลยคิดจะทำหัวข้อเปรียบเทียบทฤษฎีทางด้าน Organization  เรื่อง Resource Dependency ของ  Pfeffer and Salancik กับ Tacit Knowledge ของ Polanyi    หัวข้อนี้จะเกี่ยวข้องกับหัวข้อซึ่งทาง Professor Kent  Miller  ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของครูน้อยกำลังทำอยู่ด้วย  แต่เป็นคนละแนวกัน   โดยทาง Prof.Miller จะเน้นเรื่อง tacit knowledge และ Bounded rationality ของ  March and Simon แทน  ซึ่งครูน้อยคิดว่าน่าจะเป็นการปูพื้นฐานให้กับตัวเองในการศึกษาต่อไปทางด้าน KM   เพราะการทำโครงงานวิเคราะห์ทางทฤษฎีนี้น่าจะช่วยให้มีความรู้พื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมาก  จากการต้องอ่านทฤษฎีเปรียบเทียบที่เกี่ยวข้อง knowledge นั่นเอง   โชคดีที่อาจารย์เจ้าของวิชาท่านเห็นด้วยกับหัวข้อ และคิดว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ  เพราะฉะนั้น  ก็คงไม่น่าติดปัญหาอะไรนัก อีกวิชาหนึ่งซึ่งต้องทำคล้ายกัน แต่สามารถเลือกเป็นแบบมีผลวิจัยเลยหรือเป็นทฤษฎีเปรียบเทียบก็ได้  คือในวิชา Marketing Strategy  อันนี้ยังไม่ได้คุยกับอาจารย์เจ้าของวิชา  เลยยังไม่ทราบว่าหัวข้อจะผ่านหรือไม่ แล้วจะมานำเสนอต่อไปค่ะ สุดท้ายในหัวข้อนี้  ไม่เกี่ยวกับวิชาที่เรียนค่ะ  แต่อาจารย์เริ่มอยากให้ไปช่วยงานวิจัย  (แต่ไม่กำหนดนะคะ  คืออยากทำอันไหนก็ให้เริ่มไปคุยได้แล้ว)  อันนี้อยู่ระหว่างดูๆ อยู่ค่ะ  อยากจะเลือกทำกับอาจารย์ที่จะเน้นมาด้าน KM หรือด้านที่ต่อยอดจากสาขา strategy  เพื่อจะได้ไม่ห่างไกลกับจุดประสงค์หลักของตัวเองมากนัก   ตอนนี้ก็ยังดูต่อไปแล้วจะมารายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ ค่ะ  

4. ตบท้ายคลายทุกข์

ü                  กึ่งเบื่อ:  ปริมาณการอ่านระดับชาติเนี่ยล่ะค่ะ  ทำให้เกิดอาการเบื่อเล็กๆ (แต่บ่อย)  กับการนั่งอ่านนานๆ   อีกทั้งความเป็นเมืองมหาวิทยาลัยขนาดเล็กมากและไม่มีที่ไปใดๆ ทั้งสิ้น  ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อได้ดีมากค่ะ  แต่ก็มีข้อดีคือประหยัดค่ะ  (ยกเว้นค่าหนังสือมหาโหด  รู้สึกว่าจะใช้ค่าหนังสือของวิชาเดียวไปเท่ากับอัตราที่กพ.กำหนดให้สำหรับทั้งปีแล้วล่ะค่ะ  เศร้าจริงๆ) 

ü                  กึ่งสุข:  ที่ได้ค้นพบว่า  เนื้อหาทฤษฎีที่ครูน้อยเคยสอนนักศึกษาไปนั้น  เป็นเพียงเศษเสี้ยวกระจิ๋วหลิวของตัวทฤษฎีหลักเท่านั้นเอง  และความมหัศจรรย์ของทฤษฎีทางด้าน Organization, Economics, Social Science ที่ได้เที่ยวไปเกี่ยวข้องกับทฤษฎีในเชิงประยุกต์ที่เราใช้ในการเรียนการสอนด้าน MBA นั้น  ก็ช่างทำให้ครูน้อยตื่นตาตื่นใจเป็นอันมาก  ทุกครั้งที่อ่านหรือเรียนไปแล้วเจอว่า  เรื่องนั้นผสมเรื่องนี้แล้วเกี่ยวดองกันออกลูกออกหลานขยายอาณาจักรไปชนพรมแดนชาวบ้าน  หรือไปผนวกดินแดนกลับมาได้อะไรทำนองนี้   ก็จะทำให้รู้สึกสนุกสนานและตื่นเต้นไปกับการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ค่ะ  เป็นความรู้สึกที่ดีมาก  อยากจะขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต  ทุกๆ ท่านที่ให้ความกรุณาสนับสนุนให้ตัวเองได้มาอยู่ตรงนี้ค่ะ  ขอขอบพระคุณนะคะ 

จบแล้วค่ะ  สำหรับ blog เดือนที่หนึ่ง  อาจจะยาวไปสักนิด เพราะต้องเกริ่นแนะนำค่อนข้างมาก  เดือนต่อไปคงกระชับกว่านี้ค่ะ  เจอกันเดือนหน้านะคะ  สวัสดีครูใหญ่อีกครั้งค่ะ  อย่าลืมรักษาสุขภาพด้วยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 133386เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2007 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

hi there,

your blog is interesting

and l can feel that you've been closer

Hang in there... I beleive you'll be a good student and good teacher in the future

If you need any help from here... I will be aside ja

miss ya

Ning

in addition,

I think you should collect the content in your blog

I beleive that they could be edit for be a pocket book about real experience or your bibiography na ja ... let's think about it ... i will find your publisher and  do the marketing for you in Thailand 555

 cheers,

 

สวัสดีครับ ครูน้อย 

เพิ่งได้เข้ามาอ่านครับ    สนุกมาก    และได้ความรู้มากด้วย

วิทยานิพนธ์เรื่อง Resource dependency กับ tacit knowledge ฟังดูน่าสนใจ แม้ผมจะไม่รู้ว่า resource dependency คืออะไร

ผมอยากให้เอารายชื่อหนังสือ ๑๐ เล่มที่ต้องซื้อจนหมดตัวนั้นลงด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อ นศ. ทางเมืองไทยครับ

เห็นด้วยกับคุณหนิงว่าควรวางแผนทำเป็น pocket book ไว้ล่วงหน้าเลย    ครูน้อยเขียนได้สนุกมาก     เมื่อสัก ๑๕ ปีที่แล้วเคยอ่านหนังสือแปลที่คน (นักธุรกิจ) ฮ่องกงเขียนเล่า ประสบการณ์การไปเรียน MBA ที่ Stanford สนุกจนวางไม่ลง     และได้ความรู้ด้วย    แต่หาอีกก็หาไม่พบ ไม่ทราบเอาไปซุกไว้ที่ไหน

ผมไม่อ่านหนังสือครับ     ผมใช้วิธี "ถาม" หรือ "ค้น" หนังสือ     ว่าหัวใจของหนังสือนั้นคืออะไร    หาให้พบ    พบหัวใจใหญ่แล้วก็ค้นหาหัวใจย่อยต่อไป     แล้วผมก็ "เถียง" กับหนังสือ สนุกอย่าบอกใคร     อ่านหนังสือเล่มหนึ่งคิดโจทย์วิจัยได้เป็นร้อย     แต่พอย้อนกลับมาถามว่าเรามีวิธีตอบโจทย์เหล่านั้นได้ไหม    ร้องไห้โฮเลยครับ     ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้วิธีการที่จะทำวิจัย

นี่คือที่มาของการต้องเรียนปริญญาเอกในความเห็นของผม

ครูใหญ่ (ที่ไม่ใหญ่จริง)

 

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่

 

ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำและข้อคิดเห็น   มีกำลังใจเพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ  ตอนแรกยังไม่กล้าบอกคนอื่นมากเท่าไหร่  บอกไปแค่สองสามคน  ตอนนี้ได้รับคำชมเลยมีความกล้ามากขึ้นค่ะ  จะเริ่มกระจายข่าวเรื่องบล็อกออกไปเพิ่มมากขึ้นอีก 

 

สำหรับความเห็นเกี่ยวกับรายชื่อหนังสือ  คงจะคัดลอกมาใส่ในบันทึกแยกดีกว่านะคะ  จะได้ไม่ปนกัน  มีรายชื่อพวกเอกสารที่มาจากงานวิจัยที่ใช้เรียน  รวมถึงไฟล์เอกสารนั้นๆ ด้วย  คงจะลงเป็นรายชื่อไปก่อน  แล้วถ้ามีผู้ต้องการหลายราย  อาจจะไปฝากไว้ที่ server ของ สคส. อีกทีค่ะ

 

ข้อคิดเห็นของครูใหญ่เรื่องการ "ถาม" ขณะอ่าน  ทำให้ได้แง่คิดอะไรบางอย่าง  ซึ่งอาจจะสามารถนำไปใช้ในการเรียนได้  ขอไปขยายผลในบันทึกครั้งถัดไปนะคะ  พบกันใหม่ตอนต้นเดือนหน้าค่ะ

 

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

 

ครูน้อย (ตัวน้อยจริงๆ ค่ะ)

 

ปล.  ขอบคุณอาจารย์หนิงเพื่อนรักที่เข้ามาเยี่ยมชมและให้ความเห็นนะจ๊ะ

 

สวัสดีค่ะครูน้อย  

ครูน้อยเขียนบันทึกไ้ด้สนุกดีค่ะ :)   เข้าใจค่ะกับการเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ต้องทั้งอ่านและคิดเยอะ   การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเป็นเล่มและเข้าไปอภิปรายกับผู้อื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ถ้าเรามีความสามารถด้านภาษาในระดับหนึ่ง เราก็จะรู้สึกสนุกค่ะ  ตอนที่ยากก็คือตอนเริ่มต้นค่ะ

ในเรื่องของค่าหนังสือนั้น น่าจะยืมจากห้องสมุดดูนะค่ะ ถ้าห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตทไม่มี ก็อาจจะลองเ้ข้ามาดูที่ห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน

มิชิแกนเป็นไงบ้างคะ  บางปีที่นั้น จะหนาวแบบทรมานตอนนี้คงเข้าใกล้หน้าหนาวแล้ว  รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ 

ได้เข้ามาอ่านตามที่อาจารย์หมอวิจารณ์แนะนำ ได้ประโยชน์ในการเรียนรู้มากและเขียนอ่านง่าย จะเข้ามาติดตามทุกเดือนครับ รวมทั้งได้อ่านข้อแนะนำของผู้อ่านท่านอื่นๆด้วย ได้ประโยน์มากครับ

สวัสดีค่ะ ครูน้อย

ครูน้อยเล่าแล้วมองเห็นภาพตามคำบรรยายค่ะ   สนใจจะขอทราบรายชื่อหนังสือและเอกสารเพื่อมาจัดหาเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยนะคะ  นักศึกษาของเราจะได้มีตำราดีๆ อ่าน  สำหรับผู้ทีมีงบฯ จำกัด

ขอส่งกำลังใจให้อีกคนค่ะ

 

ขอบคุณคุณกานดา  ดร.พิเชษฐ์  และคุณอุไรวรรณที่แวะมาเยี่ยมชมและให้ข้อคิดเห็นค่ะ  

 

คุณกานดาเคยอยู่ที่ Ann Arbor คงคุ้นเคยอากาศที่นี่ดี  แต่ตอนนี้อากาศร้อนมากเลยค่ะ  อยู่ระหว่าง 80 กว่ามาหลายวันแล้ว  คงเป็นเพราะปรากฏการณ์โลกร้อน  น่ากลัวดีมากค่ะ  

ขอบคุณที่แนะนำเรื่องหนังสือนะคะ   อันนี้ก็โทษใครไม่ได้นอกจากตัวเองหรอกค่ะ  พอดีเป็นคนชอบสะสมหนังสือ  แถมแอบรักมันมากด้วย   แล้วยังชอบซื้อหนังสือใหม่ค่ะ   ขนาดตัดใจซื้อ used book บางเล่ม  ก็ยังขอสภาพดี (มากๆ) หน่อย  มันก็เลยแพง   ต้องขอเวลาปรับตัวอีกซักระยะ  เข้าใจว่าจะปรับตัวได้สำเร็จเมื่อไม่มีเงินกินข้าวค่ะ    : )

 

คุณอุไรวรรณคะ  จัดเรื่องรายชื่อหนังสือให้แล้วค่ะ  หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ  ขอบคุณที่ติดตามค่ะ 

  • ดีใจที่ได้อ่านบันทึกนี้ครับผม
  • แล้วจะรีบตามไปนะครับ
  • ว้าแต่ไม่มีรูปแล้วผมจะตามหาเจอหรือ
  • แล้วเราอยู่ไกลกันจังเลย
  • ฮือๆๆ
  • เข้ามาตามคำแนะนำของอาจารย์หมอวิจารณ์ค่ะ
  • เขียนได้สนุกแต่แฝงไปด้วยความรู้นะคะ
  • จะรอติดตามบันทึกต่อไปค่ะ

สนุก ได้สาระ ได้ความรู้ วิธีคิด และโลกทัศน์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท