การพิมพ์แผนที่และกำเนิด(แผนที่)ประเทศไทย


ความรู้ล้วน ๆ น่าสนใจมาก

     แผนที่ราชอาณาจักรสยาม หรือบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ฉบับแรก ๆ ที่ถูกตีพิมพ์ เป็นแผนที่ที่ชาวตะวันตกจัดทำขึ้น   โดยเฉพาะนักแผนที่ชาวฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้จัดพิมพ์แผนที่ไว้จำนวนมาก ที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำบ่อยครั้ง เช่น " แผนที่ราชอาณาจักรสยาม " หรือ Carte Du Royaume De Siam ที่พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2229 ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์

     ในขณะที่แผนที่ของชาวสยามที่วาดขึ้นเองโดยมากเป็นแผนที่แสดงอาณาบริเวณเฉพาะส่วน เช่น เส้นทางการเดินทัพ เส้นทางเดินเรือแผนที่เมือง  และเนื่องจากนังไม่มีแนวคืดเรื่องขอบเขตหรือเส้นพรมแดนที่แน่นอนของรัฐ จึงไม่เคยปรากฏแผนที่แสดงราชอาณาจักรสยามที่ผลิดโดยชาวสยามมาก่อน

     ฉะนั้นหากถามชาวอยุธยา ชาวบางกอกชาวเชียงใหม่ ชาวปัตตนี ในสมัยรัชกาลที่ 4  ว่าประเทศไทยมีรูปร่างเหมือนอะไร ก็อาจจะถูกถามกลับมาว่าประเทศไทยคืออะไร? และจะมีรูปร่างเหมือนอะไรได้ยังไง?

     จนเมื่อเกิดปัญหาเรื่อง " พรมแดน " กับประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสชนชั้นนำสยามจึงต้องเจรจาทำความตกลงกับรัฐบาลอาณานิคมที่มีเขตแดนติดต่อกัน เพื่อหาข้อยุติว่าที่ดินส่วนไหนเป็นของสยามและไม่ใช่ของสยาม เพื่อแสดงเขตแดนของรัฐที่แน่นอน

     การทำแผนที่จึงเป็นกิจการเร่งด่วนและเป็นพระราชกรณียกิจอย่างแรก ๆ ภายหลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ โดยเริ่มจากการตั้งกองทำแผนที่ทดลองเมื่อ  พ.ศ.2518 ตามคำแนะนำของ เฮนรี่ อลาบาสเตอร์ อดีตรองกงสุลอังกฤษในเมืองไทย และที่ปรึกษาส่วนพระองค์

     โดยเริ่มจากการสำรวจทำแผนที่ในกรุงเทพฯ เพื่อตัดถนนต่าง ๆ แผนที่เพื่อวางสายโทรเลขไปยังพระตะบอง และแผนที่บริเวณปากอ่าวสยาม

     แผนที่รุ่นแรกนี้สันนิษฐานว่าวาดขึ้นด้วยมือเพื่อใช้ในวงแคบเท่านั้น จึงไม่ได้ตีพิมพ์และไม่ปรากฏหลักฐานหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

     การทำแผนที่ได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจังเมื่อรัฐบาลอังกฤษได้ขออนุญาตให้กองทำแผนที่  กรมแผนที่แห่งอินเดีย (ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) เข้ามาวางโครงข่ายสามเหลี่ยมต่อเนื่องจากประเทศอินเดีย ผ่านพม่า เข้าจังหวัดราชบุรี เพื่อบรรจบกับแผนที่ทางทะเลปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในปี พ.ศ.2423 รัฐบาลสยามจึงถือโอกาสนี้ทาบทามผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำแผนที่ให้แก่สยามด้วย

     โดยได้จ้าง  เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี ชาวอังกฤษ เชื้อสายไอริช ซึ่งต่อมาได้รับราชทินนามเป็น " พระวิภาคภูวดล " เข้ามาดูแลและวางรากฐานการทำแผนที่

     แผนที่ที่พระวิภาคภูวดลทำขึ้นในช่วงแรกเป็นแผนที่เฉพาะส่วนที่ทำขึ้นตามความต้องการของหน่วยงานราชการ คือ แผนที่ทางโทรเลขจากตากไปมะละแหม่ง แผนที่วิวาทชายแดนระหว่างอำเภอรามันห์ ปัตตานี กับเขตติดต่อกับแม่น้ำเประในการปกครองของอังกฤษ  และแผนที่ลำน้ำแม่ติ่นที่เชื่อมต่อระหว่างเขตแดนเมืองตากและเชียงใหม่ เพื่อประกอบกรณีพิพาทเรื่องเก็บค่าตอ (ภาษีที่เก็บจากการทำป่าไม้) ระหว่างเจ้าเมืองตาก และเจ้าประเทศราชนครเชียงใหม่

     เพื่อผลิตแผนที่ให้ได้ทันกับความต้องการรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนแผนที่ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2425 เพื่อฝึกหัดการทำแผนที่ให้แก่นักเรียน ซึ่งส่วนมากเป็นบุตรหลานข้าราชการ และพัฒนาเป็นกรมแผนที่ในอีกสามปีต่อมา

     แม้ในช่วงเวลานั้นจะมีโรงพิมพ์ตั้งขึ้นหลายแห่งแล้วในกรุงเทพฯ แต่เป็นเทคโนโลยีเพื่อการพิมพ์หนังสือ จึงต้องส่งแผนที่ไปพิมพ์ที่ต่างประเทศ จนเมื่อรัฐบาลเห็นความจำเป็นต้องผลิตแผนที่ให้ได้จำนวนมาก เพื่อแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ กรมแผนที่จึงได้ว่าจ้างชาวอังกฤษ 3 นาย เมื่อ พ.ศ.2443 เข้ามาฝึกสอนการพิมพ์แผนที่ และในปีถัดมาได้สั่งซื้อเครื่องพิมพ์หินสำหรับพิมพ์แผนที่จากประเทศอังกฤษ อันเป็นจุดเริ่มต้นของห้องพิมพ์ กรมแผนที่

     ผลงานของโรงพิมพ์กรมแผนที่ในระยะแรก เช่น แผนที่มณฑลกรุงเทพสยาม ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) แผนที่กรุงเทพฯ ร.ศ.123 (พ.ศ.2447) เป็นแผนที่ขาวดำทั้งสองระวาง เมื่อเทียบคุณภาพงานพิมพ์ของห้องพิมพ์ กรมแผนที่กับแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับ นายวอน นายสอน ที่พิมพ์มาก่อนตั้งแต่ พ.ศ.2439 (แผนที่ฉบับนี้ไม่ระบุโรงพิมพ์) แล้วมีความละเอียดและสวยงามน้อยกว่ามาก

     สำหรับแผนที่ฉบับแรกที่รัฐบาลสยามจัดทำขึ้นและส่งไปพิมพ์ที่ต่างประเทศ ก่อนที่จะตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเอง คือ " แผนที่พระราชอาณาจักรสยาม " หรือชื่อภาษาอังกฤษ "Map of The Kingdom of Siam and its Dependencies"

     ซึ่งรวบรวมขึ้นจากข้อมูลที่พระวิภาคภูวดลได้พาลูกศิษย์ไปสำรวจภาคสนามยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะติดตามกองทัพของรัฐบาลไปปราบโจรจีนฮ่อที่ปล้นสะดมหัวเมืองชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้สำรวจและวาดแผนที่จากสระบุรีไปหนองคาย หลวงพระบางและหัวพันทั้งห้าทั้งหกได้สำเร็จ

     ข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมด บวกกับข้อมูลจากแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสและอังกฤษทำไว้แล้วพระวิภาคภูวดลจึงได้เขียนแผนที่พระราชอาณาจักรขึ้นใหม่ และนำไปพิมพ์ที่กรุงลอนดอน แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2431 เป็นแผนที่พิมพ์ 4 สี คือ ดำ น้ำตาล ฟ้าอ่อน และเหลือง โดยว่าจ้างโรงพิมพ์ W &A.K.Johnston ทำแม่พิมพ์และจัดพิมพ์ และได้พิมพ์ผังเมืองขนาดย่อมขึ้นในคราวเดียวกันแทรกไว้ 3 เมือง คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และหลวงพระบาง โดยผังเมืองพิมพ์เป็นแผนที่ 2 สี คือ สีดำและสีฟ้า

     " แผนที่พระราชอาณาจักรสยาม " ฉบับนี้เรียกกันต่อมาว่า " แผนที่ฉบับแมคคาร์ธี " ได้เป็นต้นแบบในการทำแผนที่ราชอาณาจักรที่ผลิตขึ้นหลังจากนั้น อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวบางกอก ชาวเชียงใหม่ หรือชาวปัตตานี เริ่มมีจินตนาการร่วมกันว่าประเทศไทยมีรูปร่างอย่างไร

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของความรู้

หนังสือพิมพ์ มติชน (คอลัมม์ โครงการสยามพิมพการ)

ขอบคุณมากค่ะ

    

คำสำคัญ (Tags): #กองคลังแผนที่
หมายเลขบันทึก: 136120เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สนใจมากครับ ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆ นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท