การวิจัยสภาพการใช้ ICT ของโรงเรียนในฝัน


การวิจัยสภาพการใช้ ICT ของโรงเรียนในฝัน

บทคัดย่อ                

การศึกษาสภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโรงเรียนในโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน
มีวัตถุประสงค์
เพื่อศึกษา
1) สภาพการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
2) สภาพการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
3) สภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการจัดการเรียนรู้ และ
4) สภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้และความพึงพอใจของนักเรียน
               
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  ได้แก่  ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ในโรงเรียนในโครงการ
หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน ทั้งหมด จำนวน 921 โรงเรียน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย  โดยสุ่ม ผู้บริหารโรงเรียน ๆ 1 คน  ครูผู้สอนจากทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๆ ละ 1 คน นักเรียนเฉพาะ     ช่วงชั้นที่ 2 - 4  ช่วงชั้นละ 3 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ ใช้แบบสอบถาม จำนวน  4  ฉบับ ได้แก่

ฉบับที่ 1  สภาพทั่วไปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโรงเรียน

ฉบับที่ 2 สภาพการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโรงเรียน

ฉบับที่ 3 สภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการจัดการเรียนรู้ และ

ฉบับที่ 4 สภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้และความพึงพอใจของนักเรียน
สรุปผลการวิจัย
1. สภาพความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่ อุปกรณ์ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ทุกโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 33 เครื่อง และมีอุปกรณ์ครุภัณฑ์ประกอบคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอข้อมูล และการผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่         ครูผู้สอนมีเพียงร้อยละ 50.59 ที่มีวุฒิทางด้านคอมพิวเตอร์    ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า  ด้านไฟฟ้า มีความเพียงพอร้อยละ 57.64  ทั้งนี้ โรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาสยังคงพึ่งพาไฟฟ้าจากชุมชนร้อยละ 100 นอกจากนี้พบว่าโรงเรียนร้อยละ 100 มีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในโรงเรียน ความเร็วของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในโรงเรียน ร้อยละ 90.30 ใช้ระดับความเร็วต่ำกว่า 1 Mb/s และคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นชนิด Pentium IV หรือเทียบเท่า      ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ ระบบปฏิบัติการ Linux และ Microsoft Windows โปรแกรมประยุกต์ที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ Microsoft Office และในระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายโรงเรียนส่วนใหญ่ใช้โปรแกรม Moodle เป็นโปรแกรมหลักในการพัฒนา Courseware เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย  และโรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดโปรแกรมที่ใช้ในการบริหารจัดการสารสนเทศ  ซึ่งโรงเรียนบางส่วนมีโปรแกรมดังกล่าวหลากหลายชนิดแต่ไม่สามารถเชื่อมต่อกัน   ทั้งระบบได้
2. สภาพการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่า โรงเรียน ร้อยละ 82.90 จัดทำแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายปี ร้อยละ 52.10 จัดทำแผนราย 3 ปี และมีเพียงร้อยละ 24.30 จัดทำแผนราย 5 ปี โรงเรียนร้อยละ 90.70 จัดทำ/ใช้ฐานความรู้เพื่อให้นักเรียนสืบค้นผ่านระบบ
e-Library รวมทั้งมีการจัดทำ/ใช้ห้องปฏิบัติการที่ประกอบด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในโรงเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มากกว่าร้อยละ 80.00 โรงเรียนร้อยละ 92.90 จัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร้อยละ 70.00 จัดทำ/ใช้ระบบ e-Learning และ Website ของโรงเรียน รวมทั้งจัดกิจกรรมประกวด  แข่งขันทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับครูและนักเรียน      ครูจัดทำแผนการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร้อยละ 41.40 การสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูไปประชุม อบรม สัมมนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  อยู่ในเกณฑ์น้อย ครูมีความสามารถในการผลิตสื่อด้านนี้เพียงร้อยละ 43.40 และสื่อที่ผลิตไม่ได้รับการรับรองคุณภาพเป็นส่วนใหญ่
3. สภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการจัดการเรียนรู้  โรงเรียนวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยจัดทำหน่วยการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการจัดการเรียนรู้มากที่สุด คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี รองลงมาได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์     ครูจำนวนหนึ่งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบการเรียนการสอน ได้แก่ สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) WBI/WBT หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book)      e-Presentation ,  
e-Album และ Courseware    ครูส่วนมาก ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้   ขั้นนำเสนอเนื้อหามากที่สุด รองลงมา คือ ขั้นสรุปบทเรียน การนำเข้าสู่บทเรียน และใช้น้อยที่สุดในขั้นประเมินผล ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
4. สภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้และความพึงพอใจของนักเรียน   
   
1) วิธีการเรียนรู้ในห้องเรียน   นักเรียนในโครงการส่วนมาก ใช้วิธีเรียนรู้โดยการศึกษาจากบทเรียนในอินเทอร์เน็ตในระดับมากที่สุด ร้อยละ 65.20 รองลงมาใช้วิธีการศึกษาจากระบบ e-Learning ของโรงเรียนจำนวน ร้อยละ 43.50 และใช้วิธีศึกษาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ร้อยละ 33.40        นักเรียนส่วนมากได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการเรียนรู้ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ในระดับมาก    ในด้านการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม นักเรียนในโครงการฯ ส่วนมากค้นคว้า แสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตในระดับมากที่สุด ร้อยละ 86.63                     
   
2) ประสบการณ์ของนักเรียนในการสร้าง/ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  นักเรียนส่วนมากมีประสบการณ์ในการสร้าง หรือใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร      ในระดับมาก เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ประสบการณ์ในการนำเสนอข้อมูลด้วยโปรแกรม PowerPoint คิดเป็นร้อยละ 92.75 รองลงมา ได้แก่ ประสบการณ์การในการจัดทำรายงาน ร้อยละ 92.63 และประสบการณ์การในการจัดทำแผ่นพับหรือวารสาร ร้อยละ  86.07  ตามลำดับ              เมื่อพิจารณาตามประเภทของการสร้าง/ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่า นักเรียนส่วนมากมีประสบการณ์ในการสร้างงานกราฟิกด้วยโปรแกรม Photoshop           ในระดับปานกลาง ร้อยละ 74.58 รองลงมาได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์/ชิ้นงานด้วยโปรแกรม Pro/DESKTOP ร้อยละ 66.33  และการจัดทำอัลบั้มภาพ ร้อยละ 65.33 ตามลำดับ                          ด้านวิธีการติดต่อสื่อสาร พบว่า นักเรียนส่วนมากใช้วิธีการรับ-ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) มากที่สุด ร้อยละ 85.88 รองลงมา ได้แก่ การสนทนาผ่านทางเครือข่าย (Chat) ร้อยละ 76.95 และการใช้บริการรับส่งข้อความของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล (Short Massage Service : SMS) ร้อยละ 75.64 ตามลำดับ              ด้านการใช้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนักเรียนส่วนมากใช้บริการลักษณะนี้ในห้องสมุดในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 93.32 รองลงมา ได้แก่ การใช้บริการตรวจสอบผลการเรียน ร้อยละ 76.27 และการลงเวลามาโรงเรียน ร้อยละ 64.65 ตามลำดับ     สำหรับรายได้จากผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของนักเรียน พบว่า นักเรียนส่วนมาก ร้อยละ 62.65 มีรายได้จากผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อจำแนกตามประเภทของโรงเรียน พบว่า นักเรียนในโรงเรียนประเภทประถมศึกษา มีรายได้จากผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร้อยละ 65.75 และ นักเรียนในโรงเรียนประเภทประถมศึกษาขยายโอกาส มีรายได้จากผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร้อยละ 55.00 และนักเรียนในโรงเรียนประเภทมัธยมศึกษามีรายได้จากผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร้อยละ 64.04 รายได้ของนักเรียนส่วนมากมาจากการพิมพ์งาน ร้อยละ 65.64 รองลงมา ได้แก่ การทำปกเอกสารและรายงาน ร้อยละ 63.65  และการจัดทำแผ่นพับ คิดเป็นร้อยละ 55.90 ตามลำดับ
   
3) ความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า นักเรียนโรงเรียนในโครงการมีความพึงพอใจต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโรงเรียนในระดับปานกลาง ( =3.32) ทั้งนี้ นักเรียนมีความพึงพอใจในเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน     มากเป็นอันดับแรก (=4.07) รองลงมาได้แก่ การจัดการเรียนการสอนที่นักเรียนสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติงานในสภาพชีวิตจริงได้
(
=3.74) และ การจัดการเรียนการสอนที่เปิดให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงเหตุผลอย่างหลากหลาย และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนได้ปฏิบัติการในห้องทดลองจริง (=3.71) ตามลำดับ รายการที่นักเรียนมีความพึงพอใจในอันดับท้ายสุด คือ การบริการห้องมัลติมีเดีย ได้แก่ ห้องสมุดภาพและห้องสมุดเสียง (=2.99) รองลงมาได้แก่ การบริการสื่อและการค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตในห้องปฏิบัติการ (=3.05) การให้บริการแหล่งค้นหาความรู้ได้อย่างต่อเนื่องไม่จำกัดเวลา  (=3.36) และการบริการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Learning หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI  สื่อ WBI/WBT รวมทั้งความเร็วในการติดต่อทางอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าหาความรู้ (=3.39)         ในด้านการบริการสื่อและการค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตในห้องปฏิบัติการ นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการบริการของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ  (=3.44) มากเป็นอันดับแรก รองลงมาได้แก่การบริการของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ (=3.35) และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ม.ต้น (=3.28) การบริการของกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่นักเรียนพึงพอใจเป็นอันดับท้ายสุด ได้แก่ การบริการของกลุ่มสาระการเรียนรู้อุตสาหกรรม (=2.56) รองลงมาได้แก่    การบริการของกลุ่มสาระการเรียนรู้ดนตรี ศิลปะ (= 2.80)  และสุขศึกษาและพลานามัย (=2.88) ตามลำดับ 

หมายเลขบันทึก: 136410เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สงสัย แบบสอบถามยาวๆที่ส่งมาให้หัวหน้ากลุ่มสาระฯตอบเมื่อเร็วๆนี้  คงจะเป็นผล  จึงเป็นวิจัยเรื่องนี้มั้งคะ

ขอบคุณค่ะที่นำมาให้ทราบผล..ดีมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท