สืบหาผ้าย้อมคราม ที่บ้านแม่ฑีตา


แม่ฑีตาเล่าว่าการเลี้ยงครามนั้นต้องดูแลให้ดี "ไม่อย่างนั้น 'เขา' จะไป" (คือเสีย ใช้การไม่ได้)

เปลี่ยนบรรยายกาศมาภาคอีสานกันบ้าง ก่อนหน้านี้ไปแวะที่สีคิ้ว บ้านเขว้า และนาอ้อ เมืองเลย แต่ยังไม่เล่า เล่าตอนไปบ้านแม่ฑีตาที่บ้านนาดีก่อน ก็แล้วกัน


พวกเราเดินทางออกจากเลยก็บ่ายแก่แล้ว กว่าจะมาถึงเขตสกลนครก็เกือบเย็น เห็นข้างทางมีหมู่บ้านหนึ่งชื่อ พันนา เข้าใจว่า พรรณานิคม นี้คงจะตั้งขึ้นใหม่ เดิมอาจจะเป็นพันนาก็ได้ แล้วก็นึกถึงสิบสองพันนา หรือสิบสองปันนา เห็นชื่ออำเภอใหม่ๆ ในภาคอีสานหลายชื่อ และเป็นชื่อยาวๆ ด้วย มีเวลาคงจะได้สืบสาวตำนานชื่อบ้านชื่อตำบลให้มากกว่านี้


กว่าจะไปถึงที่ว่าการอำเภอพรรณานิคม ก็สี่โมงกว่าแล้ว เนื่องจากเดินทางไกลมาก ขึ้นไปที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ พนักงานกลับบ้านกันเกือบหมดแล้ว เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนบอกว่าไม่ได้รับจดหมายที่ส่งมา พอดีติดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย เป็นอันว่าไม่มีใครนำทาง ติดต่อเจ้าภาพไว้ให้


เรานึกในใจว่า ซวยล่ะสิ เพราะจุดหมายต่างๆ ที่กำหนดเอาไว้นั้น เป็นเพียงที่หมายคร่าวๆ เท่านั้น ก็ได้มาจากหนังสือท่องเที่ยวบ้าง หนังสือเรื่องผ้าบ้าง ไม่ได้บอกเล่าเก้าสิบให้ชัดเจน ว่าหมู่บ้านอะไร อยู่ตรงไหน บอลถามว่า "พี่ เอาไง" ก็บอกได้คำเดียวว่า "ก็ไปกันเอง" ถามเจ้าหน้าที่ว่า บ้านนาดีอยู่ตรงไหน เขาก็บอกทางเสียยาวเหยียด เรื่องบอกทางกับคนที่ไม่เคยรู้จักทางนี้ เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะต้องอาศัยจินตนาการเอา เขาบอกถึงเส้นทางเลียบคลองชลประทาน ได้ความพอคร่าวๆ ว่ามีสองหมู่บ้านที่เขาทอผ้า แต่เขาไปออกร้านที่งานแข่งเรือ ไปที่หมู่บ้านก็คงจะไม่เจอ เราคิดว่ายังไงเสียก็ต้องไปให้ถึง และน่าจะมีผู้คนในหมู่บ้านบ้างล่ะน่า


บ้านแม่ฑีตา ที่หมู่บ้านนาดีนี้ ผมได้ข้อมูลจากนิตยสารขวัญเรือนเมื่อไม่กี่เดือนก่อน คุณชัลวาลย์ ทองดีเลิศ เขียนเอาไว้ น่าสนใจเพราะเป็นผ้ามัดหมี่ แต่ย้อมคราม ไม่ได้ย้อมสีเหมือนที่อื่นๆ


ว่าแล้วก็ไปหาพรรคพวกที่รถบอกให้ตามเส้นทางที่เขาบอกว่า แต่หลงครับ ออกไปที่เส้นทางใหญ่ ถามชาวบ้านไปเรื่อยๆ ว่าบ้านนาดีอยู่ตรงไหน ย้อนกลับไป เจอทางค่อนข้างเปลี่ยว และแคบ ถามคนที่สวนทางมา เขาบอกทางให้เลี้ยวเข้าทางเล็ก มีเด็กสองคนเล่นน้ำในคลองเล็กๆ ถามอีก เด็กก็บอกทาง ใครๆ ก็ดูเหมือนจะรู้จักบ้านนาดี แต่ด้วยความที่เราไม่คุ้นเคยเส้นทาง และนึกไม่ออกว่าระยะทางนั้นไกลแค่ไหน ใครๆ ก็บอกไม่ไกลๆ (แต่คำว่าไม่ไกลของคนต่างจังหวัดนั้นเราไม่เชื่อแน่ๆ เรื่องนี้มีตัวอย่างในหลายพื้นที่ แต่ถ้าเขาบอกว่าไกล อย่างนี้ต้องรีบเชื่อ) สักพักก็เริ่มเห็นเส้นทาง เลียบคลองอย่างที่ว่าจริงๆ ถามใครๆ อีกสักคนสองคน เห็นคนอาบน้ำในคลองเล็กๆ น้ำใสๆ ถามอีก เขาบอกให้เลี้ยวข้ามคลองเข้าไป


จากนั้นเจอวัดแห่งหนึ่ง ขึ้นไปบนศาลามีญาติโยมนั่งอยู่สี่ห้าคน ถามทางเขาต่อ แล้วเลยไปนิดหนึ่ง ถามใครอีกสองสามคนได้ความว่าเลยมาเล็กน้อย พอถอยหลังแล้วเลี้ยวหน่อยเดียวก็เจอรถเก๋งขวางอยู่ รถเก๋งเดินหน้าหลีกทางให้ รถตู้ของพวกเขาเดินตาม ก็ต้องลงถามอีกตามเคย คุณน้าคนหนึ่งบอกว่า นี่แหละบ้านแม่ฑีตา ก็เลยดีใจกันยกใหญ่ รีบอธิบายว่า เรามาแบบฉุกละหุก เพราะติดต่อทางอำเภอแล้วติดขัด จึงต้องบุกมาเองไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า คุยกันสี่ห้านาที เขาเชิญให้เข้าไปในบ้าน


บ้านหลังนี้ก็เหมือนบ้านอื่นๆ ในชนบท คือเป็นบ้านไม้ มีต้นไม้ต้นไร่เต็มไปหมด แต่มั่นคงแข็งแรงดี คุณยาย หรือที่เรียกกันว่าแม่ฑีตา กำลังย้อมผ้าอยู่ในโรงย้อม เป็นเรือนไม้เล็กๆ โผล่หน้าออกมา บอกว่า เข้ามาสิ สงสัยคุณยายคงจะได้ยินที่เราคุยกันแล้ว รีบบอกความประสงค์ และขออนุญาตถ่ายทำ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แม่ฑีตาบอกว่า จะให้ทำยังไงก็บอกนะ ระหว่างนั้นพรรคพวกก็เตรียมอุปกรณ์ ผมเข้าไปสอบถามและพูดคุยกับแม่ฑีตา


แม่ฑีตา (บางทีก็เรียกว่า คุณยาย) สวมแว่นสายตายาว (เดาเอา) นุ่งผ้าถุงย้อมคราม เสื้อคอกระเช้าอย่างที่คนแก่สวมใส่กัน ท่าทางใจดี คุยเก่ง คงมีใครต่อใครมาสัมภาษณ์กันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว และยังมีนักศึกษามาดูงานด้วย


โรงย้อมของยายมีอ่างดินเผาเล็กๆ เป็นหม้อคราม (เรียกว่าหม้อนิลก็ได้) เรียงรายไปทั่ว ขนาดสัก 10 ลิตร บ้างก็แตก แต่ส่วนใหญ่มีฝาปิดมิดชิด มีรอยสีครามเปื้อนอยู่ อยู่แยกห่างออกมาจากตัวเรือนพักอาศัยเล็กน้อย


แดดหมดไปแล้ว เริ่มต้องอาศัยแสงไฟ (ใช้สปอตไลต์วัตต์สูง) แต่การย้อมยังทำได้เรื่อยๆ (ไม่ต้องอาศัยแดด ไม่เหมือนที่สุรินทร์ ซึ่งจะได้เล่า เมื่อเดินทางไปถึงวันสุดท้าย) แม่ฑีตาบอกว่า เดิมก็ไม่ได้ทำอย่างนี้ แต่พี่จิ๋ว (ลูกสาว) แนะนำ แม่ฑีตาใช้เวลาลองผิดลองถูกเป็น 7-8 ปี ตอนนี้ทำมาแล้วประมาณ 10 ปี เรียกว่าอยู่ตัว ผ้าครามของพี่จิ๋วมีขายหลายที่ พี่จิ๋วเองไปออกร้านในกทม บ่อยๆ มีงานออกร้านที่ธรรมศาสตร์ทีไร ก็เจอพี่จิ๋วทุกที



การย้อมครามนี้ เป็นเรื่องยาก หากจะต้องเริ่มต้นกันใหม่ เพราะมีสูตรที่ละเอียด นอกจากเรื่องของส่วนผสมที่ต้องใช้ใบครามต้นครามแล้ว ยังต้องมีน้ำด่าง และเรื่องของการหมัก การพัก และระยะเวลาที่จะใช้การได้ พูดกับแม่ฑีตายืดยาว เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง


แม่ฑีตาเล่าว่าการเลี้ยงครามนั้นต้องดูแลให้ดี ไม่อย่างนั้น "เขา" จะไป (คือเสีย ใช้การไม่ได้) นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มส่วนผสมอื่นๆ เช่น กล้วย หรือน้ำตาล ฟังดูแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องยาก ข้างหลังบ้านมีโอ่งขนาดใหญ่ ใส่ครามที่เป็นเนื้อข้นๆ นำมาใช้ย้อมได้ พี่จิ๋วบอกเพิ่มเติมว่า แหล่งผ้าที่อื่นยังมาซื้อครามของแม่ฑีตาถึงที่นี่ และเท่าที่ทราบ ตอนนี้ที่อื่นๆ ก็ยังมีความพยายามจะหาสูตรย้อมครามของตนขึ้นมา ยายฑีตาบอกเพิ่มเติมว่า ถึงได้สูตรไปก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ ต้องมีประสบการณ์มากๆ เลยทีเดียว


ผ้าย้อมครามของแม่ฑีตาเน้นผ้าฝ้าย ย้อมทั้งลวดลายแบบเก่า และลวดลายแบบใหม่ที่คิดขึ้นเอง การย้อมครามของที่นี่ (พี่จิ๋วบอก) ต่างจากของเก่าคือ เน้นน้ำหนักของสีคราม ถ้าเป็นของเก่าจะใช้สีเดียว เป็นอันจบ เหมือนสีขาวดำ แต่ผ้าย้อมครามของที่นี่ มีสีอ่อนแก่แตกต่างกันไป ทำให้มีความสวยงามที่หลากหลายกว่าผ้าย้อมครามแบบดั้งเดิม ส่วนการทอนั้นมีชาวบ้านเป็นคนทออีกทีหนึ่ง ช่างทอคนหนึ่งบ้านอยู่ติดกัน ชื่อ “พิศพระจันทร์” คุณยายบอกว่า เป็นช่างทอฝีมือดี ใช้กี่มือทอ ผมถามว่า ทำไมยายไม่ใช้กี่กระตุก คุณยายทำตาโต บอกว่า “พี่จิ๋วเขาไม่ชอบ”


พอดี บอล นุ่งโสร่งที่ซื้อมาจากสีคิ้ว คุณยายเห็นแล้วบอกว่าชอบจังเลย จะทำโสร่งย้อมครามให้เอาไหม พรรคพวกดีใจกันใหญ่ บอกว่าถึงกรุงเทพฯ แล้วจะโทรศัพท์มาบอกว่าจะสั่งคุณยายทำให้สักกี่ผืน แต่คงจะขอทราบราคาและจ่ายเงินตามปกตินั่นแหละ


พี่จิ๋วไปหอบผ้าที่อยู่ในถุงมาให้ พวกเราหยิบไปพาดราวไม้ไผ่ จัดแสงกันดีแล้ว ก็ลงมือถ่ายทำไปทีละผืนๆ จนหมด ระหว่างนั้นฟ้ามืดมาก ทั้งครึ้มฝนด้วย เร่งถ่ายกันอุตลุต คุณยายบอกว่า “ไม่ชอบอยู่อย่างเดียว ที่ไม่บอกล่วงหน้า” แต่ดูสีหน้าแล้วไม่ได้บอกถึงความไม่พอใจอย่างที่พูด


ถ่ายผ้าเสร็จแล้วก็ยกอุปกรณ์ไปที่บ้านป้าพิศ (พิศพระจันทร์) ที่ทอผ้ามัดหมี่ย้อมครามให้ดู การทำได้รวดเร็ว เพราะมีความชำนาญมาก คุณยายบอกว่าเมื่อต้องไปสาธิตที่ไหนก็พาป้าพิศไปด้วยเสมอ การทอผ้ามัดหมี่นั้นต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก ถ้าเส้นด้ายเหลื่อมไป ลวดลายก็จะไม่สวย กี่ของที่นี่เป็นกี่มือธรรมดา แต่ใช้กระสวยที่ใหญ่และยาวเป็นพิเศษ แม่ฑีตาบอกว่าพี่จิ๋วต้องการอย่างนี้ เพื่อให้ทอได้รวดเร็ว และบรรจุหลอดที่พันด้ายได้มาก ไม่ต้องคอยเปลี่ยนหลอดด้ายบ่อยๆ


ถ่ายทำเสร็จประมาณทุ่มกว่าๆ เก็บอุปกรณ์เสร็จแล้ว คุณยายเรียกให้ไปขนกล้วยที่บ้าน มีกล้วยแขวนกับราวไว้ประมาณ 10 เครือ คุณยายตัดมาให้ 4 เครือ ช่วยกันหอบกับบอลไปที่รถคนละ 2 เครือ กล้วยยังเขียวอยู่ อีกสองสามวันคงได้กิน ระหว่างทางคุณยายบอกว่าเส้นทางคงจะรู้แล้วนะ คนเต่างอยเขารู้ ผมหันไปถามบอลว่าใคร บอลบอกว่า ก็พี่โตไง เขาอยู่อำเภอเต่างอย คุณยายได้ยิน เดินไปที่โต แล้วเรียก "ไอ้โต" ขำกันใหญ่ คุณยายบอกทางอีกครั้ง พอขึ้นรถ โตก็จำไม่ได้เสียแล้ว


เราร่ำลาคุณยาย พี่จิ๋ว และป้าพิศด้วยความประทับใน คุณยายกำชับว่า อย่าลืมโทรมาบอกนะ จะทำโสร่งย้อมครามให้ วันนี้ดีใจมาก ที่แม้จะติดต่อประสานงานผิดพลาด แต่ก็ยังได้งานตามที่กำหนดไว้ และเป็นแหล่งผ้าที่จะต้องถ่ายทำให้ได้ เนื่องจากมีความแปลกแตกต่างจากที่อื่นๆ


พวกเขาเดินทางสู่ตัวเมืองสกลนคร โตมีญาติอยู่ที่นี่ ให้เขาขับรถออกมารับตรงประตูเมือง ที่ประตูเมืองนี้ดูแปลกอยู่ คล้ายๆ กับศาล หรือหอนาฬิกาอะไรสักอย่าง มากกว่าจะเป็นประตูเมือง น้องกิ่งขับรถนำทางไปปั๊มน้ำมัน เอารถไปเก็บ แล้วพาไปกินข้าว วันนี้สบายใจ ไม่ต้องวนหาที่กินข้าวกัน คืนนี้เขามีงานแห่ตอนกลางวัน แต่กลางคืนก็มีงานด้วย ดูครึกครื้น แต่ด้วยความเหนื่อย ทำให้ไม่มีใครอยากจะไปไหน แม้กระทั่งบอล ซึ่งปกติอยากจะไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์ตามร้านอินเตอร์เน็ต ก็บอกว่ากลับที่พักดีกว่า


กินข้าวเสร็จจึงไปหาที่พักในตัวเมือง ได้สถานที่เหมาะกับสถานภาพ ไม่ถูกหรือแพงจนเกินไป สภาพก็สะอาดดี เป็นอันใช้ได้ นอนดูโทรทัศน์ และนั่งเขียนหนังสือ แต่ไม่มีสมาธิพอที่จะเขียนบทโทรทัศน์ เอาเอกสารต่างๆ มาอ่าน เตรียมการเดินทางในวันพรุ่งนี้ คาดหมายเอาไว้มาก ว่าจะได้พบกับแหล่งผ้าทอดีๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

หมายเลขบันทึก: 138745เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2007 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
  • พึ่งเห็นโดยบังเอิญ ว่าเปิด blog ใหม่
  • เลยตามมาเยี่ยมค่ะ
  • คุณ นี่หลงประจำเลย ...
  • เล่าเรื่องหลง บ่อย ๆ วันหลังไม่มีใครกล้าไปกับคุณแน่
  • เอิ้ก ๆๆๆ

รอติดตาม ดูภาพถ่ายด้วยนะคะ

  • อ่านสนุกดีครับ
  • เขียนอีกนะครับอาจารย์
  • ตามอ่านครับ
สวัสดีครับ คุณกุ้ง coffee_mania (ลิงก์ไม่ไป ไม่เป็นไร คนกันเอง) เปิดบล็อกใหม่ แต่ว่าที่เขียนวันก่อนย้ายมาไม่ได้ แต่คุณต้นกล้าบอกว่าสักพัก จะมีฟังก์ชันที่ย้ายบทความข้ามบล็อกได้ เยี่ยมเลย... หลงทุกทีจริงๆ แต่ว่า ทราบไหม การที่เราหลง ทำให้เรารู้จักเส้นทางที่ไปไม่ได้เพิ่มอีก 1 เส้นทาง หลงหลายครั้ง เรารู้หลายเส้นทาง ถือคติงี้แหละ ไปสระบุรีล่าสุดยังหลงเลย แต่ว่ายังไงก็ไปถึงจุดหมายครับ ;)
สวัสดีครับพี่หนิง (DSS "work with disability") ภาพถ่ายท่าทางจะยากเสียแล้ว และผ่านมาหลายปี รอไปเที่ยวหน้าใหม่ๆ สดๆ จะถ่ายภาพมาเต็มๆ เลยครับ ขอบคุณที่เยี่ยมเยียนครับ
สวัสดีครับ คุณออต ตามอ่านเรื่องผ้าของคุณออตเหมือนกัน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ผมไปแบบฉาบฉวยครับ ที่หนึ่งก็ครึ่งวัน ไม่ได้ลึกมาก เสียดายเหมือนกัน เพราะเวลาจำกัด แต่ก็ไปได้หลายที่ครับ
  • สวัสดีคะตามมาดูเรื่องผ้าด้วยคะ
  • ชอบผ้าไทยคะ
  • ที่ทำงานช่วงเดือนกุมภาเขาจะใส่ผ้าไทยกันทั้งเดือนเลยคะ
สวัสดีครับ คุณหมู : จริยา ทิพย์หทัย นอกจากสรรพคุณที่ดีกว่าแล้ว การใช้ผลิตผลงานหัตถกรรม ให้ความรู้สึกถึงคุณค่ามากกว่าด้วยครับ เคยไปดูเขาทอผ้าที่ตรอนด้วยล่ะ วันหลังจะเล่าให้ฟังครับ
สวัสดีครับ พี่ naree suwan ทำไมเลือกเดือนกุมภาละครับ หรือว่าเป็นเดือนแห่งความรัก? ก็เข้าทีดีครับ ช่วงหลังๆ เห็นผู้คนใส่ผ้าไทยมากขึ้นนะครับ มีผ้าซิ่นหลายๆ แบบ ผ้าฝ้ายก็เยอะ ถ้าได้สั่งทอเองด้วยแล้ว น่าภูมิใจมากเลยครับ

สวัสดีค่ะ อ่านเพลิน ได้ความรู้ค่ะ

อยากไปมั่งจัง

ผ้าย้อมครามเด๋ยวนี้ มีคนนิยมมากขึ้น แต่คิดว่า ต้องมีเรื่องการออกแบบมาเกี่ยวข้องนะคะ

สวัสดีครับ พี่ sasinanda P ผ้าไทยจะมีปัญหาในการออกแบบสำหรับตัดเย็บ เพราะคนออกแบบลายผ้า ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า โบราณเขาใส่เป็นผ้าทั้งผืน การนำผ้าทอแบบเดิมๆ มาตัดเย็บจึงดูไม่ค่อยสวยงาม ผิดที่ผิดทาง เก้ๆ กังๆ ชอบกล เว้นแต่มีช่างฝีมือดีๆ หรือออกแบบลายผ้าทอเอาไว้เลย แต่จะว่าไปก็คงไม่ยากเกินไปครับ
ในบ้านเรามีแหล่งผ้าทอมากขึ้น ถ้าว่างลองตระเวนแวะเวียนไปเยี่ยมสิครับ ไว้ผมจะทยอยเล่าให้ฟังด้วยครับ
สวัสดีครับ คุณ ออต P ลายผ้าสวยดีครับ ออกแบบได้ดีด้วย กะว่าจะจองไว้สักสองตัว ไม่ทราบเปิดให้จองหรือเปล่า
  • ขอบคุณมากครับ
  • ลงจองไว้แล้วนะครับ
  • เลือกขนาดด้วยนะครับ S/M/L
  • หากร่วมงานดงหลวงรับเสื้อดงหลวงครับ
  • หากไม่สามารถมาร่วมงานได้จะจัดส่งทางไปรษณีย์ให้ครับแล้วจะแจ้งอีกคราวครับ
  • แต่อยากให้ไปร่วมงานดงหลวงนะครับ

สวัสดีค่ะตามมาเยี่ยมบ้าง การเดินทางมีหลงบ้างทำให้ค้นพบสิ่งอื่นๆที่ไม่ได้คาดหมาย แต่ต้องเป็นการเดินทางที่ทำรายการให้หลวมๆสบายๆนะคะ

ดีใจที่ได้พบทั้งคุณยายฑีตาและจิ๋ว ใจดีทั้งคู่แม้พูดเหมือนคนเฉยๆไปทางขรึมหรือดุ

ได้พบกับอาจารย์อนุรัตน์ สายทองที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครมั้ยคะ หากสนใจอยากศึกษาและตามดูผ้าย้อมครามที่ต่างๆ รายงานที่อาจารย์ท่านทำไว้ดีมากๆ มีชีวิตชีวา แบบนำมาเขียนหนังสืออ่านสนุกได้เล่มหนึ่งเลยล่ะค่ะ

ทำไมคุณธวัชชัยจึงสนใจผ้าย้อมคราม และผ้าทอมือคะ อะไรเป็นแรงบันดาลใจ (ดิฉันชอบถามเรื่องแรงบันดาลใจมาก พบว่ามันน่าสนใจค่ะ)

สวัสดีครับ คุณพี่ P ขอบคุณที่แนะนำนะครับ
คงจะหาโอกาสไปหาอาจารย์อนุรักษ์ในโอกาสต่อไปครับ
ความจริงแล้ว เรื่องผ้าตอนแรกไม่ได้สนใจเลยครับ แต่ต้องทำสารคดีสั้น (แต่นานเป็นปี) เกี่ยวกับผ้าทอ ผ้าไทย จึงต้องค้นคว้าหาข้อมูล และเริ่มสนุก สนใจมากขึ้น ช่วงที่ทำงาน ก็มัวแต่เตรียมบท กับถ่ายวิดีโอ แทบจะไม่ได้ถ่ายภาพนิ่งเอาไว้เลย พอจบรายการ จะเดินทางไปถ่ายและหาข้อมูลเพิ่มเติม เผื่อว่าจะนำมาเขียนเป็นหนังสือ แต่ก็ยังหาเงินทุนอยู่ครับ คิดว่าเร็วๆ นี้คงจะได้ปัดฝุ่นเรื่องผ้าอีกครับ และนับว่าโชคดี เพราะสมาชิก gotoknow เป็นผู้สันทัดเรื่องผ้ากันหลายท่าน คงได้คำแนะนำและการสนับสนุนมากขึ้น
ที่ผ่านมาเรียกว่า เดินทางไปทุกภาค แทบจะทุกจังหวัดของเหนือและอีสาน เป็นประสบการณ์ที่ดีมากครับ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ไปแวะเยี่ยมกลุ่มแม่บ้านที่บ้านต้นตาล อ.เสาไห้ สระบุรี คิดว่าคงจะได้เริ่มเก็บข้อมูล กึ่งวิจัยอีกครั้งในเร็วๆ นี้ครับ ตามทุนทรัพย์ และโอกาสจะอำนวย

สวัสดีค่ะ

คงมีความสุขที่ได้ทำสิ่งสวยงามนะคะ

ดิฉันไม่มีโอกาสได้ไปดูแต่ได้ติดตามอ่านการเล่าเรื่อง

จากสิ่งที่ไปเห็นของจริง

เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากค่ะ

ถ้าทำเป็นหนังสือมีภาพประกอบ คงจะน่าทึ่งมากนะคะ 

  • สวัสดีครับคุณธวัชชัย
  • อยากเห็นผ้าจังเลยครับ
  • ได้อ่านแล้วทำให้จินตนาการไปตามความคิด
  • ผ้าจะต้องสวยงามตามแบบพื้นบ้านที่นิยมความคลาสิกใช่ไหมครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ คุณพี่อุบล และอ.บัวชูฝัก

ทั้งสองท่านนิยมผ้าไทยเหมือนกัน  ผมเองก็พยายามหาเวลารวบรวมข้อมูล มาเรียบเรียง เผื่อจะพิมพ์เป็นเล่ม แต่รู้สึกว่าอืดอาด ยืดยาด กว่าจะทำอะไรสักอย่าง หรือว่าเราทำหลายสิ่งมากไปก็ไม่ทราบ

ปีหน้าคงต้องวางแผนกันใหม่

สวัสดีปีใหม่นะครับ ขอบพระคุณที่ติดตามกันมาโดยตลอดครับผม 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท