การขับรถแทรคเตอร์ - ขับไม่ให้ติดแขวนคันนา


ปกติจะขับแทรคเตอร์ข้ามคันนากันตรงๆ ความรู้สึกแทรคเตอร์ไม่เอียง หากคันนาไม่สูงมาก หรือดินพื้นไม่อ่อนมากก็ข้ามได้

       เรื่องการข้ามคันนาไม่ให้รถติด เรียนรู้จากประสบการณ์ การขับแทรคเตอร์ปีเศษๆ  ก่อนที่จะกลั่นเนื้อหาตอน 1 เรื่อง การขับแทรคเตอร์ไม่ให้ติดมุมนา และตอนนี้ที่เป็นตอนที่ 2  ออกมาได้  เสียเหงื่อไปหลายแล้วครับ  แทรคเตอร์ติดแต่ละครั้งเสียเวลาไปเป็นวัน  เสียงาน  เสียค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ และขวัญเสียไปด้วยครับ  ดังนั้นอย่าให้เจอปัญหาดีที่สุด 

  ปกติจะข้ามคันนากันตรงๆ เพราะว่าการข้ามคันนาตรงๆ ตั้งฉากกับคันนา แทรคเตอร์ไม่เอียง ไม่หวาดเสียว  หากคันนาไม่สูงมาก หรือดินพื้นไม่อ่อนมากก็ข้ามได้ครับ  แต่ถ้าเจอดินพื้นอ่อนมากแม้คันนาเตี้ยก็ติดครับ  เพราะเมื่อดินพื้นอ่อนทำให้ล้อจมลงกับพื้น ท้องแทรคเตอร์ก็แขวนไปไม่ได้ครับ


 

     เมื่อท้องรถแขวนกับคันนาการแก้ปัญหาก็คือ ต้องขุดคันนาใต้ท้องรถออก  รถจึงจะข้ามไปได้  ก ารป้องกันปัญหาจึงแนะนำให้ข้ามคันนาเฉียง  จะเฉียงกี่องศา  ให้ประมาณว่าเมื่อล้อหน้าข้ามคันนาไปหนึ่งล้อแล้ว ล้อหน้าอีกล้อกำลังจะขึ้นคันนาก็คำนวณให้ล้อหลังด้านตรงข้ามกับล้อหน้าที่กำ ลังจะขึ้นคันนา ให้ขึ้นคันนาพร้อมๆ กันด้วย (ดูภาพประกอบ)


  การข้ามเฉียงทำให้ล้อหน้าขวาและล้อหลังซ้ายอยู่บนคันนาพร้อมก้น ทำให้ท้องรถไม่แขวนคันนา  แค่นี้ีก็ข้ามคันนาได้สบายครับ

    ข้อสรุป   ให้ล้อหน้าและล้อหลังที่เป็นมุมทะแยงกัน อยู่บนคันนาพร้อมกัน

  ข้อพึงระวัง

     ๑ การบังคับล้อหน้าขึ้นคันนาให้คุมพวงมาลัยให้ล้อหน้าตั้งตรงกับตัวรถ  อย่าให้ล้อหน้าเฉียงในมุมเลี้ยว  เพราะอาจทำให้ช่วงล้อหน้าชำรุดที่เกิดจากแรงบิดที่ไม่ตรงกับทิศทางที่ล้อหมุ น

     ๒ ควรขับขึ้นอย่างระมัดระวัง - แนะนำให้ใช้เกียร์ต่ำ  คลานขึ้นอย่างเต่า ปลอดภัยกว่าการกระโดดข้ามแบบกระต่ายครับ

     ๓ หากแทรคเตอร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ (4WD) ก็ให้ใช้เกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ  ล้อทั้ง 4 จะได้ช่วยกันออกแรงตะกุยดินข้ามคันนาไปได้

      ๔ หากคันนาสูงมาก ให้เลี่ยงหาทางที่คันนาไม่สูงเกิน เพราะแทรคเตอร์อาจพลิกคว่ำได้  หากไม่มีทางเลี่ยง  ให้ใช้อุปกรณ์ที่มีประจำรถ  พังคันนาให้เตี้ยลงก่อน เช่น ถ้ามีใบมีดดันหน้าก็ดันคันนาลง  หรือถ้ามีผานพรวน ก็ใช้ผานพรวนได้  หากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวอาจต้องใช้จอบและแรงคน แล้วค่อยซ่อมคันนาทีหลัง (จะได้ไม่โดนข้อหาทำลายทรัพย์สินเพราะพังคันนา)  อย่าดันทุรังขับแทรคเตอร์ข้ามคันนาสูง อันตราย !

     อันตรายอีกอย่างก็คือ แทรคเตอร์พลิกคว่ำขณะข้ามคูคลอง  หรือการทำงานหรือเดินทางในที่ลาดเอียง เช่น ขึ้น-ลงภูเขา  จะเขียนในโอกาสต่อไปครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 139712เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2007 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีคัรบ อ.ชนันท์

  • ผมอยากขับบ้างครับ ขอยืมขับหน่อยครับ :)
ยินดีครับ / แวะมาเยี่ยมปัตตานี แล้วจะให้ลองครับ ขับรถยนต์ได้จะขับแทรคเตอร์ได้ครับ

ขอบคุณที่ให้ข้อมูล เป็นประโยชน์มากกับผู้หัดขับ มีอะไรใหม่ก็บอกด้วยนะครับ

ไถนาให้ถอยหลังวางผานไถนาลงในแนวสามเหลี่ยมของมุมนาดึงมุมออกมาก่อนเลยครับถอยหลังประมาณ3-4หนก็น่าจะพอแล้วไม่ต้องเข้ามุมเลยเวลาไถปกติเว้นช่วง 1 ตัวรถจะพอดีครับไม่ต้องไถตรงมุมอีกแล้ว

การไถนาจากประสบการณ์อยู่ 2 วิธคือไถวนออกกับไถวนเข้า โบราณว่าถ้าไถวนออกจะดึงน้ำง่ายแล้วนาพื้นไม่เสียด้วยแต่ช้าหน่อยเท่านั้นเหมาะสำหรับนาหล่มไม่รู้จริงป่าวน่ะ เวลาไถแล้วแนวขี้ไถจะมูลเป็นหลังเต่าจริงอย่างคนโบราณว่าเวลาย้ำเทือกนามันจะบานออกพอดีครับ แต่ถ้าเราไถวนเข้า (รถวิ่งวนซ้าย)คือไถแบบเข้าข้างในไปเรื่อยๆจะดึงน้ำยากมากเมื่อถึงตอนสุดท้ายตรงกลางจะเป้นไส้กลางของงาน แล้วส่วนใหญ่จะเป็นหลุมลึงทำให้พื้นนาเสียครับ ลองดูครับ

การปรับผานไถนาผาน 7 น่ะครับ อันนี้ผมต้องยอมรับว่าปวดหัวกับมันมากเลยพื้นนาของแต่ละแปลงมันไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวหล่ม เดี๋ยวแข็ง รถกระเด็งกระดอนนั่งขับกระโดดเป็นลิงเลยครับ ยังหาวิธีปรับไม่เป็นเบบมืออาชีพเลยครับใครพอจะมีเทคนิคดีๆในการปรับผานช่วยสอนด้วยครับถือว่าแลกเปลี่ยนเป็นวิทยาทาน ปรับยากมากทดลองขับมาเป็นหลายไร่แล้วยังไม่เกิดความชำนาญเลย ที่ทำอยู่คือ ปรับผานให้ลูกที่ 1 สูงกว่าลูกหลังประมาณ 4-5 นิ้ว ส่วนผานขี้เมาก็ปรับให้เป็นแนวตั้งฉากกับพื้นแต่ให้ตรงกับล้อหลังด้านซ้ายมือ ปัญหาส่วนใหญ่คือรถมันจะวิ่งเอียงๆเวลาไถ ไม่เข้าใจเหมือนกันลองปรับโน่นนี่นั้น ก็ยังไม่สำเร็จ บางคนก็ว่าปรับให้เอียงเฉียงขึ้นไปตรงกลางลำตัวรถ มันก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ช่วยบอกทีครับถ้าใครรู้ ส่งมาที [email protected] จักเป็นพระคุณ

ขอบคุณ คุณ korakott นะครับที่นำประสบการณ์มาแชร์กัน การปรับผานไถนาให้ไถง่ายมีเคล็ดลับอยู่นิดเดียวครับ ก่อนอื่นต้องรู้หน้าที่การทำงานของอุปกรณ์ที่ประกอบขึ้นเป็นผานไถ ซึ่งผาน 7 จาน เรียกว่าผานพรวน ผาน 3 จานเรียกว่าผานบุกเบิก ซึ่งทั้ง 2 แบบมีโครงสร้างที่ต่างกัน ผานบุกเบิกเป็นลักษณะผานแข้ง(มีแข้งยื่นลงไปรับผาน) ผานพรวนลักษณะเป็นผานปล้อง(ภาษาใต้เรียก "บ้อง" ผานแข้งจะไถได้ลึกกว่าและแรงต้านทานจากดินจะน้อยกว่าเพราะมีเพียง 3 จาน ในขณะที่ผานพรวนมีแรงเสียดทานจากดินถึง 7 จุดจากเจ็ดจาน และมีแกน(ปล้อง)เป็นตัวจำกัดความลึก คือจะไถให้ลึกกว่ารัศมีของจานถึงแกนไม่ได้ ดังนั้นหากดินแข็งมาก หรือมีหญ้าหรือพืชรกมากควรใช้ผานบุกเบิกลุยไปก่อนแล้วใช้ผานพรวนตามทีหลัง ผานไถนาทั้งแบบเจ็ดจานและสามจาน มีจานพิเศษไม่เหมือนชาวบ้านอยู่จานหนึ่ง ลักษณะวางตัวในแนวดิ่ง ชาวบ้านเรียก "ลูกแซง" เป็นจานแบนๆ ธรรมดา ไม่โค้งเหมือนจานไถ ส่วนประกอบนี้สำคัญมากเพราะเป็นตัวประคองชุดผานให้วิ่งตรง หากวางลูกแซงไม่ถูกทิศทางและความลึก จะทำให้ผานดึงรถให้กินซ้าย-ขวา เวลาขับต้องฝืนล้อหน้าให้ดึงรถกลับ ซึ่งล้อหน้าก็จะทำงานหนัก เพราะปกติล้อหน้าถูกออกแบบมาเพื่อการทรงตัวของรถ หากรับแรงดึง-ผลักด้านข้างมากก็ทำให้ฝืน คนขับก็เหนื่อย วิธีการตั้งลูกแซงจึงสำคัญ ลูกแซงจะเป็นตัวดึงชุดผานให้ฝืนให้ผานกลับมาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ลูกแซงจะถูกออกแบบให้ทนต่อแรงดึงและแรงผลักในแนวซ้ายขวา ลูกปืน(แบริ่ง) ในชุดลูกแซงจึงถูกออกแบบพิเศษดังกล่าว(ไม่เชื่อถอดออกมาดู) ในแนวดิ่งลูกแซงถูกออกแบบมาให้มีสปริง คอยยืดหยุ่นเมื่อเจอกับดินแข็ง-ดินอ่อน ที่สำคัญลูกแซงจะเป็นตัวกดและฝังลงไปในดินเพื่อประคองไม่ให้ชุดผานวิ่งตามจานทั้ง 7 (หรือ 3) ดังนั้นการตั้งสปริงลูกแซงจึงต้องให้ลูกแซงสามารถกดให้คมลูกแซงกินลงไปในดินได้อย่างน้อย 2-3 นิ้ว ถ้าลูกแซงไม่กินดิน ผลที่ตามมาก็คือชุดผานจะวิ่งตามทิศของจาน ซึ่งก็จะดึงรถให้หัวปัดออกนอกแถว การตั้งลูกแซงให้รับกับรอยไถเก่าที่พอเหมาะจึงเป็นเทคนิคอีกอย่าง หากตั้งลูกแซงให้กินดินที่มีหญ้า ลูกแซงจะฝังไม่ลง จานจะดีด  ขี้ไถไม่สม่ำเสมอ  เคล็ดลับอีกอย่างคือ จะต้องจิกส่วนหางของชุดผาน (ไกลสุด-ใกล้ลูกแซง)ให้ลึกกว่าชุดหน้า(ใกล้รถ) ประมาณ 2 นิ้ว โดยการจอดรถบนถนนเรียบ วางผานลง แล้วปรับอุปกรณ์  อย่าไปปรับในที่ไถ จะดูไม่ออกเพราะดินอ่อนและยุบ  การตั้งจานหน้าสุดและหลังสุดให้ห่างถึง 5-6 นิ้ว ที่คุณ korakott ว่าน่ะ ผมว่ามากเกินไป ถ้าไถแบบนี้ ส่วนหางจะลึก ส่วนหน้าจะตื้น เวลาคราดซึ่งล้อรถจะวิ่งบนดินแข็งก็จะเป็นคลื่น ทำเทือกให้เรียบยากครับ อ้อ! ลืมบอก การไถนาที่ดีให้ไถตื้นนะครับ ไถลึกเวลาดำก็ยาก รถติดหล่มง่ายด้วย เวลารถเก็บเกี่ยวก็ทำงานยาก เป็นโคลนเยอะ สังเกตไหมครับ สมัยก่อนไถด้วยวัวควาย แผ่นขี้ไถเท่าฝ่ามือเท่านั้นเอง เก็บเกี่ยวง่ายไม่เป็นโคลน โดยเฉพาะรากต้นข้าวไม่ได้ลงลึกมาก รากที่หากินธาตุอาหารบนผิวดินหยั่งรากลึกไม่เกิน 2-3 นิ้วฟุต ไถให้ลึกไปทำไม คนไถนาที่เก่งๆ ต้องไถตื้น แต่การไถตื้นจะไถยากเพราะผานกินดินน้อย หญ้าออกไม่หมด ต้องไถแปรซ้ำอีกรอบ คนไถนาแบบมักง่ายจึงไถดะให้ลึกเข้าไว้ แล้วตีจอบหมุนเอาทีหลัง ง่ายกว่าเยอะ แต่รู้ไหมการไถลึกก็เท่ากับพลิกเอาดินที่ไร้ธาตุอาหารขึ้นข้างบน ให้รากพืชกินธาตุอาหารในระดับ 2-3 นิ้ว ซึ่งถูกพลิกขึ้นมาจากชั้นดินที่ไม่มีธาตุอาหาร เลยต้องอัดปุ๋ยมากๆ เปลืองปุ๋ยโดยใช่เหตุ ต้นทุนสูงเปล่าๆ การไถที่ดีจึงไม่ควรไถลึก อันนี้ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ตั้งแต่สมัยไถด้วยควาย แล้วต่อมาไถด้วยรถเดินตาม จนมาขับแทรกเตอร์นะครับ ผลผลิตที่ได้บวกกับคำบ่นจากคนดำนา คนเก็บเกี่ยวจึงทำให้รู้ว่าไถตื้นดีกว่า  อีกจุดที่สำคัญก็คือเกลียวปรับจุดลากบนสุด(จากจุดลากพ่วงทั้งหมด 3 จุด) การปรับเกลียวจุดนี้เพื่อให้ชุดผานก้มหรือเงย หากปรับให้เกลียวหดเข้าจะทำให้ผายเงยจะไม่ค่อยกินดิน หากปรับให้เกลียวยาวกว่าก็จะกดดินได้ดีกว่า ลองปรับดูนะครับ ทุกอย่างที่ปรับได้บนชุดผานมีประโยชน์ทั้งนั้นครับ ต้องลองปรับดูแล้วจะรู้ว่าเขาออกแบบมาเพื่อช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างไร การไถกับดินอ่อน ดินแข็ง ปรับลูกแซงแตกต่างกัน หญ้ายาวหญ้าสั้นก็เช่นเดียวกัน ลองดูนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท