การเขียนวิทยานิพนธ์ : การเขียนอภิปรายผลแบบมืออาชีพ


การเขียนอภิปราผล

        การอภิปรายผลการวิจัยเป็นการประเมินหรือขยายความของผลการวิจัย  เพื่อยืนยันว่าผลการวิจัยที่ได้น่าเชื่อถือ   ถูกต้อง เป็นจริง  โดยชี้ให้เห็นว่า  ผลการวิจัยสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัย ตรงตามข้อเท็จจริงที่พบ  ตรงตามแนวคิด ทฤษฏีและผลการวิจัยคนอื่นหรือไม่ อย่างไร  ผลการวิจัยนั้นเป็นไปตามแนวความคิด  ทฤษฏีอะไรบ้าง  รวมทั้งมีความขัดแย้งหรือไม่ ถ้ามีความขัดแย้งจะต้องอธิบายเหตุผลและหาข้อมูลสนับสนุน ชี้แจงความเป็นไปได้ของผลการวิจัยนั้น    การเขียนส่วนนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ นิสิต  นักศึกษาได้แสดงภูมิปัญญาเชิงวิพากษ์ ในฐานะที่เป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ และการเขียนอภิปรายผลมีหลักการ ดังนี้
1. การอภิปรายผลการวิจัย ควรแสดงให้เห็นว่าผลการวิจัย สอดคล้องหรือขัดแย้ง
กับแหล่งอ้างอิงต่อไปนี้
1.1 หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
1.2 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1.3 ปัญหาหรือข้อสังเกตที่ผู้วิจัยพบระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล
   2.  การยกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาเขียนอธิบายกับอภิปรายผลนั้น ต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับผลวิจัยเท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวข้องไม่ควรนำมาเขียนอธิบายใส่ เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือสับสนในการอภิปรายผล   
  3.  การอธิบายเหตุผลเพื่อสนับสนุนหรือขัดแย้งกับผลการวิจัย ต้องเป็นเหตุเป็นผลที่น่าเชื่อถือกับลักษณะผลที่เกิดดังกล่าว รวมทั้งต้องอยู่บนพื้นฐาน หลักการ ทฤษฎีและกระบวนการวิจัยหรือการทำวิทยานิพนธ์อย่างชัดเจน เช่น ขอบเขตของการวิจัย การสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย วิธีดำเนินการทดลองและการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นต้น
  4.  การอ้างอิงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหรือไม่สอดคล้องกับผลการวิจัยนั้น  นิสิตนักศึกษาสามารถอ้างเป็นรายคนหรืออ้างพร้อมหลายคนก็ได้  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยกับผลของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องว่ามีความเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด  ตัวอย่างเช่น
   จากวิทยานิพนธ์เรื่อง แนวโน้มการดำเนินงานงานห้องสมุดประชาชนอำเภอในทศวรรษหน้าศึกษาโดยใช้เทคนิคเดลฟายของ อุบล โคตา (2545)
   กรณีที่ 1  อ้างอิงรายคน
    1.4 ด้านบทบาทหน้าที่ของห้องสมุดประชาชน พบว่าบรรณารักษ์จะมีวุฒิปริญญาตรีทางบรรณารักษ์ ..........สอดคล้องกับงานวิจัยของอัญชลีกร  กุลสุวรรณ(2533 : 112) ที่พบว่า ............
   กรณีที่ 2  อ้างพร้อมกันหลายคน
    1.5  ด้านงบประมาณ  ห้องสมุดประชาชนอำเภอจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น .........และในทศวรรษหน้าห้องสมุดประชาชนอำเภอจะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จุมพจน์ วนิชกุล.  2527 : 68 ; สมชาย มะลิลา.  2523 : บทคัดย่อ ; สุรางค์  นันทกาวงศ์.  2537 :  บทคัดย่อ ที่พบว่า ... ....ห้องสมุดได้รับงบประมาณน้อย....
  5.  การนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้กับอภิปรายผล  นิสิต นักศึกษา ควรพึงระวังว่า งานวิจัยแต่ละเรื่องนั้นมีการสรุปที่ไม่เหมือนกันและในเรื่องเดียวมีผลการวิจัยหลายข้อ  การกล่าวอ้างควรดึงเฉพาะบางส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นมาใช้กับงานวิทยานิพนธ์ของตน ซึ่งการยกมาอภิปรายผลต้องประกอบด้วย ชื่อผู้วิจัย : เลขหน้าที่อ้างอิง..ผลการวิจัยที่สอดคล้องกับผลการวิจัยของเราเท่านั้น  ตัวอย่างการอภิปรายผล เช่น
   ..... ประสิทธิภาพของบทเรียนบนเครือข่าย  รายวิชา พันธะเคมี  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ  80.44/82.40  สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้  80/80  สอดคล้องกับงานวิจัยของวุฒิชัย  โพธิ์ศรี   (2547  : 134- 143)  ที่พบว่า บทเรียนบนเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ  83.60/84.67  ..
    งานวิจัยที่สอดคล้องกับผลการวิจัยของนิสิต นักศึกษา เป็นของ วุฒิชัย  โพธิ์ศรี   (2547  : 134- 143)   ได้ทำการวิจัยผลการเรียนรู้ด้วยบทเรียนบนเครือข่าย  เรื่อง  การใช้แหล่งการเรียนรู้บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ของนิสิตที่มีรูปแบบการเรียนรู้และความวิตกกังวลต่างกัน ผลการวิจัยพบว่า  1)บทเรียนบนเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ  83.60/84.67 และมีดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ  0.5589 2) นิสิตที่มีรูปแบบการเรียนรู้และความวิตกกังวลต่างกันมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกัน 3) นิสิตที่มีรูปแบบการเรียนรู้และความวิตกกังวลต่างกันมีผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ  .05  และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเรียนรู้กับความวิตกกังวลต่อการมีทักษะปฏิบัติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05 .....
    จากตัวอย่าง พบว่า จะยกเฉพาะผลของการวิจัยที่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับผลการวิจัยเท่านั้นมาเขียนในอภิปรายผล  ไม่จำเป็นต้องยกมาทั้งหมด
   3.  ขณะเขียน ควรนึกเสมอว่ากำลังตอบคำถามงานวิจัย  ว่ามีความหมายว่าอย่างไร ผลการวิจัยบอกเราว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตามเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์จริงหรือไม่ และเป็นจริงสำหรับตัวแปรตามบางตัวหรือตัวเดียว
   4.   การอภิปรายผลเป็นการเขียนอธิบายผลการวิจัยว่ามีความสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับสมมติฐาน เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ผลการวิจัยยืนยันหรือปฏิเสธทฤษฎี ผลการวิจัยที่ได้  ในอนาคตควรออกแบบอย่างไร
   5. นิสิต นักศึกษาควรคิดเชิงวิพากษ์ กล่าวคือ ผู้วิจัยได้ให้ความหมายหรือตีความผลการงานวิจัยครั้งนี้อย่างไร และแสดงความคล่องแคล่วทางปัญญาในการคิดโต้คำวิจารณ์ นิสิต นักศึกษาต้องชี้แจงตรรกะอย่างชัดเจน อย่าสรุปว่าการนำเสนอผลการวิจัยมีความชัดเจนแล้ว แต่ต้องแสดงความคิดของข้อสรุป
   6.  อย่าใช้ภาษาที่ส่อไปในเชิงสาเหตุและผลในการอภิปรายผลการวิจัย นิสิต นักศึกษาควรเลือกใช้ภาษาให้ถูกต้อง ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่เป็นในเชิงบ่งบอกสาเหตุ เช่น มีผลต่อมีอิทธิพลต่อ ก่อให้เกิด  เป็นต้น 
7. การอภิปรายผลนั้น อย่านำผลการวิจัยมากล่าวซ้ำเพียงอย่างเดียวเท่านั้นควรมี
การตีความสังเคราะห์ วิเคราะห์ และวิพากษ์สิ่งที่ศึกษาพบด้วย
   9.  ระมัดระวังการใช้ภาษาที่สื่อได้ว่าผู้วิจัยเป็นผู้รายงานเอง
ตังอย่างแบบจำลองการอภิปรายผล

 จากผลการวิจัยมีประเด็นที่น่าสนใจนำมาอภิปรายผล ดังนี้
  แบบที่ 1 ให้นำการอธิบายเหตุผล หลังสรุปผลการวิจัย
1. กรณีสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
..(สรุปผลการวิจัยข้อ ...)...............สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้   ทั้งนี้เพราะ/อาจเป็นเพราะ ...(อธิบายเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ลักษณะที่เกิดผลดังกล่าว มีการอ้างอิงทฤษฏี กล่าวถึงความสำคัญของผลการวิจัยและความจำเป็นสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม)... สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ .....(ยกงานวิจัยที่สอดคล้องกับผลการวิจัยเท่านั้นมาเขียนจากบทที่ 2 หัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง)..
   2.  กรณีไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
    ..(สรุปผลการวิจัยข้อ ...)...............ไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้   ทั้งนี้เพราะ/อาจเป็นเพราะ ...(อธิบายเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ลักษณะที่เกิดผลดังกล่าว มีการอ้างอิงทฤษฏี กล่าวถึงความสำคัญของผลการวิจัยและความจำเป็นสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม)... สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ .....(ยกงานวิจัยที่สอดคล้องกับผลการวิจัยมาเขียนจากบทที่ 2 หัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง)..
  แบบที่ 2 ให้นำการอธิบายความสอดคล้องกับผลการวิจัย หลังสรุปผลการวิจัย
1. กรณีสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
..(สรุปผลการวิจัยข้อ ...)...............สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้..  
สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ .....(ยกงานวิจัยที่สอดคล้องกับผลการวิจัยหรือศึกษาเท่านั้นมาเขียนจากบทที่ 2 หัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง)..ทั้งนี้เพราะ/อาจเป็นเพราะ ...(อธิบายเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ลักษณะที่เกิดผลดังกล่าว มีการอ้างอิงทฤษฏี กล่าวถึงความสำคัญของผลการวิจัยและความจำเป็นสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม)...
   2.  กรณีไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
..(สรุปผลการวิจัยข้อ ...)...............ไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้..   สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ .....(ยกงานวิจัยที่สอดคล้องกับผลการวิจัยหรือศึกษาเท่านั้นมาเขียนจากบทที่ 2 หัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง)..ทั้งนี้เพราะ/อาจเป็นเพราะ ...(อธิบายเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ลักษณะที่เกิดผลดังกล่าว มีการอ้างอิงทฤษฏี กล่าวถึงความสำคัญของผลการวิจัยและความจำเป็นสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม)...

ตัวอย่างการอภิปรายผลงานวิจัย

 1.  ตัวอย่างการอภิปรายผลงานวิจัยเชิงคุณภาพ  (ฉลาด  จันทรสมบัติ.  2550 : 266)

  จากสรุปผลการวิจัยมีประเด็นที่น่าสนใจที่นำมาอภิปรายผล ได้ดังนี้
   1. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการความรู้ขององค์กรชุมชน  เป็นรูปแบบที่พบว่ามีความสำเร็จบังเกิดผลตามที่คาดหวังไว้ (สรุปผลการวิจัย) ทั้งนี้เนื่องจาก  ในการพัฒนารูปแบบผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดมาจากการวิเคราะห์สังเคราะห์แนวคิดและผลการวิจัยของผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากล  ทั้งในส่วนของการจัดการความรู้และในส่วนของเทคนิคการพัฒนา เช่น ใช้แนวคิดการจัดการความรู้ของโนนากะและทาเกอุชิ  วิจารณ์  พานิช  และกระบวนการจัดการความรู้ของวิอิก (Wiig) บูรณาการกับเทคนิคการพัฒนา ได้แก่  ใช้หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการพึ่งตนเอง การมีส่วนร่วม และการรู้  รัก สามัคคี (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.  ม.ป.ป :  2-32) ร่วมกับหลักการอื่น ๆ  เช่น   มีการเตรียมชุมชน  การจดบันทึกหลังการปฏิบัติ (AAR) การตั้งคำถาม การแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งเวทีจริงและเวทีเสมือน ประกอบกับการมีกลไกหนุนเสริมการจัดการความรู้ คือ ศูนย์จัดการความรู้ในระดับหมู่บ้าน  ทั้งในรูปศูนย์ที่เป็นแหล่งดำเนินการและในรูปเว็บไชต์  ทำให้เกิดการบริหารจัดการความรู้ขององค์กรชุมชนแบบบูรณาการ หลักฐานสำคัญบางส่วนที่บ่งชี้ความสำเร็จสมควรนำมาวิจารณ์ ได้แก่
   1.1  เกิดบุคคลสำคัญในการเรียนรู้ ทุกองค์กรมีนักจัดการความรู้ในชุมชน 4 กลุ่มได้แก่ ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ผู้ปฏิบัติงานกลุ่ม (Practitioner) ผู้จดบันทึก (Note Taker) และผู้ประสานงาน (Network Manager) (สรุปผลย่อย) สอดคล้องกับ โนนากะและทาเกอุชิ (Nonaka and Takeuchi. 1995 : 20-25 ) การสร้างทีมจัดการเริ่มที่ตัวบุคคลเป็นหลัก สมาชิกในองค์กรเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการจัดการความรู้ คือ ผู้จัดการความรู้ตัวจริงเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหลัก กลุ่มผู้บริหารระดับกลางเป็นพวกตีความ แปลงความรู้ให้เป็นความรู้ในกระดาษ กลุ่มผู้บริหารความรู้ ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย สร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนและคอยสกัดความรู้ให้เกิดมูลค่า สอดคล้องกับ  วิจารณ์ พานิช (2548 : 23-48) บุคคลสำคัญในการจัดการความรู้ในองค์กร ได้แก่ คุณอำนวย เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงกิจกรรม ระบบและวัฒนธรรม คุณกิจ เป็นผู้ปฏิบัติงานกลุ่ม ถือเป็นนักจัดการความรู้หรือผู้ดำเนินกิจกรรมประมาณร้อยละ 90 ของทั้งหมด  คุณลิขิต เป็นผู้จดบันทึกข้อมูลในกิจกรรมการจัดการความรู้ เรื่องเล่า สรุปแก่นความรู้ บันทึกการประชุม และคุณประสาน เป็นผู้ทำหน้าที่ประสานเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างกลุ่ม
   1.2  เกิดการเรียนรู้ควบคู่การปฏิบัติซึ่งมีที่มาของความรู้ได้จากปัญหา การตั้งคำถาม การแก้ปัญหาด้วยการปฏิบัติจริงจนเกิดองค์ความรู้ที่เหมาะสม นำไปสู่การจัดการความรู้ตามประเด็นที่สนใจประกอบด้วย  การสร้างความรู้ การจำแนก การจัดเก็บ การนำไปใช้  การแลกเปลี่ยนความรู้  และการประเมินผล (สรุปผลย่อย)  สอดคล้องกับ  หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.   ม.ป.ป. : 32)  ทรงมีพระราชดำริ  ความว่า  รู้  รัก  สามัคคี ซึ่งบุคคลและกลุ่มคนจะต้องรู้  รู้ว่าการจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา  มีความรัก ที่จะต้องพิจารณาเข้าไปที่ลงมือปฏิบัติแก้ปัญหานั้น ๆ  และ ความสามัคคีที่จะปฏิบัติลงไปนั้น  ควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้  ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะ  จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี สอดคล้องกับ ประเวศ  วะสี (2545  :  21) ที่กล่าวว่า การเรียนรู้ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้เรื่องนั้นสำเร็จ เพราะคนอื่น ๆ องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้องไม่ได้เรียนรู้ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเท่านั้นจะบังเกิดผลสำเร็จซึ่งต้องจัดการความรู้ผ่านการปฏิบัติเป็นชุดความรู้ของแต่ละกลุ่มองค์กร  และสอดคล้องกับ เนาวรัตน์  พลายน้อย  (2546 : 2-5) ที่กล่าวว่า  การจดบันทึกหลังการปฏิบัติ (AAR) ถือเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญในการสกัดแก่นของความรู้ ข้อค้นพบของบุคคลหรือองค์กรที่เหมาะสม 
   1.3  เกิดศูนย์จัดการความรู้ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้กลุ่มได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละหมู่บ้านดำเนินงานให้บรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยมีคณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนางาน โดยผ่านเวทีประชุมประจำเดือน และเวทีเสมือนซึ่งมีเว็บไซต์ในระบบใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งเผยแพร่ผลการจัดการความรู้และเป็นแหล่งเก็บ  และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (สรุปผลย่อย) สอดคล้องกับ แนวคิดของโนนากะและทาเกอุชิ (Nonaka  and  Takeuchi. 1995 : 71-72) และวิจารณ์  พานิช (2548  :  1-4) ในส่วนที่ว่าใน  การจัดการความรู้ต้องอาศัยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสนับสนุนและเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการความรู้


 2.  ตัวอย่างการอภิปรายผลงานวิจัยเชิงปริมาณ  (กนกพร  ภิบาลจอมมี. 2550 : 126-127)
        จากผลการวิจัย  มีประเด็นที่น่าสนใจนำมาอภิปรายผลได้ดังนี้
  1.  บทเรียนบนเครือข่ายรายวิชา เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้   เรื่อง  ระบบอินเทอร์เน็ตและการสร้างเว็บ  มีประสิทธิภาพเท่ากับ 90.44/85.85 (สรุปผลการวิจัย) แสดงว่า  บทเรียนบนเครือข่ายเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตและการสร้างเว็บเพจ  ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์  80/80  สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของจารุณี   ซามาตย์   (2547  : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยการพัฒนาบทเรียนบนเครือข่าย เรื่องความรู้เบื้องต้นในการสื่อสาร  รายวิชามโนทัศน์การสื่อสาร  ตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต  สาขาวิชาสื่อนฤมิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า บทเรียนบนเครือข่ายมีประสิทธิภาพเท่ากับ  89.76/80.89 รุ่งทิพย์   สิงพร   (2547  : บทคัดย่อ)  ได้ทำการพัฒนาบทเรียนบนเครือข่าย  วิชาระบบสื่อการเรียนแบบเอกัตบุคคล  สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า บทเรียนโปรแกรมการเรียนการสอนผ่านเว็บมีประสิทธิภาพเท่ากับ  89.65/85.94  รัชนีกร  สุวรรณภักดี  (2547  : บทคัดย่อ)  ได้ทำการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากบทเรียนบนระบบเครือข่าย  เรื่องการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาและสื่อการเรียนรู้ของนิสิตที่มีคุณลักษณะส่วนบุคคลแตกต่างกัน  บทเรียนบนระบบเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ  84.43/80.05 วุฒิชัย  โพธิ์ศรี   (2547  : บทคัดย่อ)   ได้ทำการวิจัยผลการเรียนรู้ด้วยบทเรียนบนเครือข่าย  เรื่อง  การใช้แหล่งการเรียนรู้บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ของนิสิตที่มีรูปแบบการเรียนรู้และความวิตกกังวลต่างกัน พบว่าบทเรียนบนเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ  83.60/74.67 วุฒิกิจ  ไชยกุล   (2547  : บทคัดย่อ)  ได้ทำการพัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประกอบรายวิชา  การถ่ายภาพเบื้องต้น (Basic  Skill  Photography)  หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาโทสาขาเทคโนโลยีการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า พบว่าบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ  80.45 /81.80  และสังคม   ไชยสงเมือง   (2547  : บทคัดย่อ)   ได้ทำการพัฒนาบทเรียนบนเครือข่าย วิชาระบบสื่อสารข้อมูลและเครือข่ายคอมพิวเตอร์  เรื่อง เครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า บทเรียนบนเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ  89.90/85.83  จากผลการวิจัยและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องบทเรียนบทเครือข่ายมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่เป็นเช่นนี้เพราะ
   1.1  การดำเนินการประเมินประสิทธิภาพได้ทำไปอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา  การสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  การออกแบบบทเรียนบนเครือข่าย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ตรวจสอบทุกขั้นตอนและได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะนอกจากนั้นแล้วยังได้ทำการประเมินบทเรียนจากนักศึกษากลุ่มเป้าหมายถึง 3 ครั้ง  โดยได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่พบจากการสังเกต  และสัมภาษณ์ผู้เรียน
   1.2  การออกแบบบทเรียนบนเครือข่ายได้รับการออกแบบอย่างมีขั้นตอนตามหลักทฤษฎีและพัฒนาจนมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเป็นบทเรียนบนเครือข่ายที่มีลักษณะแบบ IWBI (Interactive  Web – Based  Instruction) (มนชัย เทียนทอง. 2544 : 74-75) คือ  บทเรียนบนเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นโดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้เป็นหลัก  นำเสนอด้วยข้อความและกราฟิกเป็นหลักและนอกจากจะนำเสนอด้วยสื่อต่าง ๆ ทั้งข้อความกราฟิกและภาพเคลื่อนไหวแล้ว  การพัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายในระดับนี้จึงต้องใช้ภาษาคอมพิวเตอร์  ซึ่งได้แก่  ภาษาเชิงวัตถุ (Object – Oriented Programming) เช่น Visual C++ HTML (Hypertext  Markup Language)  เป็นต้น
     1.3  บทเรียนบนเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้  เพราะผู้วิจัยได้พยายามทำการพัฒนาอย่างเป็นระบบตั้งแต่การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล  ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาแล้วปรับปรุงแก้ไขการเขียนผังงานซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์  หลังจากนั้นจึงนำไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเพื่อประเมินหาประสิทธิภาพของบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามกระบวนการและนำผลที่ได้มาปรับปรุงแก้ไข  ซึ่งเป็นวิธีการดำเนินการผลิตสื่อตามกระบวนการ  ของการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งบทเรียนบทเครือข่ายที่สร้างขึ้นได้ผ่านประเมินจากผู้เชี่ยวชาญแล้วผู้วิจัยได้ทำการทดลองเพื่อประสิทธิภาพตามกระบวนการ 3 ขั้นตอนจากการทดลองแบบรายบุคคล (One-to-One Testing)และการทดลองกลุ่มเล็ก (Small Group  Testing) ก่อนที่จะนำมาหาประสิทธิภาพในการทดลองภาคสนาม(Field testing)
      1.4  บทเรียนบนเครือข่ายที่พัฒนาขึ้น ผู้วิจัยได้ศึกษากรอบแนวคิดในการพัฒนา ตามลำดับดังนี้  (1)  การวิเคราะห์เนื้อหารายวิชา โดยกำหนดระดับความรู้ของนักศึกษาที่จะได้รับเมื่อเรียนจบบทเรียน  (2)  การออกแบบรูปแบบการเรียนการสอน  โดยการจัดลำดับเนื้อหา  จำแนกหัวข้อวิชาตามหลักการเรียนรู้  กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน  และกำหนดแหล่งค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับหน่วยการเรียน  (3)  การพัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยยึดหลัก  4Is   (มณีชัย  เทียนทอง.     2544  :  78)  ซึ่งได้แก่  Information  คือ ความเป็นสารสนเทศ, Interactive  คือ  การมีปฏิสัมพันธ์,  Individual  คือ  การเรียนรู้ด้วยตนเอง  และ  Immediate  Feedback คือ      การตอบสนองโดยทันที (4) การดำเนินการเรียนการสอนด้วยบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต   โดยอาศัยช่องทางในการสื่อสารที่จัดไว้ในบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  (5) การทดสอบหาประสิทธิภาพของบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

 หนังสือการเขียนวิทยานิพนธ์ มีขายแล้ว ติดต่อได้ที่ 084-7991757

ทองสง่า ผ่องแผ้ว 22/10/2550

หมายเลขบันทึก: 140717เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2007 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท