วิถีขงจื๊อสู่ความเป็นเลิศเหนือคน


ปรัชญาชีวิต

วิถีขงจื๊อสู่ความเป็นเลิศเหนือคน - ดร.บุญชัย โกศลธนากุล ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ

Friday, November 01, 2002

โดยMGR ONLINE

    
       ขงจื๊อเป็นนักคิดคนสำคัญยิ่งของโลก เป็นทั้งนักศึกษา นักรัฐศาสตร์ นักปรัชญา และที่สำคัญคือ เป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดในแผ่นดินจีน คำสั่งสอนของขงจื๊อเป็นรากฐานทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีมาจนถึงปัจจุบัน
      
       แนวคิดของขงจื๊อไม่เพียงแต่เน้นให้คนมีคุณธรรม แต่ยังเป็นแนวทางนำไปสู่ความมีอัจฉริยภาพ คือทำให้รู้ว่าในเวลาหนึ่ง คนเราควรจะคิดอะไร วางตัวอย่างไร คบเพื่อนแบบไหน เพื่อทำให้เราใช้ศักยภาพและเวลาที่มีจำกัดให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด แก่นคำสอนของขงจื๊อสรุปได้เป็น 5 หัวข้อดังนี้
      
       1. บุคลิกภาพของมนุษย์ที่แท้
      
       มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบของขงจื๊อ คือคนมีบุคลิกโดดเด่นเหนือคนทั่วไป มีพลังดึงดูด โน้มน้าวใจคน และมีคุณธรรมเที่ยงตรง ทำให้มีอำนาจเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป คุณลักษณะ 7 ประการ ที่จะช่วยให้มนุษย์มีพลังอำนาจตามวิธีคิดของขงจื๊อ คือ
      
       ‘ นอบน้อม เพราะคนนอบน้อมจะไปทำอะไร ที่ไหน ย่อมไม่เป็นที่เกลียดชังของคนทั่วไป
      
       ‘ เมตตากรุณา เพราะคนมีเมตตากรุณา มักจะมี positive aura บนใบหน้าที่ทำให้สามารถเอาชนะใจคนได้โดยง่าย
      
       ‘ จริงใจ เพราะจะส่งผลให้มีบุคลิก ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของผู้อยู่เหนือกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลทั่วไป
      
       ‘ จริงจัง เพราะย่อมทำทุกสิ่งทุกอย่างลุล่วงลงได้
      
       ‘ ใจคอกว้างขวาง เพราะย่อมใช้ให้คนทำงานแทนได้ และสามารถเป็นผู้นำที่ดี
      
       ‘ ไม่กินอิ่มเกินไป ไม่แสวงหาความสะดวกสบายจนเกินไป เพราะจะทำให้กลายเป็นคนเกียจคร้าน ไม่แสวงหาหนทางปรับปรุงชีวิต พัฒนาตนเองในขณะที่ยังมีกำลังวังชา และสติปัญญาสมบูรณ์
      
       ‘ มีอารมณ์มั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย ถ้ากล่าวแบบคนสมัยใหม่ ก็คือการมี EQ สูง
      
       2. วิธีคิดของผู้มีปัญญา
      
       คนเราเกิดมา มีปัญญาสูงต่ำไม่เท่ากัน มีโอกาสในการศึกษาไม่เท่ากัน แต่ขงจื๊อเห็นว่าในชีวิตประจำวันคนเราสามารถค่อยๆ สร้างสมพัฒนาสติปัญญาให้ได้ด้วยตนเอง โดยการเปลี่ยนปรับวิธีคิดเสียใหม่ เลิกคิดปรุงแต่ง และคิดถึงเรื่องไร้สาระ และหันมาพิจารณาเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์แทน ดังนี้
      
       ‘ มนุษย์ที่แท้ จะต้องพิจารณาอยู่เสมอว่า ทำอย่างไร เราจึงจะมองอะไรแล้วสามารถจะเห็นและเข้าใจสิ่งนั้นทะลุปรุโปร่ง และเมื่อได้ยินอะไรแล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะฟังให้เข้าใจได้หมด ซึ่งก็คือการใช้สมาธิตั้งใจดู ตั้งใจฟัง นั่นเอง ปัญหาของจำนวนมาก คือ ดู เห็น ฟัง แล้วเข้าใจไม่หมด ตีความผิด ตีความเข้าตนเอง เอาตนเองเป็นที่ตั้งอยู่ตลอด ถ้าแก้ไขจุดนี้ได้ เราก็จะมีฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งต้องใช้ประกอบการคิด การตัดสินใจต่อไป
      
       ‘ อย่าคิดกังวลว่าใครจะยอมรับยกย่องเราหรือไม่ แต่ให้เป็นกังวลมากๆ ว่า ขณะนี้เรายังขาดคุณสมบัติข้อใดที่ทำให้ยังไม่เป็นที่ยกย่องของผู้คน และอย่าเป็นกังวลว่าคนอื่นจะไม่รู้จักนิสัยใจคอของเรา แต่ให้กังวลว่าตัวเราจะไม่รู้จักนิสัยใจคอของคนอื่นดีกว่า
      
       จุดนี้คือ ขงจื๊อต้องการให้คนเราเน้นการพิจารณา เข้าใจ และปรับปรุงตนเอง ในขณะที่แนวโน้มของคนโดยทั่วไปจะชอบ "ส่องนอก ไม่ส่องใน" และใช้เวลาไปกับการจับผิด วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเสียมาก
      
       ‘ เวลาเห็นช่องทางได้ผลประโยชน์ ต้องคิดถึงความยุติธรรมด้วยขงจื๊อเห็นว่ามนุษย์เรามีแนวโน้มจะคิดแบบเห็นแก่ได้ และตัดสินใจผิดพลาด เมื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อจะไม่ทำผิดคุณธรรม คนเราต้องพิจารณาเรื่องความยุติธรรมอยู่เสมอๆ ความยุติธรรมที่ให้พิจารณาก็คือ หลักการง่ายๆ ถ้าเราไม่ชอบอะไร รังเกียจอะไร ก็จงอย่าทำกับคนอื่นแบบนั้น คิดได้แค่นี้
      
       ‘ นอกจากนี้ ขงจื๊อยังให้ข้อเตือนใจไว้ว่า เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องหัดคิดการณ์ไกล เพื่อจะได้ไม่ต้องหลงทาง นอกจากนี้ เวลาร่ำเรียนศึกษาก็ต้องหัดคิดตาม เพราะคนที่ศึกษาหาข้อมูลต่างๆ โดยไม่คิด ย่อมไม่ฉลาดมากนัก ในทางตรงกันข้าม คนที่เอาแต่คิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ โดยไม่ชอบศึกษาหาข้อมูล ก็จะเป็นเพียงการคาดเดาหรือ speculation ย่อมจะคิดผิดพลาดได้ง่ายๆ ดังนั้น คนเราต้องหัดฝึกฝนการคิดและการศึกษาหาข้อมูลไปพร้อมๆ กัน
      
       3. ระเบียบวินัย
      
       ขงจื๊อกล่าวถึงระเบียบวินัย 3 ประการ ของคนวัยต่างๆ กัน
      
       ‘ วัยหนุ่มสาว พลังยังไม่มั่นคง ต้องมีวินัยเรื่องกามคุณ
      
       ‘ วัยกลางคน พลังกายใจเข้มแข็งมากที่สุด ต้องมีวินัยเรื่องความพึงพอใจ อย่าเพิ่งเฉยชาหรือพอใจกับอะไรง่ายๆ
      
       ‘ วัยชรา หมดเรี่ยวแรง พลังงานถดถอย ต้องมีวินัยกับความโลภ คืออย่ามีความต้องการมากมายไม่มีที่สิ้นสุด
      
       4. การคบคน
      
       ขงจื๊อเชื่อว่า ชีวิตคนเรา จะสุข ทุกข์ ประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องคบหาด้วย ดังนั้น ขงจื๊อจึงมีกฎในการเลือกคบคน ดังนี้
      
       ‘ ข้อแรก ไม่คบหาคนที่มีคุณงามความดีไม่เท่าเรา
      
       ‘ ข้อสอง ไม่แสวงความเห็น หรือปรึกษาหารือคนที่มีเส้นทางชีวิตไม่เหมือนเรา
      
       ‘ ข้อสาม คนที่ควรคบหาคือ คนที่มีความซื่อตรง จริงใจ และมีความรู้
      
       ‘ ข้อสี่ พึงเลี่ยงคบหาบุคคลที่เสแสร้ง พูดจาไร้สาระ ฉวยโอกาส ฟุ้งเฟ้อ
      
       ‘ ข้อห้า เมื่อคบหาใครเป็นเพื่อนแล้ว จงมีความจริงใจต่อกัน แต่อย่าปล่อยให้เขาชักนำเราไปในทางที่ต่ำ
      
       5. การพูด
      
       คำพูดของเราต้องแสดงออกถึงความ ซื่อตรง สอดคล้องกับกิริยาทางกาย เพราะถ้าหากคำพูดเราเกิด พร้อมกับกิริยา มุ่งมั่นจริงใจ พูดสิ่งใดก็ย่อมประสบผลเป็นที่น่าเชื่อถือ
      
       6. การวางตัว
      
       คนเราจะมีคนรักทั่วทิศ หากวางตัวได้ดังนี้
      
       ‘ เวลาอยู่นอกบ้านแล้วพบผู้คน วางตัวเรากับคนผู้นั้นเป็นแขกสำคัญในบ้าน
      
       ‘ เมื่อต้องสั่งการ วางตัวราวกับเราเป็นแม่งานของพิธีการที่สำคัญยิ่งใหญ่ (คนที่เป็นแม่งานจะต้องเป็นภาพงานทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบอย่างรอบด้าน และมีจิตมุ่งมั่นต้องการทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในระยะเวลาที่ตั้งใจเอาไว้ เพราะฉะนั้นเวลาคนเป็นแม่งานสั่งงาน จะไม่สักแต่ว่าขอให้ใครทำอะไร แต่จะคิด อย่างรอบคอบถึงผลที่ตามมา จะไม่สั่งการ แบบขอไปที แต่จะต้องมีการติดตามผล แนะนำเพื่อให้งานลุล่วงไปได้)
      
       ‘ อะไรที่เราไม่ชอบ ก็อย่าปฏิบัติต่อคนอื่น
      
       ‘ เข้มงวดต่อตนเอง แต่ให้อภัยคนอื่น
      
       7. การวางจิต
      
       ขงจื๊อเน้นการมีจิตใจที่ซื่อตรง เขาเห็นว่าประเทศชาติจะสงบสุขได้ครอบครัวต้องดีก่อน แต่ครอบครัวจะดีได้ มนุษย์แต่ละคนต้องมีคุณธรรม มนุษย์แต่ละคนจะมีคุณธรรม ก็ต้องมีจิตใจที่ซื่อตรงและจิตใจที่ซื่อตรง จะมีได้ก็ต้องมีเจตนาที่ซื่อตรงก่อน
      
       ขงจื๊อเน้นจิตที่สามารถมองอะไรชัดเจน ทะลุปรุโปร่ง จิตเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จากการมองเห็นและรู้จักตนเองอย่างรอบด้านก่อน n

คำสำคัญ (Tags): #วิถีขงจื๊อ
หมายเลขบันทึก: 143246เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2007 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

   คุณ J Moragot ครับ  

       แนวคิดของท่านขงจื๊อทั้งหมด เป็นหลักการบริหารได้อย่างเป็นเลิศครับ

       ทั้ง "ครองตน ครองคน  และ ครองงาน"

        ขออนุญาตคัดลอกและนำไปใช้นะครับ

                      ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท