บันทึกเดือนที่สอง ตุลาคม 2550


เดือนแห่งความสับสน.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สอง ตุลาคม 2550

เดือนแห่งความสับสน.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สอง  ตุลาคม 2550   

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่ 

ขออภัยที่ส่งงานช้าค่ะสำหรับเดือนนี้   เหตุเกิดตามชื่อหัวข้อเลยค่ะ  เดือนแห่งความสับสนอย่างแท้จริง   สับสนเรื่องเรียน  เรื่องการทำวิจัย  เรื่องการแบ่งเวลา  เรื่องการเอาตัวรอด  และอื่นๆ     (ผู้ที่เข้ามาอ่านท่านใดอยากรู้ที่มาที่ไปหรือว่าครูใหญ่และครูน้อยเป็นใคร  ต้องไปอ่านบันทึกหมายเลข 0 ก่อนเลยนะคะ) 

เข้าสู่เดือนที่สองของการศึกษาปริญญาเอกแล้วล่ะค่ะ    ชีวิตบางด้านเริ่มปรับตัวได้  แต่บางด้านเริ่มดิ่งเหวแล้วค่ะ...   อ้าว... ไหงงั้นล่ะ...  ครูใหญ่อย่าเพิ่งกังวลนะคะ   หนูขี้บ่นแต่ก็ไม่เคยเหลวไหลค่ะ    คือมีความตั้งใจดีเสมอค่ะ  แต่ส่วนตั้งใจแล้วจะเรียนรอดหรือไม่รอดเนี่ย  ก็ต้องดูกันต่อไป  (แหะ แหะ  ออกตัวไว้ก่อนเลยนะคะ)    

เดือนนี้  ขอแบ่งหัวข้อดังนี้ค่ะ

  • Term paper ของวิชา Marketing Strategy   
  • ชีวิตที่สับสนในสมดุลย์ระหว่างการเรียนกับงานวิจัย

 เริ่มกันเลยนะคะ 

1.                 Term paper ของวิชา Marketing  Strategy   

         จากที่ค้างไว้ในบันทึกเดือนที่แล้ว   ได้ไปคุยกับอาจารย์เจ้าของวิชาแล้วล่ะค่ะ   ตกลงกันได้ว่าเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการถ่ายทอด tacit knowledge ในองค์กรที่มีลักษณะการดำเนินการแบบ market-driven organization ค่ะ    คงจะเป็นการเขียนบทความในรูปแบบเพื่อเสนอตีพิมพ์ค่ะ  (ที่นี่จะกำหนดให้เขียนบทความวิจัยหรือวิเคราะห์ในลักษณะนี้เท่านั้น)                    

          ครูน้อยเลือกเขียนแบบทฤษฎีเปรียบเทียบ  ไม่ใช่แบบ empirical studyเพราะดูจากเวลาและเนื้อหาแล้ว  คงจะทำแบบหลังไม่ทันค่ะ   ส่วนรายละเอียดขอเป็นเดือนหน้ามารายงานเพิ่มเติมนะคะ   อาจารย์เจ้าของวิชาเป็นหัวหน้าภาควิชาการตลาด  และเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยต่างๆ ที่นี่  ซึ่งท่านมีงานบริหารต่างๆ ยุ่งวุ่นวายมาก   แต่ก็ยังเจียดเวลามาช่วยครูน้อยดูรายละเอียดของรายงาน   และยินดีช่วยดูเนื้อหาต่างๆ ให้ก่อนส่งงานขั้นสุดท้ายด้วย  เนื่องจากครูน้อยเรียนท่านว่า  ยังไม่เคยเขียนบทความเพื่อส่งตีพิมพ์มาก่อนในชีวิต  หลังจากท่านกุมขมับไปสองวินาที   ท่านก็บอกให้ครูน้อยไปทำสรุปประเด็นเนื้อหาที่จะใส่ในรายงานมาเสนออีกครั้งหนึ่ง   แล้วท่านจะแนะนำวิธีการขยายความจากประเด็นสรุปให้เป็นบทความ   ท่านบอกว่านักศึกษาของภาควิชาการตลาดจะได้ลงทะเบียนเรียนวิชาพื้นฐานตัวอื่นซึ่งจะฝึกการเขียนบทความลักษณะนี้  แต่นักศึกษาจากภาควิชาอื่น (ซึ่งก็มีครูน้อยอยู่คนเดียวเนี่ยแหละ)  จะไม่ได้ลงเรียน  ดังนั้น  ท่านจะช่วยสอนครูน้อยในวิธีการเขียนบทความดังกล่าวเอง                 

          ครูน้อยประทับใจมากกับหัวใจความเป็นครูของท่าน   เลยอยากขออนุญาตนำบันทึกบทสนทนาช่วงสุดท้ายแบบแปลเป็นไทยแล้วมาลงไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ  (ขออนุญาตครูใหญ่ตรงนี้เลยนะคะ  หนูแอบเขียนนอกเรื่อง KM อีกแล้ว)       

สถานที่:        ห้องทำงานของ Professor Roger Calantone                               

หลังจากครูน้อยขอคำปรึกษาเรื่องหัวข้อและนำเสนอโครงสร้างของรายงาน  และอาจารย์ได้แก้ไขให้แล้ว  ก็เตรียมตัวลากลับ                            

อาจารย์:        หากมีคำถามก็ให้ถามได้ทันที  ไม่ต้องรู้สึกอายหรือเสียหน้าในการขอคำปรึกษาจากอาจารย์ 

ครูน้อย:         จริงๆ แล้ว  ไม่เคยคิดเรื่องนั้นเลยค่ะ   แต่จะรู้สึกเกรงใจไม่อยากจะรบกวนเวลาอาจารย์มากกว่า 

อาจารย์:        การจัดสรรเวลาเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องจัดการ  ถ้าหากอาจารย์อายุขนาดนี้แล้วแต่ยังไม่สามารถจัดสรรเวลาให้แก่นักศึกษาได้  ก็เป็นปัญหาของอาจารย์ที่จะต้องหาทางแก้ไข   แต่วิธีที่คุณขอนัดหมายเวลามาล่วงหน้านั้น  เป็นวิธีที่ถูกต้องอยู่แล้ว ขอให้ทำต่อไป    อาจารย์ไม่เคยคิดว่าการที่คุณมาขอคำปรึกษาเป็นการรบกวนแต่อย่างใด  

(ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์  ครูน้อยโชคดีจริงๆ ในชีวิตมักจะได้เจอกับคุณครูหรืออาจารย์ที่มีหัวใจความเป็นครูเสมอๆ ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนๆ ก็ตาม  ทำให้ได้แบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตและการทำงานตลอดมาค่ะ)

2.       ชีวิตที่สับสนในสมดุลย์ระหว่างการเรียนกับงานวิจัย          

          ที่มาที่ไปก็สืบเนื่องจากมีอาจารย์ท่านหนึ่งได้เรียกครูน้อยไปพูดคุยค่ะ  และขอให้ครูน้อยเริ่มไปขอทำงานวิจัยกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ได้แล้ว  (แบบกึ่งบังคับและไม่จ่ายค่าจ้าง)  ซึ่งครูน้อยก็ได้แจ้งไปว่า  ตามความประสงค์ของทางเจ้าของทุนและของตนเองนั้น  ครูน้อยก็ยินดีที่จะช่วยอาจารย์ทำงานวิจัยอยู่แล้ว  เพื่อเพิ่มความรู้พื้นฐานในการทำวิจัยและสร้างความสัมพันธ์อันดี   แต่อยากจะทำในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือต่อยอดไปในทาง KM ได้ซึ่งก็ได้คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาไว้บ้างแล้ว    นอกจากนั้น  ในเทอมนี้ครูน้อยลงเรียนวิชาซึ่งเป็นที่โจษขานว่ายากที่สุด  หินที่สุดของการเรียนที่นี่  ครูน้อยเองก็ยังมีปัญหากับการติดตามเนื้อหาการเรียนให้ทันอยู่  (แถมยังได้คะแนนสอบกลางภาคในระดับย่ำแย่)    เพราะฉะนั้น  ก็อยากจะเริ่มช่วยอาจารย์ท่านอื่นๆ ทำในเทอมถัดไป            

           อย่างไรก็ดี  อาจารย์ท่านนี้ก็ได้ไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาของครูน้อย   และอาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้แจ้งว่าอยากให้ครูน้อยเริ่มช่วย (อาจารย์ท่านไหนก็ได้  ในหัวข้อไหนก็ได้) ทำวิจัย ณ เวลานี้เลย    อันนี้ล่ะค่ะที่ทำให้ชีวิตของครูน้อยเริ่มใกล้จะดิ่งเหวแล้ว  จากปริมาณงานที่เห็นลาง(ร้าย)อยู่รำไร  แล้วเราจะรอดไหมเนี่ยในเทอมนี้...  555 (หัวเราะปลอบใจตัวเองนะคะ  อย่านึกว่าบ้าไปแล้ว)    

           จบแล้วค่ะ  สำหรับ blog เดือนที่สองนี้   ขอแบบสั้นๆ เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับ KM ส่วนใหญ่จะอยู่ใน term paper ที่กำลังจะทำ   เลยอยากรอให้ทำเสร็จก่อนแล้วค่อยเขียนเล่าสู่กันฟังค่ะ  ช่วงต้นเดือนหน้ามีกำหนดการส่งรายงานใหญ่ 2 ฉบับ มี presentation สำหรับ journal articles สองครั้งและมีสอบไล่ปลายภาคอีกสองวิชา  คงสนุกน่าดูค่ะ  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเขียนบันทึกของเดือนหน้าได้ตรงตามกำหนดเวลา   สวัสดีครูใหญ่อีกครั้งนะคะ  เจอกันเดือนหน้าเช่นเคยค่ะ

 

หมายเหตุ         เผื่อมีท่านใดอ่านแล้วเป็นห่วงครูน้อยขึ้นมา   ไม่ต้องเป็นกังวลนะคะ   ชีวิตด้านอื่นๆ ครูน้อยแฮ้ปปี้มากค่ะ  ได้เจอเพื่อนดีๆ หลายคนที่คอยให้ความช่วยเหลือ   อาจารย์ผู้สอนในเทอมนี้ก็สอนดีและใจดีค่ะ   ห่วงเรื่องเดียวคือเรื่องผลการเรียน  กับเรื่องที่บ่นไปข้างต้นนั่นแหละค่ะ  นอกนั้นมีความสุขดีทุกด้านค่ะ 

 

คำสำคัญ (Tags): #phd#tacit knowledge
หมายเลขบันทึก: 143626เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2007 06:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นกลวิธีที่เป็นการเชิญชวนให้ติดตามอ่านได้ดีมากครับ

 

ส่งกำลังใจมาช่วยครับ ชอบมากกับประโยของอาจารย์ที่พูดว่า "การจัดสรรเวลาเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องจัดการ  ถ้าหากอาจารย์อายุขนาดนี้แล้วแต่ยังไม่สามารถจัดสรรเวลาให้แก่นักศึกษาได้  ก็เป็นปัญหาของอาจารย์ที่จะต้องหาทางแก้ไข "

ผมก็โชคดีที่ได้เจออาจารย์ดีๆที่แอนท์เวิปเหมือนกันครับและก็กำลังผจญกับการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนเหมือนกันครับ 

ที่จริงเป้าหมายที่ครูใหญ่ชวนครูน้อยเขียน บล็อก เล่าเรื่องการเรียนปริญญาเอกที่ MSU ก็เพื่อเป็น KS (Knowledge Sharing) เกี่ยวกับ

  1. การเรียนปริญญาเอกที่มีคุณภาพระดับสูง
  2. การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาเอกด้าน KM

       ดังนั้นที่เล่ามา จึงตรงตามวัตถุประสงค์นะครับ     โดยเฉพาะการเล่าบทสนทนากับอาจารย์ดีๆ มีความรับผิดชอบสูง เป็นประโยชน์ต่อวงการอุดมศึกษาไทยอย่างยิ่ง     อยากให้เล่าอีกเยอะๆ

      อยากให้เล่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน นศ.    และชีวิตประจำวันของ นศ. ป. เอก ด้วย ว่าวันๆ ทำอะไรบ้าง     นศ. ป. เอกของไทยจะได้เปรียบเทียบว่าของเขาเรียนกันแบบเอาจริงอย่างไร

      ช่วงของการปรับตัวก็เครียดหน่อยครับ    สภาพเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของ นศ. ป. เอก     เป็นเรื่องธรรมดาครับ     นศ. ป. เอกคนไหนชีวิตการเรียน ป. เอกราบรื่นหมด     ถือว่าขาดโอกาสเรียนรู้ช่วง down ของชีวิตครับ

วิจารณ์

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันนะคะ   และขอขอบพระคุณครูใหญ่ที่ให้ความเห็นเพิ่มเติมในหัวข้อเสริมต่างๆ ค่ะ     ซึ่งตรงกับความตั้งใจของครูน้อยเองตั้งแต่แรกเลยว่าอยากจะเขียนเรื่องกิจกรรมต่างๆ  และปฎิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนักศึกษาปริญญาเอกที่เรียนด้วยกัน  ตลอดจนเพื่อนนักศึกษาไทยที่นี่   ซึ่งมีทั้งเรื่องที่น่าสนใจ  มีสาระ  หรือไม่มีสาระแต่ขำขันมากมายพอสมควรเลยค่ะ   

ตัวอย่างสั้นๆ เอาแบบบันเทิงก่อนนะคะ  เช่น  การแข่งกีฬานักเรียนไทย 5M    ที่ UM-Ann Arbor เสียประตูในการแข่งฟุตบอลไปรวมทั้งสิ้น 12 ประตูในการแข่งสองแมตช์  โดยยิงเข้าไปได้ทั้งสิ้น  1 ประตู  เนื่องในโอกาสที่ผู้รักษาประตูฝ่ายตรงข้ามหนีไปทำธุระส่วนตัวอีกต่างหาก   (555  ขออนุญาตขำนะคะ   มันตลกจริงๆ ค่ะ  คือใครได้ดูก็ต้องขำกลิ้งค่ะ  ไว้มาบรรยายรายละเอียดอีกทีนะคะ ...   คิดแล้วยังขำอยู่เลย)    

หรือแบบจริงจังหน่อย  เช่น  เพื่อนนักศึกษา ป.เอก ชาวอเมริกันที่เกิดสนใจอยากได้พระไตรปิฎกและไปฟังเทศน์ที่วัดไทย  หลังจากเชิญครูน้อยไปร่วมวง Sushi dinner  ที่บ้าน  

หรือแบบมีสาระไปเลย  เช่น  การ(โดนบังคับ)ให้ไปฟังการนำเสนอผลงานของอาจารย์ที่มาสมัครงานทุกราย  รวมถึงฟังการซ้อมนำเสนอผลงานของนักศึกษา ป. เอกรุ่นพี่ในการสมัครงาน   เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต  แม้ว่าเราจะเพิ่งเข้าไปเรียนได้เดือนเศษก็ตาม

สรุปคร่าวๆ ว่า การเรียนที่นี่มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรเยอะมากจริงๆ ค่ะ    นี่ก็ยังเล่าไม่หมดหรอกนะคะ    ขออนุญาตเล่ารายละเอียดในบันทึกตอนปิดเทอมฤดูหนาวละกันค่ะ    รวมถึงรายละเอียดชีวิตประจำวัน (อันแสนเศร้า) ของนักศึกษา ป.เอก ที่นี่ด้วย    

รอหน่อยนะคะ...

ติดตามอ่านบันทึกของครูน้อยทุกฉบับแล้วรู้สึกดีมากๆ เขียนน่าติดตาม  สนุกมาก และได้ข้อคิดหลายอย่าง  ครูน้อยเป็นคนที่มีมุมมองที่ดี  มองโลกเชิงบวก  ขอส่งกำลังใจให้ครูน้อยผ่านอุปสรรคทุกๆ อย่าง  เรียนจบกลับมาเร็วๆนะคะ

จะติดตามบันทึกครูน้อยต่อไปนะคะ  :)

ติดตามอ่านค่ะ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต นร.ป.เอก เพื่อประเมิณตัวเองไปด้วยว่าพร้อมที่จะเรียน ป.เอก หรือยัง .....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท