กองทุนการเงินชุมชน - มิติด้านกฎหมาย


ไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้นเมื่อมีปัญหาโดนโกง ชาวบ้านก็เลยเรียกร้องอะไรไม่ได้เพราะตัวเองก็ทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว

อาทิตย์นี้ได้มีโอกาสเดินสายพบตัวจริงเสียงจริงของอาจารย์หลายท่านที่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือทาง gotoknow มาตลอด ๕ เดือนที่เปิด blog เริ่มจาก อ.ตุ้ม ม.เกษตร นัดพบกันในงานมหกรรมงานวิจัย สกว.ภาคเหนือ อ.ปัท ม.ธรรมศาสตร์ ไปให้อ.เลี้ยงข้าวที่บ้านเก่า มธ.ท่าพระจันทร์ และ อ.แหวว ที่เพิ่งแยกกันเมื่อชั่วโมงก่อนนี้เอง

อาจารย์ทุกท่านน่ารักมาก แต่ละท่านช่วยจุดประกาย และคลี่คลายข้อสงสัยหลายประการที่สั่งสมมาหลายเดือน แถมมีการบ้านให้ได้คิดต่อและลงมือปฎิบัติอีกหลายๆ อย่าง ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกท่านมากนะคะ

แต่มีบางประเด็นที่ท้าทายความรู้เดิมและแผนการในใจที่คิดไว้อย่างจัง โดยเฉพาะประเด็นด้านความถูกต้องทางกฎหมายของกองทุนการเงินที่ฉันคิดจะลงไปเริ่มต้นใหม่ในพื้นที่

อ.แหวว นักกฎหมายแห่ง ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามกับฉัน หลังจากที่ฉันได้แบ่งปันให้ฟังว่า อยากจะเริ่มกระตุ้นให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไร้สัญชาติในพื้นที่ได้เริ่มออมเงินร่วมกัน วันละบาทเพื่อเป็นกองทุนช่วยสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย และอื่นๆ เพื่อเป็นสวัสดิการของชุมชนเองในขณะที่สวัสดิการของรัฐยังเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนี้

อ.แหวว ถามว่า "รู้ไหมว่าผิดกฎหมาย?"

ฉันแอบเถียงเล็กๆ แบบงงๆ ก็เห็นนักวิชาการและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เขาก็ทำกันทั่วประเทศ หรือที่องค์กรของฉันก็ทำมากว่า ๒๐ ปีแล้วนี่นา !!??

 อ.แหวว ยกตัวอย่าง กลุ่มที่เล่นแชร์ ว่าไม่ต่างกันเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้นเมื่อมีปัญหาโดนโกง ชาวบ้านก็เลยเรียกร้องอะไรไม่ได้เพราะตัวเองก็ทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว หรือตัวอย่างการต่อสู้เรื่องป่าไม้ของชาวบ้าน เป็นต้น

อาจารย์ย้ำว่า ยังไงก็ต้องเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ ซึ่งแม้ยังไม่มีกฎหมายรองรับก็ต้องเสนอและผลักดัน ไม่งั้นก็ผิดกฎหมาย

โดยเพิ่มเติมว่าตอนนี้ในแง่สาธารณสุข ทาง สวปก. สำนักงานวิจัยเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ก็กำลังพยายามนำเสนอกฎหมายนโยบายที่เหมาะสมสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (คนที่ไม่มีสัญชาติไทย)

ฉันยังอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมการที่ชาวบ้านจะร่วมกันช่วยเหลือตัวเอง เพื่อจะพึ่งตนเองได้ ก็ยังผิดกฎหมายอีก !!

เลยอยากรีบบันทึกความมึนงงกับความรู้ใหม่นี้ ก่อนที่จะดูว่าจะสร้างสะพานนี้ต่ออย่างไรดี ???

 

หมายเลขบันทึก: 143837เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2007 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ตอนแรกตอบเสียยาว  แต่เกิดขัดข้องทางเทคนิค ข้อความหายหมด...

เป็นจริงที่ว่า องค์กรการเงินชุมชนหลายแห่งไม่มีกฎหมายรองรับ 

ตอบสั้นๆแค่ว่า  กฎหมายไม่ใช่กติกาหนึ่งเดียวที่จะจรรโลงสังคม  เพราะ ศีลธรรม จารีต ประเพณี กติกาชุมชนก็สามารถศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่แพ้กฎหมาย   บางครั้งกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม  แต่ทำให้คนบางกลุ่มถูกกีดกันก็มีเหมือนกัน

หลักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับต้นทุนการบังคับกฎ มากกว่าที่ว่า กฎนั้นเป็นกฎหมายหรือไม่  ต่อให้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าคุมกฎไม่ได้ เพราะผู้คนบิดพริ้ว  กฎหมายก็ไม่เป็นจริง

 ถ้าองค์กรการเงินชุมชนมีกติกาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของสมาชิก  สมาชิกมีเป้าหมายร่วมกัน  มีความซื่อสัตย์ เคารพกติกา  รู้จักกันและกันว่าใครเป็นใคร  กรรมการเป็นที่ยอมรับว่ามีความซื่อสัตย์      ต้นทุนการคุมกฎก็ต่ำ   กติกาชุมชนก็ย่อมศักดิ์สิทฺธิ์ได้  

องค์กรการเงินชุมชนหลายแห่งจึงประสบความสำเร็จงานศึกษาพบว่า ชาวบ้านซื่อสัตย์ในเรื่องการเงิน

บทเรียนแชร์ลูกโซ่   ปัญหาเกิดเพราะอะไร ?  กฎหมายเข้ามาตอนจบและให้ข้อสรุปแค่ว่า  สมาชิกแชร์ลูกโซ่ต้องรับความเสี่ยงกันเอง  

แต่รับฟังคำเตือนของอาจารย์แหววไว้บ้างก็เป็นประโยชน์ค่ะ   จะได้ขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยความรอบคอบ 

  • สวัสดีครับ
  • ได้ยินเรื่องกฏหมายแล้วอดไม่ได้ที่จะแสดงความรู้สึกบางอย่างเกี่ยวกับกฎหมาย
  • เท่าที่สังเกต กฎหมายมีไว้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในรัฐ แต่ผมก็มักไปจับจุดเล็กๆ อยู่เรื่อยว่า ผู้มีอำนาจทางกฏหมายมิได้มีความรู้ถึงสัดส่วนของทุกชีวิตอย่างทั่วถึง กฏหมายบางตัว จึงไม่อาจรักษาความบริสุทธิ์ยุติธรรมไว้ได้ เคยฟังบรรยายเกี่ยวกับกฎหมาย "เราต้องดูเจตนารมย์ของกฏหมาย" ทีนี้ ในความเป็นจริงของสังคม ผู้มีอำนาจใช้กฎหมาย มักให้ความสำคัญกับกฎในฐานะกฎที่เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง หากจะยืดหยุ่นก็ให้ความสำคัญกับมีส่วนได้เสียกับตนมาก่อน
  • กฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบกติการ่วมกัน แต่คนไทยจำนวนหนึ่งในวันนี้บอกว่า "กฏมีไว้เพื่อให้ฝ่า" และบางคนก็เมินเผยกับกฎ อันที่จริงมันก็น่าคิดเหมือนกันตรางที่ว่า ก็เขาไม่ได้มีสัญญาใดๆในกฎนั้น กฎเป็นสิ่งที่ผู้อื่นตั้งขึ้นมา ทำไมเราต้องทำตามเขาด้วย เมื่อกติกาเป็นสิ่งที่ถูกเมินเผย ความไร้กติกาก็เกิด แต่กติกาจะไม่ถูกทำลายกับคนที่ยึดมั่นในกติกา กองทุนชุมชนที่สมาชิกมั่นในกติกา (ซื่อสัตย์...ยึดถือสัจจะ) แม้จะไม่มีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือถูกตรารองรับจากรัฐ ก็น่าจะไม่เป็นปัญหาสำหรับชุมชนยั่งยืน
  • แต่ก็มานั่งคิดอีกว่า ในเมื่อรัฐมีอำนาจในการจัดการเบ็ดเสร็จ ครั้นจะต่อสู้กับรัฐด้วยสองมือและใจบริสุทธิ์ ในที่สุดก็ต้องยอมพ่ายกับรัฐ การอยู่ภายใต้รัฐจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดี ในเมื่ออำนาจส่วนใหญ่ของคนให้ความสำคัญกับรัฐ ครั้นจะไม่ขอยู่ในอำนาจรัฐก็จะกลายเป็นกบถไป
  • ข้อสรุปในตอนนี้คือ ในเมื่อรัฐมีอำนาจ รัฐมีมวลชน รัฐมีกำลัง เราคงต้องอาศัยรัศมีแห่งรัฐนั่นเองมาใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรต่อกองทุน แต่ก็หวั่นอยู่ว่า สุดท้าย กองทุนนั้นจะกลายเป็นกองทุนการเมือง เมื่อเข้าไปในเครือข่ายของรัฐ
  • นับวันได้แต่บอกตัวเองว่า "เรานี่เป็นคนมองโลกในแง่ร้ายเสียจริง" :-)
  • ขอบคุณครับสำหรับสายๆ

งานสัมมนาที่วัดป่ายางวันที่29-30ต.ค.ก็มีเสียงบ่นว่าคนของรัฐตราหน้าว่ากลุ่มสัจจะเป็นกลุ่มเถื่อน

เรื่องนี้มีประวัติมายาวนาน
ผมเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญปี2540รับรองการรวมตัวกันของชุมชนเพื่อทำกิจกรรมส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน(มิใช่ธุรกิจระหว่างบุคคลและนิติบุคคล-ความเห็นของอ.แหววเข้าใจว่าคงเป็นมุมมองของนักกฏหมายเพราะอ.ฐาปนันท์ นิติศาสตร์มธ.เหมือนกันบอกว่าไม่มีชุมชนอยู่ในตัวบทกฏหมาย)

ที่จริงการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันยืนอยู่บนหลักการ สหกรณ์ แต่สหกรณ์ในกฏหมายไทยคือ กลุ่มที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น จึงมีคำเรียก
สหกรณ์ภาคประชาชน ทดแทน

มีหน่วยงานรับรองสถานะภาพองค์กรชุมชนคือ สถาบันพัฒนาองค์กร(พอช.) และที่พยายามต่อสู้ทางกฏหมายคือพรบ.สภาองค์กรชุมชน

หลักการทางกฏหมายคุ้นเคยกับแนวคิดปัจเจกถือเอาการต่อสู้ทางคดีความเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มแนวคิดยุติธรรมชุมชนโดยใช้กลไกทางสังคมช่วยจัดการซึ่งได้ผล(โดยรวม)ดีกว่า
ผมเข้าใจว่าแนวคิดการรวมกลุ่มทางการเงินเพื่อช่วยเหลือกันก็ใช้กลไกทางสังคมเป็นกลไกสำคัญ
ครูชบประกาศว่า กลุ่มจะไม่ฟ้องร้อง ใครโกง(ได้)ก็โกงไป
ครูชบใช้กลไกชุมชนและกองทุนสวัสดิการเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้สมาชิกไม่คิดโกง
วิธีการสำคัญคือ
1)ตั้งกองทุนสวัสดิการที่แบ่งกำไรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งควบคู่กันไปกับเงินออมของสมาชิก
2)ตั้งกองทุนสวัสดิการลดรายจ่ายวันละ1บาทหรือกองบุญวันละ1บาทเคียงคู่กับกองทุนสวัสดิการสัจจะเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เป็นคนดีตามกรอบระเบียบของกลุ่ม ด้วยการ
2.1)การกู้ป้องกันโดยใช้เงินหุ้นหรือเงินสัจจะของตนเองค้ำ และมี2คนช่วยค้ำตามหลักการ ที่พิเศษคือ
2.2)ในวันทำการเมื่อมีการส่งคืนเงินกู้รายเดือน ถ้าผู้กู้คนใดไม่ส่ง จะไม่ปล่อยกู้ในเดือนนั้น คนค้ำต้องไปตามเงินกู้มาคืน ถ้าไม่ได้ ผู้ที่ต้องการกู้ต้องยอมเฉลี่ยจ่ายคืนเงินกู้ที่ค้างส่งในเดือนนั้นแล้วไปตามเก็บเงินจากคนค้างเอง

วิธีการนี้ให้ความสำคัญกับกลุ่มสูงมาก กลุ่มมีความสำคัญที่สุด ปัญหาจากเงินค้างจึงไม่มี สมาชิกต้องดูแลกันเอง ต้องจัดการกันในระบบสังคม/ชุมชน

3)เรื่องบัญชีต้องชัดเจนเป็นระบบทุกเดือน
สามารถปิดบัญชีรับจ่าย(บัญชีเงินสด)และปิดงบทดลองในแต่ละเดือนได้โดยเร็วที่สุด(ในวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้นโดยให้กรรมการร่วมเรียนรู้เรื่องบัญชีด้วย)
ด้วยวิธีการเหล่านี้ หากมีสมาชิกมากพอและทำกิจกรรมต่อเนื่องระยะหนึ่งก็จะมีเงินกองทุนเพิ่มพูนขึ้นเป็นพลังที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากการออม-กู้ ลดรายจ่าย/ทำบุญ-จัดสวัสดิการโดยใช้กลไกทางสังคมจัดระบบก็จะช่วยให้ชุมชนพอฟื้นตัวได้ จะเป็นพลังในการทำเรื่องอื่นๆต่อไป
โดยสรุปคือ
1)ระบบคิดเรื่องการออม-กู้ ลดรายจ่าย/ทำบุญ-จัดสวัสดิการ
2)วิธีการ เน้นการพึ่งตนเอง จูงใจด้วยสวัสดิการ 
พึ่งพา/ดูแลกันภายใน ความมั่นคงของกลุ่มต้องมาก่อน 
3)ผู้นำ การเรียนรู้ร่วมกันของคณะกรรมการและสมาชิก

นักกฎหมายอย่าง อ.แหวว ไม่ยอมพ่ายแพ้ "กฎหมายของผู้ปกครอง" หรอกค่ะ คำว่า "กฎหมาย" มีความหมายโดยพื้นฐานมาจาก "เหตุผลที่ถูกต้อง" ค่ะ

จะต้องประดิษฐประดอย "กฎหมายที่เป็นอยู่" ให้สร้าง "ยุติธรรม" มากที่สุด และต้องเป็น "ยุติธรรมทางสังคม" ขอเวลาสักหน่อย

โปรดดูการเตรียมตัวทำงานของเรา

http://www.oknation.net/blog/archanwell/video/14120

สิทธิในสุขภาวะมันเป็นสิทธิมนุษยชน มันจะจำกัดอยู่ที่คนสัญชาติไทยเท่านั้นได้อย่างไร

ขอบคุณ อ.ภีม อีกครั้งค่ะ

กำลังศึกษางานของอาจารย์ จากรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ที่ อ.ปัท เอาให้ อย่างตั้งอกตั้งใจค่ะ น่าสนใจและตรงกับที่กำลังแสวงหาอย่างมากค่ะ

ดีใจที่จะมีสะพานที่มีฐานรากมั่นคงจากความเข้มแข็งของชุมชนเองค่ะ

แล้วคงมีประเด็นหารืออาจารย์ต่ออีกนะคะ

เชื่อมือและเชื่อมั่นอาจารย์แหววอยู่แล้วค่ะ เป็นกำลังใจให้เสมอนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท