ความเห็นว่า อัตตา กับ อนัตตา ไม่ใช่ตัวกิเลส อุปาทาน และ มานะทิฏฐิ ในอัตตา และอนัตตา คือกิเลสที่ต้องละ…?


มานะทิฏฐิ
ความเห็นว่า  อัตตา  กับ  อนัตตา  ไม่ใช่ตัวกิเลส  อุปาทาน  และ  มานะทิฏฐิ  ในอัตตา และอนัตตา  คือกิเลสที่ต้องละ…?
พจนานุกรมบาลี –ไทย  ได้ให้ความหมายของอัตตา  โดยสรุปรูปวิเคราะห์  ว่า

อาทิโต  อทํมาโน  เอตฺถาติ  อตฺตา  แปลว่า  อัตตา(ร่างกาย)เป็นที่ตั้งของมานะ

พุทธธรรมสอนว่า  ตัวตนหรืออัตตานี้  ไม่มีอยู่จริง  แต่เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร  เพื่อความหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์  ในความเป็นอยู่ประจำวัน  กำหนดตามชื่อที่บัญญัติขึ้น  หรือตั้งขึ้นสำหรับเรียกหน่วยรวมหรือภาพรวมหนึ่งๆ  

อัตตานี้จะเกิดเป็นปัญหาขึ้น  ก็ต่อเมื่อคนหลงผิดเกิดความยึดถือขึ้นมาว่า  มีตัวตนจริงๆ เรียกว่ารู้ไม่เท่าทันความเป็นจริง  หรือหลงสมมติ  ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับอัตตานี้  พึงทราบว่า  อัตตาไม่ใช่เป็นกิเลส  มิใช่สิ่งที่จะต้องละ  เพราะอัตตามิได้มีอยู่จริง(ในโลกียวิสัยหรือสิ่งสมมติ)  จึงไม่มีอัตตาที่ใครจะละได้  อัตตามีอยู่แต่เพียงในความยึดถือ  สิ่งที่จะต้องทำก็มีเพียงการรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า ไม่มีอัตตา  หรือไม่เป็นอัตตา  อย่างที่เรียกว่า  รู้ทันสมมติเท่านั้น  

พูดอีกนัยหนึ่งว่า  ละความยึดถือในอัตตา  ละความยึดถือว่าเป็นอัตตา  หรือถอนความหลงผิดในภาพของอัตตา  หรือในบัญญัติแห่งอัตตาเสียเท่านั้น  เรื่องอัตตาและการปฏิบัติต่ออัตตาในความหมายที่ใช้ทั่วไป  มีเพียงเท่านี้

อย่างไรก็ดี  ในสุตตนิบาต  ท่านใช้คำว่า อัตตา  คู่กับ  นิรัตตา (หรืออัตตัง  คู่กับ  นิรัตตัง)  และได้ขยายความหมายของอัตตาในกรณีนี้ออกไปว่า  หมายถึง  การยึดถือในอัตตา  หรือการถือว่า  อัตตาขาดสูญไป  

และอีกนัยหนึ่งว่า  สิ่งที่จะต้องปล่อยละ  ความหมายของอัตตาในกรณีนี้เป็นความหมายแบบขยายตัวเกินศัพท์  คือ  มุ่งเน้นที่ทิฏฐิ  อันได้แก่ความเชื่อถือหรือความยึดถือในอัตตาที่เรียกว่า  “อัตตทิฏฐิ”  หรือ  “อัตตานุทิฏฐิ”  ซึ่งก็คือความเชื่อว่า  มีตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกนถาวรที่เรียกว่า  “สัสสตทิฏฐิ”  

ดังนั้น  ในคัมภีร์มหานิทเทสและจูฬนิทเทสที่อธิบายสุตตนิบาตตอนที่อ้างนั้นจึงไขความคำ  “อัตตา”  หรือ  “อัตตัง”  ว่าได้แก่  อัตตทิฏฐิ  หรือ  สัสสตทิฏฐิ  ในเมื่ออัตตาในกรณีนี้หมายถึง  ตัวทิฏฐิ  ซึ่งเป็นกิเลส  (คือทิฏฐิต่ออัตตา  ทิฏฐิว่ามีอัตตา)  จึงเป็นสิ่งที่ต้องละฉะนั้น  

ในสุตตนิบาตนั้น  จึงมีข้อความบาลี  กล่าวถึงการละอัตตาว่า

“ผู้ละอัตตา(อตฺตญฺชโห)” บ้าง
“ละอัตตา(คืออัตตทิฏฐิ  หรือ  สัสสตทิฏฐิ) ได้แล้ว (อตฺตํ  ปหาย)” บ้าง


(ขุ.สุ.๒๕/๗๙๗/๔๔๐.  ฉบับมหาจุฬาเตปิฎกํ,๒๕๐๐.)
(ขุ.สุ.๒๕/๘๐๗/๔๙๒.  ฉบับมหาจุฬาเตปิฎกํ,๒๕๐๐.)

ยังมีการถือเกี่ยวกับตัวตนอีกอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างจากการถืออย่าง ทิฏฐิ  กล่าวคือ  ทิฏฐินั้นเป็นการถือว่า  มีตัวตนหรือเป็นตัวตนเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวตน  เห็นว่าตัวตนเป็นของถาวร  เป็นต้น  

ส่วนการถือเกี่ยวกับตัวตนอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นการถือสำคัญ  หมายความว่าถือเทียบเคียงระหว่าง  ตัวเองกับตัวอื่น  ถือเอาไว้  วัดไว้  แข่งกัน  ถือสูงต่ำ  ถือตัวตนในลักษณะที่จะเอาตัวตนนั้นไปเป็นนั่นเป็นนี่  เช่นว่า  ฉันเป็นนี่  ฉันแค่นี้  ฉันสูงกว่า  เราด้อยกว่า  เราเท่ากับเขา  เป็นต้น  การถืออย่างนี้  มีชื่อเฉพาะเรียกว่า  “มานะ”  แปลว่า  ความถือตัว  ความทะนงตน  ความสำคัญตนว่า สูงต่ำ  เด่นด้อย  เท่าเทียม  เทียบเขาเทียบเรา  ตลอดจนความรู้สึกภูมิ ๆ พองๆ ถือตัวอยู่ภายใน  มานะนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง  เช่นเดียวกับทิฏฐิ  จึงเป็นสิ่งที่ต้องละ  หรือต้องกำจัดเสีย  

ในปัจจุบันได้เริ่มมีความนิยมขึ้นบ้างในบางท่านหรือบางหมู่  ที่จะใช้  “อัตตา”  ในความหมายของ  “มานะ”  อย่างนี้  เช่นว่า  คนนั้นมีอัตตามาก  อัตตาเขาใหญ่  อย่าเอาอัตตามาว่ากัน  อย่าให้อัตตาแรงนัก  ดังนี้เป็นต้น  พึงตระหนักว่า  การใช้อัตตาอย่างนี้  เป็นเพียงความนิยมเท่านั้น  แต่ไม่ถูกต้อง  คำที่ถูกต้องสำหรับ  ในกรณีนี้  คือ  “มานะ”  ซึ่งเป็นกิเลสตัวการที่ทำให้ไม่ฟังกัน  ไม่ลงกัน  ไม่ยอมกัน  ทำให้แข่งให้อวดกัน  ตลอดจน  กดข่มกัน  นอกจากนี้  พึงสังเกตว่า  แม้แต่การถือตัวว่าเท่ากับเขาก็เป็นมานะ  เป็นกิเลส  เช่นเดียวกับการถือว่าสูงกว่าเขา  เหนือกว่าเขา  หรือต่ำกว่าเขา  ด้อยกว่าเขา  เพราะตราบใด  ที่ยังเป็นการถือ  ตราบนั้นก็ยังเป็นการกำเริบ  การจำกัดตัว  การกดบีบ  หรือเบ่งพอง  ของจิต  ซึ่งอาจจะไม่ตรง  เท่ากับความเป็นจริง  หรือเอาความจริงมาเป็นฐานก่อความกำเริบ  กดบีบเบ่ง  พองจิต  จึงยังเป็นภาวะไม่อิสระ  ไม่ปลอดโปร่ง  ผ่องใส  การที่จะไม่ให้เป็นมานะ  การไม่ให้เป็นกิเลส  ก็คือการที่รู้ตามเป็นจริง  ไม่ว่าจะรู้ว่าสูงต่ำ  หรือเท่าเทียมก็ตาม  ถ้าเป็นการเข้าถึงความรู้  และเป็นเพียงแค่รู้ก็ไม่เป็นมานะ  ไม่เป็นกิเลส  

สรุปความได้ว่า  อัตตา  อนัตตา  เป็นเรื่องของสภาพความเป็นจริงที่จะต้องรู้เข้าใจ  ด้วยปัญญา  หน้าที่ของเรามีเพียงแค่รู้เข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า  ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา  ก็จบเท่านั้น  ส่วนมานะเป็นอาการของจิตที่จะต้องแก้ไขไถ่ถอนหน้าที่ของเราก็คือพยายามเลิกละ  กำจัดมันเสีย  แต่ทั้งสองอย่างนี้  ก็สัมพันธ์กัน  มาบรรจบกันในขั้นสุดท้าย  กล่าวคือ  การรู้เข้าใจ  อนัตตา ทำให้ละมานะได้  เมื่อรู้เข้าใจว่าไม่มีอัตตาเลิกยึดถือว่าเป็นอัตตา(สมมติทั้งปวง)  แล้วก็หมดมานะ  หมายความว่า  เมื่อรู้เข้าใจว่า  สิ่งทั้งหลายไม่เป็นตัวตน  มองเห็นความไม่เป็นตัวตน(เห็นอนัตตา)  แล้ว  ก็หมดความถือตัวถือตน  ไม่ทะนงตนไม่ลำพองตนเลิกสำคัญตนว่าสูงต่ำ  ยิ่งใหญ่  เป็นต้น (หมดมานะ) เหมือนอย่างพุทธพจน์ที่ว่า

“ผู้หมายรู้ในสิ่งทั้งหลายว่า  เป็นอนัตตา  จะลุถึงภาวะที่ถอนเสียได้
ซึ่งอัสมิมานะ(ความถือพองว่าเป็นของตัวกู)เป็นนิพพานในปัจจุบันนี้แหละ”


องฺ.นวก.๒๓/๑/๒๔๒ ; ขุ.อุ.๒๕/๓๑/๑๔๓. ฉบับมหาจุฬาเตปิฎกํ,๒๕๐๐.
หมายเลขบันทึก: 144284เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท