เรียนรู้แผ่นดินพระนารายณ์จากแผนที่


แผนที่ยูเดีย
เขียนโดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช    พฤหัสบดี, 07 กันยายน 2006
หากจะนึกถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาที่ได้รับยกย่องเป็นมหาราช พระนามหนึ่งที่ไม่อาจละเลยได้คือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช รัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่กรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านศิลปวิทยาการ ด้านวรรณกรรม และการต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในพระราชภารกิจอันโดดเด่นที่ควรกล่าวถึงคือ การติดต่อสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สัมพันธไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยาและชาติตะวันตก สนิทแน่นแฟ้น ชาวตะวันตกจำนวนมากให้ความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีผู้ผลิตหนังสือและแผนที่กรุงศรีอยุธยาออกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย หนังสือและแผนที่เหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

 

ayothaya.jpgแต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ในแวดวงผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับหนังสือและสิ่งพิมพ์ร่วมสมัย โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับแผนที่กรุงศรีอยุธยา ยังมีน้อยมาก อาจเป็นเพราะการค้นคว้าเรื่องแผนที่เป็นสิ่งที่ยากลำบากด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูลหลักฐาน กล่าวคือ แผนที่โบราณได้กลายเป็นวัตถุสะสมหายากราคาแพง ทำให้ผู้สนใจไม่สามารถศึกษารายละเอียดจากหลักฐานจริง กอปรกับยังขาดหนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับแผนที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อการค้นคว้า

อนึ่ง ปีพุทธศักราช 2549 เป็นปีมหามงคลที่สองวาระสำคัญเวียนมาบรรจบครบรอบ คืองานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และร่วมรำลึกปีแห่งการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.2199) ครบ 350 ปี ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้แนะนำแผนที่กรุงศรีอยุธยาแผ่นสำคัญที่เขียนหรือพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์


ภาพเขียนสีน้ำมัน ยูเดีย

ภาพเขียนกรุงศรีอยุธยาที่นักประวัติศาสตร์คุ้นตาที่สุดคือภาพ Iudea (ยูเดีย) เป็นภาพมุมกว้างที่เขียนในขณะที่สิ่งปลูกสร้างและสถานที่สำคัญต่างๆ ในราชธานียังอยู่ครบสมบูรณ์ จิตรกรให้มุมมองที่งดงามแปลกตา ทำให้สามารถจินตนาการสภาพภูมิทัศน์และรูปลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยา ว่าเป็นเกาะเมืองห้อมล้อมด้วยแม่น้ำหลายสาย ตัวเมืองมีกำแพงอิฐล้อมรอบ มีป้อมปืนและประตูเมืองเรียงรายเป็นระยะๆ พื้นที่ภายในพระนครแบ่งออกเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ผังเมืองจัดเป็นระเบียบสวยงาม ถนนและคูคลองนั้นล้วนเชื่อมโยงต่อกันดุจตาข่ายจนราชธานีได้รับสมญานามว่า 'เวนิสตะวันออก'

ภาพ ‘ยูเดีย’ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากความวิจิตรโอฬารของพระราชวังหลวง ลักษณะของอาคารบ้านเรือนและศาสนสถาน ถนนที่ปูด้วยอิฐ และสะพานที่ก่อด้วยไม้หรือศิลาแลง ล้วนแลดูตระการตา ภาพ ‘ยูเดีย’ เป็นภาพผังเมืองกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่สุด และเป็นงานวิจิตรศิลป์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยาที่น่าทึ่งที่สุด

ในเอกสารของไทยมักระบุเพียงว่า ภาพนี้เขียนโดยจิตรกรนิรนามในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ข้อเท็จจริงคือ ภาพนี้เป็นผลงานของดาวิดและโยฮันเนส วิงโบนส์ จิตรกรและนักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา เขียนในปี พ.ศ.2206 ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ข้อมูลใหม่ที่เพิ่งค้นพบระบุว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (เว.โอ.เซ.) ได้ว่าจ้างให้จิตรกรสองพี่น้องเขียนภาพเมืองท่าสำคัญของเอเชียจำนวน 10 แห่ง ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ภาพนี้เคยแขวนประดับอยู่ที่ห้องประชุมภายในอาคารอินเดียตะวันออกของบริษัท เว.โอ.เซ. กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภายหลังที่บริษัทยุติบทบาทลง ภาพนี้ได้ถูกโอนไปเก็บอยู่ที่กระทรวงอาณานิคม กรุงเฮก ก่อนนำมาเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถาน ไรคส์มิวเซียม กรุงอัมสเตอร์ดัม จวบจนทุกวันนี้

โยฮันเนส วิงโบนส์ ได้เขียนภาพมุมกว้างกรุงศรีอยุธยาที่สำคัญอีกภาพหนึ่ง คือ Afbeldinge der Stadt Iudiad Hooft des Choonincrick Siam (ภูมิทัศน์ของกรุงยูเดียด์ นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม) เป็นภาพเขียนสีน้ำที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงรูปทรงสัณฐานของกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นเกาะกลางแม่น้ำ โอบล้อมด้วยแม่น้ำสายใหญ่ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก

ทัศนะของชาวกรุงศรีอยุธยาและชาวตะวันตกที่มีต่อรูปทรงสัณฐานของเกาะกรุงศรีอยุธยานั้นแตกต่างกัน จากหลักฐานคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ชาวกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เกาะพระนครมีลักษณะคล้ายสำเภานาวา ขณะที่นิโกลาส์ แฌร์แวส บาทหลวงชาวฝรั่งเศส มองว่ามีลักษณะเหมือนถุงย่าม เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ นายแพทย์ชาวเยอรมัน เปรียบเทียบเกาะพระนครว่ามีลักษณะคล้ายฝ่าเท้า ภาพนี้เขียนในราวปี พ.ศ.2208 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุ เอาเกอเมน ไรคส์อาร์กีฟ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ภาพมุมกว้าง กรุงยูเดีย

ภาพพิมพ์กรุงศรีอยุธยาภาพแรกคือ de Stadt Iudia (กรุงยูเดีย) รวมอยู่ในจดหมายเหตุของยัน ยันส์โซน สตรายส์ นักเผชิญโชคชาวฮอลันดา พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาดัตช์ในปี พ.ศ.2219 ภาพนี้สำคัญเพราะเป็นหลักฐานการพิมพ์ภาพกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่สุด จดหมายเหตุสตรายส์ได้รับการพิมพ์ซ้ำในหลายภาษา ภาพ ‘กรุงยูเดีย’ จึงปรากฏในภายหลังภายใต้ชื่อที่แตกต่างกัน เช่น La ville de Judia, the City Judia และ Odia in Siam

ภาพพิมพ์ ‘กรุงยูเดีย’ และภาพเขียนสีน้ำมัน ‘ยูเดีย’ มีความละม้ายคล้ายกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างที่สังเกตได้ดังนี้ ประการแรก รูปลักษณะของบ้านเรือนและศาสนสถานในภาพเขียนสีน้ำมัน มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า ในภาพพิมพ์จะมีลักษณะคล้ายแบบมัวร์ ประการที่สอง กำแพงของกรุงศรีอยุธยาในภาพเขียนสีน้ำมัน จะดูค่อนข้างเปิดเพราะคั่นด้วยประตูน้ำจำนวนมากตลอดทั้งแนว แต่ในภาพพิมพ์แทบไม่ปรากฏประตูน้ำเลย กำแพงพระนครในภาพพิมพ์แลดูแข็งแรง มีป้อมปราการขนาดใหญ่หลายป้อม ส่วนประตูเมืองทุกด้านนั้นปิดสนิทมิดชิด

ผู้เขียนพอสันนิษฐานที่มาของความแตกต่างนี้ได้ ด้วยเหตุว่าผู้เขียนมีแผนที่สยามที่พิมพ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (พ.ศ.2223) โดยคำบรรยายด้านหลังแผนที่ระบุว่า มีการต่อเติมกำแพงพระนครภายใต้การดูแลของนักบวชชาวอิตาลีในปี พ.ศ.2208 หลังภาพเขียนสีน้ำมัน ‘ยูเดีย’ 2 ปี แต่ก่อนภาพพิมพ์ ‘กรุงยูเดีย’ ถึง 11 ปี

ประการสุดท้าย ภาพพิมพ์ ‘กรุงยูเดีย’ แสดงให้เห็นบรรยากาศนอกเกาะกรุงศรีอยุธยาที่คึกคักและมีชีวิตชีวา เห็นบ้านเรือนเรียงรายอยู่ทั่วไปริมฝั่งน้ำ เห็นเรือสินค้าจากทุกสารทิศเข้ามาค้าขาย บ้างก็ทอดสมออยู่หน้าหมู่บ้านของชาวต่างชาติ ดังในจดหมายเหตุเดอ ชัวซี ที่บันทึกไว้ว่า

“ในแม่น้ำนั้นคลาคล่ำไปด้วยเรือกำปั่นฝรั่งเศส วิลันดา จีน ญี่ปุ่น สยาม และยังมีเรือน้อยใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก”

ภาพพิมพ์นี้เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค

แผนที่นครหลวงแห่งสยาม

ด้วยเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเล็งเห็นประโยชน์ของการทำแผนที่ จึงทรงอนุญาตให้นักบวชชาวฝรั่งเศสเข้ามาทำการสำรวจด้านดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์ แผนที่กรุงศรีอยุธยาที่เขียนหลังการกลับสู่กรุงปารีสของนักบวชชาวฝรั่งเศส มีความแม่นยำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยแผนที่แผ่นสำคัญสุดที่พิมพ์ในรัชสมัยของพระองค์คือ Siam ou Iudia, Capitalle du Royaume de Siam (สยามหรือยูเดีย นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม) เขียนโดย ฌ็อง กูร์โตแล็ง บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ระหว่างพำนักอยู่บ้านเณร ชานพระนคร ในช่วงปี พ.ศ.2215-2217 แผนที่พิมพ์ครั้งแรกที่กรุงปารีสโดยฟร็องซัวส์ โฌแล็ง ในปี พ.ศ.2229

แผนที่ ‘สยามหรือยูเดีย’ ไม่เพียงระบุตำแหน่งสถานที่สำคัญทั้งในและนอกกรุงศรีอยุธยา แต่ยังให้รายละเอียดความเป็นอยู่ของผู้คนในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เป็นที่รับรู้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวจีนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยามเป็นจำนวนมาก หากเพ่งพินิจบริเวณมุมขวาล่างภายในกำแพงพระนคร จะเห็นย่านที่อยู่อาศัยของพ่อค้าชาวจีน เห็นตึกรามบ้านช่องตลาดร้านรวงตลอดสองฟากถนน ราชทูตฝรั่งเศส ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ รายงานว่า ชุมชนแห่งนี้คึกคัก มีบ้านเรือนหนาแน่นกว่าที่ใดๆ หมอแกมป์เฟอร์บันทึกด้วยว่า ถนนบ้านจีนเป็นถนนที่สวยหรูโอ่อ่าที่สุดสายหนึ่งของพระนคร

อาคารปลูกสร้างที่โดดเด่นเป็นสีสันให้กับแผนที่คือศาสนสถานและโรงเรียนนานาชาตินอกกรุงศรีอยุธยา เช่น โบสถ์ซาว ดูมิงกู และโบสถ์ซาว เปาลู ของโปรตุเกส โบสถ์นักบุญยอแซฟและโรงเรียนฝรั่งเศส ล้วนเป็นประจักษ์พยานชี้ชัดว่ากรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เป็นแหล่งพำนักพักพิงแก่ผู้คนจากทุกสารทิศ ทั้งยังให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาจนเป็นที่เลื่องลือทั่วไป บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ฌาคส์ เดอ บูร์ช รายงานว่า ประชาคมคริสเตียนในกรุงศรีอยุธยามีจำนวนสมาชิกมากถึง 2,000 คน ท่านระบุอีกว่า ตามถนนหนทางก็พลุกพล่านไปด้วยผู้คนต่างชาติต่างภาษา ส่งเสียงเซ็งแซ่ในสำเนียงที่ล้วนแตกต่างกัน

มุมขวาล่างของแผนที่แสดงที่ตั้งของหมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่น และหมู่บ้านฮอลันดา แผนที่ยังแสดงที่ตั้งของหมู่บ้านฝรั่งเศส ชุมชนของชาวตะวันตกชาติเดียวที่ตั้งอยู่ภายในเกาะพระนคร

มุมขวาบนของแผนที่คือผังเมืองละโว้ ส่วนม้วนแผนที่ทางด้านซ้ายแสดงเส้นทางลำน้ำเจ้าพระยาจากปากอ่าวสยามจรดชานกรุงศรีอยุธยา สังเกตว่าตลอดทางมีหมู่บ้านกระจายเกือบทั่วไปทั้งสองฟากแม่น้ำ บ่งบอกถึงความสำคัญของสายน้ำต่อชีวิตผู้คนในสมัยนั้น แผนที่ยังระบุตำแหน่งของป้อมเมืองหน้าด่านที่สำคัญ เช่น ป้อมบางกอก (ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในปัจจุบัน)

อนึ่ง แผนที่แผ่นนี้มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นหลักฐานภาพพิมพ์ ‘บางกอก’ ชิ้นแรกสุด เก่าแก่กว่าแผนผังบางกอกในจดหมายเหตุ เดอ ลา ลูแบร์ ถึง 5 ปี

กล่าวโดยสรุป แผนที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจดหมายเหตุร่วมสมัยที่ทรงคุณค่า สะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ความงามของศิลปะการเขียนแผนที่ในสมัยโบราณ เสน่ห์มนต์ขลังของแผนที่ชวนให้หวนรำลึกถึงอดีตอันเกรียงไกรให้อยากแวะเยือนสัมผัสกลิ่นอายเมืองมรดกโลก

นอกจากนี้ หากเรานำแผนที่ไปศึกษาเปรียบเทียบกับบันทึกของชาวต่างชาติ ตลอดจนโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็อาจนำความกระจ่างมาสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

........................................

 

ที่มา :หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายวัน(จุดประกาย)

คำสำคัญ (Tags): #แผนที่ยูเดีย
หมายเลขบันทึก: 144420เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้โทรไปโครงการเรียนรู้อดีตจากแผนที่และภาพพิมพ์ 02-6322385 แต่ติดต่อไม่ได้ค่ะ

อ. ธวัชชัยมีเบอร์ติดต่อหรือบอกแหล่งซื้อแผนที่อยุธยาได้ไหมคะ อยากได้มาก จะเอาไปจัดค่ายประวัติศาสตร์กับเด็กค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท