ป้องกันถูกกว่าแก้ไข


การผลิตสินค้าให้ได้ดีมีคุณภาพ ข้อบกพร่องไม่มี ความสูญเสียไม่เกิดนั้น ไม่ใช่แค่ผลิตให้ได้แต่ต้องผลิตให้เป็น

บริษัท Mattel บริษัทของเล่นเด็กรายใหญ่ของสหรัฐ ประกาศเรียกคืนสินค้าของเล่นเด็กอีกครั้งจำนวนประมาณ 9 ล้านชิ้น หลังจากก่อนหน้านี้ Mattel เพิ่งจะเรียกคืนสินค้าของเล่นเด็ก Fisher-Price จากร้านขายของเล่นทั่วโลก 1 ล้าน 5 แสนชิ้น รายงานข่าวระบุว่า ของเล่นเด็กดังกล่าวผลิตในประเทศจีน  

นี่คือหนึ่งในหลายข่าวที่จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องคุณภาพสินค้า จากการเรียกคืนสินค้าหลายรายการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นฟากยุโรปหรือสหรัฐ นัยเพื่อออกมาสกัดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง และมีดุลการค้าที่ได้เปรียบประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา  

ความจริงแล้วปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อกำหนด (Specifications) นั้นมักพบเจอกันโดยทั่วไปกับสินค้าที่ผลิตจากประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ที่ยังมีระบบการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานสากลรวมถึงการพัฒนาบุคลากรยังต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาทักษะให้สูงมากขึ้น แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วจะปรากฏเป็นข่าวในลักษณะที่แตกต่างกันตรงที่ การเรียกคืนจะเกิดขึ้นจากผู้ผลิตเองหลังจากที่ค้นพบว่าสินค้าของตนเองนั้นมีข้อบกพร่องเมื่อลูกค้านำไปใช้งาน หรือหลังจากที่เห็นแนวโน้มข้อผิดพลาดบางประการจากตัวสินค้าของตนเอง เพื่อสกัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้เป็นกระแสที่รุนแรงและกลับมาทำร้ายทำลายชื่อเสียงที่สั่งสมมานานหลายปี จึงออกมาประกาศแสดงความรับผิดชอบอย่างหน้าชื่นตาบาน ถึงแม้ว่าจะทำให้เกิดความเสียหายในแง่เศรษฐกิจแต่ก็ได้ใจผู้บริโภคทั่วไป  

นี่ยังไม่รวมปัญหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ที่จีนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งลอกเลียนแบบสินค้ายี่ห้อดังๆมากมาย และยังเป็นหัวขบวนของการละเมิดที่ตามมาด้วยประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆรวมถึงประเทศไทย แต่เมื่อดูในเชิงประวัติศาสตร์แล้วก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะมันเหมือนกับเส้นทางผ่านก่อนจะพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความเจริญในอนาคต ดูอย่างไต้หวันเป็นต้นเมื่อในอดีตก็ลอกเลียนแบบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากมายจนสั่งสมประสบการณ์ความชำนาญมากพอ และผลิตสินค้าภายใต้ตราของตนเองขึ้นมาแข่งบ้าง  

จะเห็นว่าการผลิตสินค้าให้ได้ดีมีคุณภาพ ข้อบกพร่องไม่มี ความสูญเสียไม่เกิดนั้น ไม่ใช่แค่ผลิตให้ได้แต่ต้องผลิตให้เป็น และการผลิตให้เป็นนั้นจะสะท้อนออกมาซึ่งต้นทุนโดยรวมที่ต่ำ มีมากมายหลายองค์กรที่เพิกเฉยและละเลยต่อการลงทุนสร้างระบบการจัดการที่ดี เพียงเพื่อต้องการประหยัด ไม่อยากไปจ่ายให้กับสิ่งที่มองไม่เห็นว่ามันทำให้เกิดอะไรขึ้นในตัวสินค้าและบริการ แต่นั่นกลับกลายมาเป็นมหันตภัยอย่างใหญ่หลวง บางกิจการต้องปิดตัวไปเนื่องจากการละเลยและไม่ใส่ใจต่อสุขอนามัยและความปลอดภัย เมื่อพบว่ามีสิ่งปนเปื้อนในสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาด หรือสินค้าของตนเองได้ทำให้ผู้บริโภคบาดเจ็บและเสียชีวิต  

ดังนั้นต้นทุนการประกอบการจึงไม่ใช่เพียงแค่ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าพลังงาน และค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรเท่านั้น แต่ค่าบริหารจัดการเพื่อให้องค์กรบริหารงานให้ได้ดีมีผลิตภาพ (Productivity) ที่สูงนั้นมีความสำคัญไม่น้อย หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะค่าบริหารจัดการที่เราจ่ายไปนั้นในท้ายที่สุดกลับมาช่วยลดต้นทุนความสูญเปล่าที่ไม่จำเป็นลง เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความไม่เอาไหน หรือความไม่ใส่ใจในคุณภาพสินค้าและบริการที่ดีนั้น เมื่อเกิดขึ้นกับลูกค้าแล้วสร้างความเสียหายหลายเท่าตัว  นอกจากต้นทุนของสินค้าด้อยคุณภาพที่ต้องนำกลับมาแล้ว ยังมีค่าขนส่ง ค่าความรู้สึกที่เป็นลบต่อตราสินค้า ชื่อเสียงที่เสียหาย รวมถึงค่าชดเชยที่ต้องจ่ายกลับไปในรูปสินค้าตัวใหม่เพื่อทดแทนตัวเดิม

คลิกที่นี่เพื่ออ่านต่อตอน 2

คำสำคัญ (Tags): #coq#customer#marketing#productivity
หมายเลขบันทึก: 144657เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

sasinanda P

ได้อ่านบันทึกคุณจำลักษณ์ฯมาบ่อยๆ ให้ความรู้ดีมากค่ะ

เนื่องจากดิฉันเคยทำงานในด้านอุตสาหกรรมการผลิตมาก่อน จึงเข้าใจเรื่องในบันทึกนี้เป็นอย่างดี

ส่วนใหญ่ดิฉันจะส่งออกประมาณ 90% จึงต้องระมัดระวังคุณภาพอย่างที่สุด เพราะลูกค้าก็จ้องจะจับผิดอยู่ตลอดเวลา

นอกจากจะเป็นเรื่องของคุณภาพจริงๆแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่ลุกค้าต้องการจะสกัดความได้เปรียบ ในเรื่องค่าแรง เรื่องภาษี อะไรอีกหลายอย่าง ไม่ให้เราได้เปรียบมากเกินไป โดยเฉพาะ ในประเภทสินค้าที่เขาเองก็ผลิตได้ แต่ต้นทุนสูงกว่า ถ้าสินค้าไหนเขาผลิตไม่ได้ เขาก็จะปล่อยๆไม่เข้มงวดค่ะ

ในเรื่องของจีนนี่ น่าจะมีนัยของการสกัดความร้อนแรงของจีน เป็นประเด็นหลัก

เรื่องของจีนดูแล้ว นับวันจะมีอานุภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานมาก

ประเทศเกตรกรรมอย่างเรา สินค้าราคาไม่สูง คงจะไม่ค่อยสบายแน่

คงต้องดูที่รัฐบาล ว่าจะมีกลยุทธอย่างไรค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท