ปักดำถี่ได้ฟาง…ปักดำห่างได้ข้าว…จริงหรือ…


ปลูกข้าวไร่ละตัน

ศูนย์ปฏิบัติการข่าวเกษตรสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 042-465345

 

ปักดำถี่ได้ฟางปักดำห่างได้ข้าวจริงหรือ

          เมื่อทำการปลูกข้าว ชาวนาย่อมต้องการให้ได้ข้าวมากที่สุด ระยะของการปักดำมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มผลผลิตข้าว หลายคนเชื่อว่า การปักดำข้าวให้ห่าง จะช่วยให้ได้รวงข้าวที่โตขึ้น ได้ข้าวมากกว่าการปักดำถี่ โดยเฉพาะที่นาที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ที่นาที่อยู่ติดกับคอกสัตว์ ใกล้หมู่บ้าน ถ้าปักดำถี่จะทำให้ข้าวเจริญทางลำต้นมากจนไม่ออกรวงซึ่งเรียกว่าอาการ เฝือใบ          แต่ชาวนาบางคนกลับบอกว่า การปักดำข้าวห่าง ถึงแม้จะได้รวงข้าวที่โตขึ้น แต่ได้จำนวนรวงที่น้อยกว่าการปักดำถี่ ผลผลิตจึงไม่น่าจะมากกว่า และการปักดำห่าง ยังพบปัญหาวัชพืชเป็นจำนวนมาก ผลผลิตจึงน่าจะลดลง ชาวนาทั้ง 2 ราย ได้ข้อมูลจากการประมาณการในที่นาคนละผืน หรือคนละปีกัน และถึงแม้ว่าจะเป็นที่นาติดกัน ปีเดียวกัน แต่ถ้าการปฏิบัติดูแลรักษาแตกต่างกัน การคำนวณผลผลิตไม่ชัดเจน ผลสรุปที่ได้ก็อาจคลาดเคลื่อนได้การพิสูจน์เรื่องดังกล่าว จำเป็นต้องดำเนินการในพื้นที่เดียวกัน มีการดูแลรักษาที่เหมือนกัน เพื่อเปรียบเทียบผลผลิตของข้าวที่ปักดำถี่และห่าง ตัวอย่างเช่น การทดลองของไชยยศ สุพัฒนกุล และเบญจพล สุวรรณสิงห์ เรื่อง อิทธิพลของรูปแบบปักดำข้าว และระยะปักดำข้าวต่อผลผลิตข้าวและปริมาณวัชพืช ที่นาเขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยใช้ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 90 ในฤดูนาปี 2542 โดยปักดำเป็นแถวตรงและเป็นแถวเหลื่อม(ดำสับหว่าง) ใช้ระยะห่างของการปักดำ 3 ระยะ ได้ผลดังนี้
ระยะปักดำ(..) ผลผลิต(กก./ไร่) ผลผลิตฟาง(กก./ไร่) ความสูง(..) การแตกกอ(ต้น/กอ) ต้น/ตรม. รวง/ตรม. ความยาวรวง(..) วัชพืช(กรัม/ตรม.)
33.3X33.3 528 292 45 14.53 148 125 26.03 10.19
25.0X25.0 613 327 83 15.16 260 242 25.88 7.84
12.5X12.5 649 511 122 14.21 514 378 24.14 2.28
จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า การปักดำถี่ทำให้ได้จำนวนต้นข้าว จำนวนรวงข้าว ฟาง และผลผลิตข้าวมากกว่าปักดำห่าง

นอกจากนี้ ยังมีวัชพืชน้อยกว่าด้วย แต่การปักดำเป็นแถว และการปักดำสลับแถว(ดำสับหว่าง)ไม่มีผลแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างนี้ก็เป็นการทดลองที่กรุงเทพฯ ใช้ข้าวสุพรรณบุรี 90 ในปี 2542 แต่ถ้าเป็นที่นาของท่าน ใช้พันธุ์ข้าวที่ท่านปลูก ท่านต้องเป็นคนที่ทดลองเอง

สำหรับอาการเฝือใบ เกิดจากการปักดำข้าวเร็วเกินไป ข้าวเจริญเติบโตทางลำต้นนานจนลำต้นแก่ก่อนถึงช่วงที่เหมาะสมในการออกรวง ก่อให้เกิดระยะเฉื่อย ทำให้เกิดการเฝือใบ วิธีแก้คือ กำหนดช่วงปลูกข้าวให้เหมาะสม(ศูนย์ข่าวข้าว:ฉบับที่ 4)              ปักดำถี่ได้ทั้งฟางได้ทั้งข้าวปักดำห่างได้น้อยกว่าวัชพืชมากกว่า****************************************************************
งานข้าว: 13     นายปรีดา  บุตรดีวงศ์ :นวก.6 :เรียบเรียง
หมายเลขบันทึก: 148369เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 00:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
น้ำริม เครือข่ายกอไผ่

ได้มีโอกาสอ่านวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ  ฉบับที่ 9/2550  เรื่องการปลูกข้าวแบบปราณีต  หรือการปลูกข้าวต้นเดี่ยว  ที่สามารถประหยัดเมล็ดพันธ์และให้ผลผลิตสูง   ซึ่งมีหัวใจสำคัญที่แตกต่างจากการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม  คือการใช้ต้นกล้าอายุยังน้อย (8-10 วัน)  ใช้ปักดำทีละต้นและคอยควบคุมน้ำเข้าออกให้ต้นเข้าได้น้ำและอากาศที่พอเพียง   ข้าวต้นเดี่ยวจะแตกกอถึง  60 -65 ต้น  หรือเฉลี่ย  50  ต้น  สามารถเพิ่มผลผลิตจาก  400-500  กก.ต่อไร่  เป็น  720  กก.ต่อไร่และยังสามารถลดต้นทุนเรื่องเมล็ดพันธ์  ได้อย่างดี

อ่านโดยละเอียดแล้วรู้สึกทึ่งมาก   ชาวนาไทยเป็นนักวิจัยในพื้นที่ในการพัฒนานวัตกรรมการปลูกข้าวด้วยตนเอง   เรียนรู้และพัฒนาจากวิถีชาวนา   เรียนรู้จากการปฏิบัติ  จากภูมิปัญญาอย่างแท้จริง  และได้อ่านที่คุณเกษตร(อยู่)จังหวัดเล่ามาก็ชื่นชมที่มีบุคลากรที่เปี่ยมคุณภาพอยู่ในวงการเกษตรไทย   ชื่นชมจริงๆค่ะ

ชื่นชมผลงานครับ ผมกำลังปลูกข้าวอยู่ จริงๆแล้วรับราชการแต่อยากทำนาเพื่อให้รู้ว่าเราก็ทำได้ อีกอย่างหนึ่งต้องการลบล้างพฤติกรรมชาวนาในการใช้สารเคมีผิดๆ ปลูกข้าวแบบSRI ถ้าทำได้ก็จะดีมากๆ แต่ความเป็นจริงคงใช้แรงงานมาก แต่แนวคิดการปูกข้าวแบบถี่ ๆ ผมจะลองทำดู

ดีใจที่มีแนวร่วมทำนาที่ถูกต้องครับ ชาวนามีความเชื่อที่ปลูกฝังมานาน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงค่อนข้างลำบากครับ แต่ก็ต้องทำเพราะเรารู้ว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องครับ

แต่คนที่ไม่เคยทำการเกษตร แล้วคิดอยากทำก็ขอให้ค่อยๆทำนะครับ (ไม่ได้ว่าคุณอำนาจนะครับ) วันก่อนไปเยี่ยมสวน พบ ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งปลูกพุทรา โดยไม่รู้ว่าเมื่อเก็บผลแล้วต้องตัดต้นทิ้งเพื่อให้แตกใหม่ เรียกว่าไม่ศึกษาเรียนรู้ก่อนทำ คงเทียบเคียงกับต้นไม้อื่นที่ปลูก ทำให้เสียรู้พ่อค้าปุ๋ย และสารเคมีลงทุนกับต้นพุทราแก่ๆอยู่ตั้งนาน

คุณอำนาจลองดูเรื่องการปลูกข้าวไร่ละ 1 ตัน ประกอบนะครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ

ผมลืมบอกคุณปรีชาว่าผมซื้อหนังสือการปลูกข้าวแบบปราณีตมาอ่านดูหลายรอบ ผมคงทำลำบากแต่แนวคิดการทำให้นาแห้งฟังแล้วเข้าท่าดี ผมเชื่อว่าทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรง่ายหรอกครับ ต้องศึกษาจากผู้รู้ก่อน ขอบคุณนะคับสำหรับคำแนะนำแล้วผมจะ mail ไปปรึกษาบ่อยๆ

คุรปรีชาครับ ผมทั้งรับราชการและค้าขาย รายได้แต่ละเดือนมากว่าทำนาปีรวมกับนาปรัง แต่ผมก็เข็นขี้ไก่ขี้วัวด้วยตัวเองตอนกลางคืนไปใส่นา 260 ถุงป๋ย 8 ไร่ ชาวนาเขากลัวว่าจะเฝือใบ คุณลองดูการทำนาแบบตัดใบแล้ว disscuss กับผมหน่อยว่ามันเป็นไปได้เปล่า ขนาดเขาหว่านถี่ๆ ยังได้มากกว่าดำด้วยซ้ำ

                  ผมไม่อยากพึ่งเคมี คนอื่นจะได้เอาอย่าง

                                               อำนาจ5

นับถือในความขยันครับ

นอกจากใส่ปุ๋ยตอนกลางคืนแล้วยังค้นคว้าข้อมูลตอนดึก ๆอีก

ผมเคยทดลองตัดใบข้าวเพื่อทดสอบว่าในช่วงแรกของการเจริญเติบโตถ้าข้าวถูกแมลงศัตรูพืชทำลาย เช่น หนอนกระทู้กินใบ หนอนกอ หรือหนูกัดต้น ข้าวจะสามารถแตกกอชดเชยได้หรือไม่ ผลปรากฏว่าสามารถแตกกอชดเชยได้ไม่มีปัญหา แต่ก็ไม่เคยเปรียบเทียบว่าระหว่างการตัดใบ กับไม่ตัดใบผลผลิตต่างกันหรือไม่ พอไปดูข้อมูลเรื่องนี้ก็บอกแต่เพียงว่าผลผลิตเพิ่ม แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าเพิ่มเท่าไหร่ คุ้มค่าแรงในการตัดหรือไม่

อีกประเด็นคือเขาใส่ปุ๋ยยูเรีย 5 กระสอบผสมเกลือ 1 กระสอบในนา 7 ไร่  มีข้อสังเกตดังนี้ครับ

* ใส่ปุ๋ยมากเกินไปหรือเปล่าครับ ปกติยูเรีย 1 กระสอบใส่เป็นปุ๋ยแต่งหน้า(ก่อนตั้งท้อง)ได้ 5 - 10 ไร่

* ไม่ชัดเจนว่าใส่ช่วงไหน ถ้าใส่หลังตัดต้น ข้าวจะแตกกอชดเชยได้ไม่ยากเพราะได้อาหารมาก ตัดต้นทิ้งแล้วเปลืองปุ๋ยให้แตกใหม่ทำไมครับ

* การใส่เกลือผสมปุ๋ย กับการใส่ปุ๋ยเฉย ๆ หรือใส่เกลือเฉย ๆ ให้ผลแตกต่างกันหรือไม่ ?

* การใส่เกลือผสมปุ๋ยแล้วตัดใบ การใส่เกลือผสมปุ๋ยแล้วไม่ตัดใบ หรือการตัดใบโดยไม่ใส่ปุ๋ย ยังมีคำถาม ? คงต้องรอการทดสอบต่อไปครับ

เมื่อวานออกพื้นที่ไปคุยกับคนที่ปลูกยาสูบหลังนา เขาไปดูแลแปลงยาสูบทุกวันจนมืดค่ำ แต่เวลาทำนาเขาไม่ได้สนใจเท่ายาสูบ แล้วเขาก็บอกผลผลิตต่ำ ไม่คุ้ม

พอมาฟังคุณอำนาจพูดถึงการทำนาแบบปราณีต เอาใจใส่ ผลผลิตน่าจะดีกว่าทำทิ้งขว้างแนนอนครับ

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท