“สอนชาวนาให้ปลูกข้าว”


“สอนชาวนาให้ปลูกข้าว”

โรงเรียนเกษตรกร

สอนชาวนาให้ปลูกข้าว

            คำนำ

 ชาวนา คือกระดูกสันหลังของชาติ

 คือผู้ที่ปลูกพืชอาหารเลี้ยงพลเมืองโลก     

คือผู้ที่ผลิตสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก           

ทำไมหนอ คุณภาพชีวิตของชาวนาจึงไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น   

ทั้งที่ทางราชการทุ่มเทงบประมาณการฝึกอบรมวิชาชีพให้ชาวนาโดยตลอด           

เมื่อประมวลสาเหตุต่าง ๆ เข้าด้วยกันแล้ว ทำให้ผู้เขียนประจักษ์ว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ชาวนาไม่อาจพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เท่าที่ควรจะเป็น เป็นเพราะชาวนายังไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการอาชีพการทำนาหรือการปลูกข้าวของตน        ที่เป็นชาวนาก็เพราะพ่อแม่เป็นชาวนา ไม่เคยเรียนรู้วิธีการทำนาให้ดีขึ้น เป็นเพียงการทำตาม ๆ กันไป  เปรียบเหมือนกับคนไทยส่วนใหญ่บอกว่าตนเองนับถือศาสนาพุทธ หรือเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นพุทธตามพ่อแม่ แต่จะมีสักกี่คนที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่พระภิกษุสงฆ์เองก็เถอะ ด้วยเหตุที่ยังมีข่าวฉาวโฉ่ของพระภิกษุสงฆ์ลงในหน้าหนังสือพิมพ์หรือเป็นข่าวทางวิทยุ โทรทัศน์อยู่เสมอ ๆ เหมือนอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้           

การที่ชาวนาไม่รู้หลักการบริหารจัดการการปลูกข้าวของตนให้สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตลงได้ เป็นเหตุให้ชาวนาไม่อาจพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ก้าวหน้าได้ เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ จนทำให้ขาดความมั่นใจ หรือไม่ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปในทางตรงกันข้าม เช่นอาจคิดว่า ชาตินี้ชีวิตของตนคงทำได้แค่นี้ จะทำให้ดีกว่านี้คงไม่ได้แล้ว หรือแย่ไปกว่านั้นชาวนาอาจตกเป็นเหยื่อของธุรกิจขายปัจจัยการผลิต ทั้งเครื่องมือการเกษตร ปุ๋ยเคมี สารเคมี รวมทั้งวัตถุที่ไม่เป็นทั้งปุ๋ยไม่ใช่ทั้งสารเคมี แต่บอกว่าใส่ข้าวแล้วดี (สำหรับคนขาย          

  ผู้เขียนได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในโรงเรียนเกษตรกร หลายปี ประกอบกับประสบการณ์การถ่ายทอดความรู้การเกษตรกว่า 10 ปี พบว่าการสอนชาวนาที่ทำนามาตลอดชีวิต แตกต่างจากการสอนนักเรียนในโรงเรียนมาก  เพราะการสอนในโรงเรียนเป็นการเปลี่ยนจากความไม่รู้ให้นักเรียนรู้ (ขั้นรับทราบ) แต่การสอนชาวนาเป็นการเปลี่ยนจากความเชื่อเดิม การกระทำแบบเดิม ไปสู่ความเชื่อใหม่ การกระทำแบบใหม่ (รับทราบ ไตร่ตรอง ลองทำ นำไปปฏิบัติ) โดยมีความเสี่ยงเป็นตัวแปรที่สำคัญ    

        นอกจากนี้ครู 1 คน สอนนักเรียน 1 ห้องประมาณ 30 คน หรืออาจสอนหลายห้องแต่สอนวิชาเดียว ผู้เขียนในช่วงแรกที่รับผิดชอบตำบลต้องสอนชาวนาทั้งตำบล ( 1-2 พันครัวเรือน)  และสอนหลายวิชา (การปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ ไม้ผล ประมง ปุ๋ยเคมี แปรรูปผลผลิต ฯลฯ ) และเมื่อต้องรับผิดชอบเรื่องข้าววิชาเดียว กลับต้องสอนชาวนาให้เปลี่ยนพฤติกรรมทั้งจังหวัด ( 1 แสน ครัวเรือน)       

     ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงตั้งใจที่จะผลิตตำราหรือหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง     โดยนำวิชาการที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงมากมายยากแก่การทำความเข้าใจ มาทำให้อ่านเข้าใจง่ายแม้แต่ชาวนาทั่วไปก็สามารถที่จะอ่านและทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ด้วยมุ่งหวังให้ชาวนารับทราบเพื่อนำสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งผลให้สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนลงได้ โดยสมมุติว่าผู้เขียนกำลังสอนความรู้ในโรงเรียนเกษตรกรแห่งหนึ่ง เป็นการสอนที่ให้ชาวนามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ผู้เขียนจะไม่พยายามสอนตรง ๆ แต่จะเป็นผู้กล่าวนำ ตั้งคำถามให้ชาวนาเป็นผู้ตอบ  โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหรือผิด และสุดท้ายผู้เขียนจะเป็นผู้สรุปหลักการณ์ที่ถูกต้องให้  

          อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้พิจารณาเห็นว่าเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวนา เช่น ข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการครูที่ต้องการหลักสูตรท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นตลอดจนผู้สนใจทั่วไป                              

ปรีดา  บุตรดีวงศ์     นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6                                                                           19 มิถุนายน 2546  

หมายเลขบันทึก: 148375เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ท่านเกษตร(อยู่)จังหวัดครับ

  • เมื่อประมาณปี 2539-40 ครูวุฒิเคยนำโรงเรียนบ้านหนองแห้ว(รร.ที่เคยเป็นผู้บริหาร) เข้าร่วมเป็นโรงเรียนเกษตรกรกับกรมวิชาการเกษตร (เป็น รร.กลุ่มยุวเกษตรกรด้วย)
  • หนังสือที่โครงการโรงเรียนเกษตรกรส่งให้ ทุกวันนี้ยังนำมาใช้ประโยชน์อยู่ (ที่ รร.ปัจจุบัน)
  • เป็นโครงการที่มีแนวคิดและแนวปฏิบัติยอดเยี่ยมมาก
  • เห็นด้วยว่าชาวนา(ส่วนใหญ่)ยังทำนาไม่เป็น เป็นเรื่องจริงที่ครูวุฒิมีหลักฐานชัดเจน(เป็นรูปภาพที่บ่งบอกชัดเจนว่า"ทำนาแบบไม่มีความรู้และความตระหนัก")
  • หนังสือที่ท่านนำเสนอ  ครูวุฒิขอจอง 5 เล่ม
  • จะเอาไว้บริการในศูนย์ข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้เพื่อชีวิตในชุมชนครับ
  • มีเงื่อนไขอย่างไร? และราคาเท่าไหร่? ช่วยแจ้งด้วยนะครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับ
  • Pสวัสดีครับครูวุฒิ
  • เป็นเกียรติอย่างมากครับ
  • แต่หนังสือไม่ขายครับ
  • โหลดเอาได้เลยในบล๊อกนี้เอง
  • ทั้งเรื่องปุ๋ยเคมีในนาข้าวซึ่งเกษตรกรยังเข้าใจผิด ใช้ผิดอยู่มาก
  • เรื่องศูนย์ข้าวชุมชน ที่ชาวนาในชุมชนปลูกข้าวเพื่อชุมชนเอง
  • และเรื่องโรงเรียนเกษตรกรที่ครูวุฒิไปเรียนมา
  • รวมทั้งเรื่องอื่น ๆในบล๊อกเกษตรในกรอบ
  • ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท