ศูนย์ข้าวชุมชน


ศูนย์ข้าวชุมชน

ศูนย์ข้าวชุมชน

ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นโครงการที่รัฐบาลลงทุนให้เกษตรกรผลิตพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองในท้องถิ่น และเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม โดยเน้นการเรียนรู้แบบเกษตรกรมีส่วนร่วม ตามกระบวรการโรงเรียนเกษตรกร

********************

ผู้เขียน   :”ในฐานะที่พวกเราทำนามาหลายปี ขอถามหน่อยว่าการทำนาถ้าใช้พันธุ์ข้าวจากศูนย์ขยายมาปลูกกับที่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่พวกเราเก็บเองหลาย ๆ ปี อย่างไหนจะดีกว่ากัน

ประธาน:”ใช้พันธุ์ข้าวใหม่ดีกว่าแน่นอนครับ เพราะถ้าเก็บไว้หลาย ๆ ปี ข้าวจะแข็ง มีข้าวปน โรคแมลงรบกวนมาก ปลูกแล้วไม่ขึ้น คิดว่ามันกลายพันธุ์ครับ

ผู้เขียน   :”แล้วทำไมทุกคนไม่เปลี่ยนไปใช้พันธุ์ข้าวจากศูนย์ขยาย กันหมดทุกคนละ เห็นเอาข้าวจากยุ้งฉางมาปลูกหลายคน

ประธาน:”พันธุ์ใหม่มันไม่พอครับ ที่ส่งให้พวกผม 3 ตันก็จ่ายให้สมาชิกหมดแล้ว แต่ก็มีชาวบ้านที่ต้องการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวมาขอซื้อพันธุ์ข้าวอีกหลายคน

ผู้เขียน   :”แสดงว่าพวกเรารู้ว่าการใช้พันธุ์ข้าวใหม่ดี มีคนต้องการเปลี่ยนพันธุ์มาก แต่ไม่มีพันธุ์ข้าวให้เปลี่ยนอย่างเพียงพอ และยังต้องขนส่งไกล บางครั้งก็ส่งมาไม่ทันจนพวกเราตกกล้าไปแล้วก็มี งั้นเรามาผลิตพันธุ์ข้าวใช้กันเองในพื้นที่ดีไหม เมื่อผลิตได้มากก็ขายให้เพื่อนบ้านนำไปปลูก เราก็จะขายข้าวได้ราคาดีกว่าขายข้าวเปลือกให้โรงสี

เลขา     :”เรื่องปลูกข้าวพวกเราทำเป็นทุกคน กลัวแต่ว่าผลิตขึ้นมาแล้วจะไม่มีคนมาซื้อ

ผู้เขียน   :”ตะกี้ประธานยังบอกว่ามีคนมาขอซื้อ แต่ไม่มีข้าวขายให้ ผมอยู่ที่สำนักงานก็มีคนมาขอซื้อพันธุ์ข้าวทุกวัน ผมว่าคนซื้อหาไม่ยาก แต่เราจะผลิตพันธุ์ข้าวที่ดีได้อย่างไรต่างหาก แต่ก็ยังโชคดีที่มีโครงการศูนย์ข้าวชุมชนมาดำเนินการในบ้านเรา โดยรัฐบาลจะช่วยลงทุนให้พวกเรา 3 ปี และมีเจ้าหน้าที่มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง จนพวกเราสามารถผลิตพันธุ์ข้าวจำหน่ายได้

เลขา     :”แล้วมีศูนย์ที่ว่านี้มานานหรือยังครับ ผลิตพันธุ์ข้าวได้จริงหรือเปล่า

ผู้เขียน   :”ศูนย์ข้าวชุมชน เริ่มต้นเมื่อปี 2543 มีศูนย์ที่ผลิตพันธุ์ข้าวจำหน่ายได้อย่างมากมาย ศูนย์ที่ชนะการประกวดปี 2546 มีเงินทุนจากการขายพันธุ์ข้าวและทรัพย์สินมากกว่า 2.8 ล้านบาท พวกเราอยากได้กองทุนเป็นล้านแบบนี้ไหม

ประธาน:”ก็น่าสนใจอยู่หรอกครับ แต่พวกผมยังไม่รู้จะทำอย่างไร

ผู้เขียน   :”ไม่ยากหรอก ขั้นแรกเราก็รวมกลุ่มกันเลือกคณะกรรมการแบบนี้ละ ปีแรกรัฐบาลจะช่วยลงทุนเป็นพันธุ์ข้าวปีละ 3 ตัน ปุ๋ยเคมีอีก 8 ตัน เพื่อใส่ในนาข้าว และเพื่อให้พวกเรามีความรู้ในการผลิตพันธุ์ข้าว ก็จะเปิดโรงเรียนเกษตรกรให้อีก 8 ครั้ง

เหรัญญิก:”โรงเรียนเกษตรกร พวกเราต้องแต่งตัวเป็นนักเรียนไปเข้าโรงเรียนกับเด็ก ๆ หรือคะ

ผู้เขียน   :”ไม่ใช่หรอกครับ โรงเรียนเกษตรกร คือการที่พวกเรานัดหมายกันมาเรียนรู้ร่วมกันอาทิตย์ละครั้ง อาจใช้สถานที่ศาลาวัด ศาลากลางบ้าน หรือใต้ถุนบ้านประธานก็ได้ แล้วก็ลงไปดูข้าวในนา ดูการเจริญเติบโต การแตกกอ ดูโรค-แมลง และจัดทำแปลงทดสอบสิ่งที่เราอยากรู้ เช่น อยากรู้ว่าใส่ปุ๋ยสูตรไหนดี ใส่อัตราเท่าไหร่ดี หรือปักดำข้าวกี่ต้นต่อจับดี ปักดำถี่ได้ฟางปักดำห่างได้ข้าวจริงไหม ปลูกข้าวอย่างไรให้ได้ข้าวไร่ละ 1 ตัน เราก็มาทำแปลงทดสอบร่วมกัน ทำแปลงพันธุ์ร่วมกัน เมื่อจบโรงเรียนเราก็จะได้ข้าวพันธุ์ดีมา ถูกต้องไหม

ประธาน:”น่าสนุกดีนะครับ แต่ที่บอกว่าได้ข้าวไร่ละ 1 ตัน จริงหรือครับ บ้านเราเห็นปลูกได้ไร่ละ 400-500 กิโลกรัมก็มากโขแล้ว

ผู้เขียน:”จริงซิปลูกข้าวไร่ละตันไม่ใช่เรื่องยาก ผมยังเคยตกกล้าบนพื้นคอนกรีตเลย เห็นไหมว่าการ            ปลูกข้าวยังมีเรื่องที่น่าศึกษาที่พวกเรายังไม่รู้อีกมาก ถึงแม้จะปลูกข้าวมานานก็ตาม

เลขา     :”งั้น พวกเราจะมาโรงเรียนกันเยอะ ๆเลยครับ

ผู้เขียน   :”ดีมาก มาเรียนให้จบหลักสูตร จะได้รู้วิธีทำให้ได้ข้าวมากขึ้น ป้องกันโรคแมลงได้ รู้จักการตัดพันธุ์ปนจนได้พันธุ์ข้าวที่ดีนำไปจำหน่ายให้เพื่อนบ้านได้ สมมุติว่าปีนี้เราผลิตพันธุ์ข้าวได้ 5 ตัน จำหน่ายกิโลกรัมละ 10 บาท ให้เพื่อนบ้านในตำบลไปปลูกในพื้นที่ 1,000 ไร่ สมมุติว่าเป็นหมู่ที่ 1 จะได้เงินเข้ากองทุน 50,000 บาท พอปีที่ 2 รัฐบาลก็ลงทุนส่งพันธุ์ข้าวให้อีก 3 ตัน เปิดโรงเรียนให้อีก 8 ครั้ง ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใช้เงินกองทุนจัดซื้อเอง เมื่อได้พันธุ์ข้าวมาก็จำหน่ายให้เพื่อนบ้านในหมู่ 2 อีก 5 ตัน ได้เงินเข้ากองทุนอีก 50,000 บาท และปีที่ 3 รัฐก็ยังลงทุนเป็นพันธุ์ข้าวและเปิดโรงเรียนให้อีก เมื่อได้พันธุ์ข้าวมาก็จำหน่ายให้หมู่ที่ 3 อีก ก็มีรายได้เข้าศูนย์อีก 50,000 บาท แต่ปีที่ 4 รัฐจะให้ศูนย์ข้าวพึ่งพาตนเอง พวกเราก็ต้องซื้อพันธุ์ข้างเอง ซื้อปุ๋ยเอง เปิดโรงเรียนเอง เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็จำหน่ายให้หมู่ที่ 4 ก็จะได้เงินอีก 50,000 บาท เห็นไหมว่าเราสามารถสร้างกองทุนศูนย์ข้าวได้ไม่ยาก

เลขา     :”ถ้าเราขายข้าวครบทุกหมู่บ้านในตำบลแล้ว จะขายที่ไหนได้อีกครับ เพราะตำบลอื่นก็คงมีศูนย์ข้าวเหมือนกัน จะไม่แยงลูกค้ากันหรือครับผู้เขียน:”อ๋อ ไม่แย่งแน่นอน ถึงแม้เราจะกระจายพันธุ์ไปทุกหมู่บ้านแล้ว แต่หมู่ที่ 1 ซื้อพันธุ์ข้าวไปปลูก 4 ปีแล้ว ข้าวก็จะเริ่มเก่า ต้องเปลี่ยนใหม่ เราก็จะได้ขายซ้ำหมุนเวียนในบ้านเดิมได้ตลอดเลย ขอถามหน่อยเถอะว่าอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้า บ้านเรายังมีคนปลูกข้าวไหม 

 เหรัญญิก:”ก็ต้องมีคนปลูกข้าวแน่นอน ไม่ปลูกไม่ได้เพราะต้องกินข้าวผู้เขียน:”ถ้าอีก 20 ปี ยังมีคนปลูกข้าวแสดงว่าอีก 20 ปี ก็ต้องมีคนต้องการพันธุ์ข้าว ถูกต้องไหม ถ้าอีก 20 ปีมีคนต้องการพันธุ์ข้าว ผมถามว่าเราอยากเป็นคนผลิตพันธุ์ข้าวขายหรืออยากเป็นคนซื้อพันธุ์ข้าวดี 

สมาชิก:”เป็นคนผลิตพันธุ์ข้าวขายดีกว่าครับผู้เขียน:”เหมาะเลย ตอนนี้รัฐบาลลงทุนให้เราแล้ว 3 ปี ให้เป็นผู้ผลิตพันธุ์ เมื่อจำหน่ายข้าวได้มากๆ ก็นำกำไรมาปันผลคืนให้สมาชิก บางแห่งสามารถทำเป็นสวัสดิการสำหรับสมาชิก เช่น เบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตรจากศูนย์ข้าว ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ แม้กระทั้งการคลอดบุตร หรือค่าวัวออกลูกก็ยังเบิกได้ พวกเราอยากได้ไหมค่าวัวออกลูก

เลขา     :”อยากได้สิครับ แต่ไม่รู้จะทำได้เหมือนเขาหรือเปล่า

ผู้เขียน:”ถ้าอยากทำก็ต้องมาโรงเรียน 8 ครั้ง และให้หาพื้นที่นาสำหรับทำเป็นแปลงพันธุ์รวม และเป็นที่ลงไปศึกษาหาความรู้ หรือโรงเรียนของเรา เมื่อได้ข้าวมาก็จำหน่ายเป็นพันธุ์ นำเงินเข้ากองทุนได้ ส่วนสมาชิกนอกจากทำแปลงพันธุ์รวมแล้ว จะทำแปลงพันธุ์ในที่นาของตนเองด้วยก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้คณะกรรมการศูนย์ข้าวทราบ และมีกรรมการไปตรวจสอบเพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดี สมาชิกเราก็จะมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายพันธุ์ข้าวกิโลกรัมละ10บาท

ประธาน:”ไหน ๆก็ต้องปลูกข้าว ต้อง ไหน ๆก็ต้องใช้พันธุ์ข้าวอยู่แล้ว พวกเราน่าจะลองดูนะ สมาชิกว่าไง กรรมการว่าไงบ้าง

เหรัญญิก:”เห็นด้วยกับประธานนะ เราน่าจะผลิตพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง และจำหน่ายในท้องถิ่นได้ ที่สาธารณะประโยชน์เราก็มี 20 ไร่ เราทำแปลงพันธุ์รวม ส่วนตัวเราก็ทำแปลงพันธุ์ย่อยอีก

ผู้เขียน:” ถ้าพวกเราไม่สนใจก็ไม่เป็นไรนะ เพราะตำบลอื่นเขาคงทำ ยกตัวอย่างกิ่งอำเภอโพธิ์ตากน้ำท่วม ต้องการพันธุ์ข้าวไปปลูก ศูนย์ข้าวในเขตนั้นไม่สามารถผลิตพันธุ์ข้าวได้ ต้องมาซื้อถึงอำเภอปากคาด ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ถ้าบ้านเรามีพันธุ์ข้าวขาย โพธิ์ตากก็คงมาซื้อเราเพราะใกล้กว่า แต่ถ้าเราไม่ทำ พี่น้องในตำบลเราก็คงต้องไปซื้อพันธุ์ข้าวจากตำบลอื่น ค่าวัวออกลูกก็คงต้องไปอยู่ที่ตำบลอื่น ถูกต้องไหม

ประธาน:”ทำครับ ทำแน่นอน ถ้าสมาชิกอื่นไม่ทำพวกผม กรรมการก็จะทำเองเป็นตัวอย่าง ถ้าขายข้าวได้กิโลกรัมละ 10 บาท คงมีสมาชิกอยากทำตามแน่นอน

ผู้เขียน:”ดีมากครับ เมื่อตัดสินใจที่จะทำแปลงพันธุ์แล้ว ก็ต้องรู้วิธีการทำแปลงพันธุ์ก่อน ใครรู้บ้างว่าพันธุ์ข้าวที่ดีมีลักษณะอย่างไร

สมาชิก  :”ต้องไม่มีข้าวพันธุ์อื่นปนครับ ไม่มีโรคแมลง ไม่มีข้าวลีบ ปลูกแล้วงอกดีครับ

ผู้เขียน:” ถูกต้องครับ ข้าวพันธุ์ดีต้องไม่มีข้าวอื่นปน สมมุติว่าเราปลูกข้าวเจ้า แล้วมีข้าวเหนียวปน 1 เมล็ด ปีหน้าจะมีข้าวเหนียวปนกี่เมล็ด

 ประธาน :”1เมล็ด แตกกอ 5-6 ต้น หรือ 5-6 รวง แต่ละรวงมีข้าวประมาณ 200 เมล็ด ถ้าห้ารวงก็น่าจะมีข้าวปนมากกว่า 1,000 เมล็ดครับ

ผู้เขียน:”ถ้าข้าวปน 1 เมล็ดเพิ่มเป็น 1,000 เมล็ด แล้วเรานำข้าวที่ปน 1,000 เมล็ดไปขายให้หมู่ที่ 1 ปลูก จะเพิ่มเป็นกี่ข้าวปนกี่เมล็ด เป็นล้านเมล็ดใช่ไหม คนที่ซื้อไปคงไม่ชอบใจ เมื่อหมู่ที่ 1 ไม่ชอบ แล้วหมู่อื่นจะซื้อไหม ถ้าหมู่อื่นไม่ซื้อ แล้วค่าวัวออกลูกเราจะได้ไหม ถ้าอยากได้ก็ต้องมีการตัดพันธุ์ปน อย่างน้อย 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกช่วงข้าวแตกกอ ให้ลงไปในแปลงดูว่าข้าวต้นใด สูง หรือต่ำกว่าเพื่อน สีไม่เหมือนต้นอื่น ทรงกอไม่เหมือนต้นอื่นให้ถอนออกจากแปลงพันธุ์ทันที เมื่อทำในแปลงรวมเสร็จก็ต้องกลับไปทำในแปลงพันธุ์ย่อยของตัวเอง ช่วงที่ 2 ทำในช่วงข้าวออกรวง ต้นใดออกรวงไม่พร้อมเพื่อนก็ถอนทิ้ง และช่วงสุดท้ายทำในช่วงข้าวมีเมล็ด ถ้าต้นใดสูง ต่ำกว่า สีไม่เหมือนเพื่อน เมล็ดมีหาง สีเมล็ดไม่เหมือนต้นอื่นต้องถอนทิ้งให้หมด ไม่ต้องเสียดาย เพราะเราต้องการทำเป็นแปลงพันธุ์เพื่อจำหน่ายกิโลกรัมละ 10 บาท ไม่ใช่ขายเข้าโรงสีกิโลกรัมละ 5-6 บาทเหมือนเคย คิดว่าทำได้ไหม

ประธาน:”ก็คงไม่ยากครับ เราปลูกข้าวเป็นอยู่แล้ว มาเพิ่มตรงการตัดพันธุ์ปน 3 ครั้ง ทำในแปลงพันธุ์รวมแล้วก็กลับไปทำในแปลงพันธุ์ย่อยส่วนตัว ได้พันธุ์แล้วก็ขาย 10 บาท

ผู้เขียน:” ถูกแล้วละ ถ้าเราตัดพันธุ์ปนได้ดี ได้พันธุ์ข้าวมากก็จะจำหน่ายได้มาก ศูนย์ข้าวก็จะมีเงินกองทุนมาก มีปันผลมาก สมาชิกที่ทำแปลงพันธุ์ส่วนตัวก็จะได้ค่าพันธุ์ข้าวสูงขึ้น แต่ต้องหักค่าใช้จ่ายเข้าศูนย์ข้าวด้วยนะ เป็นค่ากรรมการตรวจการตัดพันธุ์ปน ค่ากระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ และค่าใช้จ่ายในการจำหน่าย

เลขา     :”ถ้าไม่อยากหักค่าใช้จ่ายให้ศูนย์ ก็จำหน่ายเองใช่ไหมครับ

ผู้เขียน:”จำหน่ายเองก็ได้ แต่ต้องไม่ใช้ชื่อศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวของตำบลเราเพราะถ้าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างจำหน่าย ถ้ามีข้าวของใครปนซัก 1 คน เพื่อนบ้านที่ซื้อไปก็คงจะกล่าวหาว่าข้าวของศูนย์เราดีทั้งหมด ดังนั้นเราควรรวมเมล็ดพันธุ์ก่อนเพื่อการตรวจสอบ ก่อนจำหน่ายในนามของศูนย์ข้าว ถ้าให้ดีกว่านั้นก็ต้องส่งตัวอย่างพันธุ์ข้าวไปให้ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ด้วย

เหรัญญิก:”แสดงว่าเราต้องตั้งกรรมการตรวจพันธุ์ปนเพิ่มใช่ไหมคะจะได้มีคนตรวจแปลงพันธุ์ของสมาชิก

ผู้เขียน:” ใช่แล้วละ กรรมการเราตั้งได้หลายคณะ โดยมีคณะกรรมการใหญ่คอยควบคุม ยกตัวอย่างเงินค่าปุ๋ยและค่าหุ้นที่เราเก็บมาได้อยู่ที่ใคร เราจะนำไปฝากธนาคารหรือไม่

เหรัญญิก:”เงินค่าปุ๋ยและค่าหุ้นอยู่ที่ดิฉัน กำลังรอประธานและเลขาให้ไปฝากเงินพร้อมกัน

ผู้เขียน:”ประธานมีหน้าที่อะไร เลขามีหน้าที่อะไร ลองบอกซิ

ประธาน:” ประธานมีหน้าที่กำกับดูแลความเรียบร้อยครับ

เลขา     :”เลขามีหน้าที่จดบันทึกการประชุมครับ

ผู้เขียน:”ถ้าประธานมีหน้าที่กำกับดูแลความเรียบร้อย เลขามีหน้าที่จดบันทึกการประชุม แล้วทำไมประธานกับเลขาต้องนำเงินไปฝากละ ถึงแม้เงินกลุ่มต้องใช้วิธีการฝากหลายคน และเบิก 2 ใน 3 แต่คนที่ไปฝากน่าจะให้เหรัญญิกซึ่งมีหน้าที่ดูแลเงินทองพร้อมด้วยกรรมการการเงินอีก 2-3 คนเป็นผู้ฝากตามคำสั่งประธาน โดยเลขาเป็นผู้จดบันทึกว่าประธานแจ้งให้เหรัญญิกนำเงินไปฝาก เพราะเมื่อตั้งคณะกรรมการแล้วก็ต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ กระจายอำนาจ ไม่ใช่ตั้งเฉย ๆ แล้วประธานยังต้องทำเองหมดทุกอย่าง แบบนั้นจะหนักอยู่ที่ประธาน คนอื่นก็จะได้มีโอกาสฝึกการทำงานกลุ่มไปด้วย

ประธาน:”เข้าใจแล้วครับ ต่อไปคงต้องทำกฎระเบียบให้ชัดเจนขึ้น กรรมการและสมาชิกจะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง และคงต้องทำระเบียบเกี่ยวกับการเงินด้วย เหมือนโครงการหมู่บ้านละล้านของรัฐบาลใช่ไหมครับ

ผู้เขียน:”ใช่แล้วละ แต่ถ้าดูให้ชัดเจนแล้วศูนย์ข้าวเราได้เปรียบกองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนอย่างอื่นเพราะกองทุนอย่างอื่นมีกิจกรรมเดียวคือให้สมาชิกกู้ยืมเงินหรืออาจมีการซื้อปุ๋ยมาบริการสมาชิก ซึ่งปุ๋ย 1 กระสอบได้เงินเข้ากลุ่มกี่บาท

เลขา     :”ได้ไม่มากหรอกครับ กระสอบละ 10-20 บาท ถ้าเพิ่มกำไรมากสมาชิกก็ลำบาก

ผู้เขียน:” ปุ๋ย 1 กระสอบหนัก 50 กิโลกรัมได้เงินเข้ากลุ่ม 10-20 บาท แต่ศูนย์ข้าวของเรานอกจากให้สมาชิกกู้ยืมเงิน และซื้อปุ๋ยแล้ว ยังมีสิ่งพิเศษที่กองทุนอื่นไม่มีก็คือ เรามีสินค้า หรือผลผลิตได้แก่พันธุ์ข้าวซึ่งเราผลิตได้เอง และได้กำไรถึงกิโลกรัมละ 4-6 บาท ถ้าขาย 50 กิโลกรัมเท่ากับปุ๋ย 1 กระสอบ จะได้เงินเข้ากลุ่มมากถึง 200-250 บาท

ประธาน:”จริงด้วยซิครับ ถ้าเราทำแปลงพันธุ์รวม 20 ไร่ ผลผลิตไร่ละ 500 กิโลกรัมก็จะได้พันธุ์ข้าวถึง 10 ตัน ขายกิโลกรัมละ 10 บาท ก็จะเป็นเงินถึง 1 แสนบาท นี่ยังไม่รวมที่สมาชิกทำแปลงพันธุ์ส่วนตัวอีก

ผู้เขียน   :”สมมุติว่าทำแปลงพันธุ์ได้พันธุ์ข้าวมา 10 ตัน ประธานคิดว่าจะขายอย่างไรบ้างละ

ประธาน:”ก็คงจะประชาสัมพันธ์ให้กำนัลผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านทราบ รวมทั้ง อบต. ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ต่อ ถ้าไม่หมดก็คงต้องรบกวนเกษตรอำเภอขายช่วยละครับ

ผู้เขียน   :”แบบนั้นก็เป็นวิธีการหนึ่ง สมมุติว่าเรารู้แล้วว่าข้าวในแปลงพันธุ์มีประมาณ 10 ตัน ถ้าเราวางแผนการขายเป็นหมู่บ้าน เช่นปีนี้จะเน้นหมู่ที่ 1 เราก็วางแผนประชาสัมพันธ์เน้นหนักในหมู่ที่ 1 เช่นการจัดประชุมร่วมเพื่อเล่าให้ฟังถึงการผลิตพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวเรามีความน่าเชื่อถือ มีเกษตรอำเภอรับรอง มีศูนย์ขยายพันธุ์พืชตรวจสอบคุณภาพ และพาเกษตรกรในหมู่ที่ 1 มาดูแปลงพันธุ์ข้าวที่กำลังชูรวงอยู่ในนา ถอนพันธุ์ปนให้หมู่ที่ 1 ดู ให้เกิดความเชื่อมั่น แบบนี้น่าจะขายได้ดีกว่าไหม

ประธาน:”ถ้าเขาเห็นต้นข้าวก็คงตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เราคงต้องติดป้ายแปลงพันธุ์ของเราทุกแปลงให้สังเกตง่าย ใครผ่านไปมาก็จะได้รู้จักและสั่งจองพันธุ์ไว้

ผู้เขียน:”ถูกต้องเลย ยิ่งเราพาเขามาดูแปลงเราได้มาก ยิ่งมีโอกาสขายได้มาก ถ้าให้ความรู้เรื่องโรคแมลงไปด้วยคนซื้อจะยิ่งชอบ เมื่อเขาเห็นต้นข้าวและได้ข้อมูลจากเราว่าทำแปลงพันธุ์จริง เราก็ให้เขาจองพันธุ์ล่วงหน้า เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็นำพันธุ์ข้าวไปส่ง ถ้าหมู่ที่ 1 ซื้อไม่หมดเราก็นำไปขายในหมู่บ้านอื่นได้ ปีหน้าเราก็วางแผนจำหน่ายพันธุ์ในหมู่บ้านต่อไป ทำไปปีละหมู่บ้าน ปีละจุดแบบนี้ดีไหม

เหรัญญิก:”แหม ยังไม่ทันปลูกข้าวเลยวางแผนการขายข้าวเสียแล้ว แต่ก็ดีคะจะได้ไม่กังวลว่าผลิตได้แล้วจะขายไหน ถ้าให้เกษตรอำเภอขายช่วยก็คงลำบากใจท่านเหมือนกัน แล้วถ้าศูนย์ข้าวเราจะทำกิจกรรมอื่นด้วยจะได้ไหม เช่น เปิดร้านค้าชุมชน

ผู้เขียน:”ได้อยู่แล้ว อะไรที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกของศูนย์เราสามารถทำได้หมด ศูนย์ข้าวบาง


แห่งมีโรงสีเพื่อสีข้าวกล้องและข้าวขาวจำหน่าย บางศูนย์อย่างกิ่งสระใครรวมตัวกันขายข้าวเปลือกพร้อมกันทุกปี ทำให้ได้ราคาสูงกว่า พ่อค้านำรถไปรับในหมู่บ้านไม่ต้องเสียค่ารถ ชาวบ้านเป็นคนชั่งน้ำหนักข้าวบรรจุกระสอบเอง ไม่ต้องกลัวถูกโกงน้ำหนัก หรือชั่งเองก็โกงตัวเอง คงไม่มีนะ บางศูนย์ก็ผลิตสาโทจำหน่าย หรือมีการเชื่อมโยงกับศูนย์ข้าวอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวกัน ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ถือเป็นผลงานของศูนย์ทั้งสิ้น เมื่อศูนย์ข้าวได้กำไรมาก ก็จ่ายสวัสดิการอย่างเช่นค่าวัวออกลูกให้สมาชิกได้มาก สมาชิกมีเงินมากก็นำมาถือหุ้นในศูนย์ข้าวมาก ก็ยิ่งได้ปันผลมาก ชุมชนก็เข้มแข็ง ชาวนาก็มีพันธุ์ข้าวที่ดีเปลี่ยนทุกปี สมความปรารถนาทุกคน

******************************************************

แผนการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว คิดอัตราปลูก 5 กิโลกรัม/ไร่ เพราะในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ส่วนใหญ่ทำนาปีละครั้ง ต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าว 5 กิโลกรัม/ไร่/ปี แตกต่างจากภาคอื่นที่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ครั้งละ 20-30 กิโลกรัม/ไร่ ทำนาปีละ 2-3 ครั้ง ต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวปีละ 40-90 กิโลกรัม/ไร่/ปี*************** 
หมายเลขบันทึก: 148376เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล
  • แล้วจะแวะมาเติมเต็มความรู้อีกค่ะ

ดีใจจังอาจารย์คนสวยแวะมาเยี่ยม..

ขอโทษที่ตอบช้าครับ..

แล้วมาอีกนะครับจะรอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท