รากเหง้าชุมชนคนไร้รัฐไร้สัญชาติ??


แล้วอย่างนี้การศึกษารากเหง้าชุมชนจะเป็นอย่างไร ?? การสร้างความสำนึกให้ภาคภูมิใจในรากเหง้าจะเป็นอย่างไร ??

หลายวันก่อนได้อ่านหนังสือ "ก่อเกิด : คู่มือศึกษารากเหง้าชุมชน" ที่ทางโครงการเรียนรู้รากเหง้า เท่าทันสังคม จัดทำขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้เยาวชนสืบค้น และเข้าใจรากเหง้าของตนเอง เพื่อยืนหยัดท่ามกลางกระแสสังคมโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบันได้อย่างภาคภูมิใจ

เป็นหนังสือที่ดีมาก ไม่เฉพาะสำหรับเยาวชน แต่คนเริ่มต้นทำงานชุมชนอย่างเรา ซึ่งเข้าใจแนวคิดเหล่านี้ทางทฤษฎีอยู่ แต่ไม่รู้จะนำมาเริ่มปฏิบัติอย่างไร ก็ได้รับประโยชน์มาก เพราะมีคำแนะนำ วิธีปฏิบัติและเครื่องมือต่างๆ ที่เข้าใจง่าย จึงตั้งใจอ่านรวดเดียวจบใน ๒ วัน

ต้องขอบคุณ อ.ปัท อีกครั้งนะคะ สำหรับหนังสือดีๆ ที่ อ.แนะนำอีกแล้ว

แต่พออ่านจบแล้ว ก็เริ่มมีคำถามกับบริบทของชุมชนในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ จึงอยากเขียนบันทึกนี้เพื่อหาคนช่วยคิดช่วยแนะนำด้วยค่ะ !!

เพราะการสืบค้นรากเหง้าชุมชนที่หลายๆ ชุมชนทำกันประสบผลสำเร็จ หรือที่ในหนังสือนี้แนะนำนั้น ส่วนใหญ่เป็นลักษณะชุมชนที่มีรากเหง้า มีประวัติศาสตร์ของชุมชน โดยเฉพาะมีความรู้สึกร่วมเป็นชุมชนเดียวกัน

แต่บริบทของพื้นที่นี้ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ปกาเกอะญอที่ตั้งรกรากบนแผ่นดินไทยมานาน ดังตัวอย่างที่หนังสือนี้แบ่งปันไว้ แต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน บางชุมชนก็ ๒๐-๓๐ ปี บางชุมชนก็ ๑๐ กว่าปี

แต่ที่สำคัญ คือสมาชิกในชุมชนต่างทะยอยกันเข้ามาอาศัยเพิ่มเติมในชุมชนในเวลาต่างๆ กัน ส่วนใหญ่ผู้เริ่มก่อตั้งรุ่นแรกมีไม่มากนัก และค่อยๆ มาสมทบ โดยเป็นเครือญาติกันบ้าง ไม่ใช่บ้าง จำนวนไม่น้อยเพิ่งมาตั้งถิ่นฐานไม่ถึง ๑๐ ปี หรือแม้แต่เพิ่งเข้ามาปีนี้ หรือไม่กี่เดือนก็ยังมี...

แล้วอย่างนี้การศึกษารากเหง้าชุมชนจะเป็นอย่างไร ??  การสร้างความสำนึกให้ภาคภูมิใจในรากเหง้าจะเป็นอย่างไร ??

 

 

หมายเลขบันทึก: 149078เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2007 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

การมีรากเหง้า มีประวัติศาสตร์ เป็นที่มาของความภาคภูมิใจ และนำไปสู่การสร้างอุดมการณ์ร่วมได้ 

คิดว่า สำหรับชุมชนใหม่  ต่างคนต่างมา ทยอยกันมา  แต่ทุกคนก็คงมาด้วยความหวังเดียวกัน คือ ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า    ตรงนี้ก็น่าจะสร้างอุดมการณ์ร่วมที่จะผลักดันให้เกิดสิ่งที่ดีๆขึ้นในชุมชนได้เช่นกันค่ะ

ในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้ามาเป็นเครือญาติ  ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างจับจอง ต่างแสวงหา หากไม่สร้างอุดมการณ์ร่วม ก็เกิดการแย่งชิง แย่งใช้ทรัพยากรได้เหมือนกันค่ะ   หรืออย่างดีคือ ต่างคนต่างอยู่  แต่หากสร้างอุดมการณ์ใหม่ร่วมกันได้  ก็น่าจะสร้างความเป็นชุมชนได้

อาจมีผู้รู้ท่านอื่นๆ ตอบได้ดีกว่านี้ค่ะ 

 

จริงเลยค่ะ อ.

ดูเหมือนตอนนี้เป้าหมายเดียวกันของชาวบ้าน คือ "เงิน" ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก บรรยากาศชุมชน วัฒนธรรม คุณค่า ความเอื้ออาทรกัน ก็ค่อยๆ หายไป กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ทำมาหากิน อยากให้ลูกเรียนสูงๆ จนถึงขั้นมีความขัดแย้งจากการแย่งกันใช้ทรัพยากรกันก็เริ่มมีมากขึ้น

คงต้องช่วยกันคิดต่อใช่ไหมคะว่า อุดมการณ์ใหม่ร่วมกันนั้นคืออะไร

ที่เห็นพอจะเป็นไปได้ คือคุณค่าของวัฒนธรรมชนเผ่าของพวกเขา ซึ่งยังพอมีแม้จะเปลี่ยนไป แต่หากจะนำคุณค่าเหล่านั้นมาปรับกับเครื่องมือในยุคสมัยปัจจุบัน เช่น กองทุนชุมชนที่เรากำลังจะทำ ก็น่าจะดีนะคะ

 

ผมนึกถึงชุมชนเมืองที่ต่างมาจากคนละที่ละทาง         อยู่ร่วมกันด้วยระเบียบทางสังคมที่มีกรอบกฏหมายเป็นหลัก ซึ่งที่จริงทุกคนมีกรอบจริยธรรมส่วนบุคคลหรือความเป็นคนที่มาจากการหล่อหลอมของสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมกำกับในระดับใดระดับหนึ่ง

มีทั้งระเบียบในการอยู่ร่วมกันคือศีลเพื่อให้การอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข สำนึกร่วมในต้นตระกูล(ผี)เดียวกันย่อมทำให้ผู้คนเกี่ยวพันกัน
ลึกลงไปของมิติที่ผูกพันคนรุ่นนี้ รุ่นก่อนและรุ่นหลังต่อไปคือ อุดมการณ์ทางศาสนา

ถ้าของพุทธก็คือ นิพพาน เป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตที่จะส่งทอดการแสวงหาจากคนรุ่นนี้สู่คนรุ่นต่อๆไป

ระเบียบทางสังคมเป็นการวางสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเดินทางสู่เป้าหมายของปัจเจกบุคคล

ตอนนี้อุดมการณ์เหล่านี้ลดน้อยถอยลงหรือเลือนหายไป อุดมการณ์ใหม่คือการมีชีวิตอยู่เพื่อความสุข(ของตนเอง) ทำให้ความเห็นแก่ตัวมีมากขึ้น ต้องลำบากร่วมกันมากขึ้น

การสร้างกองทุนชุมชนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน(ทุนทางสังคม) ถ้าพอมีทุนนี้อยู่ก็ทำได้ง่ายและอาจเป็นแรงหนุนเสริมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น หรือหากจัดการไม่ดีก็อาจทำให้อ่อนแอลงได้ เกิดการทะเลาะกันเรื่องเงินมากขึ้น  แนวทางออมบุญวันละ1บาทเป็นแนวทางที่ดีมาก แนวทางหนึ่ง เพื่อให้สมาชิกคิดถึงการลดผลประโยชน์ส่วนตน(รายจ่าย)ลงวันละ1บาทเพื่อบริจาคให้กับชุมชนสังคม นำมาจัดตั้งเป็นกองบุญขึ้น       กองบุญนี้ใช้กับสมาชิกและผู้ยากลำบากที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้แม้แต่การลดรายจ่ายวันละ1บาท

พลังของการลดความเห็นแก่ตัวด้วยตัวเงินเพียงวันละ1บาทเพื่อประโยชน์ของชุมชน เมื่อทำร่วมกันก็อาจเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน เป็นการสร้างพลังเกาะเกี่ยวของคนที่มาจากต่างบ้านต่างเมืองให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน เป็นพลังความรู้จากขุมปัญญาทางศาสนาในพลังของความเอื้ออาทรที่สร้างปาฏิหาริย์ให้เห็นทั้งส่วนบุคคลและชุมชน

ตามอ่านเรื่องกองทุนชุมชนของเธอในหลายบันทึกแล้ว ก็เหมือนจะเข้าใจว่า เธอเชื่อว่า เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากชาวบ้านเอง ชุมชนเอง ซึ่งอันนี้ พี่ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่ว่า ชาวบ้านบ้านนั้นจะมีรัฐหรือไม่ก็ตาม มนุษย์ทุกคน สิ่งที่แท้จริงที่สุด ก็คือ ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้

แต่มาสงสัยว่า พวกชุมชนนิยมนี่คงไม่เห็นประโยชน์ของกฎหมาย ดูจะเกลียดกฎหมายเสียด้วยละมัง อ่านดูในหลายๆ ความเห็นที่เข้ามาในบล็อกของเธอดูจะเข้าใจว่า กฎหมาย = การบังคับ การลงโทษ และการจำกัดเสรีภาพ

ฉันออกสงสัยว่า เมื่อไม่มีใครคิดสร้างกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองชุมชน แล้วไอ้เจ้ากฎหมายที่เอื้อต่อชุมชนจะเกิดได้อย่างไร กฎหมายไม่มีชีวิต กฎหมายก็เป็นกระทำของมนุษย์

เมื่อเราจำนนต่อการใช้อำนาจของรัฐ  กฎหมายที่รัฐสร้างขึ้น จึงมีความเป็นเพื่อจำกัดอำนาจของประชาชน ซึ่งก็คือ ชุมชนด้วยล่ะ

ซึ่งก็ตลกอีก ในวันนี้ ก็คือ รัฐ ก็คือ ตัวแทนของประชาชนที่ขึ้นเป็นรัฐบาล รัฐสภา ตุลาการ มิใช่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินสักหน่อย ชนชั้นปกครองเหล่านี้ก็คือ ส่วนหนึ่งของชุมชน ของรากหญ้า ในช่วงแรกของชีวิต เมื่อขึ้นสู่อำนาจได้ ความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนก็จะหายไป กลายเป็นเจ้าเป็นนายของชุมชน เมื่อจะรับเลือกตั้งใหม่นั่นแหละที่จะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ช่วงหลังๆ ก็เลยเหนื่อยๆ ท้อๆ เราทำงานเป็นนักกฎหมาย เลยไม่รู้จะทำอะไรได้ หันจะไปช่วยชาวบ้านในชุมชน เขาก็ว่า กฎหมายไม่จำเป็น หันไปทำงานกับภาครัฐ เขาก็เอาแต่จะใช้อำนาจไปจำกัดเสรีภาพประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ บางครั้ง ก็ไม่เห็นจะจำเป็น ฉันก็เลยไปขัดคอเขาอีก สรุปว่า เบื่อมาก เลยว่า จะหยุดคิดทำอะไรสักพัก ลองคิดจะไม่ทำดูบ้าง ตั้งใจว่า ปีนี้ จะเป็นปีตอบคำถาม ไม่ถาม ก็ไม่ตอบ หรือคอยไปดูคนอื่นเขียน คนอื่นพูด แล้วก็ขัดคอเขา เหมือนที่มาขัดคอเธอ อย่างนี้แหละ ดีไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท