เดือนที่สามมาแล้วค่า.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สาม พฤศจิกายน 2550


ว่าด้วยเรื่องการเขียนบทความในรูปแบบเพื่อส่งตีพิมพ์ค่ะ

เดือนที่สามมาแล้วค่า.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สาม  พฤศจิกายน 2550   

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่ ขออภัยอีกครั้งที่เดือนนี้ส่งงานช้ามากกกกกกกกกกก...   อย่างที่แก้ตัวไปแล้วครั้งหนึ่งค่ะ  ชีวิตวุ่นวายกับเรื่องของรายงานประจำภาค (Term paper) สองฉบับและสอบไล่หนึ่งวิชา  ตลอดจนการนำเสนอผลงาน (paper presentation) ของสองวิชาดังกล่าว   ที่มีกำหนดส่งและสอบไล่ๆ กันในอาทิตย์ปลายเดือนก่อนต่อเนื่องมาอาทิตย์ต้นเดือนนี้  ทำให้ต้องรีบมาขอเลื่อนกำหนดส่งบันทึกมาจนถึงวันนี้.... 

เฮ้อ...แก้ตัวเสียยาวเชียว  เข้าเรื่องเราดีกว่านะคะ (ผู้ที่เข้ามาอ่านท่านใดอยากรู้ที่มาที่ไปหรือว่าครูใหญ่และครูน้อยเป็นใคร  ต้องไปอ่านบันทึกหมายเลข 0 ก่อนเลยนะคะ) เดือนที่สามนี้  อยากจะนำประสบการณ์การเขียนบทความในลักษณะเพื่อส่งตีพิมพ์มาเล่าสู่กันฟังนะคะ  เผื่อจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านที่มีประสบการณ์ด้วย  

ครูน้อยไม่มีประสบการณ์การเขียนลักษณะนี้มาก่อนในชีวิต   เรียกได้ว่าเริ่มจากศูนย์  เลยขอเก็บข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวเองแอบสงสัย  ตลอดจนขอนำเทคนิคการบริหารการเขียนของนักศึกษาปริญญาเอกที่อาจารย์บางท่านที่นี่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพมาคุยกันตรงนี้ด้วยเลยค่ะ ดังนั้น  ก็ขอแบ่งหัวข้อดังนี้นะคะ

  • เทคนิคเล็กๆ (แต่ได้ผล) ของอาจารย์ในการบริหารงานเขียนของนักศึกษาปริญญาเอก
  • ข้อสังเกตส่วนตัวว่าด้วยการหัดเขียนบทความเพื่อส่งตีพิมพ์  
  • ทางออกของครูน้อย  (ตอนต่อจากหัวข้อ “ชีวิตที่สับสนในสมดุลย์ระหว่างการเรียนกับงานวิจัย” ที่พูดถึงในบันทึกเดือนที่แล้วค่ะ)

 เริ่มกันเลยนะคะ 

1.                 เทคนิคเล็กๆ (แต่ได้ผล) ของอาจารย์ในการบริหารงานเขียนของนักศึกษาปริญญาเอก

ต้องขอขอบคุณ Professor Calantone อีกแล้วที่ทำให้ครูน้อยได้เรียนรู้เทคนิคดีๆ ในการบริหารงานเขียนมาฝากกัน   มองได้สองด้านค่ะเรื่องนี้  อันแรก  สำหรับตัวลูกศิษย์ที่เป็นคนต้องเขียน  และข้อสองคือสำหรับอาจารย์ที่ทำให้ลูกศิษย์ทำงานที่ดีมีคุณภาพออกมาได้ทันตามเวลาที่ควรจะเป็น   มาลองอ่านกันดูนะคะ  ว่าท่านมีเทคนิคอย่างไร   ขอเล่าแบบเป็นขั้นๆ แล้วไปสรุปข้อดีตอนท้ายทีเดียวเลยนะคะ   เพราะทั้งหมดนี้  อาจารย์ท่านไม่ได้วิเคราะห์ข้อดีให้ฟังหรอกนะคะ   ท่านใช้แต่เทคนิคอย่างเดียว  ครูน้อยมาสรุปผลเอาเองภายหลังค่ะ 

1.1     เรื่องก็เริ่มอย่างนี้ค่ะ   ใน syllabus กำหนดให้เขียนบทความในลักษณะเพื่อส่งตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำเท่านั้น  และกำหนดให้ส่งและนำเสนอผลงานหนึ่งอาทิตย์ก่อนสอบไล่   จากนั้น  พอใกล้ๆ สิ้นเทอม  อาจารย์มาบอกเพิ่มว่าถ้านำเสนอผลงานแล้ว   ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากในชั้นเรียน  และอยากแก้ไขในบทความ  ก็ให้เวลาอีกหนึ่งอาทิตย์ในการแก้ไข  คือส่งวันสอบไล่ได้อีกครั้งหนึ่ง 

1.2     หลังจากเรียนไปได้ครึ่งเทอมหน่อยๆ  อาจารย์ก็ให้ส่ง outline สำหรับรายงานค่ะ   ครูน้อยไม่เคยเขียนกระทั่ง outline (ก็บอกแล้วว่าไม่เคยจริงจริ๊ง..)  เลยลองไปถามน้องๆ ที่เรียนเอกคณะอื่น  เค้าก็บอกว่าไม่เคยเขียนเหมือนกัน  ปกติก็ลงมือเขียนรายงานกันเลย  แถมยังแซวเราว่าคณะนี้ทำอะไรเป็นทางการจัง..  ครูน้อยก็จัดแจงคิดหัวข้อแบบว่ามั่วสุดๆ  โชคดีในวิชานี้ต้องอ่านบทความอาทิตย์ละสิบกว่าชิ้น   ช่วงนั้นก็อ่านไปได้ห้าหกสิบบทความแล้ว  เลยเริ่มคุ้นพอที่จะลอกโครงสร้างของบทความ  นำไปเสนออาจารย์ได้ 

1.3             พบกันครั้งที่หนึ่ง  อาจารย์เห็น Outline แล้วก็บอกว่าหัวข้อใช้ได้ดีแล้ว  ไม่มีปัญหา  แต่ครูน้อยคิดว่าปัญหาหนูน่ะไม่ธรรมดาหรอกค่า.. อาจารย์ขา..  เขียน Outline ให้สวยหรูน่ะไม่ยาก หนูก็ลอกโครงสร้างเจ๋งๆ มา   แต่ตอนเขียนจริงจะทำยังไงดีหนอ.. นึกอะไรไม่ออกเลยสารภาพกับอาจารย์ตามตรงว่าเกิดมาไม่เคยเขียนอะไรอย่างนี้มาก่อนเลยค่ะ  นอกจากวิทยานิพนธ์ว่าด้วยเรื่องระบบชุมสายโทรศัพท์ของหนูตอนเรียนตรีซึ่งเขียนเป็นภาษาเครื่องประมาณ 70% แล้ว   นี่ก็เป็น paper แรกในชีวิตกันเลยล่ะค่ะ    

หลังจากที่อาจารย์กุมขมับอย่างที่เคยเล่าไปแล้วในตอนก่อน   ท่านก็แนะนำให้ไปทำ Outline แบบละเอียด  โดยเขียนเป็น Bullet ย่อยลงไปอีกจาก Outline เดิม   ท่านบอกว่า  การเขียนเป็น Bullet ทั้งหมดทำได้ไม่ยาก แถมยังนำไปใช้ใน presentation ได้ด้วย   และได้แนะนำให้วาด proposition ที่นำเสนอเป็นแผนภาพ (diagram)  เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น   แล้วนัดกำหนดส่งอีกครั้งหนึ่ง  โดยท่านบอกว่า  จะแนะนำวิธีการเขียนจาก Bullet เป็นประโยคและย่อหน้าต่อไป 

1.4             หลังจากครูน้อยกลับมา  ก็พบว่าการจะเขียน Outline ละเอียดให้ได้นั้น จำเป็นจะต้องกลับไปอ่านหนังสือและบทความที่เป็นทฤษฎีเพิ่มเติมจำนวนมหาศาล  เพื่อนำมาเขียนในส่วนทฤษฎีเปรียบเทียบซึ่งเป็นเพียงตอนต้นของบทความเท่านั้น   เวลาผ่านไปอีกสองอาทิตย์ กำหนดการส่งใกล้เข้ามาอย่างน่ากลัว  ครูน้อยก็ยังทำไม่เสร็จ  โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นหัวใจของบทความ  คือส่วนที่เป็นแนวคิดที่เรานำเสนอ    แต่ครูน้อยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนำ Outline (ที่ไม่ค่อย) ละเอียดของตนเองไปคุยกับอาจารย์อีกครั้ง 

1.5             คราวนี้ อาจารย์ดูอย่างละเอียด  เมื่อดูถึงส่วนที่ครูน้อยต้องกลั้นหายใจซึ่งก็คือ  ส่วนข้อเสนอแนวคิดของตนเอง  ซึ่งขอบอกว่าง่อยสุดๆ (ขอโทษที่ใช้คำไม่ไพเราะนะคะ  คือมันได้ใจความดีค่ะ)   อาจารย์อ่านส่วนนั้นอย่างเอาใจใส่เชียว  และเงยหน้ามาบอกแค่เพียงว่า  เนื้อหาภาพรวมดีแล้ว  เห็นถึงความพยายามในการเชื่อมต่อเนื้อเรื่อง  และเห็นด้วยว่าครูน้อยเขียนจาก bullet เป็นประโยคแล้ว  อันนี้ก็แปลกดีค่ะ  คือหลังจากอ่านไปมากๆ  มันก็สามารถออกมาเป็นประโยคแล้วก็ย่อหน้าเองเลยค่ะ   จากนั้น อาจารย์ก็บอกว่า  ท่านคิดว่าโอเคแล้ว  แต่ตอนท้ายของช่วงที่นำเสนอ propositions  อยากให้ครูน้อยทำตารางขึ้นมาอันหนึ่งที่รวบรวมว่า  แต่ละแนวคิดที่นำเสนอนั้น  มาจากแนวคิดทฤษฎีของใครบ้าง  และมีใครบ้างที่ทำการวิจัย (Empirical study) ที่เหมือนหรือใกล้เคียงข้อเสนอนั้นแล้วบ้าง  และบรรจุรายละเอียดของวิธีการและผลการวิจัยนั้นด้วย  โดยให้ใส่หมายเหตุว่า ต่างกับของเราตรงไหนด้วย 

แหม.. ตอนได้ยินคำแนะนำนั้นนะคะ  ครูน้อยยอมรับอย่างไม่อายว่าตัวเองแอบคิดว่าง่ายนิดเดียว  เพิ่มอีกแค่หนึ่งตารางเอง  แป๊บเดียวก็เสร็จ   เราก็แอบเช็คมาคร่าวๆ แล้ว  ว่าข้อเสนอเราแอบไปตรงหรือใกล้ๆ กับใครหรือเปล่า  เพราะฉะนั้น  ก็แค่นำผลวิเคราะห์ต่างๆ เหล่านั้นมารวมไว้ในตารางเดียว   แล้วก็แอบโล่งอกที่อาจารย์ไม่โจมตีจุดอ่อนของ paper เราหรือบอกให้ไปทำมาใหม่    จะได้เหลือเวลาไปทำอีก paper หนึ่งเสียที..     เฮ้อ... 

1.6             เวลาผ่านไปไวเหมือนสายลม...(ว่าเข้านั่น)  ที่ไหนได้...โอ้ว...ชีวิตรันทดมากค่ะ   ไอ้เจ้าหนึ่งตารางนั้น  ครูน้อบใช้เวลาอีกสองอาทิตย์เพื่อพบว่า  ทำไมมีคนทั้งวิเคราะห์วิจัยหลากหลายรูปแบบ  แบบเกี่ยวกับของเรานิดๆ ไปจนถึงเกี่ยวเต็มๆ  แล้วก็ไอ้เจ้าพวกเกี่ยวตรงๆ แล้วเป็นแบบเห็นแย้งกับของที่เราเสนอเนี่ย  ทำให้เราต้องไปอ่านงานวิจัยนั้นๆ อย่างละเอียดจนถึงวิธีการและข้อจำกัดต่างๆ  เพื่อดูว่าเราสามารถเขียนแย้งเขาได้หรือเปล่า..  ยัง...ยังไม่พอ.. งานวิจัยนี้ก็อ้างถึงงานวิจัยนั้น  งานนั้นก็อิงงานโน้น...งานโน้นก็...  วี๊ด...ตายสงบค่ะ     

หลังจากเงยตาอ้าปากขึ้นมาได้  ปรากฎว่านอกจากครูน้อยจะได้ตารางน่ารักๆ มาหนึ่งตารางแล้ว  ยังได้ของแถมอันทรงคุณค่า  คือรายงานในส่วน proposition ขนาดกระจุ๋มกระจิ๋มของครูน้อย  ได้กลายสภาพเป็นส่วนที่ยาวที่สุดของ paper นั้นไป  แถมยังแน่นหนาไปด้วยเนื้อหาสาระพอประมาณ  (ทั้งที่ก่อนหน้านั้นหาแทบไม่เจอ)   เพราะผลจากการทำตารางน้อยๆ ที่อาจารย์สั่งนั่นแหละค่ะ 

1.7             มาถึงวัน present แล้ว  รายงานยังทำไม่เสร็จเลยค่ะ  ตะลุยทำ presentation file ก่อน   ได้ใช้ทั้ง diagram และตารางน้อยของเรา  อืมม์..พอไหว..   เนื้อหา  presentation เอามาจาก outline ละเอียดที่ทำครั้งที่สอง   ตอน presentation ก็จะได้เห็นหลากหลายรูปแบบของเพื่อนร่วมชั้นเรียน  หลายคนลืมใส่ส่วนนั้นส่วนนี้ของรายงาน  บางคนก็โดนตั้งคำถามเรื่องแนวคิดที่นำเสนอว่ายังพิจารณาไม่รัดกุม  ขาดส่วนนั้นส่วนนี้ไป   ของครูน้อยรอดตัวไป  โชคดีจริงๆ สงสัยเป็นเพราะปรึกษาอาจารย์ไว้เยอะ    แต่ก็ได้นำเอาข้อแนะนำที่ได้ฟังจากตัวอย่างของคนอื่นไปปรับปรุงรายงานของตัวเองด้วย  (จริงๆ คือยังเขียนไม่เสร็จนั่นเองค่ะ  555)  นอกจากนี้  การทำ presentation ก่อนที่จะขัดเกลารายงานเป็นครั้งสุดท้าย ทำให้รู้ว่า  ลำดับการเล่าเรื่องของรายงานที่เราทำไว้เดิม  ไม่สละสลวย  เพราะพอพูดนำเสนอตามลำดับแล้วมันไม่ต่อเนื่องกลมกลืน  ไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน ทำให้สามารถกลับมาแก้ไขรายงานได้อีกครั้งด้วย 

1.8             ก็สรุปเลยละกันค่ะ  หลังจากผ่านการส่งรายงานไปแล้ว  ครูน้อยค่อยมีเวลามานั่งลำดับความคิดว่า  เทคนิคที่อาจารย์ใช้ในการบริหารการทำรายงานของครูน้อยนั้นมีประสิทธิภาพมากทีเดียวเชียวล่ะค่ะ   

1.8.1       เริ่มต้นจาก Outline  ซึ่งทำให้ครูน้อยกระเสือกกระสนต้องทำมาส่งในช่วงกลางเทอม  ไม่เช่นนั้นก็คงจะใจเย็นเย็นใจได้ไปอีกนานและยังทำให้ครูน้อยต้องเปิดดูรูปแบบโครงสร้างของบทความที่ใช้สำหรับการเขียนแบบ Comparative จาก journal article เป็นตั้งๆ เพื่อหารูปแบบที่ลงตัวกับเนื้อหาที่วางเอาไว้    

1.8.2      จากนั้น การทำ Outline ละเอียด  ก็ทำให้พัฒนาการอ่านได้อย่างมหัศจรรย์  โดยที่อาจารย์ไม่ต้องสั่งให้ไปอ่านอะไรเพิ่มซักกะคำ  เพราะถ้าไม่อ่าน มันก็เขียนไม่ได้เลยค่ะ  แถมยังเป็นการทำให้ครูน้อยเขียนส่วนทฤษฎีเปรียบเทียบได้เป็นย่อหน้าด้วยตนเอง 

1.8.3      อีกหนึ่งส่วนคือตารางมหัศจรรย์   ถ้าอาจารย์ไม่สั่งให้ทำตารางนั้น  ครูน้อยไม่ทำแน่นอนค่ะ   หรือถ้าอาจารย์ถามว่า  ครูน้อยไปศึกษามาหรือยังว่ามีใครทำซ้ำหรือใกล้เคียงหรือเปล่า  เราก็คงตอบว่า  ศึกษาแล้ว ไม่มีซ้ำหรอกค่า..มีแต่ใกล้เคียงนิดหน่อย  ซึ่งก็คงไม่ทำเกิดความจำเป็นต้องไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองแต่อย่างใด  แล้วถ้าอาจารย์ถามแล้วสั่งให้เราไปทำตารางอีก   เราก็คงแอบรู้สึกไม่ดีเล็กๆ ด้วยว่า แหม.. ไม่เชื่อเราหรือไงนะ  (อันนี้เป็นนิสัยที่ไม่ดีนะคะ  เยาวชนไม่ควรนำเป็นแบบอย่าง)     แต่อาจารย์ใช้วิธีที่แนบเนียนกว่านั้นมากค่ะ   ตอนท่านบอกให้ไปทำตารางนะคะ  ท่านบอกเหตุผลเดียวเองค่ะว่านี่เป็น paper ทางการตลาด  ซึ่งต่างจากด้านการจัดการที่ครูน้อยเรียนอยู่  พวกเราชาวการตลาดชอบอะไรที่แฟนซีนิดหนึ่ง  อารมณ์ประมาณว่ามีตารางเก๋ๆ สรุปโน่นนี่สักหน่อย  ก็จะทำให้ดูน่าสนใจขึ้นมาก...   นี่แหละค่ะ  เหตุผลที่ครูน้อยได้รับมา  โดนกล่อมเสียสนิทเลย.. 

1.8.4      อีกส่วนก็คือ presentation ค่ะ   การจัดเรียงลำดับของการนำเสนอและการส่งรายงานไว้แบบนี้ทั้งเรื่องลำดับเวลา  และเนื้อหาตลอดจนการวิเคราะห์วิจารณ์  ช่วยนำไปสู่การเรียนรู้และการปรับปรุงรายงานได้อย่างเห็นผลจริงๆ    

1.8.5      ส่วนสุดท้ายเลยคือเรื่องการบริหารเวลาค่ะ  ยอมรับอย่างจริงใจว่า  ถ้าปราศจากเทคนิคที่อาจารย์กำหนดให้ส่งงานเป็นขั้นๆ แบบนี้   ครูน้อยไม่มีทางทำเสร็จตามกำหนดเลยค่ะ    เพราะเมื่อเทียบกับอีกหนึ่งวิชาที่ต้องทำรายงานเหมือนกันแต่ปราศจากเทคนิคเหล่านี้  ผลก็คือ  รายงานในวิชานั้นของครูน้อย  จะคุณภาพด้อยกว่าค่อนข้างมาก  ถึงแม้จะนำข้อคิดต่างๆ มาพยายามปรับใช้แล้วก็ตาม (อันนี้ไม่ได้โทษอาจารย์อีกท่านหรอกนะคะ  เพราะครูน้อยกับท่านไม่สามารถจัดเวลาให้ตรงกันที่จะเข้าไปขอคำแนะนำจากท่านได้มากเพียงพอ  เลยทำให้ได้พูดคุยเพียงแค่หัวข้อและ outline เท่านั้น)

 

2.                 ข้อสังเกตส่วนตัวว่าด้วยการหัดเขียนบทความเพื่อส่งตีพิมพ์   

เทอมนี้เขียนไปสองบทความค่ะ   บทความแรกเกี่ยวกับการถ่ายทอด tacit knowledge ในองค์กรที่มีลักษณะการดำเนินการแบบ market-driven organization ค่ะ    และบทความที่สองเกี่ยวกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบความหมายของการถ่ายทอด Tacit Knowledge ในมุมมองของทฤษฎี Resource-based view และ Resource dependence                   

ต้องขอออกตัวก่อนว่า  ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่จะพูดถึงต่อไปนี้  มาจากการสังเกตส่วนตัว  ไม่ได้เปิดตำราที่ไหนประกอบนะคะ   อาจจะไม่ตรงตามทฤษฎีใดๆ  ก็ถือว่ามาจากมุมมองในแง่ปฏิบัติละกันนะคะ    แหล่งที่ได้รับมาก็มาจากอาจารย์ หรือเพื่อนๆ พี่ๆ หรือพิจารณาเอาเองบ้างก็มีค่ะ   ลองอ่านดูเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนะคะ 

2.1             บทความทางด้านการจัดการที่ตีพิมพ์กันอยู่ในปัจจุบัน  มีสองรูปแบบหลักๆ ค่ะ  คือแบบที่มีการทำวิจัยประกอบ (Empirical Study) กับแบบที่วิเคราะห์ทางทฤษฎีเปรียบเทียบ  หรือวิเคราะห์ทฤษฎีและมีข้อเสนอประกอบ  แต่ไม่มีผลวิจัย (Conceptual Study)  จำนวนหน้าของบทความแบบแรกจะประมาณ 30-50 หน้า แบบที่สองประมาณ 20 หน้า  รวมการอ้างอิงและรูปภาพตารางต่างๆ แล้ว  เนื้อหาที่เป็น writing จริงๆ ของบทความแบบหลังจะมีประมาณ 2/3 ของจำนวนหน้าทั้งหมด 

2.2             หัวข้อหลักๆ ของบทความแบบ Conceptual Study จะประกอบไปด้วย 

·        executive summary ประมาณครึ่งหน้า (แต่ไม่เขียนว่า executive summary นะคะ)  

·        Introduction

·        ทฤษฎีเปรียบเทียบ  หรือ นิยาม หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องในอดีต·        ข้อเสนอ (proposition)

·        ข้อสรุป

·        ข้อจำกัดและหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจในอนาคต  (บางทีก็เพิ่มเรื่อง managerial implication ด้วย) 

2.3             การอ้างอิงตอนท้าย   ถ้าเรามีจุดประสงค์ว่าจะส่งไปเสนอเพื่อตีพิมพ์ที่วารสารใด  ก็ควรใช้รูปแบบการทำหน้าที่ว่าด้วยเรื่องการอ้างอิงตามอย่างของวารสารนั้น   ซึ่งแต่ละวารสารอาจจะดูคล้ายแต่ไม่เหมือนกัน  ตัวอย่างเช่น  ของครูน้อย  ใช้รูปแบบของ journal of marketing และ academy of management journal  สำหรับรายงานแต่ละฉบับ   และพบว่าต้องมานั่งพิจารณารายละเอียดของรายนามที่อ้างอิงทีละอัน  พยายามใช้เครื่องมือช่วย เช่น endnote แล้ว   แต่สุดท้ายก็ต้องมาเช็คด้วยตาเปล่าอีกทีอยู่ดี สำหรับส่วนที่สองก็นึกออกเท่านี้ล่ะค่ะ  ถ้ามีเพิ่มเติมก็จะมาคุยในคราวต่อๆ ไปนะคะ  ยังต้องเขียนกันอีกยาวไกลทีเดียว 

 

3.       ทางออกของครูน้อย (ตอนต่อจากหัวข้อ ชีวิตที่สับสนในสมดุลย์ระหว่างการเรียนกับงานวิจัยที่พูดถึงในบันทึกเดือนที่แล้วค่ะ)

ตอนต่อจากคราวที่แล้วค่ะ   จากเดิมที่อาจารย์ที่ปรึกษาได้แจ้งว่าอยากให้ครูน้อยเริ่มช่วยทำวิจัยของภาควิชาในเทอมนี้เลยนั้น    ครูน้อยเดินมึนกลับบ้านมาตั้งสติ  เขียนแผนผังชีวิต  เอ๊ย... ไม่ช่าย.... เขียนแผนผังตารางเวลาค่ะ  แบ่งเป็นวันๆ เลยว่าต้องทำอะไรบ้างตั้งแต่วันนั้นจนถึงปิดเทอม  มีแบบเช้า กลางวัน เย็น  แล้วก็พบว่า.. เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว... (กรุณาร้องเป็นเพลงด้วยน้ำเสียงรันทด)    ไม่มีเวลาสำหรับการทำวิจัยใดๆ แล้วล่ะค่ะเทอมนี้  ก็เลยเข้าไปสารภาพกับอาจารย์ที่ปรึกษาอีกครั้งหนึ่งด้วยหน้าตาสลดสุดๆ   และมีข้อเสนอว่าครูน้อยขอเริ่มทำตอนปิดเทอมฤดูหนาวและจะทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ให้ตามที่อาจารย์ต้องการในเทอมหน้า (โดยที่ไม่ได้ตังค์)  

คราวนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาผู้ใจดีคงจะสงสารเลยยอมให้ค่ะ  และก็ได้มอบหมายงานอ่านปริมาณมหาศาลตามมาด้วยและขอให้สรุปสิ่งที่อ่านและความเห็นนำเสนอเพื่อเขียนบทความ (อีกแล้ว) ในช่วงปิดเทอมนี้เลย  ทั้งที่ครูน้อยก็แจ้งแล้วนะคะว่าจะกลับเมืองไทยช่วงปิดเทอม   T_T  หนูกะว่าจะไปหาอะไรดีๆ กินสักหน่อย  อยู่นี่อดอยากอาหารทะเลเหลือเกินแล้ว    อันนี้ก็บ่นนอกเรื่องน่ะค่ะ   แต่อาจารย์สั่งงานแบบไม่มียั้งจริงๆ ค่ะ  เฮ้อ... แถวนี้เค้าฟิตเรื่องตีพิมพ์กันสุดๆ เลยค่ะ  เป็นคณะที่มีชื่อเรื่องนี้อย่างมากทีเดียว

 

จบแล้วค่ะ  โอ้โห..ยาวเชียวบันทึกคราวนี้  สงสัยจะติดนิสัยมาจากการเขียน term paper นะคะ    เดือนหน้าเนี่ยเนื่องจากไม่มีเรียน  และคงได้เขียนจากเมืองไทย... (ดีใจจังเลย  ได้กลับบ้านแล้ว  เย้... คิดถึงกุ้งเผา  เอ๊ย.. คิดถึงครอบครัวค่า...หุหุ)  ก็คงจะเขียนเรื่องเบาๆ อย่างชีวิตของนักศึกษาปริญญาเอกในด้านอื่นๆ บ้าง   อย่างที่เคยเกริ่นไป  กิจกรรมเยอะเชียวค่ะ  นี่ก็เพิ่งไปรำมา.. ทั้งรำวงและรำอวยพร..  ส่วนกิจกรรมที่กึ่งวิชาการก็มีพอสมควรทีเดียว  ไว้เจอกันเดือน..เอ่อ... เดือนนี้แหละค่ะ  แต่เป็นตอนปลายเดือนนะคะ   สวัสดีครูใหญ่อีกครั้งค่ะ 

 

หมายเลขบันทึก: 150591เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2007 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ส่งกำลังใจมาช่วยครับ

ขอให้ถือว่า นี่คือ learning curve

No pain, no gain

วิจารณ์

แวะเข้ามาเยี่ยมบล๊อกนะเจ้ พอดีค้นไปค้นมาแล้วมาเจอเว็บ KM ของเจ้เข้า อ่านแล้วก็เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และดีใจที่คุณเจ้ทำได้ สู้ต่อไปนะทาเคชิ

อืม มีโปรแกรมให้ลองเล่นถ้าสนใจนะ น่าจะใช้ได้ดีกับ KM คลิ๊กที่นี่ แล้วลองดูเดโมเอา

แล้วเจอกันนะ

เป็นกำลังใจให้ครูน้อยอีกครั้งครับ ... ขอบคุณที่เขียนเรื่องราวดีๆ ให้ได้อ่าน ได้เรียนรู้ครับ ...

ดีจังมีเรื่องดีดีให้อ่านและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ขอส่งกำลังใจให้ อ่านสาระ-สนุกจริงจริง..ขอบอก

เขียนได้ทั้งสาระและสื่อสารตัวตนของตนเองได้เยี่ยมมากๆค่ะ ขอชื่นชมและให้กำลังใจค่ะ

ยากเย็นแค่ไหน เวลาก็ไม่หยุดรอเราค่ะ เมื่อผ่านพ้นเวลานี้ไปแล้ว จะรู้ว่าสิ่งที่ได้รับ คุ้มค่านะคะ

ขอให้ได้เติมพลังได้เต็มที่นะคะ

  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • ทำให้ทราบว่ามีการจัดการในด้านการเรียนอย่างไร
  • อยากอ่านอันนี้ครับ
  • บทความแรกเกี่ยวกับการถ่ายทอด tacit knowledge ในองค์กรที่มีลักษณะการดำเนินการแบบ market-driven organization ค่ะ    และบทความที่สองเกี่ยวกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบความหมายของการถ่ายทอด Tacit Knowledge ในมุมมองของทฤษฎี Resource-based view และ Resource dependence        
  • ได้ความรู้ขึ้นอีกเพียบเลยครับ
  • อิอิ
  • ขออนุญาตินำเข้าแพลนเนตนะครับ
  • ขอบคุณคร้าบบบ

 

เนื้อหาแน่นและให้ความรู้มากค่ะฉบับเดือนนี้ แบบอ่านเพลินมีสาระ เรียนที่นั่นอ่านเยอะจริงๆนะคะ เล่นเอาเติ้ลรู้สึกกลัวไปเลย หุหุ (ป.โท ที่ไปร่ำเรียนมาจากสหราชอาณาจักร ยังห่างไกลความน่ากลัวนี้)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท