บันทึกประสบการณ์ : เกล็ดเลือดกับเชื้อมาเลเรีย


ยิ่งตรวจพบเชื้อมากขึ้นเท่าไร จำนวนเกล็ดเลือดก็จะยิ่งต่ำลง..เรื่อยๆ!
เมื่อวานนี้  พี่เม่ยจูงมือ "พี่ดา"...(หมายถึงพี่ธิดาคนเก่งแห่งหน่วยฮีมาโตนั่นเองค่ะ) พากันขึ้นลิฟท์ไปชั้น 4 ตึกพยาธิ  เรามีเป้าหมายที่ห้องประชุม 1 ของภาควิชาเพื่อไปใช้กล้องถ่ายภาพเชื้อมาเลเรียจากกล้องจุลทรรศน์ด้วยกล้องถ่ายภาพดิจิตอลที่ติดตั้งอยู่กับกล้องจุลทรรศน์และต่อเชื่อมเข้ากับคอมพิวเตอร์ พร้อมโปรแกรมสำเร็จรูปที่บริษัทขายกล้องเขาแถมมาให้ควบคุมการทำงาน  วิธีใช้งานก็ง่ายๆคือพอเราเลือกบริเวณที่ต้องการถ่ายภาพได้แล้วก็คลิ๊ก expose แช๊ะเดียว ภาพนั้นก็จะถูกเก็บไว้ในโฟลเดอร์ที่เราสร้างเตรียมไว้ก่อนโดยอัตโนมัติ  สะดวกมากค่ะ (แต่จากประสบการณ์ตัวเองก็ยังรู้สึกว่า ถ่ายภาพด้วย เทคนิคที่เรียนรู้ด้วยตนเอง สวยกว่าค่ะ เพราะมีความคมชัดและสีสันที่ใกล้เคียงของจริงมากกว่า)
ก็เพราะพี่ดากำลังเขียนคู่มือปฏิบัติการเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อมาเลเรีย และวางแผนว่าจะมีบทสุดท้ายของหนังสือเป็นภาพถ่ายเชื้อระยะต่างๆที่ตรวจดูได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้ผู้สนใจนำไปศึกษาหาความรู้ได้อย่างเต็มที่
อันที่จริงเรื่องภาพถ่ายของเชื้อมาเลเรียนี้  ถ้าเราค้นหา copy จากตำราแล้วนำมาใส่ไว้ พร้อมกับอ้างอิงที่มา ก็พอจะทำได้อยู่เหมือนกัน แต่เราเห็นพ้องต้องกันว่า เราน่าจะถ่ายภาพจากของจริงที่เรามีอยู่ เพราะคู่มือเล่มนี้เราเป็นคนเขียนเอง ภาพถ่ายก็น่าจะเป็นของเราเอง...ที่สำคัญก็คือ..."เราทำได้"...
เราแบ่งงานกันชัดเจน  พี่ดาเป็นคนเลือกภาพจากสเมียร์เลือดที่เตรียมไป พี่เม่ยเป็นคนดูจากจอ monitor พอได้ภาพที่โดนใจก็ "expose" เก็บภาพเข้าคลังไว้เลย  ระหว่างที่กำลังทำงานกันอยู่นั่นเอง เราก็คุยกันถึงเรื่องที่สังเกตเห็นได้ว่าจำนวนเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาเลเรีย "ค่อนข้างต่ำกว่าปกติ" เกือบทุกราย
พี่ดาบอกว่า ถ้าพบเชื้อจำนวนน้อยๆนะ เกล็ดเลือดจะไม่ต่ำ บางทีก็สูงกว่าปกติด้วยซ้ำ  แต่ถ้ายิ่งพบเชื้อมากขึ้นเท่าไร เกล็ดเลือดก็จะยิ่งต่ำลงมากขึ้นเท่านั้น  และยังตรวจพบเม็ดเลือดขาวชนิด atypical lymphocyte ที่มีลักษณะ monocytoid ได้มากขึ้นอีกด้วย
เท่าที่เคยผ่านตาจากตำราและวารสารต่างๆ  จำได้ว่าไม่เคยเห็นข้อสังเกตในประเด็นที่เราคุยกันนี้เลย แต่พี่เม่ยยังไม่ได้ไปค้นคว้าเพิ่มเติมนะคะ  จึงนำมาบันทึกกันลืมไว้ที่นี่ก่อน
และแน่นอนที่สุด ว่าคู่มือปฏิบัติการเล่มที่พี่ดากำลังเขียนอยู่นี้ ก็ต้องมีหัวข้อนี้เป็นข้อเสนอแนะไว้ด้วย  ซึ่งนับว่าเป็น "หัวใจ" สำคัญของการเขียนหนังสือคู่มือการทำงานทุกๆเล่ม...เพราะ...
....เป็นการแสดงถึงความชำนาญและประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ของผู้เขียนได้อย่างชัดเจนที่สุด...
คำสำคัญ (Tags): #experience#fa#malaria
หมายเลขบันทึก: 151959เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2007 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณพี่เม่ย และพี่ดามากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท