คณะราษฎร์


วันนี้เป็นวันครบรอบ 75 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ผมค้น Google ไปเรื่อยๆ ได้พบเอกสารน่าสนใจจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมครับ เป็นบทความลงชื่อโดยคุณกฤษณา พันธุ์มวานิช กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ถ้าอ่านจากเว็บโดยตรงไม่ได้ อ่านผ่าน Google ตรงนี้ครับ)

บทความเริ่มต้นด้วยความตอนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นที่แพร่หลายรู้จักกันดีว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้า อยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

สำหรับผม บทความนี้น่าสนใจในส่วนต่อไปนี้ครับ

      การปฏิวัติเปลี่ยน แปลงการปกครองในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ และการพระราชทานรัฐธรรมนูญการดำเนินการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะ ปฏิวัติเปลี่ยนแลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร์” ฝ่ายทหารอันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ อยู่ในบัญชาการของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ส่วนฝ่ายพลเรือนมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้นำ เมื่อทำการปฏิวัติคณะราษฎร์ได้ออกประกาศฉบับหนึ่งมีข้อความโจมตีระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระราชวงศ์ด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อนรุนแรง ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์จะให้ประชาชนทั่วไปสนับสนุนการปฏิวัติให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ปราศจากการขัดขวาง และโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนมีความหวังในระบอบการปกครองแบบใหม่ ซึ่งคณะราษฎร์จะนำมาใช้ปกครองประเทศ ว่าจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และประเทศชาติ จะสมบูรณ์พูนสุขเจริญพัฒนาเท่าเทียมนานาอารยะประเทศทุกด้าน ประกาศของคณะราษฎร์ได้แสดงถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ ๖ ประการ คือ
       - จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล  ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
       - จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก              
       - ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานในราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
       - จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
       - จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
       - จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น
      นอกจากอุดมการณ์ทั้ง ๖ ข้อแล้ว คณะราษฎร์ยังมีอุดมคติซึ่งกำหนดขึ้นเป็นการภายในอีก ๑๐ ประการ เป็นเสมือนคำปฏิญาณของสมาชิกในคณะ ทั้งนี้เพื่อให้งานของคณะราษฏร์สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายด้วยดี คือ  ๑. ต้องให้มีพระเจ้าแผ่นดินตลอดไป  ๒. ต้องทำเพื่อประชาธิปไตย  ๓. ต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน  ๔. ต้องมีความเห็นอันเที่ยงตรง  ๕. ต้องทำเพื่อมุ่งจรรโลงประเทศให้ก้าวหน้า  ๖. ต้องไม่ทรยศต่อประเทศชาติ   ๗. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต  ๘. ต้องไม่เย่อหยิ่งลืมตัว  ๙. ต้องมีความประพฤติดี ๑๐. ต้องรักษาหน้าที่โดยเด็ดขาดและเที่ยงตรง
      และในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร์ทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
       - พระมหากษัตริย์
       - สภาผู้แทนราษฎร
       - คณะกรรมการราษฎร
       - ศาล
      ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงจะมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดี ให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม
       วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ เช่น ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญพุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อสภาผู้แทนรัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาล ก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญ ของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎร เลือกตั้งใหม่ ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้นได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ใน ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร์นั้นไม่เป็นที่กังขา เพราะปรากฏอยู่ในประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 แต่อุดมคติทั้ง 10 นั้น ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดแม้ไม่เคยเห็นในเอกสารอื่นใด น่าสนใจในแง่ที่ว่า

  • มีเป้าหมายชัดเจน
  • ไม่ได้เป็นไปเพื่ออำนาจ/ตัวตนของคณะราษฎร์

ในการเปลี่ยนแปลงทุกครับ ก็จะมีทั้งผู้ที่สนับสนุน ไม่มีความเห็น และคัดค้าน มีพวกที่เทิดทูนคณะราษฎร์ พวกที่กล่าวว่าคณะราษฎร์ใจร้อน รุนแรงเกินไป แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร และพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มีผู้รู้บางท่านก็ว่าเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (รัชสมัยของรัชกาลที่ 6) แล้วยังแก้ไขไม่ได้จนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือระบบเสนาบดีมีจุดอ่อนอยู่ที่อำนาจไม่กระจายออกสู่ประชาชน มีความแตกแยกทางความคิดโดยที่ต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าตนถูกและอีกฝ่ายหนึ่งผิดเสมอ บ้างก็ว่าเป็น "อุบัติเหตุ" ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดนั้นผมไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด เพราะเกิดไม่ทันและยังศึกษาไม่พอ แต่อยากตั้งคำถามว่า

  • สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ต่างกับสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ อย่างไร
  • บทเรียนที่ผ่านมา 75 ปี "ประชาธิปไตย" ทำให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง
  • มีกลุ่มบุคคลใดที่มีอุดมคติที่จะทำงานเพื่อคนส่วนรวม โดยที่แรงจูงใจไม่ใช่อำนาจการปกครองหรือไม่
  • การบริหารประเทศชาติเป็นระบบที่ซับซ้อนเกินกว่าคนคนเดียวจะเข้าใจและจัดการทั้งหมด ทีมงานที่อาสาสมัครเข้ามารับใช้ประชาชน มีความพร้อม ความเข้าใจเพียงใด แต่ละทีม แต่ละคน มีแรงจูงใจอย่างไร
  • ในภาวะที่มีปัญหาร้ายแรง ความคาดหวังที่จะมีผู้วิเศษมาปัดเป่าแก้ไขบรรเทาปัญหาให้จบสิ้น เป็นสัมมาทิฏฐิหรือ; ถ้าใช่ จะต้องใช้ผู้วิเศษกี่คน
หมายเลขบันทึก: 152647เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2007 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
นี่ก็ไม่มีความรู้ แค่มาเรียนรู้  แต่คิดเล่นๆว่า ประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไรก็ให้ดู การเคลื่อนตัวของระบบธุรกิจ  กลุ่มนำทางการเมือง  และ trend ของสังคม  นี่คิดเอาเองนะครับ

สวัสดีครับพี่ นึกว่าบันทึกนี้ไม่มีใครกล้าเข้าซะแล้ว ;-)

การมาอ่านข้อสรุป คือการมารู้ มาดูคำตอบ (แต่เราชอบไปเรียกว่ามาเรียน) ผมคิดว่าการเรียนจริงๆ  อาจจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามที่ถูกต้องนะครับ

ดังนั้น จึงอาจเป็นเหมือนกับกาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 หรือเหมือนกับที่อริสโตเติลกล่าวไว้ว่า the primary question was not what do we know, but how do we know it.

สวัสดีค่ะ

P

บันทึกนี้ เข้ากันกับวันนี้ดีมากเลยค่ะ เหตุการณ์ที่ชักจะลืมๆไปก็มาได้ทวนความจำกันตรงนี้ คุณConductor บอกว่า...

การบริหารประเทศชาติเป็นระบบที่ซับซ้อนเกินกว่าคนคนเดียวจะเข้าใจและจัดการทั้งหมด ทีมงานที่อาสาสมัครเข้ามารับใช้ประชาชน มีความพร้อม ความเข้าใจเพียงใด แต่ละทีม แต่ละคน มีแรงจูงใจอย่างไร 

คนดีๆที่ตั้งใจเข้ามารับใช้ประชาชนก็มีมากค่ะ เข้ามาด้วยเจตนาดี และต้องการรับใช้ชาติอย่างแท้จริง

ส่วนใหญ่ ผ่านระดับ4มาแล้วทั้งนั้นคือ  Esteem

แต่ดิฉันว่า ในEsteem เองก็มีหลายระดับ บางคนอาจจะยังไม่ถึงที่สุดของระดับ 4 จึงมีแรงจูงใจในจุดนี้เพิ่มมากขึ้นอีก

แต่บางคนก็ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งแล้วค่ะคือขั้น Actualization คืออยากใช้ความรู้ความสามารถ บารมี และประสบการณ์มาช่วยแก้ปัญหาด้วยความสร้างสรรค์จริงๆค่ะ ดิฉันก็เห็นอยู่หลายท่านค่ะ

I'm glad you brought this topic up and I am taking a stab at this. By no means, I am not an expert, but I tend to think that history repeats itself;

  • สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ต่างกับสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ อย่างไร
  • It seems "modernization" for the sake of the country and the people were the reasons that คณะราษฎร์ cited for a fundamental change in governing. With the previously ousted administration, the same "propoganda" seems to be used for the same reason?
  • บทเรียนที่ผ่านมา 75 ปี "ประชาธิปไตย" ทำให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง
  • The lesson? We are young .. in "ประชาธิปไตย" term .. heart ache and head ache is what we're getting into. But I can't see we're going back to the way we were. This "democrazy" is what we need, it's growing pain we are going through.
  • มีกลุ่มบุคคลใดที่มีอุดมคติที่จะทำงานเพื่อคนส่วนรวม โดยที่แรงจูงใจไม่ใช่อำนาจการปกครองหรือไม่
  • I am sure there are such a group of selfless people. Some of them might get corrupted on the way to power, and some of them might survive the tempation and somehow get the job done. The key thing, IMHO, is don't let them stay for too long .. term limitation is needed.
  • การบริหารประเทศชาติเป็นระบบที่ซับซ้อนเกินกว่าคนคนเดียวจะเข้าใจและจัดการทั้งหมด ทีมงานที่อาสาสมัครเข้ามารับใช้ประชาชน มีความพร้อม ความเข้าใจเพียงใด แต่ละทีม แต่ละคน มีแรงจูงใจอย่างไร
  • It's work .. with a job description... everyone has his/her own agenda and motivation .. It's a balancing thing ..and certainly not perfect...
  • ในภาวะที่มีปัญหาร้ายแรง ความคาดหวังที่จะมีผู้วิเศษมาปัดเป่าแก้ไขบรรเทาปัญหาให้จบสิ้น เป็นสัมมาทิฏฐิหรือ; ถ้าใช่ จะต้องใช้ผู้วิเศษกี่คน
  • The expectation that there will be a knight in a white horse to help rescue the country is ,IMHO, not สัมมาทิฏฐิ. Things could go both ways - instead of a knight, it could be a Devil Drives Porsche who came to the scene and make things better/worse ... it's all in the eye of the Thai voter.

This is an interesting time that we live in .. it could be a curse according to this Chinese proverb
But .. It's a curse already that we are here! :-)

 

 ขอขอบคุณคุณconductor ที่นำข้อมูลมาให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นอย่างสูงครับ

        -  สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ต่างกับสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ อย่างไร

         - กระผมคิดว่ามีส่วนที่มีความคล้าย และความแตกต่าง

  • บทเรียนที่ผ่านมา 75 ปี "ประชาธิปไตย" ทำให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง

        -  กระผมคิดว่ามีบทเรียนเยอะแต่ไม่ค่อยได้นำมาเสนอให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้าง กระผมเองก็ได้เรียนรู้จากข่าว จากบทความ แต่ก็ไม่เชื่อทั้งหมด เพราะเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ บางครั้งมีโอกาสอยู่ในเหตุการณ์แค่บางช่วงก็รู้ไม่ทั้งหมด จึงไม่อยากสรุปอะไร

            -มีกลุ่มบุคคลใดที่มีอุดมคติที่จะทำงานเพื่อคนส่วนรวม โดยที่แรงจูงใจไม่ใช่อำนาจการปกครองหรือไม่

           -  ประเด็นนี้กระผมคิดว่ามีครับ แต่เขาจะสามารถทำงานร่วมกับคณะผู้แทนฯหรือคณะรัฐมนตรีฯที่มีความคิดเห็นแตกต่างได้นานเพียงใดยังตอบไม่ได้

  • การบริหารประเทศชาติเป็นระบบที่ซับซ้อนเกินกว่าคนคนเดียวจะเข้าใจและจัดการทั้งหมด ทีมงานที่อาสาสมัครเข้ามารับใช้ประชาชน มีความพร้อม ความเข้าใจเพียงใด แต่ละทีม แต่ละคน มีแรงจูงใจอย่างไร
  • เรื่องนี้พูดยาก  "แรงจูงใจ" แต่หวังไว้สักวันหนึ่งคงจะมีกลุ่มคนที่ ร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยความเข้าใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขอย่างแท้จริง
  • ในภาวะที่มีปัญหาร้ายแรง ความคาดหวังที่จะมีผู้วิเศษมาปัดเป่าแก้ไขบรรเทาปัญหาให้จบสิ้น เป็นสัมมาทิฏฐิหรือ; ถ้าใช่ จะต้องใช้ผู้วิเศษกี่คน
  • ยากที่จะไม่มีปัญหา ขอแต่ให้มีปัญหาน้อยที่สุดและเกิดจากเหตุสุดวิสัยไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ

เป็นเพียงความคิดเห็นที่อาจจะมีทั้งตรงกันและไม่ตรงกัน คงไม่ใช่ผิดหรือถูกนะครับ

 

ขอบคุณทุกความเห็นครับ 

แต่ละท่านจะได้ข้อสรุปอย่างไร จะทิ้งร่องรอยไว้หรือไม่ ก็ไม่เป็นไรครับ ผมเพียงแต่อยากให้ท่านผู้อ่านคิดเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท