OpenCARE ผ่านหลักชัยอีกอันหนึ่ง


โครงการ OpenCARE ซึ่งย่อมาจาก Open exchange for Collaborative Activities in Response to Emergencies ได้ผ่านหลักชัย (milestone) อีกอันหนึ่ง คือกรรมการบริหารของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้อนุมัติการสนับสนุนโครงการนี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการเทคโนโลยีวิศวกรรมความรู้ (KET) ได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อเดือนที่แล้ว

OpenCARE เกิดจากการวิเคราะห์ เรียนรู้ คลุกคลี ประสาน แก้ปัญหา นำเสนอ ลปรร. (ทั้งภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และในเวทีโลก) เกี่ยวกับระบบข้อมูลและการจัดการภัยพิบัติของไทย ตลอดสามปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดสึนามิขึ้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 

ทั้งหมดนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ สามารถแบ่งปันข้อมูลสถานการณ์ล่าสุด เพื่อความร่วมมือ ท่านประธานเรียกว่าร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งเป็นคำง่ายๆ ที่ชัดเจนดีครับ

เพียงแต่ว่าในภัยพิบัตินั้น มีความยุ่งเหยิงเป็นธรรมชาติ การที่จะระดมคนมาช่วยนั้น ควรจะช่วยให้ผู้ที่อาสาได้เข้าใจถึงสถานการณ์อย่างถ่องแท้ และเลือกได้ว่าช่วยตรงไหนดีที่สุด (ด้วยความรู้ ความชำนาญของตน) ดังนั้นการร่วมด้วยช่วยกัน จึงไม่ใช่แค่เอาแรง เอาทรัพยากรมารวมกันเท่านั้น แต่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดความสูญเปล่า ซ้ำซ้อน และช่วยในสิ่งที่ตรงกับความต้องการสำหรับแต่ละพื้นที่ ทำให้การตัดสินใจใดๆ เป็น informed decision 

OpenCARE ได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศ

  • เป็นแกนสำหรับ ISO/TC223 Societal Security ปัจจุบันมีสถานะเป็น liason (คล้ายๆ ที่ปรึกษา ซึ่งให้ความเห็น ประเมินข้อเสนอต่างๆ เนื่องจากมีประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติ) -- OpenCARE เป็นข้อเสนอของประเทศไทยต่อประชาคมโลก
  • นำเสนอเป็นทางออกสำหรับการจัดการภัยพิบัติใน Regional Conference on Open Standards and ICT Eco-System, USIOTWS/USAID TARNS (tsunami warning workshop, 3 ครั้ง), PRAGMA 13 (Grid Computing Applications), UNESCAP/ITU Workshop on Disaster Communications และ ISO/TC223 Plenary Meeting (3 ครั้ง)
  • ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน 6 กระทรวง
  • โครงการนำร่องเชื่อมต่อกับหน่วยงานของรัฐและกึ่งรัฐอยู่ 5 แห่ง

ที่มาเขียนบันทึกนี้ ก็เพราะรู้สึกยินดีที่สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาและทุ่มเททำมานานนั้น มีผู้เชี่ยวชาญ(มาก)เห็นด้วย ว่ามีความถูกต้องทางเทคนิค เป็นแนวทางการจัดการที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเป็นสิ่งที่เมืองไทยอุทิศให้กับประชาคมโลก 

เรื่องนี้ มีรายละเอียดที่จะเผยแพร่ในโอกาสหน้าครับ แต่แม้ว่ายังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบกันในวงกว้าง ก็มีรัฐวิสาหกิจและบริษัทข้ามชาติหลายแห่งติดต่อขอร่วมโครงการและร่วมสนับสนุนแล้ว 

บันทึกนี้ไม่ได้อยากให้ใครอ่านเพราะรู้ว่าถ้าหากจับความพอได้ ก็คงมีคำถามเยอะแยะว่านี่มันอะไรกันแน่ ตอนนี้ยังไม่มีเวลาตอบครับ ที่เขียนบันทึกนี้เพราะอยากเขียนเฉยๆ

หมายเลขบันทึก: 152941เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

ได้ติดตามอ่าน บล็อกนี้มาพอควร จึงอยากอ่านต่อค่ะ

ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นปัญหาใหญ่ ค่อนข้างอยู่เหนือการควบคุม  บางครั้งก็ร้ายแรงขึ้น

 เนื่องจากมีการตั้งถิ่นฐานในที่เสี่ยงภัย หรือการทำลายธรรมชาติแวดล้อมมากเกินไป

ระบบนิเวศของโลกค่อนข้างเปราะบาง การนำพลังงานและแร่ธาตุจากโลกไปใช้มากเกินไป เพื่อสร้างความเติบโตในทางอุตสาหกรรม  ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาตินานาประการ

 ดังนั้น การจัดการใดๆที่เกี่ยวกับระบบข้อมูลและภัยพิบัติของไทย ตลอดสามปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นค่ะ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับพี่ เมื่อคืนเพื่อนเก่าแซวมาจากอเมริกาว่าขำตรง "บันทึกนี้ไม่ได้อยากให้ใครอ่านเพราะรู้ว่าถ้าหากจับความพอได้ ก็คงมีคำถามเยอะแยะว่านี่มันอะไรกันแน่ ตอนนี้ยังไม่มีเวลาตอบครับ ที่เขียนบันทึกนี้เพราะอยากเขียนเฉยๆ" ซึ่งความหมายก็คือ "แล้วเขียนทำไม"

ผมดีใจกับหลักชัยอันนี้ เพราะในการประชุมระหว่างประเทศอันหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงปรี๊ดมาบอกว่าเขาชอบสิ่งที่เมืองไทยเสนอมากเลย มันมาจากประสบการณ์จริง และได้แก้ไขข้อจำกัดของการทำงานไว้ด้วย แต่ถ้าข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการยอมรับในเมืองไทย (คือไม่มี reference implementation ใช้งานจริง) แม้เขาจะคิดว่าไม่มีข้อเสนอใดที่ดีกว่าของเรา แต่ก็จะผลักดันให้เป็นมาตรฐานโลกได้ยาก

ฟังคำพูดนี้แล้วถึงกับสะอึก เท่าที่คุยมากับหลายหน่วยงาน ต่างก็ชอบสิ่งที่ OpenCARE เสนอมาก แต่ขยับเขยื้อนได้ยากด้วยข้อจำกัดของระบบราชการ --  OpenCARE นี้ทำให้ฟรีนะครับ จึงไม่มีข้อจำกัดทางงบประมาณ

เรื่องการประชาสัมพันธ์ เป็นข้อจำกัดทางฝั่งผมเอง คือประชาสัมพันธ์ในขณะที่เราไม่พร้อม ยิ่งรู้ว่าทำให้ฟรีด้วย ก็อาจจะทำให้คนแห่มาขอร่วมมากจนทำไม่ไหว แล้วก็จะได้ความรู้สึกไม่ดีกลับไป; อย่างนี้จะน่าเสียดายมาก 

ชื่อ OpenCARE ซึ่งเป็นชื่อย่อ มาจากชื่อเต็มซึ่งแยกได้เป็นสามส่วนคือ

  • Open exchange: เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนระบบเปิด คือใครเข้ามาก็ได้ มีทั้ง information producer (เช่นส่วนราชการ ระบบตรวจวัด ระบบพยากรณ์), information consumer (เช่นสื่อ ประชาชน) หรือเป็นทั้งสองแบบ (เช่นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร) -- OpenCARE รับข้อมูลหลายทาง/หลายรูปแบบ และกระจายให้ผู้รับหลายทาง/หลายรูปแบบ ตรงนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ไม่ยาก
  • for Collaborative Activities: เพื่อกิจกรรมความร่วมมือ ตรงนี้เป็นคุณค่าสำคัญของ OpenCARE คือจะสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ได้รับข้อมูลล่าสุด/สถานการณ์ล่าสุด เพื่อที่การตัดสินใจใดๆ จะเป็นไปโดยข้อเท็จจริงล่าสุด -- เท่าที่ผ่านมา ส่วนนี้ยากที่สุดที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของคนนอกระบบราชการ ที่อยู่ดีๆ จะมาช่วยทำอะไรให้ฟรีๆ
  • in Response to Emergencies: เป็นการขีดขอบเขตไว้ ว่าเป็นข้อมูลในเวลาจริง เฉพาะเหตุฉุกเฉิน เรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตและความปลอดภัยของคน -- ที่จริง OpenCARE ทำงานอย่างอื่นได้ในยามสงบด้วยครับ เช่นวัดระดับน้ำ ระดับมลพิษ รายงานสภาพการจราจร ราคาพืชผลในท้องถิ่นต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้ มีลักษณะเป็น alert คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จากที่เขียนในบันทึกค่ะ

เท่าที่ผ่านมา ส่วนนี้ยากที่สุดที่จะพิสูจน์ ความบริสุทธิ์ใจของคนนอกระบบราชการ ที่อยู่ดีๆ จะมาช่วยทำอะไรให้ฟรีๆ

ลองกลับไปอ่าน ข้างล่างนี้ค่ะ

คนที่อยู่ในระดับที่ห้า ต่างกับระดับที่สี่ในแง่ที่ คนในระดับที่ห้าไม่(ค่อย)สนใจเรื่องของตัวตนอีกแล้ว แต่จะมองหมู่คณะและประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทำงานเพื่องาน ทุ่มเท มีความรักในงาน รู้ว่าสิ่งที่ทำ มีประโยชน์ต่อผู้อื่น

คนในระดับนี้ดูเหมือนกับเป็นคนในอุดมคติ

แต่เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนในอุดมคติเสียก่อนจึงจะสามารถสังเกตคนเหล่านี้ได้ เพียงแต่เราหัดมองเรื่องราวต่างๆ จากมุมของส่วนรวมบ้าง ก็จะสามารถสัมผัสความคิดของคนในระดับที่ห้าได้ เป็นรูปแบบที่ไร้รูปแบบ

ถ้าความหมายของคุณพี่คืออย่างที่ผมคิดว่าพี่หมายถึงละก็ ผมขอเรียนว่าผมเพียงแต่ทำสิ่งที่ไม่เบียดเบียนตัวเองและคนรอบข้างนะครับ ทำแล้วไม่เดือดร้อน ไม่ฝืนทำสิ่งที่ไม่เก่ง/ไม่รู้เรื่อง/ทำไม่ได้ดี 

เมื่อรู้สึกว่าทำให้ได้โดยไม่ได้เสียอะไร/ไม่เดือดร้อน ใครจะคิดอย่างไรก็ไม่แปลกแล้วครับ ก่อนให้อะไรใคร ผมเลือกแล้วว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แต่เมื่อให้ไปแล้ว ก็ให้ไปแล้วครับ

มีวิดีทัศน์สัมภาษณ์ตัวแทนจากทีมงานครับ อาจช่วยให้ชัดเจนมากขึ้น

ถ้าโหลดดูแล้วช้าหรือกระตุก (ความเร็วต่ำกว่า 256 kbps แล้วเป็นไปตามนั้นจริง) สามารถอ่านบทถอดความการสัมภาษณ์ได้ที่นี่ครับ ดูที่หน้า 5-6

 ได้ดูวีดีทัศน์แล้วค่ะ ได้ความกระจ่างขึ้นมากค่ะ

เหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ของประเทศไทยและอีกหลายประเทศรอบๆ มหาสมุทรอินเดียในปลายเดือนธันวาคม 2547 ทำให้เกิดคำถามพร้อมกับข้อเรียกร้องให้จัดระบบเตือนภัย(early warning system) สำหรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตมนุษย์  เป็นเรือนแสนอีก

 พี่ ขอสนับสนุน  การจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยของสังคมแบบนี้ค่ะ

เป็นการ สร้างการเตรียมความพร้อม  ที่จะตอบสนองต่อเหตุด่วน ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร ไม่มีใครทราบ

และเท่าที่ดู  ก็มีการอธิบาย มีกระบวนการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้มีความพร้อมล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี  น่าภาคภูมิใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท