ไตรสิกขาคืออะไร และการเรียนรู้ตามลำดับขั้น


สมัยก่อนเข้าใจแบบนึกเดาเอาเองมาตลอดว่า ไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นความเข้าใจตื้นๆ เพราะไม่เคยคิดต่อว่า สามเรื่องนี้มาอยู่ในหมวดสิกขานั้น อธิบายอะไร สัมพันธ์กันอย่างไร เหมือนตอบข้อสอบปรนัยวัดความรู้พื้นๆ ถ้าถูกก็จบแค่นั้นเพราะได้คะแนนแล้ว แต่ถ้าตกก็ไม่อยากรู้เฉลยต่อ เพราะข้อสอบปรนัยมักให้เราสนใจแต่คำตอบก็พอ ไม่ต้องสนใจเหตุแห่งคำตอบ

เมื่อเร็วๆนี้ ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการอ่านและฟังจากครูบาอาจารย์ที่เคารพ ท่านอธิบายว่า ไตรสิกขา คือ การศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย ศีลสิกขา จิตตสิกขา และ ปัญญาสิกขา อธิบายการศึกษาตามลำดับว่า บุคคลที่มาเรียนรู้ธรรมะนั้นเริ่มจาก เราอาศัยศีลให้ศีลรักษาเราไว้ ไม่ให้ตกเป็นทาสกิเลสหยาบๆ เช่น ไม่ให้เราประทุษร้ายผู้อื่นอันเป็นการเบียดเบียนสร้างกรรมดำไม่หยุด

ศีลรักษากาย วาจา ใจ มีผลให้ จิตนิ่งพอ และพร้อมมาศึกษาการทำงานของจิต เมื่อเราพร้อม (ถ้ารักษาศีล 5 ได้ระยะหนึ่งเราจะรู้สึกเองว่าอยากศึกษาขั้นต่อไป-ความเห็นส่วนตัว) จิตตสิกขาคือ จิตที่ข่มนิวรณ์ได้ คือ จิตที่สามารถต่อสู้กิเลสระดับกลางๆได้ นิวรณ์ก็หมายถึง สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้เจริญในทางธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความติดในพอใจในความสุขสบาย ความไม่พอใจต่างๆ ความฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยทางความคิด ความหดหู่เซื่องซึมง่วงเหงา และความสงสัยในสิ่งที่กำลังเชื่อถือและปฏิบัติอยู่

ในขั้นจิตตสิกขานี้คือการศึกษาอบรมจิตในระดับสมถะ คือ เข้าถึงความสงบในระดับชั่วแวบจนถึงสงบนานๆ ถ้าจิตเจริญในทางธรรมต่อได้ จะเข้าสู่การรู้ตามจริง (รู้ไตรลักษณ์-ทุกสิ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป) เจอกิเลสอย่างละเอียด รู้ทันการทำงานที่ลึกซึ้งของจิตแล้ว จนเมื่อปัญญาเกิด ธรรมะปรากฎในจิตเอง เรียกว่าจิตเกิดปัญญา ได้ปัญญาสิกขา คือ เรียนจบหลักสูตรธรรมของพระพุทธเจ้า

อนึ่ง ในทุกศาสนา สอนให้คนทำดีมีศีล รู้จักทำทาน และบางศาสนาสอนการทำสมาธิในระดับสมถะคือมุ่งสู่ความสงบ ความว่าง(ที่ต้องระวังมากในการตีความ) แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่น่ายึดถือว่าเป็นความรู้สูงสุด จิตที่เรียนเป็นพุทธ หรือ ตื่นจากความไม่รู้นั้น อยู่ในการเรียนขั้น ปัญญาสิกขา คือ การศึกษาด้วยปัญญา เป็นผลจากที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหลังจากผ่านการทดลองปฏิบัติตามสมาธิทุกแนวทางในสมัยพุทธกาล จนท่านตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐคือเข้าสู่ปัญญาสิกขานี้เอง

หมายเลขบันทึก: 153651เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2007 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะน้อง..ขมิ้นเหลืองเดินดิน

  •  เก่งจัง  วิเคราะห์ได้เยี่ยมเลย  ครูอ้อยจะสอนนักเรียนอย่างไรหนอ ให้เก่งแบบน้องนี้ค่ะ
  • คิดถึงจังเลย  เรียนหนักไหม  ไม่ได้ทักทายกันเลย
  • ครูอ้อยกำลังแย่ค่ะ  แต่ใจสู้เกินร้อยค่ะ

..ลาทีปีเก่า..2550

P 2. สิริพร กุ่ยกระโทก

สวัสดีครับครูอ้อย

พึ่งกลับมาจากปฏิบัติธรรมประจำปีของนิสิตนะครับครูอ้อย

สบายดีนะครับ 

  • ได้คิดครับ
    1. ทาน + ศีล + ภาวนา = หวังแค่สวรรค์
    2. ศีล + สมาธิ + ปัญญา = หวังถึงนิพพาน
  • พระส่วนใหญ่สอนตามข้อ 1 ครับ สอนให้คนทำดีเพื่อจะได้ไปเกิดในสวรรค์และกลับมาเป็นมนุษย์ (ถือว่าหลอกชาวบ้านได้ไหม?)
  • มีซักกี่รูปครับที่สอนตามข้อ 2 (พระบางรูปบอกมรรค 8 ยังไม่ได้ แล้วจะไปนิพพานถูกรึ)
  • สาธุครับ

P ทนัน ภิวงศ์งาม

- ศาสนิกมีหลายระดับขั้นครับ

  บางทีก็ต้องปูฐานเรื่องทาน/ศีล ไปก่อน

  พระท่านถือคติอย่างอนุปุพพิกถาของพระพุทธเจ้า

  ที่ค่อย ๆ ไต่ระดับธรรมไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นสุดยอด คือ เนกขัมมานิสังสกถา คือธรรมเพื่อนิพพานสภาวะ

แต่อย่างว่าเนอะครับพระส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจกัน สนใจจะสร้างวิหารสิบล้านกันมากกว่า
จนสอนให้โยม "บ้า" บุญไปอย่างเดี๋ยวนี้

- ขอค้านว่าบอกมรรค ๘ ไม่ได้แต่ก็ไปนิพพานถูก

รู้ "ตัว" อย่างเดียวก็ไปได้

ดูพระจูฬปันถกเป็นตัวอย่าง

มรรค ๘ จะเกิดพร้อมองค์อริยมรรค
ถึงจะไม่ได้เรียนได้รู้ มรรค ๘ มาก่อน
แต่เมื่อจิตกำลังดำเนินสู่องค์อริยมรรค
มรรคอันมีองค์ ๘ ประการจะเกิดขึ้นสมบูรณ์พร้อม
ทำให้เข้าสู่อริยผลอันสมบูรณ์เอง
โดยไม่จำต้องเฮียนมาก่อนเด้อ

จริง ๆ นิพพานไม่มีที่ไปนะ...

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท