ไม่ควรโต้ตอบ


คติพจน์ประจำใจ

สอนคุณธรรมอย่างไร

ให้มีความพอเพียง

บทที่ 10/12

การเลือกคติพจน์ประจำใจตนเอง                                                                            

จุดประสงค์ :   เพื่อรู้ รัก และฝึกจนเคยชิน

นิทานคติ  เรื่อง : ไม่ควรโต้ตอบ           

น้อยเป็นเด็กหนุ่ม อายุเพียง 12 ปี เพิ่งสอบเข้าชั้นมัธยมต้นได้ โรงเรียนแห่งใหม่เป็นโรงเรียนชายล้วน ในห้องมีกลุ่มเด็กเกเรอยู่ น้อยซึ่งเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนจึงเป็นที่ไม่สบอารมณ์ของอีกฝ่าย หลายครั้งที่เด็กกลุ่มนั้นจะคอยแหย่ ยั่วโมโห และแซวน้อย เพื่อให้ได้อาย น้อยกลัวคนกลุ่มนั้น เพื่อนคนอื่นๆ ในห้องก็ไม่กล้าช่วยเพราะว่าไม่อยากมีเรื่อง และก็ไม่มีใครกล้าที่จะฟ้องครูด้วย            

แต่ด้วยความที่น้อยไม่กล้าเถียง ทำให้อีกฝ่ายยิ่งได้ใจ ดังนั้นหากน้อยมีปากกาใหม่มา พวกนั้นก็จะเข้ามาหาแล้วก็แย่งเอาไป หลายครั้งที่การ์ตูนที่น้อยซื้อจะถูกพวกนั้นฉกเอาไปอ่านก่อน แล้วคืนกลับมาด้วยสภาพยับเยินยู่ยี่ ในชั่วโมงกีฬา น้อยก็จะถูกแกล้งเดินชนบ้าง เตะลูกบอลใส่บ้าง บางทีก็เข้าผลักเสียเฉยๆ และก็อีกหลายครั้งที่พวกนั้นดักรอน้อยตามมุมตึก แล้วก็ไถเงิน น้อยไม่รู้จะทำอย่างไรดี เขาอ่อนแอเกินกว่าที่จะสู้พวกนั้นได้            

น้อยเริ่มที่จะเงียบลงแม้เวลาอยู่ที่บ้าน จากเป็นเด็กร่าเริง แจ่มใส ช่วยงานที่บ้าน น้อยกลับเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง อ่านหนังสือ ดูหนัง ไม่ยอมคุยกับพ่อและแม่ ทำให้หลายคนเริ่มเป็นห่วง พ่อจึงรับอาสาไปพูดคุยว่าเป็นเรื่องอะไร            

เสียงเคาะประตูดังขึ้น น้อยจึงเดินมาเปิด พ่อค่อยๆ มองเข้ามาในห้อง จากนั้นจึงก้าวเข้าไปนั่งข้างๆ น้อยที่เก้าอี้โต๊ะอ่านหนังสือ

พ่อเอ่ยก่อนว่า

เป็นไงลูก ทำไมดูไม่สดใสเลย มีอะไรจะเล่าให้พ่อฟังบ้างหรือเปล่าละ

น้อยนิ่งคิดอยู่นาน เขามองไปที่พ่อ ความจริงใจและความรักของพ่อทำให้น้อยกล้าที่จะเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟัง เมื่อพ่อได้ฟัง ก็แสดงความชื่มชมในความอดทน อดกลั้นของลูกชาย

ดีแล้วหละน้อย ที่ลูกไม่ไปตอบโต้พวกนั้น คนเหล่านั้นจะยิ่งสนุกถ้าเราเดินตามเกมส์ของเขา แต่ถ้าลูกอดทนได้อีกนิด ไม่หวั่นไหว เข้มแข็งทั้งกายและใจ พวกนั้นก็จะเลิกราไปเอง

น้อยมองหน้าพ่อตรงๆ แล้วถามว่า

พวกนั้นเป็นคนเลว แต่พ่อบอกว่าผมควรอดทน ผมว่ามันไม่ยุติธรรมเลยซักนิด

พ่อมองออกไปที่หน้าต่าง พลางกล่าวสอนลูกชายว่า

อะไรหรือที่เรียกว่าความยุติธรรม ลูกชาย พ่อจะเล่าให้ฟังนะ เป็นพันปีมาแล้วตั้งแต่มนุษย์เจริญขึ้นในมุมต่างๆของโลก ซึ่งก็ทำให้เกิดความแตกต่างกันของแนวคิดของความยุติธรรมและมาตรฐานของการกระทำที่ถูกต้องนะลูก สิ่งที่ลูกมองว่าเป็นความยุติธรรมก็คือการได้ตอบโต้อีกฝ่ายอย่างที่เขาทำใช่ใหม นั่นก็ถือเป็นความยุติธรรมแบบหนึ่ง ซึ่งเขาเรียกว่า กฎแห่งป่า เพื่อความอยู่รอดจะต้องมีการตอบโต้กันอย่างที่สุด ในบางที่ถึงกับเป็นกฎเลย เช่น ถ้าฝ่ายหนึ่งขโมยไก่ของคนอื่น คนผู้นั้นมีสิทธิขโมยวัวของอีกฝ่ายได้เช่นกัน หรือถ้าไปทำร้ายทาสในบ้านใคร เจ้าของทาสก็สามารถทำร้ายลูกชายของคนนั้นคืนได้ แต่ลูกเห็นไหม ว่ามันไม่ทำให้จบเรื่อง ในโลกวันนี้ทะเลาะกันวุ่นวายก็เพราะความยุติธรรมแบบที่ลูกต้องการไงละ

น้อยคิดตาม พลางถามต่อว่า แล้วความยุติธรรมแบบอื่นๆ มีไหมครับพ่อ

พ่อยิ้มแล้วตอบว่า

 มีซิลูก ก็เมื่อความยุติธรรมแบบแรกมันก่อให้เกิดความวุ่นวาย คนที่เจริญแล้วก็พยายามหาว่าเป็นเพราะอะไร สุดท้ายก็สรุปได้ว่าเป็นเพราะมันไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่ชัดในการตอบโต้นะซิ ใครจะทวงคืน ล้างแค้นอย่างไรก็ได้หมด มันก็เลยเป็นความวุ่นวาย ดังนั้นเมื่อสังคมเจริญขึ้นจึงมีการแก้ไขเรื่องเหล่านี้ ลูกอาจเคยเรียนนะ กฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบี ไงละ กษัตริย์แห่งนครบาบิโลนในสมัยโบราณ อืม..ซัก3800 ปีก่อน เป็นกฎหมายที่เรารู้จักเป็นฉบับแรก เป็นรูปแบบของความยุติธรรมแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน คนทำผิดต้องรับโทษ โทษรุนแรงเพื่อให้คนหวาดกลัวไม่ทำผิดอีก เช่นถ้าเป็นขโมยก็จะถูกตัดมือ ในยุคนั้นบ้านเมืองก็สงบสุขดีนะ แต่ทุกวันนี้ลูกเห็นไหมว่าถ้าทำอย่างนั้นเขาก็เรียกว่าโหดร้ายไป

น้อยพยักหน้ารับ พลางถามต่อ แล้วต่อมาความยุติธรรมเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรละครับ

พ่อนึกต่อ แล้วก็อธิบายว่า

 ต่อมาเมื่อโลกเจริญขึ้น คนเริ่มมองไปที่ผลของสิ่งที่เขาทำ นักปราชญ์จะเห็นใจและสงสารคนอื่นๆ และพยายามมองเรื่องราวจากสายตาของผู้อื่นด้วย ทำให้เกิดกฎทองขึ้น นั่นคือ จงอย่าทำกับคนอื่นในสิ่งที่คุณก็ไม่อยากให้ใครทำกับคุณ ดังเช่นที่นักบวชในลัทธิขงจื้อ ในประเทศจีนสั่งสอนมาตั้งแต่ 2500 ปีก่อน คำสอนเน้นการช่วยเหลือ ดูแลกันระหว่างคน ถือเป็นหน้าที่ของผู้มีปัญญา กฎหมายและการลงโทษมีไว้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนทำผิด คนเราจะทำอะไรก็ควรที่จะยึดถือความจริงใจ ความไว้วางใจและความรัก

น้อยคิดตาม พลางแสดงความคิดเห็นว่า

 ผมว่าถ้าเป็นอย่างนี้ บ้านเมืองคงสงบสุขมากๆ เลยนะครับ

พ่อยิ้มแล้วตอบว่า

 แต่ถ้าลูกอ่านประวัติศาสตร์จีนก็จะเห็นนะว่า รบกันไม่จบไม่สิ้น เพราะว่ามีการรุกล้ำดินแดนกันไปมา พอมีศัตรูก็ต่อต้าน รบพุ่งกัน แล้วก็รบกันอีก ทุกวันก็ยังมีเรื่องเช่นนี้ แต่ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจมาช่วย นั่นก็คือความคิดที่ให้รักศัตรูของท่าน เป็นสอนในศาสนาคริตส์ นั่นคืออย่าถือว่าศัตรูเป็นคนที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้าเราทำดีต่อเขาเหมือนที่เราทำกับคนที่เรารัก เขาก็จะไม่ทำร้ายเรา หรืออาจเลิกเป็นศัตรูก็ได้ หลายๆ คนในประวัติศาสตร์ก็ทำอย่างนั้น ลูกรู้จักนี่ มหาตมะ คานธี ซึ่งใช้วิธีอหิงสาทำให้อินเดียเป็นเอกราชจากอังกฤษ และก็แนลสัน แมนเดลาซึ่งต่อสู้อย่างสันติเพื่อคนผิวดำในประเทศแอฟริกาใต้ไงละ

น้อยฟังพ่ออธิบาย แล้วพยักหน้ารับ พลางกล่าวว่า

ผมเข้าใจแล้วครับพ่อ แล้วพ่อว่าผมควรทำอย่างไรดีละครับ กับเพื่อนๆ กล่มนั้นพ่อโอบน้อยไว้แล้วพูดว่า

พ่อดีใจนะ ที่ลูกเรียกคนที่แกล้งลูกว่าเพื่อน นั่นแสดงว่าลูกสามารถที่จะรักเพื่อนเหล่านี้ได้ ลูกอยากให้เขาอะไร ลูกก็ทำอย่างนั้นกับเขาไง อืม... ลองหาคำสุภาษิต หรือคำคมที่จะยึดเหนี่ยวเราไว้ในทุกสถานการณ์ซิลูก คนที่ประสบความสำเร็จมักจะมีคำคมหรือสุภาษิตที่เขายึดถือไว้ทั้งนั้น เอ...ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว , ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น, ทำดีกับคนรอบตัว ลูกลองหาคำที่จะเป็นของลูกให้ได้ซิ

น้อยรู้สึกอบอุ่นและสบายใจขึ้นมาก พ่อสอนให้เขาคิด ดังนั้นเขาจะต้องมองหาคำที่เป็นของเขาให้ได้    

        

ช่วยกันขยายความเพื่อสร้างความเข้าใจ           

๑) ให้ช่วยกันหาคติพจน์และสุภาษิตที่จะทำให้คนเรายึดถือเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง           

๒) ให้ช่วยกันหาคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่สามารถใช้เป็นข้อยึดถือเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องได้           

ในทั้งสองกรณีให้มีอาสาสมัครรวบรวมบันทึกไว้ เพื่อทำเอกสารแจกให้เก็บไว้ โดยลงวันที่ไว้ด้วย 

ฝึกคุณธรรม            

๑) ฝึกรู้รอบ : เรื่องนี้เหมาะสมสำหรับสอนให้คนหาข้อยึดถือเพื่อการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไร           

๒) ฝึกแข็งขัน : สุภาษิตและคำคมที่ท่านยึดถือเป็นอย่างไร ได้ทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่           

๓) ฝึกพอเพียง : ข้อคิดเตือนใจต่างๆ ทำอย่างไรจึงเรียกได้ว่า พอเพียง      

- อย่างไรเรียกว่าขาด         - อย่างไรเรียกว่าเกิน           

๔) ฝึกความยุติธรรม : ข้อคิดเตือนใจต่างๆ มีการยึดถือไปปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมหรือไม่ ให้ช่วยกันยกตัวอย่าง 

กิจกรรมสันทนาการ

๑.     ให้นักเรียนอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของบุคคลสำคัญต่างๆ และค้นหาข้อคิด คำคม หรือสุภาษิตที่คนเหล่านั้นยึดถือ แล้วเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังถึงสิ่งที่คนเหล่านั้นทำ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนๆ ต่อไป 

เอนก สุวรรณบัณฑิต   ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการคุณธรรมและจริยธรรม

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เอกสารคุณธรรมและจริยธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ปรับจากหนังสือ Discovering the Real Me, Universal Peace Federation Edition

หมายเลขบันทึก: 153761เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2007 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท