พม่าคิดอย่างไรกับการที่แพทย์ทิ้งวิชาชีพ


นักคิดนักเขียนของพม่าหลายคนได้แสดงความห่วงใยต่อสภาพสังคมชาวพม่า ที่นับวันจะแปรเปลี่ยนไปจากวิถีชีวิตเดิม
พม่าคิดอย่างไรกับการที่แพทย์ทิ้งวิชาชีพ
นักคิดนักเขียนของพม่าหลายคนได้แสดงความห่วงใยต่อสภาพสังคมชาวพม่า ที่นับวันจะแปรเปลี่ยนไปจากวิถีชีวิตเดิม บางคนได้ให้แง่คิดในเชิงเตือนสติด้วยกรอบความคิดเก่าแบบสังคมนิยม อนุรักษ์นิยม และบางทีก็ออกมาในเชิงชาตินิยม ลูทุเซงวีงเป็นนักเขียนที่มีชื่อคนหนึ่ง เขาได้เขียนหนังสือแสดงทัศนะของเขา ในบทปุจฉาวิสัชชนาระหว่างครูกับศิษย์ เพื่อสะท้อนค่านิยมปัจจุบันที่กำลังเป็นปัญหาให้ต้องฉุกคิดหลายเรื่อง หนังสือของเขาเล่มนี้มีชื่อว่า “ใจที่ละอาย”  ในบทแรก เขาเริ่มด้วยการยกย่องบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีมาเป็นอุทาหรณ์ แล้วจึงโยงมาถึงเรื่องราวในปัจจุบันในบทต่อ ๆ มา ที่น่าสนใจคือการที่แพทย์บางส่วนทิ้งวิชาชีพของตน แล้วหันไปทำงานอื่น โดยลืมหน้าที่ของหมอที่ดี
แม้จะมีแพทย์ทิ้งวิชาชีพ แต่ในทางกลับกัน สาขาแพทย์กลับเป็นสาขาที่นิยมกันมากที่สุดในปัจจุบัน และเป็นสาขาที่ผู้ที่เรียนจบชั้นสิบหรือมัธยมปลายใฝ่ฝันกันมาก คะแนนที่จะเข้าเรียนแพทย์นับว่าสูงกว่าสาขาอื่น  ในแต่ละปีจึงมีเด็กพม่าที่ผิดหวังกับการพลาดเรียนในสาขาแพทย์เป็นจำนวนมาก และจำเป็นต้องไปเลือกเรียนสาขาอื่นแทน ลูทุเซงวีงชี้ว่าเด็กหลายคนหมายมั่นที่จะเรียนแพทย์ให้ได้ เพราะคิดว่าการสอบเข้าแพทย์ได้แสดงถึงความเหนือผู้อื่น หรือมีเกียรติกว่าสาขาอื่น โดยมิได้พิจารณาว่าลักษณะงานของแพทย์นั้นจะเหมาะสมกับตนหรือไม่ และส่วนใหญ่เห็นว่าแพทย์สามารถเปิดคลินิกหารายได้พิเศษได้ดีกว่าอาชีพอื่นๆ
สำหรับบางคน แม้จะสอบเข้าแพทย์ได้ แต่เรียนได้เพียง ๑ - ๒ ปี ก็ลาออกไปทำอย่างอื่น และมีหลายคนที่เรียนจบแพทย์ แต่แทนที่จะทำงานรักษาคนไข้ กลับหันไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ค้าขาย ประกอบธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง ทำการค้าส่งออก ทำงานบริษัท บางคนไปทำงานเมืองนอก บางคนหันไปเป็นนักเขียน และบางคนเป็นนักร้องก็มี ลูทุเซงวีงยังเล่าถึงหมอที่ออกไปเป็นเซลล์แมนขายยา เขามองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่เหมาะสมกับฐานะของแพทย์ และยังเป็นการแย่งอาชีพผู้อื่นอีกด้วย ในประเทศพม่าคนที่ชำนาญในการค้ายาก็คือพวกแขก ซึ่งกว้างขวางในตลาดยามานานแล้ว  แพทย์ที่หันไปประกอบอาชีพอื่นจึงถูกมองว่าเสียเกียรติ
ในปีหนึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐรับนักเรียนแพทย์ได้เพียง ๕๕๐ คน และหลายคนพยายามที่จะเข้าเรียนแพทย์ให้ได้ แต่พอจบแพทย์แล้ว ถ้าหากมีทางเลือกอื่น ก็มักไม่อยากยึดอาชีพนี้ ดังพบว่าในช่วงสิบปีรัฐจะมีแพทย์เพิ่มราว ๒,๐๐๐ คน ในขณะที่ฝ่ายรัฐเองผลิตแพทย์ได้ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน รัฐจึงต้องสูญเสียทั้งเวลา งบประมาณ และบุคลากรด้านนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
สาเหตุที่แพทย์ทิ้งวิชาชีพนั้น น่าจะเป็นเพราะปัจจุบันการประกอบอาชีพด้านธุรกิจการค้าสร้างรายได้ให้มากกว่า ในขณะที่แพทย์ที่ทำงานราชการได้รับเงินเดือนน้อยมาก แพทย์จะได้รับเงินเดือนราว ๑ - ๒ พันจั๊ต หรือ ราว ๑๐๐ – ๒๐๐ บาทเท่านั้น  และหากเป็นแพทย์จบใหม่ จะถูกส่งไปปฏิบัติงานในชนบทเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ ปี มิฉะนั้นจะต้องใช้ทุนคืนถึง ๕ แสนจั๊ต  หมอบางส่วนจึงหันไปยึดอาชีพอื่น หรือทำงานในคลินิกส่วนตัวหรือคลินิกเอกชน ซึ่งจะมีรายได้ดีกว่า ดังพบว่าในการตรวจรักษาคนไข้แต่ละครั้ง หมอจะได้รับเงินราว ๓๐๐ จั๊ต หรือ ๓๐ บาท แต่ชาวพม่าส่วนมากยังนิยมการรักษาแบบพื้นบ้าน มักซื้อยากินเอง  และพึ่งแพทย์น้อยโดยเฉพาะในชนบท (สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในชนบท ๑ ต่อ ๒๐,๐๐๐ หรือมากกว่านี้)
ส่วนแพทย์ที่ยังคงปฏิบัติราชการตามโรงพยาบาลของรัฐนั้น กล่าวกันว่าเป็นเพราะฐานะการเงินไม่ดีพอที่จะออกไปเสี่ยงกับการทำงานอื่น และลาออกจากราชการได้ยาก อีกทั้งหากทำงานในโรงพยาบาลของรัฐไประยะหนึ่งอาจจะได้โอกาสไปเมืองนอกโดยทุนที่ผ่านมาทางรัฐบาล และบางคนต้องการความก้าวหน้าในวิชาชีพของตน นอกจากนี้การเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ จะช่วยให้เป็นที่รู้จักของชาวบ้าน ซึ่งมักจะมาขอรับบริการที่คลินิกของตนอีกด้วย ข้าราชการแพทย์จึงยังพออยู่ได้อย่างสมเกียรติ
ส่วนการที่แพทย์บางส่วนทิ้งวิชาชีพนั้น ลูทุเซงวีงคงจะมองเห็นรากเหง้าของปัญหานี้ แต่ก็มิได้กล่าวโทษรัฐบาล หรือสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เขาเพียงแต่หาเหตุผลตำหนิแพทย์ที่ไม่ยึดอาชีพที่เล่าเรียนมา และเห็นว่าเลือกทางไม่เหมาะสม อีกทั้งขาดการชั่งใจที่จะรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ไปให้ความสำคัญต่อเงินทองมากกว่าเกียรติ และยังไม่ตระหนักว่ารัฐบาลลงทุนสูง และใช้เวลาถึง ๖-๗ ปีกับการผลิตแพทย์แต่ละคน แต่พอเรียนจบกลับทิ้งวิชาชีพที่เรียนมา ปล่อยให้ความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ไร้ค่า และสิ่งที่กล่าว กันมากก็คือค่านิยมทางวัตถุทำให้คนไม่คิดที่จะเสียสละ จนลืมหน้าที่ที่จะต้องรับใช้สังคมและประเทศชาติ
นักเขียนพม่าหลายคนออกจะยังมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในแนวคิดแบบสังคมนิยมที่จำกัดชีวิตของผู้คน และมองว่าปัญหาใหม่ๆที่มีขึ้นในยุคปัจจุบันเกิดจากการที่สังคมตอบสนองสิ่งยั่วเย้าของค่านิยมบริโภคอย่างขาดหิริโอตตัปปะ เพราะต่างหันไปลุ่มหลงความสุขทางวัตถุ เงินทอง และความเจริญแบบโลกสมัยใหม่ จนทำให้คิดไปว่าสังคมพม่ากำลังขาดคนที่มีอุดมการณ์ ขาดคนที่เสียสละ และขาดคนที่จริงใจต่องาน ต่างไปจากอดีตที่นักคิดนักเขียนชอบที่จะยกมาเป็นแบบอย่าง
วิรัช  นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15505เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ (Khin Maung Myint)
  • เรื่องนี้อ่านหลายรอบแล้ว เห็นใจหมอและข้าราชการพม่าที่มีรายได้น้อย
  • เรียนเสนอให้อาจารย์และทีมงานหาภาพมาประกอบ(ถ้าเป็นไปได้)
  • ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเข้าใจดีระหว่างคนพม่ากับคนไทยครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท